สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 : ส่งเสริมการค้าชายแดน-ท่องเที่ยวเฟื่องฟู

สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 ซึ่งเชื่อมแขวงสะหวันนะเขตของลาวกับจังหวัดมุกดาหารของไทย ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 และจะเปิดใช้สะพานในเดือนมกราคม 2550 สะพานแห่งใหม่นี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางไป-มาของประชาชนและการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับลาว ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับลาวมากยิ่งขึ้น ถือว่าสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ช่วยสร้างความแข็งแกร่งในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวตะวันออกและตะวันตก (East-West Economic Corridor) ระหว่างลาว ไทย และเวียดนาม ผ่านเส้นทางถนนหมายเลข 9 ซึ่งขณะนี้กำลังขยายเครือข่ายของเส้นทางระหว่างประเทศสายนี้ไปถึงพม่าด้วย จึงช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ 4 ประเทศ ตั้งแต่เมืองดานังของเวียดนาม-แขวงสะหวันนะเขตของลาว-จังหวัดมุกดาหารและอำเภอแม่สอด จังหวัดตากของไทย-เมืองเมียงสอและเมืองมะละแม่งของพม่า นับเป็นปัจจัยที่สนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอินโดจีน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของลาวให้เติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งกระตุ้นการค้าชายแดนไทย-ลาว ทางจังหวัดมุกดาหาร-สะหวันนะเขตด้วย

ลาวเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน กัมพูชา เวียดนาม พม่า และไทย โดยพรมแดนของลาวที่ติดต่อกับไทยคิดเป็นระยะทางยาวเป็นอันดับ 2 รองจากพรมแดนส่วนที่ติดต่อกับเวียดนาม ทำให้การค้าทางชายแดนมีบทบาทสำคัญกับลาวทั้งด้านการส่งออกสินค้าและการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ ประกอบกับลาวเป็นประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดทะเล ทำให้ต้องส่งออก/นำเข้าสินค้าผ่านประเทศเพื่อนบ้านไปยังประเทศที่สาม

มูลค่าการค้าชายแดนไทย-ลาว เพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 30% ต่อปี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2548 การค้าชายแดนไทย-ลาว มีมูลค่ารวม (ส่งออก+นำเข้า) 38,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.8% จากมูลค่า 28,805 ล้านบาท ในปี 2547 และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 (ม.ค.-ส.ค.) มูลค่าการค้าชายแดนรวมระหว่างไทย-ลาว เพิ่มขึ้นราว 30% จาก 24,520 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2548 เป็น 32,083 ล้านบาท

การส่งออกทางชายแดนของไทยไปลาวขยายตัวราว 21% เป็นมูลค่า 25,264.8 ล้านบาท ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับมูลค่าส่งออก 20,862.8 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันปี 2548 ทั้งนี้ การส่งออกชายแดนของไทยไปลาวในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ชะลอลงเมื่อเทียบกับอัตราขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 35% ต่อปี ระหว่างปี 2547-2548 เนื่องจากสินค้าส่งออกของจีนและเวียดนามที่ราคาถูกกว่าเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเปิดสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 จะช่วยกระตุ้นให้การส่งออกสินค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาวเพิ่มขึ้นรวดเร็วในระยะต่อไป

ส่วนการนำเข้าทางชายแดนของไทยจากลาวในช่วงเดียวกันขยายตัว 86% จากมูลค่านำเข้า 3,658 ล้านบาท ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2548 เป็น 6,818 ล้านบาท นับว่าการนำเข้าสินค้าชายแดนจากลาวขยายตัวในอัตราสูงเมื่อเทียบกับอัตราเพิ่มเฉลี่ย 13% ต่อปีระหว่างปี 2547-2548 เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าแร่และผลิตภัณฑ์โลหะจากลาวเพิ่มขึ้นมากในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าชายแดนกับลาวมาโดยตลอด ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 ไทยเกินดุลการค้าชายแดนกับลาวเป็นมูลค่าราว 18,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,242 ล้านบาท จากมูลค่าเกินดุล 17,204 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2548

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปลาวทางชายแดน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ และสิ่งทอ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากลาวทางชายแดน ได้แก่ ไม้ ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ สินค้าแร่ สินค้ากสิกรรม ยานพาหนะและส่วนประกอบ

สำหรับการค้าชายแดนไทย-ลาวทางด่านมุกดาหาร-สะหวันนะเขตมีมูลค่ารวม 7,630 ล้านบาท ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 ไทยส่งออกไปลาวทางชายแดนนี้มูลค่า 5,356 ล้านบาท และนำเข้าเป็นมูลค่า 2,275 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยยังคงเกินดุลการค้าชายแดนลาวเฉพาะที่จุดผ่านแดนนี้เป็นมูลค่าราว 3,080 ล้านบาท สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นสินค้าส่งออกที่ไทยส่งไปลาวมากที่สุดทางด่านมุกดาหาร-สะหวันนะเขต คิดเป็นสัดส่วน 23% ของการส่งออกผ่านทางด่านชายแดนนี้ทั้งหมดของไทยไปลาว สินค้าส่งออกสำคัญอื่นๆ ของไทยทางชายแดนนี้ ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง เครื่องจักรที่ไม่ใช้ไฟฟ้า เครื่องไฟฟ้าอุปกรณ์และส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากลาวทางด่านมุกดาหาร-สะหวันนะเขตมากที่สุด ได้แก่ สินค้าแร่ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 74% ของการนำเข้าของไทยจากลาวทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ไม้ ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ และเครื่องจักรไม่ใช้ไฟฟ้า

สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ระหว่างไทยกับลาว คาดว่าจะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานของโครงการยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy) ที่สนับสนุนโครงการก่อสร้างถนนและสะพานเชื่อมประเทศสมาชิก ACMECS 5 ประเทศ (ไทย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) รวมทั้งเพิ่มเส้นทางระหว่างประเทศสมาชิก ACMECS กับประเทศใกล้เคียง เช่น จีนและอินเดีย ด้วย นอกจากนี้ โครงการ ACMECS ยังส่งเสริมภาคเอกชนไทยให้เข้าไปร่วมผลิตสินค้าเกษตรกับประเทศเพื่อนบ้านและรับซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศเหล่านี้ หรือเรียกว่า การจัดทำสัญญาเกษตรพันธะ (contract farming) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การค้าชายแดนของประเทศสมาชิกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 (มกราคม-ตุลาคม 2549) ไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากลาวทางชายแดนภายใต้นโยบายการซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน มูลค่ารวม 303.5 ล้านบาท โดยนำเข้าสินค้าเกษตรทางจังหวัดเลยมากที่สุด มูลค่านำเข้า 233.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นการนำเข้าเมล็ดข้าวโพดเกือบทั้งหมด (สัดส่วน 93.5%) ที่เหลือเป็นลูกเดือย (6%) และถั่วลิสง (0.5%) รองลงมาเป็นการนำเข้าทางชายแดนจังหวัดอุบลราชธานี มูลค่านำเข้าสินค้าเกษตรรวม 36 ล้านบาท โดยนำเข้าถั่วลิสงมากที่สุด และจังหวัดเชียงราย มูลค่านำเข้าสินค้าเกษตรรวม 12.8 ล้านบาท โดยนำเข้าเมล็ดข้าวโพดมากที่สุด ที่เหลือเป็นการนำเข้าสินค้าเกษตรทางชายแดนของจังหวัดมุกดาหาร หนองคาย น่าน และนครพนม ตามลำดับ

ลาวยังวางแผนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันนะเขตที่วางแผนพัฒนาเมืองใหม่ ประกอบไปด้วยโรงแรม ศูนย์การค้า ศูนย์สุขภาพ สนามกอล์ฟ อุทยาน-การศึกษา และแหล่งบันเทิงครบวงจร คาดว่าจะสนับสนุนการท่องเที่ยวของลาวให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 (เมษายน-พฤศจิกายน 2549) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไปลาว เพิ่มขึ้นเป็น 780,643 คน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยมากที่สุด มีจำนวนราว 432,810 คน สำหรับในปีงบประมาณ 2548/2549 (เมษายน 2548-มีนาคม 2549) นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปลาวจำนวนราว 1 ล้านคน สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 จะอำนวยความสะดวกของการเดินทางท่องเที่ยวไป-มาระหว่างไทยกับลาวให้ขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในลาว จะช่วยเพิ่มความต้องการสินค้านำเข้าจากไทยทางชายแดนด้วย โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค แขวงสำคัญของลาวที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ แขวงเวียงจันทน์ และแขวงสะหวันนะเขต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ระหว่างไทย-ลาว จะช่วยกระตุ้นการค้าชายแดนไทย-ลาวให้เฟื่องฟูขึ้น และยังสนับสนุนเป้าหมายของยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ที่ส่งเสริมการขยายตัวของการค้าชายแดนของประเทศสมาชิก โดยการลดภาษีศุลกากรสินค้าเกษตร การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างกัน รวมทั้งกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวไป-มาระหว่างไทยกับลาวด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคการค้าชายแดนไทย-ลาว ที่ภาคเอกชนควรระวังและภาครัฐควรช่วยสนับสนุนในการแก้ไขปัญหา ได้แก่

– การค้านอกระบบตามแนวชายแดน ปัจจุบันมีการลักลอบนำสินค้าทางชายแดนไทย-ลาว เนื่องจากไทยและลาวมีชายแดนติดต่อกันยาว ทำให้มีช่องทางผ่านแดนทางธรรมชาติถึงราว 700 ช่องทาง กระทบต่อตัวแทนจำหน่ายสินค้าไทยในลาวที่ประกอบกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

– สินค้าส่งออกของไทยเสียเปรียบสินค้าจากคู่แข่งในลาวที่มีราคาต่ำกว่า ค่าจ้างแรงงานของไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าของไทยสูงขึ้นและเสียเปรียบสินค้าส่งออกของประเทศคู่แข่งอย่างจีนและเวียดนามที่มีราคาถูกกว่า ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของเวียดนามและจีนในลาวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ นโยบายการค้าของลาวส่งเสริมให้มีการค้ากับจีนและเวียดนามมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในการพึ่งพาการค้ากับไทยเป็นหลัก

– เส้นทางคมนาคมในลาวยังไม่สะดวก ทำให้การขนส่งสินค้าใช้ระยะเวลานาน ส่งผลให้สินค้าเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าทางรถยนต์ของลาวมีลักษณะผูกขาด เนื่องจากทางการลาวอนุญาตเฉพาะรถของบริษัทที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งของไทยเท่านั้น ทำให้ต้นทุนในการขนส่งสูง เพราะนักธุรกิจที่มีรถไม่สามารถขนส่งสินค้าด้วยรถตัวเองได้ ต้องเสียค่าจ้างให้กับรถที่ขึ้นทะเบียน เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนในลาว

– ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎระเบียบทางการค้าของลาวบ่อยครั้ง ทำให้นักธุรกิจและผู้ส่งออกไทยต้องปรับตัวต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ และปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจและการค้าอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ไทยควรระวังปัญหาคนลาวที่หลบหนีเข้ามาไทยทางชายแดนอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการแย่งงานคนไทย และปัญหาทางสังคมตามมา