ชี้เด็กเรียนนานาชาติในไทยได้เปรียบ เป็นเลิศทางวิชาการ เด่นด้านจริยธรรม

ในโลกของการสื่อสารไร้พรมแดน ความรู้ด้านภาษาต่างประเทศมิได้เป็นเพียงความสามารถพิเศษที่เป็นข้อได้เปรียบ แต่เป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้เพื่อก้าวทันโลก พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งจึงตัดสินใจส่งบุตรหลานไปศึกษายังต่างประเทศเพื่อให้เรียนรู้จากเจ้าของภาษา แต่ยังมีผู้ปกครองอีกเป็นจำนวนมากที่มีความต้องการเช่นเดียวกัน หากแต่ยังอยากให้บุตรหลานได้อยู่ใกล้ชิด ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ควบคู่คุณธรรมจริยธรรม

ซึ่งในเรื่องนี้คุณอุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเรียนการสอนและหลักสูตรการศึกษานานาชาติของไทย ที่อาจทำให้ผู้ปกครองคลายกังวลและช่วยในการตัดสินใจสำหรับอนาคตการศึกษาของบุตรหลาน

อาจารย์อุษา เผยว่า “ประเทศไทยมีสถาบันการศึกษานานาชาติหลายร้อยแห่งทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับมหาวิทยาลัย มีโรงเรียนนานาชาติรวม 109 แห่งทั่วประเทศ ทั้งในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยมีการสอนทุกระบบทั้งระบบของอังกฤษ อเมริกัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และรวมถึงโรงเรียนเฉพาะชาติ เช่น โรงเรียนนานาชาติของสวิส เป็นต้น และโรงเรียนอนุบาลนานาชาติขนาดเล็กจำนวนมาก

นอกจากจำนวนโรงเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวเติบโตขึ้นกว่า 100 เปอร์เซ็นต์จากเมื่อ 10 ปีก่อนซึ่งมีอยู่เพียง 40 กว่าโรงเรียน ที่น่ายินดีคือการพัฒนาด้านมาตรฐานการศึกษา “เรามีการพัฒนาและตรวจสอบมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยอย่างเข้มงวดโดยการตรวจประเมินผลโดยองค์กรต่างชาติที่ไม่แสวงหากำไร อีกทั้งยังมีหน่วยงานภายในประเทศที่ตรวจรับรองคุณภาพและส่งเสริมคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติ เราต้องเน้นคุณภาพไม่เช่นนั้นตัวกำหนดคือกลไกตลาด ถ้าไม่มีคุณภาพ ก็อยู่ไม่ได้… เรามีศักยภาพสู้กับประเทศเพื่อนบ้านได้หรือแม้กระทั่งของโลก” อาจารย์อุษากล่าว พร้อมอธิบายเพิ่มเติมอย่างภาคภูมิใจว่า “เพราะว่าสถาบันการศึกษาของเรามีคุณภาพ เวลาส่งเด็กไปเรียนต่อก็สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดัง ๆ ของโลกได้ และเวลาเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง ฝรั่งก็บอกว่าถ้าเป็นโรงเรียนในแถบเอเชียเขาก็จะเลือกประเทศไทย”

อาจารย์อุษา ยังชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการศึกษานานาชาติในประเทศไทย ว่า “การส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากจะได้รับการศึกษาหลักสูตรนานาชาติที่มีมาตรฐานเดียวกันกับต่างประเทศแล้ว ยังได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม ได้รับการอบรมและเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ขณะเดียวกันกับการได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางสังคมระหว่างนักเรียนไทยและนักเรียนชาวต่างชาติ ทั้งนี้เพราะสมาชิกของสมาคมฯทั้ง 109 โรงเรียนได้ร่วมมือกันปรับปรุงเพิ่มหลักสูตรภาคบังคับโดยมุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม เช่น การบรรจุวิชาบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมลงในหลักสูตรภาคบังคับอย่างน้อย 40 ชั่วโมง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกิจกรรมเพื่อสังคมมากมาย เช่น การไปช่วยเด็กอ่อน เด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส กิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบภัย การไปช่วยสร้างบ้านให้กับคนยากจนในต่างจังหวัด การพัฒนาชุมชนในถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น ซึ่งนับเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อประเทศชาติ”

สำหรับครูผู้สอนและบุคลากรของสถาบันการศึกษานานาชาติไทยนั้น อาจารย์อุษายืนยันว่าเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพระดับแนวหน้าที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการสอนและดูแลนักเรียนทั้งนักเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และเป็นภาษาที่สอง และรวมไปถึงนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษให้สามารถเรียนรู้และแข่งขันกับนักเรียนอื่น ๆ ทั่วโลกได้ “อีกประเด็นที่สำคัญคือค่าเล่าเรียนหลักสูตรนานาชาติในไทยต่ำกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการศึกษาในอเมริกาหรือประเทศอื่น ๆ ในระดับมาตรฐานเดียวกัน” อาจารย์อุษากล่าวทิ้งท้าย พร้อมเชิญชวนให้ผู้ปกครองและนักเรียน นักศึกษาชมงานนิทรรศการการศึกษานานาชาติของไทยปี 2550 ในระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก่อนตัดสินใจเลือกสถานศึกษา

งานนิทรรศการการศึกษานานาชาติของไทยปี 2550 หรือ Thailand International Education Exhibition 2007 จัดโดยกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เป็นงานที่รวบรวมหลักสูตรการศึกษาจากสถาบันการศึกษานานาชาติทุกระดับ เช่น โรงเรียนหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน โรงเรียนนานาชาติ มหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ คอร์สระยะสั้นที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ เช่น ทำอาหาร มวยไทย เสริมสวย นวดและสปา คอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสื่อการสอนทุกประเภท สถาบันที่จัดค่ายฤดูร้อน ตลอดจนหน่วยงานแนะแนวการศึกษานานาชาติ และบริษัทนำเที่ยวที่พาผู้ปกครองจากต่างประเทศมาหาสถานที่เรียนในประเทศไทย

สำหรับผู้ที่สนใจสอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการส่งออก โทรศัพท์ 0 2512 0093 ถึง 104 ต่อ 249, 311, 511 โทรสาร 0 2512 2234, 0 2513 1565, 0 2513 9796 อีเมล์ [email protected] เว็บไซต์ www.thaitradefair.com