ปลาสวยงามเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่ยังมีลู่ทางในการขยายตลาดส่งออก เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ไทยมีปัจจัยพื้นฐานในเรื่องความพร้อมทางศักยภาพการเลี้ยงและการพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับประเทศผู้ส่งออกปลาสวยงามที่สำคัญของโลกได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งปัจจุบันประเทศที่นำเข้าปลาสวยงามหันมาสั่งซื้อปลาสวยงามจากไทยมากขึ้น จากเดิมที่เป็นการสั่งซื้อผ่านทางสิงคโปร์ ดังนั้นการเจาะขยายตลาดปลาสวยงามโดยตรงจะทำให้ปลาสวยงามของไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น และปลาสวยงามของไทยได้รับการยอมรับมากขึ้นทั้งในด้านความหลากหลายของสายพันธุ์ ความสวยงาม ราคาไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และมีการพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงรวมทั้งการควบคุมคุณภาพและการกักกันโรคของปลาสวยงามในการส่งออกให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการแข่งขันในการส่งออกปลาสวยงามในตลาดโลกมีแนวโน้มเข้มข้น โดยคู่แข่งรายเดิมอย่างสิงคโปร์ก็ยังคงเร่งพัฒนาเพื่อรักษาตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกปลาสวยงามมากที่สุดในโลกต่อไป ในขณะที่คู่แข่งที่กำลังมาแรงอย่างมาเลเซียและเวียดนามต่างกำหนดแผนพัฒนาการผลิตและการตลาดปลาสวยงาม โดยมีเป้าหมายในการเจาะขยายตลาดส่งออก และเป็นศูนย์กลางการผลิตปลาสวยงามที่มีคุณภาพอันดับหนึ่งของโลก
การค้าปลาสวยงามในตลาดโลก…เอเชียครองตลาดส่งออกกว่า 50%
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมามูลค่าการค้าปลาสวยงามในตลาดโลกมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2523 เป็น 252 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 โดยมูลค่าการค้าปลาสวยงามในตลาดโลกมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9.0-10.0 ต่อปี นอกจากนี้มีการประมาณการมูลค่าการค้าส่งปลาสวยงามทั่วโลกสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการค้าปลีกสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การค้าปลาสวยงามในตลาดโลกนั้นผลผลิตกว่าร้อยละ 50 มาจากตลาดทางเอเชีย โดยสิงคโปร์จัดเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในการส่งออกปลาสวยงามของโลก โดยมีส่วนแบ่งในตลาดการค้าปลาสวยงามร้อยละ 21.5 รองลงมาคือมาเลเซียร้อยละ 8.9 สาธารณรัฐเช็กร้อยละ 7.8 สเปนร้อยละ 7.0 ญี่ปุ่นร้อยละ 6.7 และอินโดนีเซียร้อยละ 5.7 ส่วนไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 7 มีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 5.0 นอกจากนี้ยังมีประเทศใหม่ๆที่มีการพัฒนาตลาดปลาสวยงามในประเทศ และก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกปลาสวยงาม ซึ่งประเทศที่น่าจับตามองในปัจจุบัน คือ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลของทั้งสองประเทศนี้มีการกำหนดแผนพัฒนาการผลิตและการส่งออกปลาสวยงามอย่างชัดเจน
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมามูลค่าการนำเข้าปลาสวยงามของโลกก็ขยายตัวอย่างโดดเด่นเช่นเดียวกัน โดยเพิ่มขึ้นจาก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2523 เป็นเกือบ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 ตลาดนำเข้าปลาสวยงามที่สำคัญของโลกยังคงเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากการเลี้ยงปลาสวยงามยังจัดเป็นงานอดิเรกที่มีต้นทุนสูง เมื่อเทียบกับการเลี้ยงสัตว์ประเภทอื่นๆ ตลาดนำเข้าปลาสวยงามที่สำคัญ คือ สหภาพยุโรปมีสัดส่วนการนำเข้าแต่ละปีประมาณร้อยละ 38.0 โดยเฉพาะอังกฤษร้อยละ 10.3 เยอรมนีร้อยละ 8.7 และฝรั่งเศสร้อยละ 7.4 รองลงมาคือตลาดญี่ปุ่นร้อยละ 18.0 และสหรัฐฯร้อยละ 15.8 นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าของสิงคโปร์ โดยการนำเข้าของสิงคโปร์นั้นเป็นการนำเข้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม ทำให้สิงคโปร์นั้นได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางในการค้าปลาสวยงามของโลก
ปลาสวยงามที่จำหน่ายในตลาดโลกนั้นร้อยละ 90.0 จะเป็นปลาสวยงามที่เป็นปลาน้ำจืด ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10.0 จะเป็นปลาสวยงามที่เป็นปลาทะเล ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วร้อยละ 90.0 ของปลาสวยงามที่เป็นปลาน้ำจืดที่จำหน่ายในตลาดโลกได้จากเพาะเลี้ยงในฟาร์ม ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10.0 นั้นจับจากธรรมชาติ ส่วนปลาสวยงามที่เป็นปลาทะเลร้อยละ 99.0 จับมาจากธรรมชาติ มีเพียงร้อยละ 1.0 เท่านั้นที่ได้จากการเพาะเลี้ยง
ตลาดในประเทศ…ขยายตัว 10% ต่อปี
ความนิยมเลี้ยงปลาสวยงามในประเทศไทยขยายตัวอย่างมากในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา โดยนับว่าเป็นงานอดิเรกที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันในประเทศ เนื่องจากให้ทั้งความเพลิดเพลิน สามารถหามาเลี้ยงได้ง่าย เลี้ยงในพื้นที่จำกัดได้ ไม่มีเสียงและกลิ่นรบกวนผู้เลี้ยง และจากความนิยมเลี้ยงปลาสวยงามนี้เอง ทำให้เกิดธุรกิจการซื้อขายปลาสวยงามแพร่หลายในประเทศ ซึ่งไทยมีความพร้อมของสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม เนื่องจากมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ และแนวทะเลทอดยาวทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้มีพันธุ์ปลาหลากชนิดทั้งน้ำจืดและปลาทะเล นอกจากการเติบโตของธุรกิจปลาสวยงามแล้ว ยังก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ตกแต่งตู้ปลา ยารักษาโรค และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกมาก
ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงปลาสวยงามในประเทศประมาณ 350,000 คน ในส่วนของร้านค้าปลาสวยงามทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 500 ร้าน ซึ่งร้อยละ 50 อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่เหลือกระจายอยู่ในจังหวัดราชบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา ขอนแก่นและอุดรธานี การขยายตัวของตลาดปลาสวยงามทำให้เกิดอาชีพการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามรายย่อยกระจายอยู่ทั่วประเทศ การจำหน่ายปลาสวยงามในประเทศนั้นผลกำไรส่วนใหญ่มักตกอยู่กับพ่อค้าคนกลาง โดยที่พ่อค้าคนกลางเหล่านี้จะทำการรวบรวมพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ ตามแหล่งเพาะเลี้ยง และแหล่งทำการประมงทั่วไป โดยการซื้อเหมาทั้งครอกหรือรุ่น จากนั้นก็นำมาคัดขนาด และคุณภาพเพื่อกำหนดราคาขายปลีก แหล่งขายปลีกจะกระจายอยู่ทั่วไป และมีแหล่งจำหน่ายใหญ่ที่สุดคือ ตลาดนัดสวนจตุจักรในวันเสาร์-อาทิตย์ คุณภาพปลาในสวนจตุจักรจะคละกันไป ซึ่งต้องอาศัยความรู้และความชำนาญของผู้ซื้อเป็นสำคัญในการคัดเลือกคุณภาพปลา นอกจากที่ตลาดนัดจตุจักรแล้ว แหล่งเพาะเลี้ยงและจำหน่ายปลาสวยงามอีกแหล่งหนึ่งคือ จังหวัดราชบุรี สำหรับผู้เลี้ยงปลาสวยงามหน้าใหม่หรือรายย่อยมักนิยมซื้อปลาสวยงามตามร้านทั่วไปที่ตั้งอยู่ริมถนน และในห้างสรรพสินค้า
ศูนย์กลางขายส่งปลาสวยงามอยู่ที่ตลาดซันเดย์ ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร เวลาการจำหน่ายตั้งแต่เที่ยงวันศุกร์จนถึงเช้าวันเสาร์ ในปัจจุบันมีการขายส่งปลาสวยงามในแต่ละสัปดาห์ราว 150,000 ตัว มูลค่าประมาณ 600,000 บาทต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 28 ล้านบาทต่อปี ในส่วนของการจำหน่ายปลีกนั้นมูลค่าจะสูงกว่าการจำหน่ายส่งประมาณ 2 เท่าตัว ทำให้มูลค่าการจำหน่ายปลาสวยงามเฉพาะที่เป็นปลาน้ำจืดในประเทศสูงถึงประมาณ 56 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ยังไม่รวมปลาสวยงามขนาดใหญ่หรือปลาที่มีราคาแพง ซึ่งมักมีการจำหน่ายโดยตรงให้กับลูกค้า ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าอีกหลายสิบล้านบาท เนื่องจากปลาสวยงามที่จำหน่ายปลีกตามแหล่งต่างๆ จะเป็นปลาที่นำเข้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 40 ปลาลูกผสมร้อยละ 35 และปลาพื้นเมืองเพียงร้อยละ 25 ปลาสวยงามที่นำเข้าจากต่างประเทศมีทั้งน้ำจืดและปลาทะเล โดยส่วนใหญ่จะเป็นปลาพื้นเมืองของประเทศนั้นๆ ซึ่งมีสีสันที่แปลกแตกต่างกันออกไป
สำหรับเกษตรกรที่เป็นทั้งผู้เพาะเลี้ยงและนำปลาสวยงามมาจำหน่ายเองที่ตลาดซันเดย์นั้นส่วนใหญ่จะเน้นจำหน่ายปลาที่มีอายุ 2-3 เดือน หรือขนาด 2 นิ้วขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงที่ได้กำไรสูงสุด ต้นทุนการเลี้ยงปลาสวยงามจะสูงในช่วงการอนุบาลลูกปลา แต่เมื่อปลาโตขึ้นจนกินอาหารเม็ดได้อัตราการสูญเสียน้อยลง และต้นทุนก็ต่ำลงด้วย ราคาซื้อ-ขายปลาสวยงามแต่ละชนิดค่อนข้างใกล้เคียงกันคือปลากาเผือกและปลาทรงเครื่อง 2.50 บาท/ตัว ปลาหางไหม้และปลากาแดง 1.50 บาท/ตัว เป็นต้น ยกเว้นปลาตะเพียนอินโดราคาจะสูงถึง 4 บาท/ตัว ส่วนปลาคาร์ฟที่คัดลักษณะและสีแล้วราคาตกประมาณ 5-6 บาท แต่ถ้าเป็นลูกปลาคาร์ฟเกรดต่ำตัวละไม่ถึง 1 บาท ซึ่งปลาคาร์ฟที่จำหน่ายที่ตลาดซันเดย์เป็นการจำหน่ายให้ผู้เลี้ยงสมัครเล่นเท่านั้น ถ้าเป็นปลาคาร์ฟที่มีราคาแพง ซึ่งต้องคัดปลาที่มีลักษณะดี สีสันสวยราคาจะสูงกว่า 10,000 บาทต่อตัว
ตลาดส่งออก…ต้องเร่งขยายฐานลูกค้า
ไทยประสบความสำเร็จในการเจาะขยายตลาดส่งออกปลาสวยงามอย่างน่าพอใจ ปัจจุบันไทยส่งออกปลาสวยงามไปสู่ประเทศต่างๆมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และมีผู้ส่งออกที่เกี่ยวข้องในธุรกิจปลาสวยงาม 60 บริษัท โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2549 ปริมาณส่งออก 1,363.22 ตัน มูลค่า 479.07 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการส่งออก 1,671.61 ตัน มูลค่า 474.32 ล้านบาทแล้วปริมาณลดลงร้อยละ 18.4 แต่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 โดยปลากัดเป็นปลาสวยงามที่มีการส่งออกมากที่สุด ส่วนปลาที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ ปลาหางไหม้ ปลาน้ำผึ้ง ปลาทรงเครื่อง ปลากาแดง ปลาเทศบาล ปลาปล้องอ้อย และปลาชะโด เนื่องจากปลาเหล่านี้มีความสวยงามและมีลักษณะความแปลกเฉพาะตัว
ประเทศคู่ค้าปลาสวยงามหลักของไทยอยู่ที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรป ซึ่งนิยมสั่งซื้อปลาสวยงามขนาดเล็กราคาต่ำ และส่วนใหญ่เป็นปลาพื้นบ้าน เช่น ปลากัด ปลาคราฟท์ขนาดเล็ก 3-4 นิ้ว ปลาหางนกยูง ปลาทอง ปลาเทวดา ปลาปอมปาดัวร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามพบว่ากลุ่มปลาพื้นเมืองของไทยก็กำลังเป็นที่นิยมในตลาดยุโรปกับสหรัฐฯ และมีโอกาสขยายตลาดได้ดีอย่างต่อเนื่องในระยะยาวได้แก่ ปลาเล็บมือนางและปลาน้ำผึ้ง เนื่องจากเป็นปลาที่กินตะไคร่น้ำในตู้ปลาเป็นอาหาร ลูกค้าจึงนิยมสั่งซื้อเพื่อนำมาใช้ทำความสะอาดตู้ปลา นอกจากนี้ตลาดยุโรปช่วงการสั่งเป็นฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูหนาวในระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม เพราะไม่ได้ออกไปไหนก็จะหันเลี้ยงปลาเพื่อดูเล่น ส่วนตลาดสำคัญรองลงไปคือ ตลาดญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะนำเข้าพรรณไม้น้ำและปลาที่มีคุณภาพดี ปลาที่หายากและมีราคาสูง เช่น ปลาคราฟท์ ปลาอะโรวาน่า เป็นต้น นอกจากนี้ผู้นำเข้าปลาสวยงามของสหรัฐฯและสหภาพยุโรปหันมานิยมนำเข้าปลาสวยงามที่ออกลูกเป็นตัว ซึ่งปลาที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เช่น ปลาสอด เซลบิลล์ ซันไลแพ็ทกี้ เป็นต้น ซึ่งปลาเหล่านี้เพาะเลี้ยงง่ายมากในเมืองไทยนับว่าเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกปลาสวยงามเหล่านี้
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับตลาดสหรัฐฯคือ สหรัฐฯลดการนำเข้าปลาสวยงามจากไทย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เริ่มหันไปนำเข้าปลาสวยงามเพิ่มขึ้นจากฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย โคลัมเบีย จีนและเวียดนาม ดังนั้นผู้ส่งออกปลาสวยงามของไทยต้องเริ่มจับตาคู่แข่งรายใหม่โดยเฉพาะเวียดนาม ส่วนตลาดยุโรปมักจะสั่งซื้อปลาเป็นบางช่วงที่มีความต้องการสูงๆเท่านั้น ทำให้ในบางครั้งมีสินค้าไม่เพียงพอกับความต้องการ
อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีโอกาสสร้างฐานลูกค้าใหม่และเพิ่มปริมาณมูลค่าการส่งออกปลาสวยงามในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะปลาคราฟท์ เพราะประเทศคู่แข่งขันที่สำคัญๆคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียประสบปัญหาโรคระบาดทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้า ผู้ซื้อจึงต้องหันมาซื้อสินค้าจากไทยแทน นอกจากนี้คนไทยยังมีฝีมือและแนวความคิดที่เป็นส่วนเพิ่มศักยภาพในการเพาะพันธุ์ การเลี้ยงและการปรับปรุงพันธุ์ปลาสวยงามให้มีคุณภาพดี มีสีสันสวยงาม ได้มาตรฐานตามลักษณะที่ลูกค้าต้องการ ตลาดสำคัญของปลาสวยงามที่ไทยส่งออกไปจำหน่ายนั้นมีหลายประเทศ
แนวโน้มในอนาคต
ในแต่ละปีไทยสามารถส่งออกปลาและสัตว์น้ำสวยงามคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยในปี 2549 การส่งออกน่าจะสูงถึง 2,000 ล้านบาท ซึ่งปลาสวยงามที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและกำลังเป็นที่ต้องการของต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นปลาจำพวกออกลูกเป็นตัวขนาดเล็ก เช่น ปลาสอด และปลาสวยงามที่มีการนำเข้าจากทวีปอเมริกาใต้แล้วผู้ประกอบการไทยนำมาเพาะและขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายส่งออกต่างประเทศ ลักษณะเป็นปลาขนาดเล็ก ครีบและหางมีสีสันสวยงาม ลักษณะคล้ายปลาหางนกยูงของไทย อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้การผลิตปลาสวยงามดังกล่าวเพื่อการส่งออกของไทย ยังประสบปัญหาไม่สามารถผลิตได้ทันกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ ทำให้ไทยเสียโอกาสในการส่งออก ดังนั้นถ้ามีการอนุญาตให้มีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ปลา ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามของไทยเร่งปริมาณการผลิตลูกปลาเพื่อการส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไทยยังเป็นรองหลายประเทศในการผลิตและส่งออกปลาสวยงาม คือ ระเบียบและกฎหมายการนำเข้าปลาบางสายพันธุ์เพื่อมาเพาะพันธุ์ภายในประเทศก่อนการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทั้งที่ไทยเองก็มีศักยภาพในการเพาะพันธุ์ปลาอยู่แล้ว เช่นปลานีออน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ชนิดปลาที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง นอกจากเหนือจาก ปลากัด ปลาหางนกยูง ปลาน้ำผึ้ง และปลากินตะไคร่น้ำ ในขณะที่ปัจจุบันจีนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลานีออนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากนี้ในปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกปลาสวยงามมีเพียงสถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ กรมประมง ซึ่งภาระหน้าที่ของสถาบันฯ ดังกล่าวมีเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการดูแลในด้านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานฟาร์ม การควบคุมและป้องกันโรคระบาด การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์สัตว์น้ำสวยงาม ดังนั้นควรมีการประสานงานให้หน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยเหลือในด้านการส่งเสริมการส่งออก โดยเฉพาะการจัดงบประมาณสนับสนุนในการออกร้าน หรืองานแสดงมหกรรมสัตว์น้ำในต่างประเทศ เพื่อให้ลูกค้าในต่างประเทศได้เห็นศักยภาพและสิทธิภาพของผู้ประกอบการไทยมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันปลาสวยงามสายพันธุ์ไทยโดยปลาหางนกยูงก็ยังเป็นที่นิยมของต่างประเทศเช่นกัน แต่ปัจจุบันก็ประสบปัญหาไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการของลูกค้า ทั้งในเรื่องของปริมาณและสีสันที่แปลกๆใหม่ๆ เนื่องจากปัญหาจากเทคนิคในการเลี้ยง ดังนั้นถ้าผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามของไทยได้มีโอกาสเรียนรู้เทคนิคการเพาะและขยายพันธุ์ปลาหางนกยูงให้มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตลูกปลาและความหลากหลายของสีสันของปลา ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกปลาหางนกยูงของไทยได้มากยิ่งขึ้น สำหรับชนิดของปลาสวยงามที่มีอนาคตและขายดีได้แก่ ปลาฉลามหางไหม้ ปลาทรงเครื่อง (บางคนเรียกปลาฉลามหางแดงหรือปลากาสี) ปลากาแดงเผือกและปลาสร้อยน้ำผึ้ง ซึ่งปลาเหล่านี้จะขายส่งได้เฉลี่ยตัวละ 1-5 บาท ราคาถูกแพงขึ้นอยู่กับขนาดของตัวปลา สีสัน และคุณภาพของปลาเป็นหลัก นอกจากนี้ในปัจจุบันผู้เลี้ยงปลาสวยงามทางสหภาพยุโรปมีความต้องการปลาที่สามารถอยู่กับต้นไม้น้ำได้ เพราะทางสหภาพยุโรปไม่นิยมเลี้ยงปลาเพียงลำพัง ส่วนใหญ่ในตู้เลี้ยงปลาจะต้องมีต้นไม้ซึ่งปลาบางพันธุ์ไม่ชอบ แต่ที่เมืองไทยปลาเทวดา ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์สามารถอยู่ได้เป็นอย่างดีจะเป็นปลาอีกพันธุ์หนึ่งที่จะนำเงินตราเข้าประเทศอย่างมหาศาลในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันข้อมูลการส่งออกปลาสวยงามยังไม่มีการเก็บแยกชนิดของปลาสวยงาม รวมทั้งปริมาณการส่งออกยังมีการรายงานเป็นน้ำหนัก ดังนั้นถ้าต้องการใช้ข้อมูลในด้านการส่งออกให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจปลาสวยงามควรมีการเก็บแยกชนิดของปลาสวยงามที่ส่งออก และรายงานปริมาณการส่งออกเป็นตัวแทนการรายงานเป็นน้ำหนัก ทั้งนี้จะทำให้เห็นทิศทางการพัฒนาการเพาะเลี้ยงได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ การเก็บปริมาณการผลิตแยกชนิดของปลาสวยงาม ทำให้ทราบถึงสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวทางการขยายปริมาณการผลิตในอนาคต โดยปัจจุบันวงการค้าปลาสวยงามแยกการผลิตปลาสวยงามออกเป็นดังนี้
– กลุ่มแรก เป็นปลาที่มีปริมาณและคุณภาพเพียงพอแล้ว ได้แก่ ปอมปาดัวร์สายพันธุ์เดิม หางนกยูงสายพันธุ์เดิม หมอสีสายพันธุ์เดิม และปลาไทยบางชนิด
– กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มปลาที่มีปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอได้แก่ ปอมปาดัวร์สายพันธุ์ใหม่ หางนกยูงสายพันธุ์ใหม่ ปลาไทยชนิดใหม่ ซึ่งได้แก่ ปลาหมอสีสายพันธุ์ใหม่ ปลากัด ปลาเทวดา กลุ่มปลากระดี่ ปลาคาร์พเกรดเอ ปลาทองเกรดบี
– กลุ่มที่สาม เป็นปลาสวยงามที่ต้องปรับปรุงคุณภาพ ได้แก่ ปลาทองเกรดเอ ปลาคราฟท์เกรดบี-ซี นอกจากนี้การแยกชนิดปลาสวยงามที่ส่งออกให้ชัดเจนจะทำให้ทราบว่าปลาสวยงามชนิดใดมีการส่งออกมาก ปลาสวยงามชนิดใดกำลังเริ่มเป็นที่นิยม รวมทั้งทำให้ทราบว่าประเทศคู่แข่งของปลาสวยงามแต่ละชนิดนั้นเป็นประเทศใด เช่น ปลาหางนกยูงนั้นไทยต้องแข่งกับสิงคโปร์และศรีลังกา ส่วนคู่แข่งที่กำลังมาแรงคือ มาเลเซีย เป็นต้น ธุรกิจปลาสวยงามนั้นยังมีช่องว่างทางการตลาดที่สามารถแทรกตัวขยายธุรกิจได้ โดยเฉพาะปลาสวยงามที่เป็นปลาน้ำจืด สำหรับปลาสวยงามที่เป็นปลาทะเลนั้นปัจจุบันไทยกำหนดไม่ให้ส่งออกและนำเข้า แต่ไทยควรเริ่มพิจารณาธุรกิจการส่งออกปลาทะเลสวยงาม เนื่องจากปัจจุบันไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงปลาทะเลสวยงามในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ปัจจุบันสำหรับประเทศที่ครองตลาดส่งออกปลาทะเลสวยงามคือฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ในส่วนแหล่งที่มีการซื้อขายปลาทะเลสวยงามคือแถบลุ่มแม่น้ำอะเมซอน โคลัมเบีย มลรัฐฟลอริดาในสหรัฐฯ และสิงคโปร์
การพัฒนาทั้งทางด้านการผลิตและการตลาดปลาสวยงามของไทยยังมีจุดอ่อนอยู่อีกหลายจุด แต่ถ้าทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันและมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาธุรกิจปลาสวยงามอย่างชัดเจน ทั้งในด้านบทบาทของแต่ละฝ่ายที่จะเอื้อต่อการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจปลาสวยงาม นับว่าจะช่วยเพิ่มทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกปลาสวยงามให้เป็นสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มสดใส เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกปลาสวยงามของไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆที่กำลังเร่งพัฒนาธุรกิจปลาสวยงามเพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาดโลก