เครื่องลูกข่ายโทรศัพท์มือถือปี’ 50 : ความต้องการยังพุ่ง…ตลาดโต 84,000 ล้านบาท

ในปี 2549 ความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การแข็งค่าของเงินบาท ภาวะราคาน้ำมันที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่สูง ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ตามในปี 2550 นั้น คาดว่าจะมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับตลาดเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ในปี 2550 ยังจัดว่าเป็นสินค้าที่ยังอยู่ในความนิยมและยังมีความต้องการซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยที่แนวโน้มของราคาเครื่องลูกข่ายปรับตัวลดลง โดยได้รับผลดีจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้มูลค่านำเข้าปรับลดลง นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าความต้องการเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์ที่มีฟังก์ชั่นการทำงานแบบคอนเวอร์เจ้นท์ หรือสมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้น โดยมีดีไซน์ของตัวเครื่องเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อเครื่องใหม่

ตลาดเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ ตลาดลูกค้าใหม่ที่เริ่มใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (new subscribers) และตลาดเครื่องทดแทน (replacement) หรือ ผู้ใช้บริการที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่แล้วและต้องการเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์ใหม่ โดยที่ตลาดลูกค้าใหม่นั้นจะมีบทบาทลดน้อยลงเมื่อจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดเริ่มลดลง ในขณะที่ตลาดเครื่องทดแทนนั้นกลับเพิ่มบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดทั้งทางด้านการใช้งานทางด้านความบันเทิง เช่น เครื่องเล่นเอ็มพี3/4 กล้องถ่ายภาพ หรือการใช้งานทางด้านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า ยอดจำหน่ายเครื่องลูกข่ายรวมในปี 2550 จะมีจำนวนประมาณ 10.5 ล้านเครื่อง เติบโตขึ้นร้อยละ 20 คิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 84,000 ล้านบาท

การสำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของคนกรุงเทพในช่วงระหว่างวันที่ 1-15 ธันวาคม 2549 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,000 ชุด ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ระยะเวลาในเปลี่ยนเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 1 ปี คิดเป็นร้อยละ 40 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด หรือมีค่าเฉลี่ยของการใช้โทรศัพท์อยู่ที่ 1.8 ปี โดยที่กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี มีอัตราการเปลี่ยนเร็วที่สุดเฉลี่ยประมาณ 1.5 ปี และมีแนวโน้มการใช้นานขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยกลุ่มอายุ 21-30 ปี ใช้เวลา 1.7 ปี และอายุมากกว่า 30 ปี ขึ้นไปใช้เวลา 2.5-2.8 ปี ส่วนเหตุผลที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องใหม่นั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 35.5 มาจากต้องการเครื่องที่มีเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัย ดีไซน์สวยงาม ร้อยละ 34 เปลี่ยนเครื่องเนื่องจากเครื่องเดิมเสีย แบตเตอรี่หมดอายุ ร้อยละ 22 เปลี่ยนเครื่องเพราะเครื่องเดิมหาย ส่วนที่เหลือร้อยละ 8.5 เปลี่ยนเครื่องเพราะได้รับเครื่องมาฟรีจากคนรู้จัก และอื่นๆ

สำหรับปัจจัยทางการตลาดในการเลือกซื้อเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่ของผู้ใช้บริการนั้น จากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคยังเลือกซื้อเครื่องโทรศัพท์โดยการใช้ราคาเครื่องเป็นปัจจัยอันดับที่ 1 โดยเครื่องที่มีราคาต่ำกว่า 10,000 บาทนั้น มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 72 ส่วนเครื่องที่มีราคาสูงกว่า 10,000 บาทขึ้นไปนั้นมีสัดส่วนร้อยละ 28 ของตลาด ปัจจัยทางการตลาดในการเลือกซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอันดับรองลงมาเป็นความทนทานในการใช้งาน ยี่ห้อหรือแบรนด์ เป็นอันดับ 3 ความนิยมเป็นอันดับ 4 และบริการหลังการขายเป็นอันดับ 5 ส่วนปัจจัยทางการตลาดอื่นๆ ที่นำมาพิจารณาได้แก่ ราคาขายต่อ และของแถมตามลำดับ

ลักษณะของเครื่องที่เลือกซื้อนั้นส่วนใหญ่เลือกจากดีไซน์ของเครื่องมากเป็นอันดับแรก โดยในปัจจุบันรูปลักษณ์ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับการออกแบบให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มและมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว ส่วนปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาอันดับรองลงมา ได้แก่ คุณภาพของเสียง กล้องถ่ายภาพ เครื่องเล่นMP3 ขนาดของเครื่อง น้ำหนัก การ์ดหน่วยความจำ การเชื่อมต่อ และเกมส์ ตามลำดับ เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกเหนือจากความต้องการใช้เครื่องโทรศัพท์โดยการติดต่อสื่อสารในลักษณะปกติแล้ว โทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มของการใช้งานในลักษณะที่ให้ความบันเทิง ประโยชน์ทางด้านการสื่อสารอื่นๆ มากยิ่งขึ้น ในขณะที่ราคากลับมีแนวโน้มเพิ่มขี้นไม่มากนักทำให้ตอบสนองกับความต้องการและรูปแบบการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปประเด็นแนวโน้มของตลาดเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2550 ดังนี้

ความต้องการเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2550 ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงซื้อจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 กลุ่มคือตลาดเลขหมายใหม่และตลาดเครื่องทดแทน โดยมียอดจำหน่ายรวมของตลาดเครื่องลูกข่ายประมาณ 10.5 ล้านเครื่อง โดยแบ่งออกเป็น

1. ตลาดเลขหมายใหม่ (new subscribers) มีแนวโน้มชะลอตัวลง เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เปิดใช้ใหม่ในช่วงปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 5 ล้านเลขหมาย ชะลอตัวลงจาก 7.4 ล้านเลขหมายในปี 2549 หรือชะลอตัวลงประมาณร้อยละ 32.4 การชะลอตัวลงของตลาดให้บริการเลขหมายนั้นเป็นไปตามภาวะของตลาดทั้งนี้จำนวนผู้ใช้ใช้บริการรวมที่สูงถึง 37 ล้านรายหรือประมาณร้อยละ 60 ของประชากรทั้งประเทศนั้น ทำให้ลูกค้าใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้ใหม่น้อยลงนั้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของตลาดเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พบว่าร้อยละ 30 ของเลขหมายที่เพิ่มขึ้นใหม่นั้นอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีเลขหมายและเครื่องใช้งานอยู่แล้ว (ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้มากกว่า 1 เลขหมาย) ส่วนอีกร้อยละ 70 ของเลขหมายที่เพิ่มขึ้น จะมีความต้องการซื้อเครื่องใหม่ ซึ่งจะมีผลทำให้ความต้องการเครื่องใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 3.5 ล้านเครื่อง

2. ตลาดเครื่องทดแทน (replacement market) ยังเติบโตได้ดี ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 65-70 ของตลาดเครื่องลูกข่ายรวมทั้งหมด จากการสำรวจความต้องการเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2550 พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีความคิดว่าจะซื้อเครื่องลูกข่ายใหม่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 37.5 ซึ่งทำให้ตลาดเครื่องทดแทนในปี 2550 น่าจะมียอดจำหน่ายประมาณ 7 ล้านเครื่อง

– กลุ่มวัยทำงาน มีความต้องการเครื่องลูกข่ายสูง จากการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 21-30 ปี เป็นกลุ่มที่มีความต้องการซื้อเครื่องลูกข่ายสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 42.7 รองลงมาเป็นกลุ่มอายุระหว่าง 15-20 ปี คิดเป็นร้อยละ 26.7 ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีค่อนข้างมาก มีความต้องการเครื่องใหม่ที่มีดีไซน์ทันสมัย รองรับบริการทางด้านบันเทิงหลากหลาย เช่น กล้องถ่ายภาพ เครื่อเล่น MP3 เกมส์ นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าการมีโทรศัพท์รุ่นใหม่เป็นเครื่องประดับและบ่งบอกถึงรสนิยมของผู้ใช้อีกประเภทหนึ่ง

– เครื่องใหม่ยังเป็นที่นิยมมากกว่าเครื่องมือสอง จากการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 89 สนใจที่จะซื้อเครื่องใหม่เพื่อมาใช้งาน ในขณะที่เครื่องมือสองนั้นมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 11 ของตลาด เนื่องจากเครื่องโทรศัพท์มีการเปลี่ยนแปลงของดีไซน์และคุณสมบัติของเครื่องเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลาและมีเครื่องความถี่ในการออกรุ่นใหม่เร็วขึ้นกว่าเดิมค่อนข้างมาก นอกจากนี้ราคายังมีความหลากหลายให้เลือก ตั้งแต่รุ่นราคาต่ำ ฟังก์ชั่นการทำงานน้อย จนถึงรุ่นที่มีราคาแพงซึ่งสามารถรองรับการสื่อสารอินเทอร์เน็ตไร้สาย คล้ายเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กพกพา มีกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงและมีคุณภาพของเสียงดี เป็นต้น นอกจากนี้ราคาเครื่องใหม่ยังมีแนวโน้มปรับตัวตัวลดลงค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับในอดีตเนื่องจากการแข่งขันสูง ทำให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น

– มัลติมีเดียโฟนมีความโดดเด่น ความต้องการเครื่องลูกข่ายที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานเพื่อความบันเทิงและมัลติมีเดียมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ฟังก์ชั่นกล้องถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ การถ่ายโอนข้อมูลผ่านบลูทูธ อินฟาเรด เอ็มพี3 จะกลายเป็นฟังก์ชั่นพื้นฐานที่ผู้ใช้บริการพิจารณาเลือกซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ สำหรับแนวโน้มในอนาคตนั้นการพัฒนารูปแบบของโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเข้าสู่การรวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายๆ ชนิดเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า สมาร์ทโฟน เช่น การพัฒนากล้องถ่ายภาพให้มีความละเอียดของกล้องเพิ่มขึ้นเป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพคุณภาพดีได้ การพัฒนาจากเอ็มพี3 ไปสู่เอ็มพี4 หรือ การรองรับภาพเคลื่อนไหวแบบวิดีโอคลิป การพัฒนาให้รองรับเกมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น การเพิ่มหน่วยความจำในตัวเครื่องให้รองรับไฟล์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเพื่องรองรับการสื่อสารในแบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายได้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ในต่างประเทศนั้นกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตามการมีคุณสมบัติของเครื่องที่ซับซ้อนขึ้นนั้นก็ทำให้ราคาของเครื่องเหล่านี้สูงด้วยเช่นกัน แต่ก็นับว่าเป็นแนวโน้มที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้สูง

– ตลาดเครื่องราคาต่ำกว่า 10,000 บาทยังเป็นตลาดขนาดใหญ่ โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 72 ของตลาดรวม ทั้งนี้ราคาเครื่องที่จำหน่ายเมื่อเทียบกับฟังก์ชั่นการทำงานแล้ว นับว่ามีราคาลดลงและมีออกรุ่นใหม่รวดเร็วทำให้เครื่องรุ่นเก่ามีราคาปรับตัวลดลงเฉลี่ยร้อยละ 20-30 ต่อปี ส่วนเครื่องลูกข่ายที่มีราคามากกว่า 10,000 บาทขึ้นไปมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 18 ซึ่งในกลุ่มของผู้ที่ต้องการเครื่องที่มีราคามากกว่า 10,000 บาทขึ้นไปนั้นส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 21-30 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงานเริ่มทำงานและมีกำลังซื้อประกอบกับความต้องการเครื่องที่ตอบสนองต่อความต้องการใช้งานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

– ตลาดเช่าซื้อ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 12 การซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ ร้อยละ 88 จะซื้อด้วยเงินสด ในขณะที่อีกประมาณร้อยละ 12 นั้นซื้อแบบผ่อนชำระหรือเช่าซื้อ โดยการเช่าซื้อนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นการผ่อนชำระกับบริษัทที่ให้บริการผ่อนชำระโดยตรง และการผ่อนชำระกับบัตรเครดิต โดยมีอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้ออยู่ในช่วงระหว่าง 0.8-1.5 ต่อปี (Flat Rate) ทั้งนี้เครื่องที่มีราคาสูงมีแนวโน้มที่จะมีการซื้อในลักษณะผ่อนชำระมากขึ้น โดยเครื่องที่มีราคาสูงกว่า 10,000 บาทนั้นมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 ของเครื่องที่ซื้อแบบผ่อนชำระทั้งหมด

– แบรนด์ขนาดเล็กเริ่มมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น แม้ว่าตลาดเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น แบรนด์หรือยี่ห้อของเครื่องที่ผลิตจากผู้ผลิตระดับโลก จะได้รับความนิยมค่อนข้างมากและมีส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วนที่สูง แต่ที่ผ่านมาเครื่องลูกข่ายที่สั่งผลิตและนำมาติดตราเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศและแบรนด์ที่ผลิตสินค้าในไลน์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ และหันมาทำตลาดในการผลิตเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ่น ซึ่งมีอยู่หลายยี่ห้อที่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าส่วนแบ่งตลาดของเครื่องลูกข่ายแบรนด์ขนาดเล็กนั้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 17.2 ในปี 2549 และมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้แบรนด์ขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นได้อาศัยช่องว่างของตลาดโดยการผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค มีการพัฒนารูปแบบดีไซน์ของเครื่องรวมทั้งมีฟังก์ชั่นการทำงานที่ไม่แตกต่างจากแบรนด์ขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมและตั้งราคาจำหน่ายไม่สูงมากเมื่อเทียบกับแบรนด์ระดับโลก (global brand) จึงทำให้แบรนด์ขนาดเล็กสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กล่าวโดยสรุปแล้วตลาดเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2550 นั้น คาดว่าจะยังมีแนวโน้มของตลาดที่ขยายตัวได้ดี โดยคาดว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับภาพรวมของตลาดโดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจ ความผันผวนของราคาน้ำมัน และค่าเงินบาทนั้นน่าจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีและมีปัจจัยบวกเข้ามากระทบ เช่น การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันเป็นครั้งคราว การเพิ่มงบประมาณรายจ่ายทางภาครัฐ การเพิ่มเงินเดือนของทั้งภาครัฐและเอกชน หรือการปรับลดราคาเครื่องลูกข่ายอันเนื่องมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นซึ่งทำให้สินค้าที่นำเข้ามาในประเทศมีราคาลดลง ที่อาจทำให้ตลาดเครื่องลูกข่ายได้รับผลดีและมีแนวโน้มการขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา