ของเด็กเล่นปี 50 : แข่งขันหนัก…เพื่อชิงกำลังซื้อผู้บริโภค

ธุรกิจของเล่นเด็กในปี 2550 คาดว่าสถานการณ์การแข่งขันภายในประเทศจะมีความเข้มข้นและดุเดือดมากกว่าปี 2549 เนื่องจากผู้ประกอบการทั้งหลายที่มีอยู่ในตลาดต่างพากันแตกตัวเป็นบริษัทย่อยเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการจัดการและบริหารต้นทุน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผลให้สามารถขยายช่องทางการผลิตและการตลาดได้ในวงกว้างยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนแบรนด์ให้มีความทันสมัย และสอดรับกับความต้องการของตลาดที่ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองยุคใหม่เริ่มเห็นคุณประโยชน์ของสินค้าของเด็กเล่นเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางรายก็มีการปรับลดสัดส่วนการส่งออกลงและหันมาบุกตลาดในประเทศเพิ่มมากขึ้น ทำให้คู่แข่งรายใหม่หลายรายมีแนวโน้มที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดเมืองไทยกันมากยิ่งขึ้น เพื่อแย่งชิงกำลังซื้อของผู้บริโภคในปี 2550 ที่มีแนวโน้มทรงตัวจากปีก่อนตามทิศทางของภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2549 ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับความไม่สงบภายในประเทศ ที่อาจจะมีผลให้ผู้บริโภคมีการเพิ่มการออมและมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันมีความเป็นไปได้ว่าในปี 2550 น่าจะมีสินค้านำเข้าเข้ามาร่วมแข่งขันในตลาดเมืองไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ที่จะมีผลให้สินค้านำเข้าเสมือนมีราคาถูกลงโดยเปรียบเทียบในสายตาของผู้ซื้อ ทำให้กลุ่มนักลงทุนจึงน่าจะมีการนำเข้าสินค้าของเด็กเล่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปี 2549 ที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าของเด็กเล่นเป็นมูลค่าประมาณ 1,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.8 จากปีก่อน โดยประเภทของเด็กเล่นที่นิยมนำเข้าได้แก่ ของเล่นและหุ่นจำลองอื่นๆที่มีมอเตอร์ประกอบร่วม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.5) ของเล่นที่เป็นลักษณะชุด(Construction Set) และของเล่นประกอบอื่นๆ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 122.1) รวมถึงของเล่นรูปสัตว์หรือรูปประดิษฐ์ที่ไม่ใช่คน(เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7)

โดยคาดว่ากลยุทธ์ที่น่าจะก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมของเด็กเล่นภายในประเทศในปี 2550 ก็คือการชูจุดแข็งและความโดดเด่นของตัวสินค้าให้ได้มากที่สุด รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพของตัวสินค้า และการสื่อสารตัวสินค้าที่มีอยู่ออกไปในลักษณะของของเด็กเล่นเพื่อการศึกษาและเสริมทักษะมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นไปในลักษณะของการเข้าร่วมจัดกิจกรรมต่างๆกับสถานศึกษารวมถึงการร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ปกครองให้ได้มากที่สุดถึงคุณประโยชน์ของสินค้าของเด็กเล่นว่า นอกเหนือจากการที่เป็นของเด็กเล่นที่ให้ความสนุกสนานแก่เด็กแล้ว แต่ยังเป็นสินค้าที่แฝงไปด้วยความรู้ที่มีคุณประโยชน์ และเสริมสร้างทักษะได้อีกทางหนึ่งด้วย รวมถึงการเชื่อมโยงหรือสร้างพันธมิตรกับธุรกิจที่เกี่ยวกับเด็กทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น ที่คาดว่าน่าจะเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีมูลค่าสูงไม่น้อย สำหรับประเภทของสินค้าของเด็กเล่นที่คาดว่าน่าจะมีการเติบโตและสอดรับกับตลาดได้มากที่สุดนับจากนี้ ก็คือสินค้าในกลุ่มของเทคโนโลยี ขณะที่กลุ่มของเล่นไม้ พลาสติก และของเล่นทั่วไปก็น่าจะยังสามารถเติบโตได้ระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการแข่งขันในส่วนของการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรระหว่างเครือข่ายการศึกษา หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับเด็กข้างต้นก็นับวันจะดุเดือดเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ทำให้ช่องทางการจำหน่ายอย่างกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่เป็นตลาดสำคัญดั้งเดิมของกลุ่มผู้ประกอบการของเด็กเล่นก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ไม่น้อย แม้ว่าจะมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าตลาดของเด็กเล่นภายในประเทศในปี 2550 น่าจะดุเดือดพอสมควร โดยทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าตลาดของเล่นในประเทศยังมีศักยภาพพอสมควร เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันมีความเข้าใจถึงประโยชน์ของของเด็กเล่นมากขึ้น และยินดีที่จะจ่ายเงินสำหรับสินค้าที่มีคุณภาพดีกว่ามากขึ้น

สำหรับสถานการณ์การส่งออกของเด็กเล่นของไทยในปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตต่อเนื่องจากปี 2549 ซึ่งตามรายงานของกรมศุลกากร พบว่า ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2549 ไทยสามารถส่งออกของเด็กเล่นได้เป็นมูลค่า 7,722.8 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นไปได้ว่าการส่งออกของเล็กเล่นทั้งปี 2549 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 8,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.44 เมื่อเทียบกับปี 2548 ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่กระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกของเด็กเล่นในปี 2548 ที่ติดลบร้อยละ 2.55 อีกทั้งยังนับเป็นระดับการเติบโตที่สูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมาด้วย ทั้งนี้น่าจะเป็นผลมาจากผู้ประกอบการไทยหลายรายได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพการผลิต และพยายามสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ๆอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยงานออกแบบที่โดดเด่น และคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคและพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเพิ่มมากขึ้น และยังเน้นถึงความปลอดภัยกับเด็กเป็นสำคัญมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังมีเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องโดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทำให้สามารถรับรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศ และความเคลื่อนไหวของคู่แข่งพอสมควร นอกจากนี้ยังมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นด้วย ทำให้สินค้าของเด็กเล่นของไทยที่พยายามยกระดับสินค้าให้สูงขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคากับสินค้าจากจีนจึงก้าวขึ้นมาเป็นที่ต้องการของผู้ค้าทั้งรายเล็กรายใหญ่ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในปี 2549 ที่ผ่านมา ทั้งๆที่ตามรายงานของ Global Trade Atlas พบว่าโดยรวมแล้วในช่วง 6 เดือนแรกปี 2549 ตลาดโลกนำเข้าของเด็กเล่นชะลอตัวลงเล็กน้อยเหลือมูลค่า 11,361 ล้านเหรียญสหรัฐ จากมูลค่า 11,372.5 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงเดียวกันปี 2548 หรือปรับตัวลดลงร้อยละ 0.1 โดยผู้ที่ครองตลาดสูงสุดยังคงเป็นจีนด้วยสัดส่วนร้อยละ 31.5 (ส่วนแบ่งตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) และฮ่องกงในสัดส่วนร้อยละ 29.0(ส่วนแบ่งตลาดหดตัวลงร้อยละ 4.3เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ส่วนไทยที่แม้ว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดห่างไกลจากจีนมากด้วยสัดส่วนร้อยละ 0.9 ในช่วงครึ่งแรกปี 2548 และเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.1 ในครึ่งแรกปี 2549 แต่ก็นับเป็นทิศทางการขยับขยายที่ดีไม่น้อย โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตของส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22.2 ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นก้าวย่างที่มั่นคงต่อไปในอนาคต โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกของเด็กเล่นของไทยน่าจะสามารถขยับขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ในปี 2550 ด้วยระดับการเติบโตประมาณร้อยละ 5-10 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 8,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญของอุตสาหกรรมของเด็กเล่นไทยอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มทรงตัว การแข็งค่าของเงินบาท และราคาน้ำมันแพง ที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในปี 2550 รวมถึงปัญหาการลอกเลียนแบบสินค้าซึ่งมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ โดยจีนซึ่งเป็นศูนย์กลางและแหล่งผลิตสินค้าของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นนับเป็นแหล่งลอกเลียนแบบสินค้าที่ใหญ่ที่สุดด้วยเช่นกัน นอกจากนี้อุตสาหกรรมของเด็กเล่นยังคงต้องแข่งขันกับบรรดาเครื่องเล่นวิดีโอเกมที่แทรกซึมเข้าสู่ตลาดเด็กทุกวัยมากขึ้น รวมถึงโทรศัพท์มือถือเองก็มีการนำเสนอเกมที่ซับซ้อนมากขึ้น ฟังเพลงได้ และยังมีอุปกรณ์แบบพกพาอื่นๆ สำหรับสร้างความสนุกสนานให้แก่เด็กรุ่นใหม่ได้มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผู้ผลิตของเล่นต้องเร่งปรับตัวอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด นอกจากนี้ปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีก็นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ประมาทไม่ได้ เพราะมีการคาดการณ์ว่าในปี 2550 ประเทศต่างๆจะให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตาการทางการค้าเพื่อปกป้องผู้บริโภคมากขึ้น และที่สำคัญยังเป็นการใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศได้อีกด้วย เพราะภายหลังจากที่มีการเปิดเสรีทางการค้ากระจายไปทั่วโลก ทำให้อัตราภาษีนำเข้าของแต่ละประเทศมีทิศทางปรับตัวลดลง ซึ่งการที่มีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีดังกล่าวย่อมมีผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องมีต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นโอกาสที่การส่งออกของเด็กเล่นไทยจะขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลักในปี 2550 ยังคงเร็วเกินไป แต่โอกาสที่จะขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับปี 2549 นั้นพอมีความเป็นไปได้ระดับหนึ่ง

โดยทั้งนี้ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกยังคงจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์ทางการผลิตให้สินค้าให้มีความหลากหลายในรูปแบบ และโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งด้วยวัตถุดิบที่แปลกใหม่และหลากหลายมากขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งความปลอดภัยต่อเด็กภายใต้การบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ที่จะมีผลให้ระดับราคาในการจำหน่ายสินค้าสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก พร้อมกับสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง ขณะเดียวกันทั้งภาครัฐและเอกชนก็ควรร่วมมือกันผลิตบุคลากรทางด้านการออกแบบให้เพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่องด้วย เพื่อรองรับตลาดที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ควรใส่ใจต่อการพัฒนาของเด็กเล่นที่ดีมีคุณภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าของเด็กเล่นไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อสินค้าของเด็กเล่นไทยในระยะยาวและยั่งยืนยิ่งขึ้น นอกจากนี้การก้าวทันรสนิยมของเด็กยุคใหม่ทั้งในกลุ่มเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน เด็กวัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอยู่ตลอดเวลา หรือแม้แต่กลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงานก็เป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพและรูปแบบสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละตลาดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่เฉพาะแต่เร่งนำเสนอนวัตกรรมทางความคิดเพื่อผลิตออกมาเป็นชิ้นงานเท่านั้น ผู้ประกอบการยังควรต้องกระจายสินค้าผ่านช่องทางใหม่ๆ ด้วย รวมถึงการติดตามเคลื่อนไหวของคู่แข่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะเป็นทั้งการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ การศึกษาตามเว็บไซต์ต่างๆ หรือการเดินทางไปเยือนแหล่งจำหน่ายของประเทศคู่ค้า เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างโอกาสสำหรับการขยายส่วนแบ่งตลาดสินค้าของเด็กเล่นของไทยในตลาดโลกให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการพัฒนาการของเด็ก อันได้แก่ตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ที่นับวันจะมีการแข่งขันสูงมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าตลาดระดับกลางขึ้นไปสำหรับสินค้าของเด็กเล่นไทยในตลาดดังกล่าวยังน่าจะมีศักยภาพในการแข่งขันพอสมควร ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยควรจะต้องเร่งสำรวจ และศึกษาลู่ทางการตลาดใหม่ๆอย่างจริงจังมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะประเทศคู่เจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการที่ต้องพึ่งพิงตลาดหลักมากจนเกินไปท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรง และการศึกษาตลาดใหม่ก็ควรเป็นไปอย่างละเอียดและชัดเจนเป็นรายประเทศก่อนการตัดสินใจเข้าสู่ตลาด เพื่อประโยชน์ต่อการผลิตสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริงภายใต้ระดับราคาที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันได้กับคู่แข่งที่มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้การเจาะตลาดใหม่ๆสำหรับของเด็กเล่นของไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

บทสรุป
อุตสาหกรรมของเด็กเล่นของไทยในปี 2550 ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศน่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว หรือขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2549 โดยในส่วนของตลาดในประเทศนั้น มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะมีคู่แข่งรายใหม่หลายรายเข้ามาร่วมลงแข่งกันมากยิ่งขึ้น ส่วนการนำเข้าสินค้าของเด็กเล่นก็คาดว่าจะมีมากขึ้นด้วย เนื่องด้วยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งก็เสมือนว่าสินค้านำเข้ามีราคาถูกลงโดยเปรียบเทียบในสายตาของผู้นำเข้า ทำให้กลุ่มนักลงทุนจึงน่าจะมีการนำสินค้าของเด็กเล่นต่างชาติเข้ามาประเทศมากขึ้นในปี 2550 ส่วนสถานการณ์การส่งออกของเด็กเล่นของไทยในปี 2550 น่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2549 ด้วยระดับการเติบโตประมาณร้อยละ 5-10 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 8,500 ล้านบาท ทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากผู้ประกอบการไทยหลายรายเร่งเปิดเกมรุกบุกตลาดใหม่ๆทั้งตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดเอเชียใต้ ตลาดละตินอเมริกา และตลาดแอฟริกา เป็นต้น อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเร่งพัฒนามาตรฐานคุณภาพของสินค้าของเด็กเล่น และการออกแบบรูปแบบให้สวยงาม ทันสมัย และมีสีสันที่ดึงดูดใจ รวมทั้งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือมีรูปแบบที่สะดวกต่อการเล่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่นับวันจะมีความต้องการที่หลากหลายและแยกย่อย หรือมีความต้องการที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงระบบการบริหารต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง และมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย ทำให้สินค้าของเด็กเล่นของไทยที่พยายามยกระดับสินค้าให้สูงขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคากับสินค้าจากจีนจึงน่าจะมีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นที่ต้องการของผู้ค้าทั้งรายเล็กรายใหญ่ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแม้จะมีการคาดการณ์ว่าในปี 2550 เศรษฐกิจโลกอาจมีแนวโน้มทรงตัว และค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางที่ผันผวน แต่ด้วยความโดดเด่นทางด้านสินค้ากลุ่มนี้ของไทยที่ผลิตได้มีคุณภาพที่ดีและคงที่ ประณีตสวยงาม อีกทั้งยังสามารถรักษาเวลาในการส่งมอบได้ดี ก็น่าจะส่งผลให้สินค้าของเด็กเล่นของไทยเป็นที่น่าเชื่อถือต่อผู้นำเข้าต่างชาติเหนือกว่าคู่แข่งอย่างจีนได้บ้าง และน่าจะมีผลให้การส่งออกของเด็กเล่นไทยในปี 2550 ขยายตัวประมาณร้อยละ 5-10 ซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกับปี 2549 ที่ผ่านมา