ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปีมีหลากหลายธุรกิจได้รับอานิสงส์จากการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นของคนไทย ธุรกิจหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ ธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน(Quick Service Restaurant : QSR) เนื่องจากในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองนั้นมีการจัดงานเลี้ยงตามบ้าน หน่วยงานราชการ และบริษัทต่างๆ ซึ่งเป็นโอกาสรับทรัพย์ของบรรดาธุรกิจรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่ โดยธุรกิจนี้เป็นหนึ่งในธุรกิจอาหารบริการด่วนที่มีจุดเด่นเฉพาะตัว นอกจากนี้ยังเป็นช่วงวันหยุดยาวของหลากหลายธุรกิจ รวมทั้งบรรดาคนรับใช้ตามบ้านก็ขอโอกาสลากลับเยี่ยมบ้าน ดังนั้นบรรดาพ่อ/แม่บ้านที่ไม่ได้ไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดก็ต้องอยู่โยงเฝ้าบ้าน ซึ่งที่พึ่งพาได้เมื่อไม่ต้องการประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้าน คือธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนประเภทต่างๆ จึงนับว่าในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปีนี้เป็นช่วงที่ธุรกิจนี้จะมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากในช่วงปกติที่ยอดจำหน่ายของธุรกิจนี้มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากสามารถตอบสนองความต้องการของคนไทย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆได้เป็นอย่างดี
ธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนนับว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจร้านอาหารที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนมาจากธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์ จนกระทั่งมีความเข้าใจกันว่าธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนนั้นมีเพียงร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์เท่านั้น แต่ที่จริงแล้วธุรกิจร้านอาหารที่เข้าข่ายแนวคิดธุรกิจอาหารบริการด่วนนั้นมีอยู่หลากหลายประเภท เช่น ร้านอาหารไทย/จีนประเภทจานด่วน ร้านกาแฟพรีเมี่ยมที่หันมาเพิ่มเมนูประเภทเบเกอรี่ แซนวิช และสลัดต่างๆ ร้านจำหน่ายเฉพาะเบเกอรี่ เค็กและแซนวิช ร้านจำหน่ายสเต็ก เป็นต้น จุดเปลี่ยนที่น่าจับตามองในช่วงระยะต่อไปนั้นอัตราการขยายตัวของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์นั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงมากนัก ในขณะที่ธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนประเภทที่รวมอาหาร-เบเกอรี่และเครื่องดื่มอยู่ในร้านเดียวกันนั้นมีแนวโน้มเติบโตสูง ทั้งนี้อาศัยกระแสความนิยมบริโภคกาแฟสดที่เพิ่มมากขึ้นของคนไทยเป็นพระเอกหลักของร้าน ผนวกกับแนวคิดการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายภายในร้านเดียวกันไว้รองรับความต้องการของผู้บริโภค และการมุ่งสร้างสรรผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตรงใจผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก่อให้เกิดร้านอาหารใหม่ๆภายใต้การลงทุนของผู้ลงทุนเดิมและผู้ลงทุนรายใหม่ ส่งผลให้ภาวะการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตามการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนที่ไม่ใช่ร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์นั้นมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากในประเทศไทย ซึ่งจะเห็นได้จากมีกลุ่มนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าเปิดตัวสินค้าในกลุ่มธุรกิจนี้ รวมทั้งยังมีโอกาสที่จะก้าวไปขยายตัวในลักษณะแฟรนไชส์ในต่างประเทศอีกด้วยโดยอาศัยประเทศไทยเป็นฐาน ประเทศเป้าหมายคือ จีนและอินเดีย
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2550 ธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนในประเทศไทยมีมูลค่า 21,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2549 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 โดยธุรกิจอาหารบริการด่วนนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ และร้านอาหารบริการด่วนที่มีจุดเด่นเฉพาะตัว เช่น ร้านอาหารไทย/จีนประเภทจานด่วน ร้านกาแฟพรีเมี่ยม ร้านจำหน่ายเฉพาะเบเกอรี่ เค็กและแซนวิช ร้านจำหน่ายสเต็ก เป็นต้น ซึ่งความเคลื่อนไหวของธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนในไทยแยกออกเป็นดังนี้
1.ธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง นอกจากนี้ธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะผู้บริโภคเริ่มสนใจในเรื่องโภชนาการและคุณค่าของอาหารมากขึ้น ดังนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ด้วยการปรับเมนูอาหารที่หันไปเน้นอาหารเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการใส่ใจในรายละเอียดโดยเฉพาะปริมาณไขมันไม่อิ่มตัวในแต่ละเมนู ภายใต้แนวคิดฟาสต์ฟู้ดส์ไขมันต่ำ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ให้เป็นอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ที่ดีต่อสุขภาพ
คาดว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์ในปี 2550 เท่ากับ 14,000 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณร้อยละ 67 ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนทั้งหมด ปัจจุบันสีสันของการแข่งขันในกลุ่มฟาสต์ฟู้ดส์ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทไก่ และพิซซ่า ดังนี้
1.1.ฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทไก่ ฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทนี้มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์ทั้งหมด โดยคาดว่ามูลค่าของฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทไก่ในปี 2550 เท่ากับ 7,000 ล้านบาท ซึ่งการแข่งขันจะอยู่ที่ฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทไก่ทอด และคาดว่ามีอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.0 ฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการที่คนไทยคุ้นเคยกับการบริโภคไก่ เมื่อเทียบกับฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่
1.2.ฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทแฮมเบเกอร์ คาดว่ามูลค่าตลาดของฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทแฮมเบเกอร์ในปี 2550 เท่ากับ 3,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21.4 ของมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์ทั้งหมด และคาดว่ามีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 8.0 ในปัจจุบันการแข่งขันในฟาสต์ฟู้ดส์กลุ่มนี้ไม่ดุเดือดมากนัก เนื่องจากมีผู้นำตลาดที่ชัดเจน เพียงแต่มีกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อย้ำจุดยืนความเป็นผู้นำตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกิจกรรมการแลกซื้อสินค้าพรีเมี่ยมซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากของผู้บริโภค ความเคลื่อนไหวที่สำคัญคือ การที่เจ้าของธุรกิจโรงภาพยนต์เข้าซื้อกิจการฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทแฮมเบเกอร์ คาดว่าจะส่งเสริมให้ยอดจำหน่ายของฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทแฮมเบเกอร์เพิ่มขึ้น และมีกิจกรรมทางการตลาดเพิ่มขึ้นในปี 2550
1.3.ฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทพิซซ่า คาดว่ามูลค่าตลาดของฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทพิซซ่าในปี 2550 เท่ากับ 4,000 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 28.6 ของมูลค่าธุรกิจอาหารบริการด่วนทั้งหมด และคาดว่ามีขยายตัวร้อยละ 8.0 การแข่งขันในธุรกิจพิซซ่าเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะจากผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 ราย ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กต้องพยายามสร้างจุดแตกต่างและความแข็งแกร่งเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ พฤติกรรมการรับประทานพิซซ่าจะแตกต่างจากการรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทอื่นๆ ส่วนใหญ่จะรับประทานกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-4 คน และความถี่ในการรับประทานก็น้อย ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดในการทำธุรกิจ ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ต้องเร่งทำคือ การสร้างกิจกรรมเพื่อเพิ่มความถี่ในการเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ดังนั้นจึงมีการเปิดช่องทางการจำหน่ายใหม่ในร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน และในซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยการเข้าไปตั้งจุดขายที่ใช้พื้นที่ประมาณ 10 ตารางเมตร เน้นการจำหน่ายในลักษณะซื้อกลับบ้าน(Take Home) ซึ่งถือว่าเป็นการอุดช่องว่างทางการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เน้นตลาดนั่งรับประทานในร้านและการให้บริการส่งนอกสถานที่ และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเน้นการจำหน่ายปลีกโดยซื้อเพียง 1 ชิ้นก็ได้ไม่จำเป็นต้องซื้อยกทั้งถาด ผลที่ตามมาคือยอดขายของผู้ประกอบการรายเล็กเพิ่มขึ้น และชื่อเสียงของผู้ประกอบการรายเล็กเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครายย่อย รวมทั้งกลยุทธ์การจำหน่ายร่วมกันกับฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทอื่นๆ หรือที่เรียกกันว่ากลยุทธ์แบบมัลติแบรนด์ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในการเพิ่มความถี่ในการเข้ามาใช้บริการ
2.กลุ่มร้านอาหารบริการด่วนที่มีจุดเด่นเฉพาะตัว คาดว่าในปี 2550 กลุ่มอาหารบริการด่วนที่มีเฉพาะตัวมีมูลค่าตลาดประมาณ 7,000 ล้านบาทหรือร้อยละ 33.0 ของมูลค่าธุรกิจอาหารบริการด่วนทั้งหมด ธุรกิจกลุ่มนี้แม้ว่ามูลค่าจะยังน้อยกว่าธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ แต่นับว่าเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์สูงประมาณร้อยละ 15.0 อย่างต่อเนื่องตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าสูงกว่าอัตราการขยายตัวของทั้งธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์และธุรกิจร้านอาหารที่มีการบริการเต็มรูปแบบที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 5-7 ธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนที่มีจุดเด่นที่มีแนวโน้มเติบโตในปี 2550 ได้แก่ ร้านกาแฟพรีเมี่ยมที่หันมาเพิ่มเมนูประเภทเบเกอรี่ แซนวิช และสลัดต่างๆ ร้านจำหน่ายเฉพาะเบเกอรี่ เค็กและแซนวิช ทั้งนี้อิงกับกระแสความนิยมบริโภคกาแฟสดที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และการยอมรับในการบริโภคขนมปังและผลิตภัณฑ์เบเกอรี่เป็นอาหารจานด่วนเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะแซนวิชซึ่งสามารถดัดแปลงและปรุงแต่งรสชาติได้หลากหลายตามความนิยมในการบริโภคของแต่ละคน ซึ่งนอกจากจะมีให้เลือกได้หลากหลายแล้วยังเป็นเมนูเพื่อสุขภาพที่อุดมไปด้วยโภชนาการและไขมันต่ำอีกด้วย นับว่าตอบสนองกระแสความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพได้เป็นอย่างดี
แนวโน้มตลาดอาหารบริการด่วนที่น่าสนใจมีดังนี้
1.ปรับเมนูตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ซึ่งกรณีที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือในตลาดสหรัฐฯผู้บริโภคเริ่มหันไปนิยมร้านอาหารประเภทที่เน้นทั้งความรวดเร็วในการให้บริการและความสะดวกสบายของผู้บริโภค(Quick-Casual) โดยร้านอาหารประเภทนี้จะมีเมนูให้เลือกที่หลากหลายมากกว่าร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ และบางร้านยังให้ผู้บริโภคเป็นผู้เลือกเครื่องปรุงได้เองตามความต้องการ ในสหรัฐฯอัตราการขยายตัวของร้านอาหารประเภท Quick-Casual ในแต่ละปีสูงถึงร้อยละ 25 ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะ 3 ปี ในขณะที่อัตราการขยายตัวของร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์อยู่ในระดับร้อยละ 2-3 ต่อปีเท่านั้น ร้านอาหารประเภทนี้เป็นที่นิยม เนื่องจากผู้บริโภคเล็งเห็นว่าร้านอาหารประเภทนี้เติมเต็มช่องว่างของอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ โดยเฉพาะคุณค่าทางโภชนาการและเป็นอาหารที่มีปริมาณไขมันต่ำกว่า รวมทั้งร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์บางแห่งเริ่มเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารเป็นน้ำมันที่ไม่มีกรดไขมันอิ่มตัว แต่ยังคงรสชาติความอร่อยไว้เหมือนเดิม เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าการใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือด และทำให้เกิดโรคหัวใจ
2.เน้นกลยุทธ์การขยายสาขา ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารบริการด่วนหันมาขยายสาขาเพิ่มขึ้น โดยเน้นหาทำเลใหม่ๆ เช่น อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล ศูนย์การศึกษา สถานออกกำลังกาย ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเข้าไปเจาะลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ นอกเหนือจากที่ในปัจจุบันการขยายสาขานั้นอิงกับการเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก รวมทั้งยังเน้นการขยายสาขาไปยังต่างจังหวัดเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ซึ่งเน้นการขยายสาขาในพื้นที่จังหวัดขนาดเล็กที่ยังไม่มีร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์เข้าไปให้บริการ นอกจากนี้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2549 บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนมีการปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ ทั้งนี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆให้กับร้าน มีการปรับรูปแบบของสาขาอันเป็นผลมาจากการสำรวจพบว่าลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการอาหารบริการด่วนนั้นนอกจากต้องการความสะดวก รวดเร็วแล้ว ลูกค้ายังคาดหวังในเรื่องของบรรยากาศและประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น พัฒนาเมนูที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเป็นการทยอยออกเมนูแปลกใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปรับปรุงทางด้านรูปแบบบรรจุภัณฑ์ รสชาติ เครื่องแบบพนักงาน รวมไปถึงการให้บริการ เป็นต้น ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวนี้จะเป็นการดึงลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มลูกค้าวัยเริ่มทำงานเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เนื่องจากมีการสำรวจพบว่าสัดส่วนของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการจะเป็นลูกค้ากลุ่มครอบครัว
3.การขยายขอบเขตธุรกิจโดยอิงกับธุรกิจบริการประเภทอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2549 การเข้ามาลงทุนในธุรกิจอาหารบริการด่วนของผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ ซึ่งมีการนำแนวทางการบริหารงานธุรกิจโรงภาพยนตร์เข้ามาใช้กับการบริหารและพัฒนาธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์ โดยลูกค้าผู้ใช้บริการจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในเรื่องการตกแต่งภายในร้าน ซึ่งเน้นการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าที่เข้าใช้บริการ รวมทั้งการให้ลูกค้าได้รับชมภาพยนตร์ตัวอย่าง ถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากชมภาพยนตร์ ทั้งนี้มีการตั้งเป้าหมายในปี 2550 ที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำด้านธุรกิจอาหารบริการด่วนทั้งในด้านสัดส่วนการตลาด ความพึงพอใจของลูกค้าและการเติบโตอย่างมีผลกำไร โดยการวางแผนที่จะพัฒนาด้านคุณภาพการบริการให้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการเพิ่มบริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน การเพิ่มจำนวนสาขาที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง การพัฒนาด้านคุณภาพวัตถุดิบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของอาหารและสุขอนามัยของผู้บริโภค รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการสร้างสรรพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
4.การแข่งขันจากคู่แข่งทางอ้อม นอกจากการแข่งขันจากคู่แข่งขันโดยตรงจากผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ด้วยกันเองที่เป็นไปอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด โดยกลยุทธ์ที่เป็นที่นิยมใช้อย่างมากคือ กลยุทธ์ทางด้านราคา ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ยังต้องเผชิญกับคู่แข่งทางอ้อม โดยคู่แข่งทางอ้อมที่น่าจับตามองคือ ร้านอาหารที่จำหน่ายในฟู้ดส์เซ็นเตอร์ในห้างสรรพสินค้า เนื่องจากนับว่าเป็นอาหารจานด่วนเช่นเดียวกันแต่ราคาถูกกว่ามาก ดังนั้นบรรดาผู้ประกอบการฟาสต์ฟู้ดส์จึงมีการใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาโดยมีเป้าหมายให้ราคาใกล้เคียงกับอาหารที่จำหน่ายอยู่ในฟู้ดเซ็นเตอร์ให้มากที่สุด และพยายามลดต้นทุนโดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการบริหาร บรรดารถเข็นขายอาหารนานาชนิด โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจทำให้มีผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาลงทุนจำหน่ายอาหารมากขึ้น ซึ่งร้านอาหารประเภทรถเข็นนั้นมีข้อได้เปรียบตรงที่มีความหลากหลายของชนิดอาหาร ทำเลที่ตั้ง และราคาถูกกว่าด้วย ดังนั้นในท่ามกลางสภาพผู้บริโภคยังเน้นประหยัดค่าใช้จ่าย กอปรกับการที่บรรดาร้านอาหารประเภทนี้มีการปรับกลยุทธ์ โดยเฉพาะการเข้ามาจำหน่ายอาหารรถเข็นหรือแผงอาหารในลักษณะเป็นแฟรนไชส์ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกระดับอาหารประเภทนี้โดยเฉพาะในเรื่องความสะอาดและรสชาติของอาหาร ทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกรับประทานอาหารประเภทนี้มากขึ้น ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์อาหารไทย เนื่องจากกำลังมาแรงตามกระแสนิยมอาหารไทย และคุณค่าทางโภชนาการที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มีการเปิดร้านฟาสต์ฟู้ดส์อาหารไทย โดยเฉพาะร้านจำหน่ายข้าวราดแกง และร้านจำหน่ายอาหารประเภทยำต่างๆ ธุรกิจอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ธุรกิจนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนไทยเริ่มยอมรับอาหารประเภทนี้มากขึ้น จะเห็นได้ว่าการเติบโตของคู่แข่งขันทางอ้อมประเภทต่างๆล้วนส่งผลต่อยอดจำหน่ายของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์
ในปี 2550 ธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนจะมีการปรับตัวอีกครั้งเพื่อให้อยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายใหม่และจะเป็นการชี้ชะตาว่าผู้ประกอบการรายใดมองแนวโน้มตลาดได้อย่างเฉียบขาดก็จะได้รับประโยชน์มหาศาลจากการที่สามารถดึงส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่งมาได้โดยไม่ยากเย็นนัก ธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนนับว่ายังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากมูลค่าของตลาดอยู่ในเกณฑ์สูง และยังมีโอกาสในการขยายตลาด แต่จะต้องมีการศึกษาวิจัยทั้งนี้เพื่อค้นคว้าวิจัยเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งยังเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง