ประชุมสุดยอดอาเซียน : ประเดิมลดภาษีสินค้า 0% ปีกุน

การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 10-14 ธันวาคม 2549 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ชาติ จะให้ความเห็นชอบต่อการเร่งรัดจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ให้เร็วขึ้น 5 ปี เป็นปี 2558 (ค.ศ.2015) จากเป้าหมายเดิมปี 2563 (ค.ศ.2020) โดยวางแผนผลักดันการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการ 12 สาขานำร่อง ได้แก่ 1. สินค้าเกษตร 2. ประมง 3. ผลิตภัณฑ์ไม้ 4. ผลิตภัณฑ์ยาง 5. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 6. ยานยนต์ 7. อิเล็กทรอนิกส์ 8. สุขภาพ 9. เทคโนโลยีสารสนเทศ 10. การท่องเที่ยว 11. การบิน และ 12. โลจีสติกส์ ซึ่งโลจีสติกส์เป็นสาขาเพิ่มเติมล่าสุดที่อาเซียนเร่งรัดการเปิดเสรี เพราะเห็นความสำคัญของการลดต้นทุนการค้าระหว่างประเทศจากการลดต้นทุนด้านโลจีสติกส์ โดยมุ่งสู่เป้าหมายให้อาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อย่างเข้มแข็ง ซึ่งหมายถึงการเป็นตลาดเดียวกันและมีฐานการผลิตร่วมกัน โดยมีการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า ภาคบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะอย่างอิสระ รวมถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น
หลังจากปี 2546 ที่ผู้นำอาเซียนประกาศเป้าหมายการจัดตั้ง AEC และลงนามกรอบความตกลงเร่งรัดการรวมกลุ่มของสาขาเศรษฐกิจนำร่อง (ASEAN Framework Agreement for the Integration of Priority Sectors) ประกอบด้วย 11 สาขาเบื้องต้น ยกเว้นสาขาโลจีสติกส์ โดยเฉพาะการเร่งลดภาษีสินค้าให้เหลือ 0% ใน 9 สาขาข้างต้น ให้เร็วขึ้นกว่ากรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA จากปี 2553 เป็นปี 2550 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไนฯ และเลื่อนขึ้นจากปี 2558 เป็นปี 2555 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม รวมทั้งเร่งรัดการเปิดเสรีภาคบริการในสาขาท่องเที่ยวและการบินด้วย โดยในวันที่ 1 มกราคม 2550 ที่กำลังจะถึงนี้ อัตราภาษีศุลกากรของสินค้านำร่องของประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศจะลดลงเหลือ 0% ตามเป้าหมายที่อาเซียนตกลงไว้
หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 อาเซียนดำเนินมาตรการกระชับการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ โดยการเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและภาคบริการ รวมทั้งเสริมสร้างบรรยากาศทางการลงทุนเพื่อดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในภูมิภาค ปัจจุบันอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจ (GDP) รวมกันถึง 883,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2553 นับว่าอาเซียนเป็นหนึ่งในการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Trading Arrangement : RTA) ของโลกที่มีขนาดใหญ่ โดยอาเซียนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยราว 5.5% และ 5.8% ในปี 2548 และปี 2549 ตามลำดับ สูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่ราว 4.9% และ 5.1%1 ในปี 2548 และปี 2549 ตามลำดับ ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียน ได้แก่ การขยายตัวของการส่งออก และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายในประเทศ
ปัจจุบันอาเซียนเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติ (FDI) เป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชีย รองจากจีน และอินเดีย ในปี 2548 FDI ในอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 48% มีมูลค่า 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกินระดับสูงสุดในอดีตปี 2540 ที่มีมูลค่า FDI ราว 34,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสแรกปี 2549 FDI ของอาเซียนพุ่งขึ้น 90% เป็น 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับ 7,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันปี 2548 ทั้งนี้ ในปัจจุบันส่วนแบ่งของ FDI ของอาเซียนในโลก คิดเป็นสัดส่วน 6-7% เทียบกับส่วนแบ่งต่ำกว่า 5% ก่อนในปี 2540 เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบัน FDI เริ่มกลับมาในภูมิภาคอาเซียน หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหันไปจีนและอินเดียแทนที่อาเซียนซึ่งเคยเป็นภูมิภาคที่ดึงดูด FDI มากที่สุดในเอเชียในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว

ความคืบหน้าของการจัดตั้ง AEC ของอาเซียน
ด้านการค้าสินค้า
การเปิดเสรีทางการค้าสินค้าและมาตรการการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียนที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่ม AFTA ในปี 2536 ส่งผลให้การค้าภายในอาเซียนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากมูลค่า 82,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2536 เป็น 221,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 และสัดส่วนการค้าภายในกลุ่มอาเซียนต่อการค้าทั้งหมดของอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 19% ในปี 2536 เป็น 25% ในปี 2548
การส่งออกโดยรวมของอาเซียนขยายตัว 13.5% จาก 569,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 เป็น 646,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 ขณะที่การนำเข้าของอาเซียนเพิ่มขึ้น 15.4% จาก 502,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 เป็น 579,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2549 การส่งออกของอาเซียนยังคงขยายตัวได้ดี โดยเติบโต 17.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 คู่ค้าหลักของอาเซียน ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 12.6% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของอาเซียน ตามด้วยสหรัฐฯ (12.5%) สหภาพยุโรป (11.2%) จีน (9.3%) และเกาหลีใต้ (3.9%)
การดำเนินการตามเป้าหมาย AEC ได้แก่
? เร่งรัดการลดภาษีเร็วกว่ากรอบ AFTA – อาเซียนกำหนดให้ลดภาษีศุลกากรสำหรับสินค้า 9 สาขา ได้แก่ เกษตร ประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ให้เหลืออัตรา 0% เร็วขึ้น 3 ปี จากกำหนดการลดภาษีภายใต้กรอบ AFTA เป็นวันที่ 1 มกราคม 2550 สำหรับกลุ่มสมาชิกเดิม 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน และวันที่ 1 มกราคม 2555 สำหรับประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม สินค้าเร่งลดภาษีดังกล่าวรวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของอาเซียน โดยเฉพาะสิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย คาดว่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพราะนอกจากการเร่งลดภาษีให้เร็วขึ้นดังกล่าว จะเป็นการลดต้นทุนสินค้าแล้ว ยังเป็นการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอาเซียนแทนที่จีนและอินเดียด้วย
? การอำนวยความสะดวกทางการค้า – การอำนวยความสะดวกทางการค้าทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างอาเซียนสะดวกขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนธุรกรรมทางการค้าและต้นทุนการดำเนินธุรกิจลดลงด้วย ก่อให้เกิดการขยายตัวทางการค้าภายในภูมิภาค และยังเป็นการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในอาเซียนด้วย แผนการดำเนินงานของอาเซียนในการอำนวยความสะดวกทางการค้า ได้แก่
– อำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) โดยการจัดตั้ง National Single Window ของแต่ละประเทศภายในปี 2551 สำหรับประเทศอาเซียนเดิม 6 ประเทศ และภายในปี 2555 สำหรับประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างประเทศอาเซียนต่อไป
– จัดทำกรอบความตกลงด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (ASEAN Framework Agreement on Multimodal Transport) เพื่อเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทั้งด้านทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ ช่วยให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการเป็นไปอย่างสะดวก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านการลงทุนด้วย
– จัดทำมาตรฐานการยอมรับร่วมกันของอาเซียน (Mutual Recognition Arrangement : MRA) – อาเซียนผลักดันการจัดทำมาตรฐานของสินค้าในอาเซียนให้สอดคล้องและเป็นแบบเดียวกัน โดยจัดทำ MRA สาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาเครื่องสำอางเสร็จแล้ว ขณะนี้อาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม อยู่ระหว่างจัดทำ MRA หมวดยารักษาโรคร่วมกัน คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2549 ส่วนประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม คาดว่าจะเข้าร่วมปฏิบัติตามข้อตกลงภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2551
การปรับกฎระเบียบข้อบังคับของประเทศต่างๆ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จะทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างกันเกิดความสะดวกและลดค่าใช้จ่าย เป็นมาตรการหนึ่งของการผลักดันการจัดตั้ง AEC ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2558

ด้านการค้าภาคบริการ & การลงทุน
นอกจากการเปิดเสรีภาคบริการตามความตกลงเปิดเสรีภาคบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS) ที่เริ่มเจรจาเปิดเสรีรอบที่ 1 ตั้งแต่ปี 2539 (รอบละ 3 ปี) ขณะนี้ดำเนินมาถึงการจัดทำข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าภาคบริการรอบที่ 4 โดยจะเสนอต่อผู้นำอาเซียนให้ลงนามอนุมัติข้อผูกพันดังกล่าวในระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียนในเดือนธันวาคม 2549 ภาคบริการนับว่าเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญและมีบทบาทต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนมากขึ้นเป็นลำดับ อาเซียนจึงมีเป้าหมายการเปิดเสรีภาคบริการระหว่างอาเซียนภายในปี 2558 โดยกำหนดเปิดเสรีในภาคบริการ 3 สาขาเป็นลำดับแรก ได้แก่ สาขาการท่องเที่ยว การบิน และโลจีสติกส์ คาดว่าจะสนับสนุนการขยายตัวของการค้าภาคบริการและการลงทุนภายในอาเซียนมากขึ้น มาตรการเร่งรัดการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนมีดังนี้
– เตรียมจัดทำความตกลงการยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement : MRAs) ด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะและแรงงานวิชาชีพในอาเซียนตามเป้าหมายการจัดตั้ง AEC ที่ต้องการให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะอย่างเสรีภายในปี 2558 พร้อมๆ กับการจัดทำความตกลง MRAs รายสาขา สำหรับ MRA รายสาขาที่จัดทำเสร็จแล้ว ได้แก่ สาขาวิศวกรรม โดยผู้นำอาเซียนได้ลงนามความตกลง MRAs ด้านการให้บริการทางวิศวกรรม ในเดือนธันวาคม 2548 และคาดว่าอาเซียนจะเสนอความตกลง MRAs สาขาวิชาชีพพยาบาลของอาเซียน ให้ผู้นำอาเซียนลงนามในที่ประชุม ASEAN Summit ในเดือนธันวาคม 2549 นี้
– เตรียมเปิดเสรีเพิ่มเติมในภาคบริการด้านโลจีสติกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการด้านโลจีสติกส์และลดต้นทุนด้านธุรกรรมทางการค้า โดยอาเซียนอยู่ระหว่างร่างพิธีสารการรวมตัวรายสาขาด้านบริการโลจีสติกส์ (ASEAN Sectoral Integration Protocol for Logistics Services Sector) รวมถึงจัดทำแผนดำเนินการด้านโลจีสติกส์ (Roadmap of Logistics Services) โดยตั้งเป้าหมายให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนลงนาม Roadmap ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550
– เตรียมเสนอข้อตกลงเปิดเสรีการบินเพื่อขออนุมัติต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 12 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีเป้าหมายเปิดเสรีการบินภายในอาเซียนภายในปี 2551 นอกจากการวางแผนเพิ่มเส้นทางบินระหว่างกันและกันภายในภูมิภาคให้มากขึ้น เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ประเทศอาเซียนจะลดกฎระเบียบในอุตสาหกรรมการบิน เช่น อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านสายการบินมากขึ้น และเพิ่มเครือข่ายการบินระหว่างเมืองต่างๆ ในภูมิภาค คาดว่าการเปิดเสรีการบินข้างต้นของอาเซียนจะส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารทางอากาศของประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 50% ใน 2-3 ปีข้างหน้า
– จัดทำข้อตกลงยกเว้นวีซ่าให้กับคนชาติอาเซียนที่เดินทางภายในกลุ่มภายในเวลา 14 วัน โดยจะมีผลบังคับใช้ทันทีที่ได้รับสัตยาบันจาก 10 ประเทศอาเซียน คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวและการติดต่อทางธุรกิจภายในภูมิภาคมากขึ้น ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของแต่ละประเทศรวมกันมีจำนวนราว 51 ล้านคนในปี 2548 ในจำนวนนี้เป็นประชาชนในอาเซียนที่เดินทางภายในกลุ่มคิดเป็นสัดส่วนราว 45% โดยไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากมาเลเซีย ส่วนอันดับ 3-5 ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ตามลำดับ

ปัญหาท้าทายของอาเซียน & ข้อควรระวัง

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า การที่อาเซียนจะประสบความสำเร็จในการจัดตั้ง AEC ภายในปี 2558 จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการรวมตัวภายในอาเซียน ดังนี้
? อุปสรรคจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) – แม้อาเซียนบรรลุเป้าหมายการดำเนินการลดภาษีศุลกากรตามข้อผูกพันของ AFTA อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบันที่สินค้าของอาเซียนกว่า 90% ของรายการสินค้าลดภาษีทั้งหมดของอาเซียนมีอัตราภาษีเหลือ 0-5% เท่านั้น แต่ประเทศอาเซียนยังคงใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) เช่น ข้อจำกัดด้านปริมาณ การขอใบอนุญาตนำเข้า และมาตรการด้านเทคนิคต่างๆ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าภายในอาเซียน แม้ว่าในเดือนสิงหาคม 2549 อาเซียนตกลงที่จะยกเลิกมาตรการ NTBs ภายในวันที่ 1 มกราคม 2553 โดยเริ่มทยอยลด 3 ช่วง ในปี 2551 2552 และ 2553 สำหรับประเทศสมาชิกเดิม 5 ประเทศ (บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย) แต่มีความเป็นไปได้ที่อาจมีปัจจัยกดดันจากภาคธุรกิจภายในประเทศอาเซียนซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญทางการเมือง อาจส่งผลให้รัฐบาลอาเซียนเลือกใช้มาตรการ NTBs เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ส่งผลให้การปฏิบัติตามข้อตกลงการยกเลิกมาตรการ NTBs ไม่เป็นไปตามเป้าหมายอย่างราบรื่นนัก

? ความเหลื่อมล้ำของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียน – ประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงมีความเหลื่อมล้ำของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกเดิมของอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กับประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เห็นอย่างชัดเจน ได้แก่ สิงคโปร์เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่รายได้ของประชากรต่อคน 26,836 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี อยู่ในอันดับที่ 23 ของโลก ในขณะที่ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียนอย่างพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ประชากรมีรายได้ต่อคนต่อปี 219, 430, 485 และ 618 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาทางเศรษฐกิจดังกล่าวอาจส่งผลให้การดำเนินการเปิดเสรีทางการค้าสินค้า ภาคบริการและการลงทุนของอาเซียนไม่เป็นไปตามเป้าหมายการจัดตั้ง AEC เนื่องจากประเทศสมาชิกบางกลุ่มอาจชะลอการปรับลดภาษีลงหรือบ่ายเบี่ยงการเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการ เพราะต้องการคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศของตนก่อน ดังนั้นอาเซียนอาจต้องให้ความสำคัญกับมาตรการลดช่องว่างความแตกต่างของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจภายในกลุ่มควบคู่ไปด้วย และมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถเข้าสู่กระบวนการเปิดเสรีตามพันธกรณีต่างๆ ของอาเซียนให้ได้โดยเร็ว และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในที่สุด
การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มอาเซียนในปัจจุบันควรเน้นการลดช่องว่างของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ กับสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ เพื่อให้กลุ่มอาเซียนพัฒนาเศรษฐกิจและก้าวเดินไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น โดยเป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบให้ประเทศสมาชิกภายในกลุ่ม โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่าที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และเป็นตลาดส่งออกซึ่งกันและกันที่มีมูลค่าการส่งออกภายในกลุ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประเทศเหล่านี้ยังเป็นฐานการลงทุนให้กับประเทศอาเซียนด้วยกัน การย้ายฐานการลงทุนผลิตของประเทศอาเซียนเดิมไปประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน นอกจากประเทศอาเซียนเดิมจะได้ประโยชน์จากต้นทุนวัตถุดิบและแรงงานราคาถูก ยังส่งผลดีต่อประเทศสมาชิกใหม่อาเซียนที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในประเทศ ยกระดับรายได้ของประชาชน เพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และเกิดการถ่ายโอนทางเทคโนโลยีให้กับประเทศเหล่านี้ด้วย
ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาตินอกอาเซียน เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และรัสเซีย ต่างสนใจเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน – กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม – เพื่อแสวงหาวัตถุดิบผลิตสินค้า โดยเฉพาะด้านพลังงาน (น้ำมันและไฟฟ้า) รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ได้แก่ เสื้อผ้าและสิ่งทอ เนื่องจากต้นทุนแรงงานของประเทศเหล่านี้อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO โดยจะเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างสมบูรณ์ในเดือนมกราคม 2550 ส่งผลให้เวียดนามต้องเปิดประเทศ ลดกฎระเบียบต่างๆ เพื่อรับการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
สำหรับไทยซึ่งมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนติดกับพม่า ลาว และกัมพูชา รวมทั้งอยู่ใกล้กับเวียดนาม ไทยควรขยายการลงทุนไปสู่ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียนเหล่านี้ เพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบและแรงงาน ทั้งการลงทุนผลิตสินค้าและการจัดตั้งธุรกิจบริการ โดยอาศัยความร่วมมือกับประเทศสมาชิกใหม่อาเซียนภายใต้กลุ่มยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ซึ่งมีความร่วมมือ 5 ด้าน ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ความร่วมมือด้านเกษตรกรรมและอุตสาหรรม การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจาก 4 ประเทศนี้มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เป็นโอกาสให้ไทยเข้าไปลงทุนผลิต ได้แก่ สินค้าเกษตร เช่น พืชที่ใช้ผลิตพลังงานทดแทน เช่น มันสำปะหลัง อ้อยและปาล์มน้ำมัน รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ด้านพลังงาน ด้านการจัดการน้ำเสีย และด้านบริการ เช่น การท่องเที่ยวและโรงแรม

? ข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานและเงินทุนอย่างเสรี – การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ครอบคลุมการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ/แรงงานมีฝีมือ เนื่องจากอาเซียนยังมีความแตกต่างทั้งระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและระบบการปกครอง แตกต่างกับสหภาพยุโรปที่เปิดเสรีให้เคลื่อนย้ายคนอย่างค่อนข้างเสรี เนื่องจากประเทศอาเซียนยังคงต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ ปัญหาทางการเมืองภายใน และปัญหาการว่างงานของประเทศในอาเซียน นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของอาเซียนยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้การจัดตั้ง AEC ไม่ได้ครอบคลุมถึงเป้าหมายการใช้เงินสกุลเดียวกันของอาเซียน เหมือนการใช้เงินสกุลเดียวกันของสหภาพยุโรป รวมทั้งเป้าหมายของ AEC ที่ให้การเคลื่อนย้ายทุนของอาเซียนที่เสรีมากขึ้น แต่ยังคงมีข้อจำกัดเพื่อควบคุมเสถียรภาพของเศรษฐกิจภายในประเทศ

? ความสำคัญของการรวมตัวภายในอาเซียน – อาเซียนควรดำเนินการตามเป้าหมายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความแข็งแกร่งภายในกลุ่มก่อน และค่อยๆ พิจารณาเปิดเสรีการค้าเชื่อมโยงกับประเทศนอกภูมิภาคอย่างเป็นขั้นตอน โดยเฉพาะข้อเสนอของญี่ปุ่นเรื่องการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (East Asia FTA) ที่ครอบคลุมถึง 16 ประเทศ (อาเซียนกับ 6 ประเทศคู่เจรจา – จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจส่งผลให้บทบาท/ความสำคัญและอำนาจต่อรองของอาเซียนลดลง เนื่องจากประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนจีนและอินเดียมีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น 6 ประเทศนี้จึงมีอำนาจต่อรองมาก ทั้งนี้ อาเซียนได้ดำเนินนโยบายเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศนอกกลุ่ม โดยเริ่มลงนามจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับจีนเป็นประเทศแรก และเริ่มลดภาษีสินค้าตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 รวมทั้งจะเริ่มต้นลดภาษีภายใต้ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ในเดือนมกราคม 2550 หลังจากลงนามความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ในเดือนพฤษภาคม 2549 ส่วนประเทศคู่เจรจาที่อยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับอาเซียน ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย สำหรับประเทศคู่เจรจาที่มีแนวโน้มจัดทำ FTA กับอาเซียนในอนาคต ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ รัสเซีย และกรอบ+3 (จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้)

? ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เป็นหนึ่งใน 3 ด้านที่อาเซียนตั้งเป้าหมายการเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) อีก 2 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง (ASEAN Security Community) และด้านสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community) ซึ่งมุ่งให้อาเซียนรวมตัวกันในทุกๆ มิติทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นไปตามแถลงการณ์ผู้นำอาเซียน “Bali Concord II” ในปี 2546 นอกจากนี้ กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ที่จะเสนอต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 พิจารณาในช่วงปลายปี 2550 ถือเป็นการกำหนดกรอบด้านกฎหมายและสถาบันของอาเซียนเพื่อรองรับการดำเนินการไปสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ นับเป็นก้าวสำคัญของอาเซียนที่จะมุ่งสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2563 เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน โดยเร่งรัดการรวมตัวทางเศรษฐกิจเป็นลำดับแรก ที่ตั้งเป้าหมายให้บรรลุผลของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียนภายในปี 2558