ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ปี 50 : เผชิญหลากปัจจัยลบ…เร่งปรับตัวตามไลฟ์สไตล์

เหตุการณ์การลอบวางระเบิดถึง 8 จุดในเขตกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมานั้น คาดว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์ ในปี 2550 พอสมควร ในด้านความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของผู้บริโภคในการออกมาใช้เวลาว่างและพักผ่อนในศูนย์การค้า การเข้าชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้คนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ผู้บริโภคบางส่วนยกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางมายังสถานที่ที่คาดว่าจะไม่ปลอดภัย หรือมาใช้เวลาระยะสั้นลงหรือออกมาใช้บริการเมื่อมีความจำเป็นและรีบกลับที่พักแทนการออกมาเที่ยวและใช้เวลาในสถานที่ต่างๆ นอกบ้านเหมือนช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจโรงภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแหล่งรวมหรือตลาดหลักของธุรกิจโรงภาพยนตร์ อย่างไรก็ตามผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อของสถานการณ์ หากสถานการณ์เข้าสู่ความสงบในระยะเวลาอันรวดเร็วก็จะสามารถผลักดันให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์กลับเข้าสู่ภาวะการเติบโตแบบปกติ โดยเฉพาะในปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า มูลค่าตลาดของธุรกิจโรงภาพยนตร์นั้นจะมีมูลค่าสูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2549 อีกประมาณร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 5,500 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขยายตัวของจำนวนโรงภาพยนตร์เพิ่มขึ้นทั้งในเขตกรุงเทพและตามจังหวัดใหญ่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่เพิ่มจำนวนเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ และมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้และได้รับการยอมรับจากผู้ชมมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามในธุรกิจโรงภาพยนตร์นั้น มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรงโดยเฉพาะในพื้นที่ใจกลางเมืองที่เป็นแหล่งรวมห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิงและแหล่งธุรกิจ จำนวนมากและกลุ่มลูกค้าที่เข้าใช้บริการมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ทำให้มีการกระจุกตัวของโรงภาพยนตร์จำนวนมาก หรือมีจำนวนที่นั่งชมภาพยนตร์ไม่ต่ำกว่า 15,000 ที่นั่งในพื้นที่ถนนสุขุมวิท ราชประสงค์และเขตประทุมวัน ทำให้ผู้ประกอบการต้องลงทุนทางด้านความสะดวกสบายในการชมและสร้างความแตกต่างของโรงภาพยนตร์เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ซึ่งการสร้างความแตกต่างของบริการนอกจากจะเป็นจุดขายให้กับโรงภาพยนตร์แต่ละแห่งแล้วยังสามารถทำให้ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์สามารถเพิ่มอัตราค่าชมภาพยนตร์ต่อเรื่องให้สูงขึ้นไปอีกทางหนึ่งด้วย โดยมีอัตราค่าชมอยู่ที่ระหว่าง 100-350 บาทต่อเรื่อง นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังหันมาใช้กลยุทธ์ทางด้านราคามาใช้เพื่อดึงดูดให้มีผู้ใช้บริการในช่วงวันธรรมดาและการชมภาพยนตร์ในช่วงดึกมากขึ้นด้วยการลดราคาค่าชมลงมาในลักษณะเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มนักศึกษา กลุ่มสมาชิก ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นให้อัตราการชมภาพยนตร์ในช่วงวันธรรมดาเพิ่มขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับแนวโน้มของธุรกิจโรงภาพยนตร์ในปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า มูลค่าตลาดของธุรกิจโรงภาพยนตร์นั้นจะมีมูลค่าสูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2549 อีกประมาณร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 5,500 ล้านบาท โดยมีปัจจัยบวกและปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจดังนี้

ปัจจัยบวก ที่คาดว่าจะส่งผลให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ขยายตัวนั้น มาจาก
1. จำนวนโรงภาพยนตร์และที่นั่งชมที่เพิ่มมากขึ้นสามารถรองรับผู้ชมและเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดที่มีผู้ชมไปใช้บริการอย่างหนาแน่น โดยในปี 2550 นั้น มีโครงการลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 1,700 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาโรงภาพยนตร์ทั้งในศูนย์การค้าและสแตนอโลนในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยในเขตกรุงเทพนั้นแม้ว่าจะมีโรงภาพยนตร์อยู่เป็นจำนวนมาก แต่คาดว่ายังไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งนี้อัตราการชมภาพยนตร์ของไทยนั้นยังจัดว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.77 เรื่องคนต่อต่อปี ซึ่งจัดว่าเป็นอัตราที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบประเทศอื่นๆ

2. จำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2549 มีจำนวนภาพยนตร์เข้าฉายรวม 318 เรื่อง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 340 เรื่องในปี 2550 ทั้งนี้นอกจากจะมีภาพยนตร์ต่างประเทศฟอร์มใหญ่เข้ามาฉาย เช่น Harry Potter 5 , Fantastic Four 2 , Spider Man 3 และ Pirate of the Caribbean 3 และภาพยนตร์ไทย เรื่อง ตำนานสมเด็จนเรศวรมหาราช เป็นต้น

3. การปรับปรุงโรงภาพยนตร์ ทั้งระบบภาพและเสียง ความสะดวกสบายของที่นั่ง ความหรูหราของสถานที่ และการเปิดโรงภาพยนตร์เฉพาะกลุ่ม เช่น โรงภาพยนตร์ที่นั่งพิเศษให้สำหรับลูกค้าสามารถเลือกภาพยนตร์ได้ตรงตามต้องการ โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก 8-15 คน ที่นั่งพิเศษที่มีบริการอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น ทั้งนี้การปรับปรุงโรงภาพยนตร์ให้มีหลายรูปแบบที่แตกต่างกันนั้นก็เพื่อเป็นการรองรับความต้องการของผู้ชมและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

4. การจัดกิจกรรมทางการตลาดอื่นๆ ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ หรือ Co-Promotion เช่น การแจกรางวัลของที่ระลึกจากภาพยนตร์ โทรศัพท์มือถือ ตั๋วชมภาพยนตร์ เป็นต้น โดยกิจกรรมต่างๆ นั้นเน้นให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในลักษณะ interactive มากยิ่งขึ้น

5. การขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่องของโรงภาพยนตร์ เช่น ธุรกิจโฆษณาโดยผ่านสื่อจอภาพยนตร์ ธุรกิจการเช่าพื้นที่เพื่อจำหน่ายสินค้า ธุรกิจโบวลิ่ง ธุรกิจคาราโอเกะ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเพิ่มรายได้ให้กับโรงภาพยนตร์แล้วยังสามารถดึงดูดผู้ที่มาชมภาพยนตร์ให้ใช้เวลาว่างในระหว่างการรอชมอีกด้วย

6. ราคาค่าชมภาพยนตร์มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกสบายในการชมภาพยนตร์ ระบบเสียง รูปแบบของเก้าอี้ ซึ่งโรงภาพยนตร์แต่ละแห่งจะมีลักษณะที่มุ่งเน้นผู้ชมเฉพาะกลุ่มหรือตามไลฟ์สไตล์และกำลังซื้อมากขึ้น ซึ่งทำให้ราคาค่าชมสามารถเรียกเก็บได้ในหลายอัตราแม้ว่าจะเป็นการชมภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน โดยราคาค่าชมจะอยู่ในช่วงระหว่างราคา 100-350 บาทต่อเรื่อง

7. การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายตั๋วชมภาพยนตร์ให้มีความสะดวกที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจองทางโทรศัพท์ ตู้คีออส อินเทอร์เน็ต หรือโทรศัพท์มือถือล้วนได้รับการพัฒนาให้เกิดความสะดวกกับผู้ชมมากที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจ แม้ว่าธุรกิจโรงภาพยนตร์จะมีแนวโน้มการเติบโตในปี 2550 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจของโรงภาพยนตร์อยู่มากด้วยเช่นกัน ดังนี้

-การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น จำนวนโรงภาพยนตร์ที่เพิ่มขึ้นนั้นได้ส่งผลให้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะการแย่งส่วนแบ่งผู้ชมในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ซึ่งมีจำนวนผู้ชมค่อนข้างมาก และการกระจุกตัวของโรงภพายนตร์ในบางพื้นที่นั้น ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องเร่งปรับตัวรองรับการแข่งขันกับอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกันเพื่อช่วงชิงและรักษาส่วนแบ่งการตลาดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะที่ภาวะของเศรษฐกิจและการเมือง อัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมันยังมีความผันผวน และภัยอันเกิดจากความไม่สงบในประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะการใช้จ่ายในสินค้าบันเทิงที่ไม่ใช่สินค้าเพื่อการดำรงชีพ

– ความเสี่ยงด้านความนิยมในตัวภาพยนตร์ ภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่เข้าฉายนั้นมีความเสี่ยงต่อการทำรายได้มากพอสมควร ภาพยนตร์ที่เข้าฉายแต่ละเรื่องนั้นไม่สามารถการันตีความสำเร็จทางด้านรายได้เป็นที่แน่นอนได้ ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยเข้ามากำหนดหลายประการ เช่น บทภาพยนตร์ การส่งเสริมการตลาด นักแสดง ซึ่งอาจส่งผลให้ภาพยนตร์ที่เข้าฉายอาจไม่ทำรายได้สูงมากนักหากไม่ตอบสนองความชอบของผู้ชมได้มากพอ

– การเปลี่ยนพฤติกรรมการผู้ชม อัตราค่าชมภาพยนตร์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลให้ผู้ชมเปลี่ยนทางเลือกไปชมจากการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ไปชมภาพยนตร์ผ่านทางสื่อทดแทนอื่นๆ แทน เช่น ดีวีดี วีซีดี และวิดีโอ ซึ่งมีต้นทุนการชมต่ำกว่า ทั้งนี้แม้ว่าการชมภาพยนตร์ในโรงนั้นจะให้อรรถรสในการชมมากกว่า แต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการชมภาพยนตร์แต่ละครั้งนั้นหากเปรียบเทียบกับกับรายได้ของผู้ชมแล้วก็ยังจัดว่าอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้แม้ว่าผู้ประกอบการจะพัฒนาคุณภาพของโรงภาพยนตร์ให้มีคุณภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกันสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพิ่มเข้ามานั้นอาจทำให้ผู้ชมที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าไปเลือกชมภาพยนตร์ได้

– การเพิ่มจำนวนขึ้นของสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ปัจจุบันอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทยนั้นสูงถึงร้อยละ 79 นับว่าเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและรัสเซีย ซึ่งมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ร้อยละ 90 และ 79 ตามลำดับในปี 2548 สินค้าลิขสิทธิ์ที่มีวางจำหน่ายทั่วไปนั้นมีราคาถูกกว่าและมีภาพยนตร์ไม่ต่างจากเรื่องที่ฉายในโรงภาพยนตร์ขณะนั้น ทั้งนี้ปัญหาการละเมิดสิทธิ์ภาพยนตร์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมาก แม้ว่าจะมีการปราบปรามจากหน่วยงานที่รับผิดชอบจำนวนมากแต่ในขณะเดียวกันวิธีการในการก้อบปี้ซีดีนั้นกลับทำได้ง่ายขึ้น ทั้งจากเครื่องฮาร์ดแวร์ที่มีราคาต่ำลง การดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของโรงภาพยนตร์ค่อนข้างมาก

ในปี 2550 นั้น ธุรกิจโรงภาพยนตร์มีแนวโน้มที่ค่อนข้างดีกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัจจัยบวกเข้ามาหลายประการ แต่อย่างไรก็ตามการเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในกรุงเทพ ในช่วงปลายปี 2549 นั้นอาจส่งผลต่อเนื่องให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ทั้งนี้ผู้ประกอบจำเป็นที่จะต้องดำเนินธุรกิจในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เข้มข้นขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ชม ที่จะเข้าชมภาพยนตร์ในช่วงสถานการณ์ยังไม่แน่นอนในขณะนี้