ท่องเที่ยวภูเก็ต..ฟื้นตัว : คาดปี’50 รายได้พุ่ง 7.4 หมื่นล้านบาท…ขยายตัวสูงถึง 19%

การท่องเที่ยวภูเก็ตที่ถดถอยลงอย่างรุนแรงในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายปี 2547 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเด่นชัดตั้งแต่ต้นปี 2549 เป็นต้นมา ทั้งนี้ด้วยหลายปัจจัยที่ช่วยเกื้อหนุนการท่องเที่ยวภูเก็ต และความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของเมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามันที่กลับคืนมาในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติหลังจากได้ผ่านพ้นเหตุการณ์สึนามิมากว่า 1 ปี ประกอบกับความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในการเร่งฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในภูเก็ต และบริการรองรับนักท่องเที่ยวในด้านต่างๆ รวมทั้งการจัดกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ควบคู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวภูเก็ตในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเติบมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2547 ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงยุคทองของการท่องเที่ยวภูเก็ต
ภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับ 1 ในภาคใต้ของนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ โดยในปี 2547 มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามายังภูเก็ตรวมทั้งสิ้น 4.79 ล้านคน และสร้างรายได้ท่องเที่ยวให้ภูเก็ตคิดเป็นมูลค่า 85,671 ล้านบาท สำหรับในปี 2548 แม้ว่าการท่องเที่ยวภูเก็ตจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ ส่งผลให้ตลาดท่องเที่ยวถดถอยลงอย่างรุนแรงทั้งตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ภูเก็ตก็ยังสามารถครองตำแหน่งเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับ 1 ของภาคใต้ไว้ได้ โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังภูเก็ตรวมทั้งสิ้น 2.51 ล้านคนลดลงร้อยละ 48 จากปี 2547 และสร้างรายได้ท่องเที่ยวให้ภูเก็ตคิดเป็นมูลค่า 28,181 ล้านบาทลดลงร้อยละ 67
เป็นที่น่าสังเกตว่า การท่องเที่ยวภูเก็ตเติบโตมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีบางช่วงที่ตลาดท่องเที่ยวผันแปรไปจากปัจจัยภายนอกที่มากระทบ ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยสำคัญหลายประการที่ช่วยเกื้อหนุนการท่องเที่ยวภูเก็ตให้สามารถฟันฝ่าวิกฤตต่างๆมาได้และครองความนิยมอย่างสูงในหมู่นักท่องเที่ยว ดังนี้
– ชื่อเสียงของภูเก็ตเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในตลาดท่องเที่ยวโลก และได้รับการขนานนามว่า “ไข่มุกอันดามัน” ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในตลาดต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
– การขยายการลงทุนในด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงแรมของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในภูเก็ต รวมทั้งการขยายตัวของเชนโรงแรมชั้นนำระดับโลกเข้ามาในภูเก็ตจำนวนมาก ช่วยส่งเสริมในด้านการตลาดให้ภูเก็ตเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
– การประสานความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยว และการส่งเสริมการท่องเที่ยวภูเก็ตในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
– ความพร้อมในด้านแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย และบริการรองรับนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากล ทั้งบริการด้านที่พัก บริการด้านสุขภาพ บริการด้านกีฬาและสันทนาการต่างๆ รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวประเภทต่างๆ
– ความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการอำนวยความสะดวกต่างๆโดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบิน เพราะมีเส้นทางบินตรงของเที่ยวบินประจำจากหลายประเทศมายังภูเก็ต และการขยายการให้บริการของสายการบินต้นทุนต่ำจากหลายประเทศเข้ามายังภูเก็ต นอกจากนี้ ยังมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำบินตรงเข้ามายังภูเก็ตจำนวนมาก เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวจากตลาดท่องเที่ยวระยะไกลในช่วงฤดูท่องเที่ยว
เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่เกื้อหนุนการท่องเที่ยวภูเก็ตหลายประการดังกล่าว เมื่อประกอบกับความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในการเร่งฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในภูเก็ต และปรับปรุงบริการด้านการท่องเที่ยวต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการขยายตลาดท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและตลาดท่องเที่ยวใหม่ๆ ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของเมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามันที่กลับคืนมาในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติหลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์สึนามิมาได้นานกว่า 1 ปี ส่งผลให้ตลาดท่องเที่ยวภูเก็ตฟื้นตัวขึ้นอย่างเด่นชัดในช่วงต้นปี 2549
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่า ในปี 2549 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังภูเก็ตรวมทั้งสิ้นประมาณ 4.7 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 87 จากปี 2548 ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 70 เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยมีจำนวน 3.3 ล้านคนต่ำกว่าปี 2547 ร้อยละ 6 แต่สูงกว่าปี 2548 ร้อยละ 150 ที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวคนไทยซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปี 2548
การใช้จ่ายในด้านต่างๆในภูเก็ตของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติดังกล่าว คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้สะพัดสู่ธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตคิดเป็นมูลค่าประมาณ 62,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 120 จากปี 2548 ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 82 เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 51,000 ล้านบาท ที่เหลืออีกร้อยละ 18 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาทเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทย
รายได้ด้านท่องเที่ยวที่สะพัดในภูเก็ตดังกล่าวมีแนวโน้มกระจายไปสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญๆดังนี้
– ร้อยละ 26 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาทกระจายไปสู่ธุรกิจด้านที่พัก อาทิ โรงแรม และรีสอร์ต ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 500 แห่งและมีห้องพักรวมกันกว่า 30,000 ห้อง
– ร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาทกระจายไปสู่ธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยว อาทิ เครื่องประดับอัญมณี ผ้าบาติก ผลิตภัณฑ์จากเปลือกหอย ไข่มุก ผลิตภัณฑ์จากดีบุก และร้านจำหน่ายสินค้าโอทอปประเภทต่างๆ
– ร้อยละ 18 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาทกระจายไปสู่ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ ภัตตาคาร และร้านอาหารประเภทต่างๆ
– ร้อยละ 11 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาทกระจายไปสู่ธุรกิจบริการด้านพาหนะเดินทางภายในภูเก็ต รวมทั้งเรือบริการนักท่องเที่ยวไปยังเกาะต่างๆ
– ร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาทกระจายไปสู่ธุรกิจบริการด้านสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆและบริการนำเที่ยวในภูเก็ต รวมทั้งมัคคุเทศก์
อย่างไรก็ตาม ขณะที่การท่องเที่ยวภูเก็ตเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังเหตุการณ์สึนามิ โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากต่างทยอยเดินทางมาเที่ยวภูเก็ตในช่วงฤดูท่องเที่ยวซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนั้น ยังมีอุปสรรคบางประการที่บั่นทอนศักยภาพการท่องเที่ยวภูเก็ต นอกเหนือจากความเสี่ยงภัยจากสึนามิ ซึ่งหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันเร่งแก้ไข ได้แก่
– ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรท่องเที่ยว
– การขาดระเบียบของธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ต อาทิ ธุรกิจดำน้ำ
– การขาดแคลนบุคลากรทั้งมัคคุเทศก์และแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยว จากการที่แรงงานบางส่วนเสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ และมีแรงงานจำนวนมากอพยพกลับถิ่นฐาน
– แหล่งท่องเที่ยวคู่แข่งในประเทศที่เพิ่มขึ้นหลังสึนามิ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลฝั่งอ่าวไทย ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในฝั่งอันดามันที่มีความใหม่และความบริสุทธิ์ของธรรมชาติมากกว่าภูเก็ต อาทิ กระบี่ พังงา และสตูล
– การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นตามลำดับในธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์รวมทั้งธุรกิจโรงแรม จากการขยายการลงทุนของกลุ่มทุนรายใหญ่จากนอกพื้นที่ ทั้งนักลงทุนต่างชาติและคนไทย ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ราคาที่ดินในภูเก็ตเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะที่ดินซึ่งมีทำเลเหมาะในการลงทุนโรงแรมหรือรีสอร์ตหรูที่นับวันจะหายากยิ่งขึ้นแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อนักธุรกิจท้องถิ่น ทำให้ต้องปรับตัวเพื่อสามารถยืนหยัดอยู่ได้
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวภูเก็ตและพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวปลายทางระดับโลก ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 2550 ทำให้ภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพด้านการแข่งขันสูงขึ้น จากการเป็นประตูที่จะเดินทางไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในแถบอันดามัน
บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตจึงควรปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับภาครัฐ และสามารถรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นได้ ทั้งการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหม่ซึ่งเป็นนักลงทุนส่วนกลางและต่างชาติ และการแข่งขันจากแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลแห่งอื่นๆที่ยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่มาก โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลฝั่งอ่าวไทย ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งมีแนวทางสำคัญ ดังนี้
– ขยายการลงทุนหรือสร้างพันธมิตรทางธุรกิจครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน คือ กระบี่ และพังงา รวมทั้งเมืองท่องเที่ยวชายทะเลฝั่งอ่าวไทย (อาทิ สมุย ชุมพร หัวหิน) เพื่อสามารถจัดเป็นแพ็กเกจที่มีความหลากหลายน่าสนใจดึงดูดนักท่องเที่ยว
– ขยายธุรกิจบริการต่อเนื่องรองรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มแบบครบวงจร เช่น บริการด้านสุขภาพ บริการด้านกีฬา บริการพำนักท่องเที่ยวระยะยาว และบริการรองรับกองถ่ายทำภาพยนตร์ เป็นต้น
– มุ่งเน้นการขยายตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นตลาดท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงและมีลู่ทางเติบโตได้อีกมาก อาทิ ตลาดกลุ่มประชุมสัมมนา ตลาดท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ตลาดท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ตลาดทัวร์กอล์ฟ ตลาดดำน้ำ และตลาดพำนักท่องเที่ยวระยะยาว เป็นต้น
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า หากไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงใดมากระทบแล้ว การท่องเที่ยวภูเก็ตที่สามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติได้อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปในปี 2550 ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวภูเก็ตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11 เป็น 5.2 ล้านคน โดยส่วนใหญ่คือ กว่าร้อยละ 70 ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ภูเก็ตมีรายได้ด้านการท่องเที่ยวในปี 2550 นี้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 74,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 19