ในปี 2549 ราคายางทั้งในตลาดโลกและตลาดในประเทศผันผวนอย่างมากจากที่เคยสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปี ในเดือนมิถุนายน 2549 โดยราคายางแผ่นดิบชั้น3 ที่เกษตรกรขายได้สูงถึงกิโลกรัมละ 93.45 บาทต่อกิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควันชั้น3(เอฟโอบี)กรุงเทพฯ และราคายางแผ่นรมควันชั้น3 ในตลาดล่วงหน้าทั้งที่โตเกียวและสิงคโปร์ปรับขึ้นไปที่ระดับ 104 บาท/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2549 ราคายางปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งลงมาอยู่ที่ระดับ 51.59 บาท/กิโลกรัมสำหรับยางแผ่นดิบชั้น3 และอยู่ในระดับ 60-70 บาท/กิโลกรัมสำหรับยางแผ่นรมควันชั้น3 ในเดือนพฤศจิกายน 2549 วงการค้ายางคาดว่าราคายางน่าจะลดลงถึงจุดต่ำสุดแล้ว และมีแนวโน้มว่าราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2550 โดยคาดหมายว่าประเทศผู้ใช้ยางหลัก โดยเฉพาะจีนจะกลับเข้ามาซื้อยางอีกครั้งหนึ่ง
ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง มีดังนี้
1.ปริมาณการผลิตยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าการผลิตยางในช่วงครึ่งปีแรกจะประสบปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตยางลดน้อยลง แต่ในช่วงครึ่งหลังปี 2549 ปริมาณผลผลิตยางของผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกรีดซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝน กอปรกับสภาพอากาศในประเทศผู้ผลิตยางสำคัญในปีนี้ผิดปกติ เนื่องจากปริมาณฝนน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีโอกาสในการกรีดยางได้เพิ่มขึ้น คาดว่าทั้งปี 2549 ผลผลิตยางธรรมชาติเท่ากับ 9.08 ล้านตันเมื่อเทียบกับในปี 2548 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 โดยในผลผลิตยางในประเทศผู้รายใหญ่อย่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และราคายางที่สูงขึ้นจูงใจให้เกษตรกรเริ่มกรีดยางมากขึ้น คาดว่าไทยมีผลผลิตประมาณ 2.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.83 ล้านตันในปี 2548 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 อินโดนีเซียมีผลผลิต 2.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.27 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 และมาเลเซียคาดว่าจะมีผลผลิต 1.23 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.13 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ซึ่งการคาดการณ์ว่าผลผลิตยางในปี 2549 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้นนับว่าส่งผลทำให้ราคายางธรรมชาติในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง
2.ประเทศผู้ซื้อยางหลักชะลอการซื้อ จากภาวะราคายางธรรมชาติที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก และการคาดหมายว่าปริมาณการผลิตยางในปี 2549 กอปรกับประเทศนำเข้ายางรายใหญ่ของโลกทั้งจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่นล้วนมีสต็อกยางในปริมาณสูง เนื่องจากมีการนำเข้าเป็นจำนวนมากจากการคาดการณ์ว่าปริมาณยางจะไม่เพียงพอกับความต้องการในช่วงปลายปี 2548-กลางปี 2549 ดังนั้นประเทศผู้นำเข้ายางรายใหญ่เริ่มชะลอการนำเข้าและหันไปใช้ยางที่สต็อกไว้ก่อนหน้านี้ รวมทั้งต้องการรอดูทิศทางราคายางที่ยังคงมีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากเมื่อผลผลิตยางเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากกว่าปกติ ทำให้ราคายางในตลาดโลกและประเทศผู้ผลิตยางสำคัญมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคาดว่าปริมาณคำสั่งซื้อยางในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 จะมีน้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548
3.โรงงานผลิตภัณฑ์ยางลดการผลิต ผลจากการที่ราคายางประเภทยางแปรรูปขั้นต้น(ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น )มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บรรดาโรงงานผลิตภัณฑ์ยางชะลอการผลิต ทั้งในอุตสาหกรรมผลิตยางวงล้อและอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ยางวงล้อ เนื่องจากราคายางแปรรูปขั้นต้นซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญอยู่ในเกณฑ์สูงเกินไป ทำให้ความสามารถในการทำกำไรของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางลดลง ส่งผลให้ความต้องการยางมีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งหลังปี 2549 คาดการณ์ว่าในปี 2549 ความต้องการใช้ยางเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศเท่ากับ 0.302 ล้านตัน เมื่อเทียบกับในปี 2548 ที่มีความต้องการใช้ยางเท่ากับ 0.317 ล้านตันแล้วลดลงร้อยละ 4.7
สำหรับโรงงานผลิตภัณฑ์ยางประเภทยางวงล้อ นอกจากต้องเผชิญกับปัญหาราคายางแผ่นและยางแท่งที่มีแนวโน้มสูงขึ้นแล้ว ราคายางสังเคราะห์และคาร์บอนแบล็ก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตยางวงล้อก็มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย กล่าวคือ ดัชนีราคาวัตถุดิบในการผลิตยางเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 2 เท่าตัวในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้ผลิตยางวงล้อไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้มากนัก เนื่องจากต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง และวิตกถึงการที่ผู้บริโภคอาจจะปรับลดความต้องการยางวงล้อในอนาคต
ส่วนผู้ใช้ยางธรรมชาติที่นำยางไปทำผลิตภัณฑ์ยางที่ไม่ใช่ยางวงล้อโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทจุ่ม เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ลูกโป่ง เป็นต้น ซึ่งต้องใช้น้ำยางข้นเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ประสบกับภาวะขาดทุน เนื่องจากต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ประกอบการบางรายโดยเฉพาะผู้ผลิตถุงมือยางลดกำลังการผลิต บางโรงงานมีการใช้ยางสังเคราะห์มาผลิตถุงมือยางทดแทนยางธรรมชาติ ทั้งนี้มุ่งหันไปจับตลาดเป้าหมายที่แพ้ยางธรรมชาติ และบางบริษัทก็ปิดกิจการชั่วคราว
4.เงินบาทแข็งค่า ผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2549 และคาดว่ายังคงมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อเนื่องในปี 2550 ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกของไทยที่ต้องขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในภาพรวมแล้ว การแข็งค่าของเงินบาทยังถูกพ่อค้านำมาใช้เป็นเหตุผลกล่าวอ้างในการกดราคารับซื้อผลิตผลจากเกษตรกร เนื่องจากผู้ส่งออกไม่สามารถไปปรับราคากับลูกค้าได้ เพราะมีความเสี่ยงจะถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาค่อนข้างน้อย รวมทั้งยังส่งผลให้ราคาส่งออกยางของไทยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นเวลานี้ผู้ส่งออกโดยส่วนใหญ่ จึงต้องมาลดราคารับซื้อจากเกษตรกร เพราะราคาที่เกษตรกรขายได้ในเวลานี้ยังเป็นราคาที่ยังมีกำไร
5.ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง ในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันกับราคายางธรรมชาติเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคายางสังเคราะห์ซึ่งสามารถใช้ทดแทนยางธรรมชาติได้มีราคาสูงขึ้น นับว่าเป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้ราคายางธรรมชาติในช่วงที่ผ่านมามีโอกาสปรับราคาขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสถานการณ์ตรงกันข้ามกันปัจจุบันราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ทำให้ราคายางสังเคราะห์นั้นมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะไปกดดันทำให้ราคายางธรรมชาติลดลงด้วย นอกจากนี้จากการคาดการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกของ EIU(Economist Intelligence Unit) คาดว่าในปี 2550-2551 ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง นับว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะกดดันราคายางธรรมชาติในตลาดโลกต่อไป
6.การเก็งกำไรราคายางในตลาดล่วงหน้า ปัจจุบันนักเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์หันไปเก็งกำไรสินค้าตัวอื่นๆ แทนยางธรรมชาติ โดยคาดว่าบรรดานักเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์จะกลับเข้ามาในตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าอีกครั้งเมื่อราคายางธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กล่าวคือ นักเก็งกำไรในตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์จะซื้อ-ขายกันตามสัญญาณทางเทคนิค ดังนั้นจึงจะรอให้ราคาลดลงต่ำแล้วเข้ามาซื้อเก็บ โดยรอให้พ้นช่วงฤดูการผลิตยางแล้วจึงรอขายเมื่อราคายางดีดกลับขึ้นมา หรือนักเก็งกำไรบางกลุ่มจะซื้อตอนราคาลง เนื่องจากราคาจะถูกแล้วนำไปขายเมื่อราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
การคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2550-2551 ราคายางแผ่นดิบน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับ 55-70 บาท/กิโลกรัม ซึ่งราคาจะขยับขึ้น-ลงอยู่กับปัจจัยสำคัญคือปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ยาง ซึ่งปัจจุบันปริมาณความต้องการใช้ยางสูงกว่าปริมาณการผลิต แต่ปริมาณการผลิตยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่ปลูกของแต่ละประเทศ ทำให้สภาวะการณ์การแข่งขันส่งออกยางพาราในตลาดโลกค่อนข้างสูง แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ความได้เปรียบในการแข่งขันส่งออกยางพาราของไทยกลับลดลง ขณะเดียวกันไทยก็ไม่ได้เป็นประเทศที่สามารถกำหนดราคาในตลาดโลกได้ โดยราคามีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคาในตลาดโลก ประเด็นที่น่าสนใจคือ รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มการใช้ยางในประเทศทั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางในประเทศ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในการให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษี และสิทธิพิเศษอื่นๆ รวมทั้งมาตรการต่างๆ เพื่อจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี 2550 จะมีการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13 ของปริมาณผลผลิต เมื่อเทียบกับในปี 2549 ที่มีปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศเพียงร้อยละ 10.0 เท่านั้น ทั้งนี้การเพิ่มปริมาณการใช้ยางเพื่อเป็นวัตถุดิบโรงงานผลิตภัณฑ์ยางนั้น นอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยางแล้ว การหันมาส่งออกผลิตภัณฑ์ยางแทนการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นนั้นยังเป็นการสร้างรายได้ส่งออกให้กับประเทศด้วย รวมทั้งยังสามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของราคายางในตลาดโลกในอนาคตด้วย
นอกจากนี้ราคายางแผ่นดิบในระดับ 55-70 บาท/กิโลกรัม ถือว่าเป็นช่วงของราคาที่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางก็อยู่ได้ ผู้ใช้ยางที่นำยางไปทำผลิตภัณฑ์ก็อยู่ได้ ซึ่งเมื่อคิดต้นทุนในการผลิตยางแผ่นดิบตั้งแต่เริ่มปลูกจนครบอายุยาง 22 ปี มีต้นทุนรวมประมาณ 35 บาท/กิโลกรัม โดยรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าจ้างปลูก ค่าจ้างกรีด ค่าจ้างเก็บน้ำยาง ค่าจ้างทำยางแผ่นดิบ ค่าวัสดุในการทำยางแผ่น รวมทั้งโรงเรือน
สำหรับปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ยางในอนาคตมีแนวโน้มสำคัญ ดังนี้
-ด้านปริมาณการผลิตยาง แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีปริมาณการผลิตยางเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ปริมาณการผลิตยางของไทยมีอัตราการขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยางมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากไทย ทำให้ปริมาณผลผลิตยางของอินโดนีเซียเริ่มขยับเข้าใกล้ไทยมากขึ้น กล่าวคือ ปริมาณการผลิตยางของอินโดนีเซียมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 และตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาอัตราการขยายตัวของปริมาณการผลิตยางของอินโดนีเซียนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าไทยอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือในปี 2547-2549 อัตราการขยายตัวของปริมาณผลผลิตยางของอินโดนีเซียเท่ากับร้อยละ 15.3 ,9.9 และ 8.8 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการขยายตัวของปริมาณผลผลิตยางของไทยในช่วงเวลาเดียวกันนั้นขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.9 ,-5.1 และ 4.1 ตามลำดับ คาดว่าปริมาณการผลิตยางของอินโดนีเซียในปี 2549 เท่ากับ 2.47 ล้านตัน ในขณะที่ผลผลิตยางของไทยเท่ากับ 2.95 ล้านตัน โดยผลผลิตยางของอินโดนีเซียน้อยกว่าไทยเพียง 0.48 ล้านตันเท่านั้น จากที่ในปี 2547 นั้นผลผลิตยางของอินโดนีเซียน้อยกว่าไทยถึง 0.92 ล้านตัน นอกจากนี้ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ ในปัจจุบันเนื้อที่ปลูกยางของอินโดนีเซียมากกว่าไทย ดังนั้นมีโอกาสสูงมากที่อินโดนีเซียจะมีปริมาณผลผลิตยางแซงไทยขึ้นไปเป็นอันดับหนึ่งของโลก กล่าวคือ เนื้อที่ปลูกยางของอินโดนีเซียในปัจจุบันเท่ากับ 21.08 ล้านไร่ ในขณะที่เนื้อที่ปลูกยางของไทยเท่ากับ 12.38 ล้านไร่ ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าการที่อินโดนีเซียยังมีปริมาณการผลิตยางน้อยกว่าไทยนั้น เนื่องจากพื้นที่ปลูกยางส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกใหม่จึงยังไม่ได้ให้ผลผลิต
นอกจากนี้ประเทศผู้ผลิตที่น่าจับตามองคือ เวียดนาม แม้ว่าผลผลิตยางของเวียดนามยังมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่อย่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยคาดว่าในปี 2549 ผลผลิตยางของเวียดนามเท่ากับ 0.56 ล้านตัน แต่ผลผลิตยางของเวียดนามมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในบรรดาประเทศผู้ผลิตยางทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นทั้งในลักษณะของผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่และเนื้อที่ปลูกยาง ทำให้ตั้งแต่ปี 2548 เวียดนามแซงจีนขึ้นไปเป็นประเทศผู้ผลิตยางอันดับ 4 ของโลก รองจากไทย อินโดนีเซียและมาเลเซีย นอกจากนี้เวียดนามวางแผนที่จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกยางพาราขึ้นเป็น 700,000 เฮกตาร์(ประมาณ 4.38 ล้านไร่)ภายในปี 2553 จากที่ระดับ 500,000 เฮกตาร์(ประมาณ 3.13 ล้านไร่) ในปี 2549 รวมทั้งจะมีสร้างโรงงานแปรรูปยางเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับผลผลิตยางในอนาคตด้วย ดังนั้นในอนาคตเวียดนามจะเป็นคู่แข่งขันในการส่งออกยางธรรมชาติที่น่าจับตามอง
-ด้านประเทศผู้ใช้ยาง คาดว่าจีนและอินเดียจะยังมีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นประเทศผู้ใช้ยาง เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในทั้งสองประเทศมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ คาดการณ์ว่าจีนจะเป็นประเทศผู้ใช้ยางที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในช่วงระยะ 15 ปีต่อจากนี้ไป เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯเคยเป็นประเทศผู้ใช้ยางที่มีบทบาทสำคัญที่สุดตั้งแต่ปี 2503-2544 โดยคาดว่าความต้องการใช้ยางของจีนในปี 2563 จะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 33.0 ของผลผลิตยางของโลก เทียบกับปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 25.0 ส่วนอินเดียคาดการณ์ว่าในช่วงทศวรรษต่อไปอุตสาหกรรมยางในอินเดียจะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 8 ต่อปี โดยปริมาณการบริโภคยางเฉลี่ยของอินเดียจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จากที่เคยอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยเพียง 800 กรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น ความต้องการยางในอินเดียมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ซึ่งมีความต้องการยางประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณความต้องการยางทั้งหมด โดยในปัจจุบันอินเดียมีการผลิตยางเรเดียลคุณภาพดีส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ รองลงมาประมาณร้อยละ 15 เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมยางรถจักรยานยนต์และท่อยาง ร้อยละ 12 เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมรองเท้า ร้อยละ 7 เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำยางข้น ร้อยละ 6 เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมเข็มขัด และส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ส่วนอุตสาหกรรมยางที่ไม่ใช่ยางวงล้อของอินเดีย ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ประมาณร้อยละ 50 เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและรายย่อย แต่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อน
ทิศทางราคายางที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังปี 2549 เป็นผลมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งปริมาณการผลิตยางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูการผลิตยาง ประเทศผู้ซื้อยางชะลอการซื้อเพื่อรอดูทิศทางราคายาง โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ยางลดการผลิต เนื่องจากต้องประสบกับภาวะขาดทุนในช่วงที่ราคายางเพิ่มสูงขึ้น การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทส่งผลให้ผู้ส่งออกยางของไทยต้องประสบกับภาวะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และบรรดาพ่อค้ายังใช้เป็นข้ออ้างในการกดราคารับซื้อยางในประเทศ เนื่องจากไม่สามารถปรับราคาส่งออกได้ ซึ่งจะมีผลทำให้ราคายางของไทยแพงกว่าประเทศคู่แข่งขัน ราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้ราคายางสังเคราะห์ที่ใช้ทดแทนยางธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง ซึ่งส่งผลกดดันต่อราคายางธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีผลจากการที่บรรดานักเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าหันไปเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่น โดยจะรอจนกว่าจะมีสัญญาณว่าราคายางจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งจึงจะเข้ามาเก็งกำไรราคายาง อย่างไรก็ตามคาดว่าราคายางจะทรงตัวอยู่ในระดับ 55-70 บาท/กิโลกรัมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 ต่อเนื่องไปถึงปี 2550-2551 และจะขยับขึ้น-ลงตามปัจจัยทางด้านปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ยางเป็นสำคัญ โดยคาดการณ์ว่าในอนาคตทั้งปริมาณการผลิตและปริมาณการใช้ยางยังคงมีแนวโน้มขยายตัว ซึ่งในด้านการผลิตยางประเทศที่น่าจับตามองคือ อินโดนีเซียและเวียดนาม ส่วนประเทศผู้ใช้ยางที่น่าจับตามองคือ จีนและอินเดีย อย่างไรก็ตามราคายางดังกล่าวนับว่ายังอยู่ในเกณฑ์สูง และยังเป็นราคาที่ทำให้บรรดาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางสามารถอยู่รอดได้เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้ปลูกยาง