ความเป็นมา
เป็นเวลากว่า 25 ปีแล้วที่ทางการไทยพยายามยกร่างและผลักดันกฎหมายเพื่อลดการคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนวน โดยวงเงินคุ้มครองที่กล่าวถึงกันสมัยร่าง พ.ร.บ.สถาบันประกันเงินฝากในช่วงปี 2523 นั้น อยู่ที่เพียง 1 แสนบาทเท่านั้น แต่การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในสมัยนั้นและช่วงต่อๆ มา ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากติดขัดกับปัญหาทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม หลังจากประเทศไทยประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ทางการไทยก็เห็นความจำเป็นและมีความพยายามในการยกร่าง พ.ร.บ.สถาบันประกันเงินฝากอีกครั้ง (ซึ่ง ล่าสุดได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก) โดยร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ขณะที่ แม้ว่าจะมีเหตุรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลเฉพาะกาลก็ได้ทำการยืนยันและอนุมัติให้นำร่างกฎหมายดังกล่าว เข้าสู่ขั้นตอนทางกฎหมายเดิม ทำให้ในปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ หากผ่านขั้นตอนนี้ไป คาดว่าจะมีการส่งร่างกฎหมายกลับมายัง ครม.อีกครั้ง เพื่อเตรียมยื่นเข้าสู่สภานิติบัญญัติในลำดับถัดไป
รายละเอียดของกฎหมาย
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากล่าสุด (ฉบับที่อยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งรายละเอียดอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก) ได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ คุ้มครองเงินฝากในสถาบันการเงิน เสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบการเงิน รวมทั้ง ดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุม และชำระบัญชีสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าว ประกอบไปด้วย 9 หมวดหลัก 73 มาตรา ซึ่งจะครอบคลุมทั้งประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ
– ร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก คงจะบังคับใช้กับสถาบันการเงิน อันได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกแห่งที่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ในปัจจุบัน โดยมีระยะเวลาการบังคับใช้ (คือต้องมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากและเริ่มลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก) ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
– สถาบันคุ้มครองเงินฝาก มีสภาพเป็นนิติบุคคล ซึ่งมีทุนประเดิมจากรัฐบาลในวงเงินไม่เกิน 1 พันล้านบาท โดยถือเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ทำให้ไม่ต้องนำส่งรายได้ให้กับแผ่นดิน
– เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ได้แก่ (1) เงินฝากและดอกเบี้ยที่เป็นเงินบาท (2) เงินฝากในบัญชีเงินฝากภายในประเภท ไม่ใช่ของบุคคลที่มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ (3) ในกรณีที่มีหลักฐานแห่งเงินฝากเป็นตราสาร เช่น ตั๋วสัญญาใช้เงินหรือบัตรเงินฝาก จะต้องเป็นตราสารชนิดระบุชื่อ (สำหรับกรณีของบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์) โดยคณะกรรมการของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะประกาศรายละเอียดประเภทเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองต่อไป
– สถาบันคุ้มครองเงินฝากจ่ายเงินให้แก่ผู้ฝาก แต่ละรายในแต่ละสถาบันการเงินตามจำนวนเงินฝากไว้สำหรับทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ในช่วง 4 ปีแรกของการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะเป็นการทยอยลดวงเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง ผ่านการตรา พ.ร.ฎ.เพื่อระบุรายละเอียดต่อไป
– ให้สถาบันการเงินนำส่งเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก ตามอัตราที่กำหนดโดย พ.ร.ฎ. แต่ต้องไม่เกิน 1% ต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครอง ขณะที่ในครั้งแรก อัตราเงินนำส่ง จะเป็นอัตราเดียว แต่ครั้งต่อไป อาจสามารถกำหนดอัตราให้แตกต่างกันตามประเภท หรือฐานะการดำเนินงานของสถาบันการเงินก็ได้
ระยะเวลาที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้
เนื่องจากในปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. … อยู่ระหว่างขั้นตอนท้ายๆ ของการพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว จึงทำให้น่าจะมีความคืบหน้ามากกว่าร่าง พ.ร.บ.ทางการเงินอื่นๆ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย และร่างแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา อย่างไรก็ตาม คาดว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา อาจต้องการเก็บร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไว้ก่อน เผื่อมีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินที่เพิ่งผ่านการรับหลักการของครม.เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (และในปัจจุบัน กำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา) ดังนั้น คาดว่าอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักหนึ่ง จึงจะสามารถเสนอร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
แต่ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลเฉพาะกาล มีเจตนารมย์ชัดเจนที่ต้องการผลักดันร่างกฎหมายการเงินที่จำเป็นให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ก็ถือเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายการเงินที่ได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า รัฐบาลเฉพาะกาลจึงน่าจะเร่งผ่านร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ในช่วงไตรมาส 3 หรือ 4 ปี 2550 ก่อนที่วาระของรัฐบาลจะสิ้นสุดลงหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป จากนั้น ภายใน 6 เดือน (ตามกรอบกฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝาก) หรือภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 คาดว่าจะมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และเริ่มทยอยลดวงเงินค้ำประกันเงินฝากลง ตามรายละเอียดที่คณะกรรมการคุ้มครองเงินฝากจะกำหนดใน พ.ร.ฎ.ต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องทบทวนกฎหมายทางการเงินที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกระทบต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จนทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในปี 2550 หรือสภานิติบัญญัติฯ เห็นว่าใกล้กับการเลือกตั้งทั่วไปจนเกินไป การพิจารณาและการบังคับใช้ร่างกฎหมายดังกล่าว ก็อาจถูกกระทบได้
ผลกระทบเบื้องต้นต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผลกระทบต่อผู้ฝากเงิน
– วงเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองลดลง คงจะทำให้ผู้ออมที่มีเงินฝากเป็นจำนวนมาก อาจต้องศึกษาและสรรหาทางเลือกในการลงทุนใหม่ๆ โดยแม้ว่าวงเงินค้ำประกันของสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน จะครอบคลุมจำนวนบัญชีถึง 98.7% ของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2549) แต่ถ้าคิดในแง่ของจำนวนเงินฝาก จะครอบคลุมเพียง 25.8% ของเงินฝากทั้งหมดเท่านั้น ทำให้ผู้ฝากเงินในบัญชีที่มีวงเงินสูงกว่า 1 ล้านบาท และไม่ชอบความเสี่ยงอาจต้องกระจายเงินฝากไปยังสถาบันการเงินแต่ละแห่งจนครบ 44 แห่ง ซึ่งจะทำให้ได้รับความคุ้มครองสูงสุดเต็มจำนวนที่ 44 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การกระจายเงินฝากดังกล่าว อาจไม่สะดวกในทางปฏิบัติ ดังนั้น ผู้ฝากเงินที่ไม่ชอบความเสี่ยง จึงควรเลือกฝากเงินในสถาบันการเงินที่มีความมั่นคงเป็นสำคัญ อันจะช่วยลดความเสี่ยงจากการที่สถาบันการเงินจะประสบปัญหาทางการเงินลง หรือในกรณีที่ผู้ฝากมีเงินออมส่วนที่ไม่ได้รับความคุ้มครองเหลืออยู่มาก ก็อาจเลือกลงทุนในตราสารทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำและมีลักษณะคล้ายคลึงกับเงินฝาก เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ/หุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับเครดิตดี กองทุนรวมประเภทค้ำประกันเงินต้น และพันธบัตรรัฐบาล/รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ในขณะที่ ผู้ฝากเงินที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น อาจขยายขอบเขตการลงทุนไปยังทางเลือกอื่นๆ อาทิ กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่สูงขึ้น หรือการลงทุนในหุ้น ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยงสูง แต่ก็มีโอกาสรับผลตอบแทนสูงเช่นกัน
– ผู้ฝากเงินจะเป็นนักลงทุนที่มีความรู้ (Sophisticated) มากขึ้น การบังคับใช้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้ฝากเงินพัฒนาความรู้ด้านการลงทุนมากขึ้น และเปิดรับตราสารทางการเงินประเภทใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนไทยในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดพันธบัตร เนื่องจากคาดว่าความสนใจในพันธบัตรรัฐบาลน่าจะเพิ่มขึ้นชัดเจน เพราะพันธบัตรรัฐบาลถือเป็นตราสารทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด
ผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์
– โอกาสเกิดการเคลื่อนย้ายเงินฝากระหว่างธนาคารพาณิชย์ในช่วงเริ่มใช้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก น่าจะต่ำ บนเงื่อนไขสภาวะแวดล้อมที่มีความพร้อม โดยประเด็นที่อยู่ในความกังวลของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในขณะนี้ คือ การเคลื่อนย้ายเงินฝากของประชาชน หลังจากการเริ่มทยอยลดการค้ำประกันเงินฝาก ซึ่งอาจทำให้เงินฝากไหลไปยังสถาบันการเงินที่มีความมั่นคงสูง และมีผลตามมาต่อพฤติกรรมการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันระหว่างสถาบันการเงินที่มีระดับความมั่นคงและความเสี่ยงแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า หากช่วงของการเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) จากการค้ำประกันเงินฝากแบบเต็มจำนวนแบบในปัจจุบัน (Blanket Guarantee) มาเป็นการค้ำประกันเงินฝากแบบจำกัดขอบเขตภายใต้สถาบันคุ้มครองเงินฝากนั้น เกิดขึ้นภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและมีความพร้อม ก็น่าจะทำให้ผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินฝากมีไม่มากนัก
ทั้งนี้ คาดว่า ธปท.จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาวะที่มีความพร้อมดังกล่าวขึ้นมา ด้วยการทยอยเพิ่มความเข้มงวดของหลักเกณฑ์ต่างๆ และผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ไทยปรับเข้าสู่มาตรฐานการดำเนินงานที่อยู่ในระดับสากลมากขึ้น อันจะเพิ่มความมั่นคงให้กับระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ดังจะเห็นได้จากการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศใช้หลักเกณฑ์การกันสำรองหนี้ตามมาตรฐานการบัญชีสากลฉบับที่ 39 (IAS39) ในช่วงสิ้นปี 2549-สิ้นปี 2550 การบังคับใช้มาตรฐานการกำกับดูแลแบบรวมกลุ่ม (Consolidated Supervision) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 การใช้ Basel II ในช่วงสิ้นปี 2551 ตลอดจน ล่าสุด การสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงกว่า 9.5% ซึ่งคงจะกระตุ้นให้มีการเพิ่มความเข้มแข็งของเงินกองทุนในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน เพื่อทำให้หลายหลักเกณฑ์ข้างต้นนั้น มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายที่หนักแน่นขึ้น โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการส่วนใหญ่มีกำหนดการที่จะดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายในปี 2551
นอกเหนือจากความพร้อมของสถาบันการเงินแล้ว ในกรณีที่การลดการค้ำประกันเงินฝาก เริ่มต้นขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 นั้น น่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งน่าจะขยายตัวเร่งขึ้น หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงในปี 2550 ในขณะเดียวกัน สถานการณ์การเมืองคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะหากการเลือกตั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2550 เสร็จสิ้นไปด้วยดี ซึ่งน่าจะช่วยหนุนความเชื่อมั่นในประเทศ นอกจากนี้ ในช่วงปีแรกของการบังคับใช้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก วงเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงถึงประมาณ 50 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ซึ่งครอบคลุมจำนวนบัญชีเงินฝากถึง 99.99% และจำนวนเงินฝากถึง 74.74% ของเงินฝากทั้งหมด นั่นหมายความว่า ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ยังคงได้รับความคุ้มครองเต็มที่จากสถาบันคุ้มครองเงินฝากอยู่ ซึ่งจะไม่แตกต่างไปจากปัจจุบันมากนัก
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ในช่วงปีแรกๆ ของการใช้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จึงไม่น่าจะมีการเคลื่อนย้ายเงินฝากจนก่อให้เกิดปัญหาสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยในภาวะที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง มีความเข้มแข็งทางการเงินในระดับสูงและปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ของธปท.ได้ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจและการเมืองมีเสถียรภาพ คาดว่าผู้ฝากเงินคงจะให้น้ำหนักไปที่อัตราผลตอบแทน ความสะดวก และคุณภาพของบริการจากธนาคารพาณิชย์ มากกว่าที่จะกังวลเกี่ยวกับวงเงินการค้ำประกันเงินฝากที่ลดลง ในขณะที่ ผู้ฝากเงินรายใหญ่ในปัจจุบัน ก็สะสมความมั่งคั่งส่วนหนึ่งไว้ในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากเงินฝากอยู่แล้ว อาทิ อสังหาริมทรัพย์ และหลักทรัพย์ นั่นหมายความว่า การเคลื่อนย้ายเงินฝากของผู้ฝากเงินกลุ่มนี้ในช่วงเริ่มใช้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ก็น่าจะมีแรงจูงใจต่ำเช่นกัน
– การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก สนับสนุนการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในลักษณะ Universal Banking มากขึ้น เนื่องจากผู้ฝากเงินคงจะให้ความสนใจทางเลือกในการออมและลงทุนประเภทอื่นๆ มากขึ้น อันจะช่วยสร้างโอกาสสำหรับธนาคารพาณิชย์ในการขยายธุรกิจไปยังกองทุนรวม และบริษัทหลักทรัพย์ สอดคล้องกับเจตนารมย์ของธปท.ที่สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจแบบครบวงจร หรือ Universal Banking ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่ง ซื้อกิจการ หรือเพิ่มสัดส่วนในธุรกิจทางด้านการเงินอื่นๆ ที่ยังขาดอำนาจการควบคุมในเชิงบริหาร ส่งผลให้ในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ไทยเกือบทุกแห่งมีสัดส่วนถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และ/หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) สูงกว่า 50% ของบล.หรือบลจ.นั้นๆ
ภาพรวมของโครงสร้างธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย จึงออกมาในลักษณะของกลุ่มธุรกิจการเงิน (Financial Conglomerates) หรือโฮลดิ้ง (Holdings) ที่มีการทำธุรกิจทางการเงินในแขนงต่างๆ อย่างครบวงจร ซึ่งน่าจะทำให้บทบาทของธนาคารพาณิชย์ในฐานะที่เป็นตัวกลางทางการเงินของระบบเศรษฐกิจ สูงขึ้นกว่าในอดีตด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นได้ว่า ธนาคารพาณิชย์ที่มีฐานะทางการเงินมั่นคง ได้รับความเชื่อถือจากผู้ฝากเงินในด้านการบริหารจัดการ และสามารถให้บริการแบบ Universal Banking ได้ น่าจะได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีเงินฝากจำนวนมาก เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์และบริการจากบริษัทภายในกลุ่มธุรกิจเดียวกันรองรับความต้องการของลูกค้าเงินฝากที่อาจจะอยากนำเงินฝากส่วนที่ไม่ได้รับความคุ้มครองไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ มากขึ้น
ผลกระทบต่อทางการ
การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะช่วยจำกัดภาระความเสียหายจากการเข้าไปให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงิน โดยในอดีตถึงปัจจุบัน หน้าที่ในการเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินและรับผิดชอบผู้ฝากเงินแบบเต็มจำนวน ยังอยู่ที่กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งภาระที่เกิดขึ้นจากสมัยวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีจำนวนทั้งสิ้นตามประมาณการของทางการล่าสุด สูงถึงจำนวน 1.3-1.4 ล้านล้านบาท อันเป็นภาระของประชาชนผู้เสียภาษี และบางส่วนได้สะท้อนอยู่ในหนี้สาธารณะของประเทศ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จำกัดขอบเขตความเสียหายอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงินนั้น จะช่วยลดทอนภาระในการดูแลสถาบันการเงินและผู้ฝากเงินลงได้มาก ซึ่งประสิทธิภาพในการจำกัดความเสียหายดังกล่าว คงจะต้องอาศัยอำนาจของกฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน (ที่กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายในขณะนี้) ด้วย เนื่องจากจะอนุญาตให้ธปท./ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน (รวมถึงผู้แทนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก) สามารถเข้าไปดูแลและแทรกการดำเนินงานของสถาบันการเงินในรูปแบบที่เป็นขั้นตอนชัดเจน ก่อนที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะติดลบ
โดยสรุปแล้ว การผลักดันร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ของรัฐบาลเฉพาะกาลในปัจจุบัน คงจะทำให้การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากเข้าใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า หากไม่มีเหตุที่กระทบต่อกระบวนการพิจารณาทางกฎหมาย ก็อาจเห็นการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ควบคู่กับการเริ่มทยอยลดวงเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและสถานการณ์การเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้นในปี 2551 ตลอดจนการที่ธปท.พยายามผลักดันให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้น อันน่าจะช่วยให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็งและได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้นนั้น คาดว่าการเริ่มใช้สถาบันคุ้มครองเงินฝากดังกล่าว คงจะไม่ส่งผลกระทบให้เกิดการเคลื่อนย้ายของเงินฝากระหว่างสถาบันการเงิน โดยผู้ฝากเงินคงจะให้น้ำหนักกับอัตราผลตอบแทน ความสะดวก และคุณภาพของบริการจากธนาคารพาณิชย์มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป เมื่อสถาบันคุ้มครองเงินฝากทยอยลดวงเงินฝากที่ได้รับการประกันลง ผู้มีเงินออมเกินกว่าจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง คงจะถูกกระตุ้นให้ต้องศึกษาและสรรหาทางเลือกทางการออมใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะเท่ากับเป็นการขยายตลาดสำหรับตราสารทางการเงินประเภทใหม่ๆ ช่วยพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนไทย ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับธนาคารพาณิชย์ที่มีการประกอบธุรกิจในรูปแบบ Universal Banking อีกด้วย