สบู่ปี 2550 : เร่งบุกตลาดนอก…เน้นตลาดใหม่…ทดแทนตลาดในทรงตัว

ปัจจุบันตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันในประเทศหลายรายการประสบภาวะตลาดอิ่มตัวค่อนข้างเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตลาดผงซักฟอก แชมพู หรือน้ำยาล้างจาน เนื่องด้วยผู้บริโภคแทบทุกครัวเรือนในเมืองไทยต่างมีการใช้กันทั่วไปแล้ว ประกอบกับผู้ประกอบการสินค้ากลุ่มดังกล่าวต่างเปิดสงครามราคากันค่อนข้างหนักด้วย ทำให้อัตราการเติบโตของมูลค่าการจำหน่ายสินค้าประเภทผงซักฟอก แชมพู และน้ำยาล้างจาน ในปัจจุบันจึงอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างทรงตัว หรือขยายตัวด้วยอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขเพียงหลักเดียวต่อปี ซึ่งในส่วนของสบู่ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 5,200 ล้านบาท ก็เป็นอีกหนึ่งรายการสินค้าอุปโภคบริโภคที่ประสบภาวะตลาดภายในประเทศอิ่มตัวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของสบู่ก้อนที่มีมูลค่าตลาดประมาณร้อยละ 70-80 ของมูลค่าตลาดสบู่ภายในประเทศโดยรวม ที่พบว่าปัจจุบันมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 3-5 ต่อปีเท่านั้น ส่วนตลาดสบู่เหลวที่แม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 10-15 ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกในการชำระล้างร่างกายมากขึ้น แต่ด้วยมูลค่าตลาดสบู่เหลวหรือครีมอาบน้ำที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 20-30 ของมูลค่าตลาดสบู่โดยรวม ทำให้ภาพรวมของตลาดสบู่ในเมืองไทยในปัจจุบันจึงตกอยู่ในภาวะการณ์อิ่มตัวที่เพิ่มเฉพาะยอดปริมาณการขาย ในขณะที่มูลค่าการจำหน่ายไม่ขยับตัวมากนัก ดังนั้นบรรดาผู้ผลิตสบู่ในเมืองไทยหลายรายจึงต่างต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นตลาดภายในประเทศ รวมถึงการหันไปขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อทดแทนตลาดภายในประเทศที่มีแนวโน้มทรงตัว

ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 ตามรายงานของกรมศุลกากร ไทยสามารถส่งออกสบู่คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,738 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันก่อนในเทอมบาท) หรือคิดเป็นมูลค่า 71.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2548 ในเทอมดอลลาร์) และคาดว่าในปี 2550 สินค้าสบู่ของไทยก็น่าจะสามารถเบียดคู่แข่งจนก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในตลาดโลกได้อย่างต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ทั้งในเทอมบาทและเทอมดอลลาร์ ขณะที่สถานการณ์ความต้องการสบู่ในตลาดโลกตามรายงานล่าสุดของ Global Trade Atlas พบว่าในปี 2548 ตลาดโลกมีการนำเข้าสบู่คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,595.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.99 และยังคงมีความต้องการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2549 โดยในช่วง 6 เดือนแรกปี 2549 มูลค่าการนำเข้าสบู่ในตลาดโลกมีมูลค่า 1,946.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 1,711.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดียวกันในปี 2548 คิดเป็นอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 13.7 และส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 50 ของมูลค่าการนำเข้าสบู่โดยรวมเป็นการนำเข้าสบู่ก้อน โดยทั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันจะไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ามูลค่าการนำเข้าสบู่ที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติอย่างบรรดาสมุนไพรนั้นเป็นเท่าไร เนื่องด้วยยังไม่มีการจัดจำแนกหรือกำหนดพิกัดภาษีศุลกากรสำหรับสบู่ที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติอย่างชัดเจน แต่หากพิจารณาถึงความต้องการสบู่ในตลาดโลกปัจจุบันที่พบว่ายังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสบู่ของไทยจึงไม่ควรมองข้ามที่จะรุกบุกตลาดสบู่ในต่างประเทศ โดยอาศัยอาศัยช่องทางการจำหน่ายที่กว้างขวางของบรรดานักลงทุนต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตสบู่มายังไทย ควบคู่กับการเร่งปรับปรุงผลิตภัณฑ์ทั้งในส่วนของคุณสมบัติ และนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในด้านส่วนผสมของสมุนไพรไทย หรือสารสกัดธรรมชาติแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของกลิ่นน้ำหอมที่มาจากน้ำมันหอมระเหย หรือไขมันที่ผลิตจากน้ำมันพืชแทนไขมันสัตว์ ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดความโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง อีกทั้งยังสามารถรองรับกระแสการตื่นตัวเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ และการบำบัดร่างกายด้วยธรรมชาติทั้งในส่วนของกลิ่นและคุณสมบัติของส่วนผสมที่ทวีความนิยมเพิ่มมากขึ้นในตลาดโลกได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันสินค้าผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของไทยเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในระดับสากลค่อนข้างสูงมาก ดังนั้นผู้ผลิตสบู่ไทยจึงควรอาศัยส่วนผสมธรรมชาติเป็นจุดแข็งในการแข่งขันต่อไป

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า อุตสาหกรรมการผลิตสบู่ของไทยในตลาดต่างประเทศมีการขยายตัวดีอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาตามรายงานของกรมศุลกากร โดยในปี 2542 ไทยสามารถส่งออกสบู่คิดเป็นมูลค่า 756.0 ล้านบาท จากนั้นได้ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1,350.0 ล้านบาทในปี 2546 และเพิ่มเป็นมูลค่าถึง 2,600 ล้านบาทในปี 2548 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.35 เทียบจากปี 2547) ขณะที่ในช่วง10 เดือนแรกปี 2549 ไทยสามารถส่งออกสบู่คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,738 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2548 โดยเป็นการส่งออกสบู่ก้อนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.8 ของมูลค่าการส่งออกสบู่โดยรวมในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่มูลค่าการส่งออกสบู่เหลวหรือครีมอาบน้ำคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4 นอกนั้นเป็นสบู่อื่นๆอันได้แก่เกล็ดสบู่ และสบู่แฟนซี เป็นต้น โดยกลุ่มสบู่ก้อนเป็นสบู่ที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยอัตราร้อยละ 77.7 ขณะที่สบู่เหลวขยายตัวในระดับร้อยละ 24.63 ส่วนสบู่อื่นๆปรับตัวลงเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 1.43 โดยในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.64 ของมูลค่าการส่งออกสบู่โดยรวมของไทยในช่วงเวลาดังกล่าว และคิดเป็นอัตราการเติบโตของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งตลาดสำคัญของสบู่ไทยในแถบอาเซียนคือมาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา และลาว (ทั้ง 4 ประเทศมีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกสบู่ที่ไทยส่งออกไปยังตลาดอาเซียน) แต่ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการส่งออกสินค้าสบู่ของไทยไปยังตลาดอาเซียนมีทิศทางปรับตัวลดลงตามลำดับ จากสัดส่วนร้อยละ 49.66 ของมูลค่าการส่งออกสบู่โดยรวมของไทยในปี 2547 หดตัวลงเหลือร้อยละ 38.33 ในปี 2548 และคาดว่าน่าจะเหลือสัดส่วนประมาณร้อยละ 30-35 ในปี 2549และปี 2550 โดยตลาดที่น่าจะก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นสำหรับการส่งออกสบู่ของไทย และน่าจะเป็นตลาดที่สบู่ของไทยมีศักยภาพสูงในปี 2550 ได้แก่

สหภาพยุโรป ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปมีบทบาทต่อการส่งออกสบู่ของไทยเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 5.6 ของมูลค่าการส่งออกสบู่ของไทยโดยรวมในปี 2545 ก็ขยับเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.47 ของมูลค่าการส่งออกสบู่ของไทยโดยรวมในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 อีกทั้งอัตราการเติบโตก็เป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย จากที่เคยเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.51 ในปี 2547 และเติบโตลดลงร้อยละ 0.89 ในปี 2548 ก็ขยับเพิ่มขึ้นสูงมากในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 391.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2548 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสหราชอาณาจักรที่มีสัดส่วนร้อยละ 19.31 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าสบู่ของไทยโดยรวมในช่วงเวลาดังกล่าวที่มีการนำเข้าสบู่จากไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 458.15 เมื่อเทียบระหว่างช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 กับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ออสเตรีย เบลเยี่ยม และเยอรมนี ที่แม้ว่าปัจจุบันไทยจะส่งออกไปยังตลาดทั้งสามแห่งดังกล่าวเป็นมูลค่าไม่สูงมากนัก แต่ก็มีอัตราการเติบโตที่ดีพอสมควร ทั้งนี้ตามรายงานของ Global Trade Atlas พบว่ามูลค่าการนำเข้าสบู่โดยรวมของตลาดสหภาพยุโรปในแต่ละปีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปี 2548 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 1,770.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของมูลค่าการนำเข้าโดยรวมของทุกประเทศทั่วโลก โดยแหล่งนำเข้าสบู่ที่สำคัญของตลาดสหภาพยุโรปคือสหรัฐฯ อิสราเอล ตุรกี จีน และมาเลเซีย โดยทั้ง 5 ประเทศดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 70 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าสบู่โดยรวมของสหภาพยุโรปจากตลาดโลก ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2549 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.48 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าสบู่โดยรวมของสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 0.65 ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2548 คิดเป็นอัตราการเติบโตของส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 281.54 ดังนั้นตลาดสหภาพยุโรปจึงนับเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ยังคงเปิดกว้างสำหรับสินค้าสบู่ของไทยพอสมควร

ออสเตรเลีย นับเป็นตลาดที่น่าสนใจในลำดับต้นๆ เนื่องจากเป็นตลาดกำลังซื้อสูงที่มีการนำเข้าสบู่จากไทยเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 ไทยส่งออกไปยังออสเตรเลียเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.83 ของมูลค่าการส่งออกสบู่ของไทยโดยรวมในช่วงเวลาดังกล่าว ในระดับอัตราการเติบโตของมูลค่าร้อยละ 134.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้สัดส่วนการส่งออกดังกล่าวเป็นรองเพียงสหราชอาณาจักรเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงภาวะตลาดสบู่ในออสเตรเลีย ตามรายงานล่าสุดของ Global Trade Atlas ก็พบว่า การนำเข้าสินค้าสบู่จากต่างประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2548 มูลค่าการนำเข้าสบู่ในตลาดออสเตรเลียมีมูลค่าทั้งสิ้น 76.97 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.58 ขณะที่ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 มูลค่าการนำเข้าสบู่ในตลาดออสเตรเลียมีมูลค่า 75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสบู่สูงสุดในตลาดออสเตรเลียในช่วงเวลาดังกล่าว คือสหราชอาณาจักร(ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 15.54) ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา(ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14.57) และไทยที่สามารถเบียดคู่แข่งอย่างเยอรมนี นิวซีแลนด์ และจีน เป็นต้น จนขยับจากอันดับ 8 ในปี 2548 ขึ้นมาสู่อันดับ 3 ได้ในปีนี้ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 11.73 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าสบู่โดยรวมของออสเตรเลียจากตลาดโลก ซึ่งนอกจากผลิตภัณฑ์สบู่ของไทยในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงและพัฒนาจนสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวออสเตรเลียได้มากขึ้นแล้ว ส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าสบู่ไทยในตลาดออสเตรเลียมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาก็น่าจะเป็นอานิสงส์จากการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียที่มีการลดอัตราภาษีนำเข้าสบู่เหลือร้อยละ 0 จากเดิมร้อยละ 5 นับตั้งแต่ปี 2548

นิวซีแลนด์ นับเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจเช่นเดียวกับตลาดออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นตลาดกำลังซื้อสูงที่มีการนำเข้าสบู่จากไทยเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 ไทยสามารถส่งออกสบู่ไปยังตลาดนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 263.41 ในเทอมบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 275 ในเทอมดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2548 และคาดว่าเมื่อสิ้นปี 2549 มูลค่าการส่งออกสบู่ของไทยในตลาดนี้ก็น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 และเมื่อพิจารณาถึงภาวะตลาดสบู่ในนิวซีแลนด์ ก็พบว่า การนำเข้าสินค้าสบู่จากตลาดโลกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามรายงานล่าสุดของ Global Trade Atlas พบว่าในปี 2548 มูลค่าการนำเข้าสบู่ในตลาดนิวซีแลนด์มีมูลค่าทั้งสิ้น 22.95 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.21 ขณะที่ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 มูลค่าการนำเข้าสบู่ในตลาดนิวซีแลนด์มีมูลค่า 19.94 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสบู่สูงสุดในตลาดนิวซีแลนด์ในช่วงเวลาดังกล่าว คือออสเตรเลีย(ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 26.06) ตามมาด้วยสหราชอาณาจักร(ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16.17) และไทย(สัดส่วนร้อยละ 10.53) แต่ทั้งนี้มีเพียงสินค้าสบู่ของไทยเท่านั้นใน 3 แหล่งนำเข้าสำคัญของนิวซีแลนด์ที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนการนำเข้าสบู่จากออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักรกลับลดลงร้อยละ 15.91 และร้อยละ 6.1 ตามลำดับ อีกทั้งไทยยังสามารถเบียดคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ เยอรมนี จีน และมาเลเซีย ที่เคยครองส่วนแบ่งตลาดเหนือไทยมาโดยตลอดเป็นปีแรกด้วย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ที่มีการลดอัตราภาษีนำเข้าสบู่เหลือร้อยละ 0 จากเดิมร้อยละ 7 นับตั้งแต่ปี 2548 ที่ทำให้สินค้าสบู่ไทยในตลาดนิวซีแลนด์มีข้อได้เปรียบต่อคู่แข่งและมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น

อินเดีย สำหรับสถานการณ์การค้าสินค้าสบู่ระหว่างไทยและอินเดียในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตามรายงานของกรมศุลกากร พบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ไทยมักจะได้เปรียบดุลการค้า โดยในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 การค้าสบู่ระหว่างไทยกับอินเดียมีมูลค่าทั้งสิ้น 60.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 197.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2548 โดยเป็นการที่ไทยส่งออกสบู่ไปยังอินเดียคิดเป็นมูลค่า 56.35 ล้านบาท(เพิ่มขึ้นร้อยละ 266.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) และเป็นการนำเข้าสินค้าสบู่จากอินเดียเป็นมูลค่า 3.95 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 19.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2548) คิดเป็นภาวะที่ไทยได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 52.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่า 1.41 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับภาวะตลาดสบู่ในอินเดียนั้น พบว่าการนำเข้าสินค้าสบู่จากตลาดโลกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจอินเดียเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งตามรายงานล่าสุดของ Global Trade Atlas พบว่าในปี 2548 มูลค่าการนำเข้าสบู่ในตลาดอินเดียมีมูลค่าทั้งสิ้น 24.49 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.39 โดยทั้งนี้ จากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตร้อยละ 8.3 ในปี 2549 และร้อยละ 7.3 ในปี 2550 ก็น่าจะสะท้อนให้เห็นได้ว่ากลุ่มชนชั้นกลางของอินเดียซึ่งมีอยู่ประมาณ 300 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของประชากรอินเดียทั้งหมดมีแนวโน้มจะมีอำนาจซื้อสูงขึ้น จึงน่าจะเป็นโอกาสของสินค้าสบู่ส่งออกของไทยที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกในตลาดอินเดียในปี 2550 ดังนั้นตลาดอินเดียจึงนับเป็นตลาดใหม่ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นที่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสบู่ไทยไม่ควรมองข้าม

อย่างไรก็ตาม พบว่าปัจจุบันการส่งออกสบู่ของไทยยังต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันทั้งด้านคุณภาพและราคาสินค้ากับประเทศคู่แข่งขันที่สำคัญหลายรายด้วยกัน อันได้แก่เยอรมนี สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกสินค้าสบู่ที่มีชื่อเสียง และมีตราสินค้าเป็นที่นิยม และรู้จักแพร่หลายทั่วโลกในระดับราคาค่อนข้างแพง นอกจากนี้ยังมีจีนที่เป็นคู่แข่งขันสำคัญในตลาดสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน โดยจีนมีความได้เปรียบกว่าไทยในด้านค่าแรงงานที่ถูกกว่า ทำให้บริษัทต่างชาติในสหภาพยุโรปหลายรายเข้าไปลงทุนเพื่อใช้จีนเป็นฐานในการผลิตและส่งออกสินค้าดังกล่าวกลับไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมาเลเซียที่มีความได้เปรียบกว่าไทยในด้านบุคลากรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่ากลยุทธ์ทางการตลาดของไทยนับจากนี้จึงจำเป็นต้องทวีความเข้มข้นมากขึ้นในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภัณฑ์ที่ควรเร่งปรับปรุงทั้งในส่วนของคุณสมบัติ และนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความแตกต่างกันในด้านส่วนผสม เช่นสูตรเพื่อการตอบสนองต่อผิวที่แตกต่างกัน อันได้แก่สูตรสำหรับผิวแห้ง ผิวมัน หรือผิวคล้ำ เป็นต้น รวมทั้งสูตรที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีคุณสมบัติที่ดีสำหรับผิว ไม่ว่าจะเป็นสูตรมะขาม-ขมิ้นเพื่อผิวขาว สูตรนมแพะสำหรับบำรุงผิว และสูตรเปลือกมังคุดสำหรับขจัดและป้องกันสิว เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ผลิตจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ทั้งในด้านความหลากหลาย ความสวยงาม ความทันสมัย และรูปแบบที่สะดวกต่อการใช้งานด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น และมีวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งขยายช่องทางการจำหน่ายให้กว้างขวางยิ่งขึ้นด้วยการจัดระบบจัดจำหน่ายให้กระจายสู่ร้านค้าให้รวดเร็ว และครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้างมากขึ้น ควบคู่กับการเร่งวางแผนเจาะตลาดใหม่ๆอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสให้สินค้าสบู่ของไทยเป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น

บทสรุป
เป็นที่น่าสังเกตว่า สินค้าสบู่ของไทยในตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 2545-2547 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 22 ต่อปี และคาดว่าในปี 2549 มูลค่าการส่งออกสบู่ของไทยในตลาดต่างประเทศก็น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 23-25 ส่วนในปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สบู่ของไทยในตลาดโลกน่าจะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกด้วยอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ตามความต้องการในตลาดโลกที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันสินค้าผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของไทยเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในระดับสากลค่อนข้างสูงมาก ดังนั้นผู้ผลิตสบู่ไทยจึงควรอาศัยส่วนผสมธรรมชาติเป็นจุดแข็งในการแข่งขันต่อไป แต่ขณะเดียวกันสินค้าสบู่ของไทยยังต้องเผชิญกับคู่แข่งที่มีการปรับตัวและพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่องด้วย อีกทั้งการผลิตสบู่ภายใต้แบรนด์เนมของไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมที่มีการใช้แรงงานคนเป็นหลัก จึงทำให้ปริมาณและคุณภาพของสินค้ายังไม่แน่นอนเท่าที่ควร ดังนั้นในการบุกตลาดต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยจึงควรต้องรุกตลาดด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์สบู่ที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น และมีการวิจัยพัฒนาเพื่อยกระดับสินค้าให้ก้าวสู่ระดับสากลเพิ่มมากขึ้นด้วย ควบคู่กับการพัฒนารูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถดึงดูดใจผู้บริโภคได้มากขึ้น พร้อมทั้งเร่งทำแผนการตลาดเพื่อขยายตลาดสบู่ที่มีส่วนผสมสมุนไพร หรือสารสกัดธรรมชาติให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ตามกระแสการตื่นตัวเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ และการบำบัดร่างกายด้วยธรรมชาติที่ทวีความนิยมเพิ่มมากขึ้นตามลำดับทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่ นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยแต่ละรายควรพยายามสร้างสรรค์ชิ้นงานสินค้าสบู่จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติให้มีความหลากหลายมากขึ้น ด้วยจุดเด่นเฉพาะตัวทั้งทางด้านรูปลักษณ์ และกลิ่น เพื่อครองใจตลาดต่างประเทศที่มีกำลังซื้อสูง โดยควรขยายกลุ่มกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขวางยิ่งขึ้นจากกลุ่มผู้บริโภคตามครัวเรือนไปสู่กลุ่มโรงแรม รีสอร์ต และสปา ให้มากขึ้น และหากได้รับการสนับสนุนในส่วนของการประชาสัมพันธ์เพื่อขยายตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะยิ่งกระตุ้นให้สินค้าสบู่กลุ่มนี้ของไทยมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต