สรุปผลประกอบการไตรมาส 4/2549 และปี 2549
จากการประกาศผลประกอบการ (ก่อนสอบทาน) ของธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 4/2549 และสำหรับทั้งปี 2549 นั้น ปรากฎว่า ในไตรมาส 4/2549 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 13 แห่ง มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 1.25 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2549 ซึ่งมีกำไรสุทธิจำนวน 2.44 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่กดดันผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 4/2549 นั้น นอกจากจะเป็นผลมาจากการกันสำรองจำนวนสูงถึง 4.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากจำนวน 8.06 พันล้านบาทในไตรมาส 3/2549 เพื่อรองรับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศใหม่ฉบับที่ 39 (IAS39) ที่ธปท.ประกาศใช้แล้ว ยังมีสาเหตุจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับทั้งปี 2549 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีกำไรสุทธิจำนวน 5.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 40.57% จากปี 2548 เนื่องจาก ประการแรก ภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นจาก 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2548 มาที่ 1.7 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งต้องเริ่มจ่ายภาษีเต็มจำนวน เพราะสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากผลขาดทุนสุทธิ อันเป็นผลกระทบจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 (Tax Shield) ได้หมดลงแล้ว ประการที่สอง การกันสำรองในปี 2549 เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 160% จากปีก่อน มาที่จำนวน 6.2 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการกันสำรองในไตรมาสสุดท้ายของปี เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐาน IAS39 ของธปท. และประการสุดท้าย ผลขาดทุนจากสัญญาการชดเชยสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (CAP) ที่ธนาคารขนาดกลางแห่งหนึ่งได้ทำไว้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งมีจำนวนรวมเกือบ 4 พันล้านบาท
ขณะที่ เมื่อพิจารณาฐานะการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์แท้จริง (Core Earnings) จากกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (Operating Profits) ซึ่งไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านภาษีและการกันสำรองแล้ว จะพบว่าระบบธนาคารมีกำไรดังกล่าวจำนวน 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% จากปีก่อน โดยแม้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิจะลดลงจากปีก่อนหน้า แต่รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิยังขยายตัวได้ 16.2% มาที่ 2.3 แสนล้านบาท สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจาก 3.08% ในปี 2548 มาที่ 3.37% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและการขยายตัวของสินเชื่อ
แนวโน้มผลประกอบการ และธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2550
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2550 ยังคงเป็นปีที่เงื่อนไขการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีความซับซ้อน โดยมีปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่แน่นอน ซึ่งย่อมจะมีผลกระทบต่อความต้องการสินเชื่อจากภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมทั้งยังอาจมีอิทธิพลต่อเงินฝากของภาคครัวเรือนที่ธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ สภาวะการแข่งขันระหว่างธนาคาร ล้วนแต่จะมีความเข้มข้นขึ้นในทุกๆ บริการและผลิตภัณฑ์ ในขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ไทยยังจะต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ของทางการอีกด้วย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวมรวบข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2550 ไว้ ดังนี้
สินเชื่อคาดว่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปี 2549 แต่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจอาจส่งผลเสียต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
ถึงแม้ว่า ณ ขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการจีดีพีปี 2550 ไว้ที่ 4.0-5.0% เทียบกับของปี 2549 ที่ 5.0% แต่ปัจจัยเสี่ยงด้านการเมือง และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของทางการ ทั้งมาตรการสำรอง 30% เพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทระยะสั้น และการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายในประเทศ และเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองในเชิงลบมากขึ้นต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2550 อันอาจนำมาสู่การปรับลดประมาณการจีดีพีในลำดับถัดไป
แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในปี 2550 ดังกล่าว ผนวกกับความไม่แน่นอนด้านการเมืองต่างๆ อาจกดดันความต้องการสินเชื่อจากภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 ขณะที่ แม้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่การเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ที่คงจะใช้เวลานานกว่านั้น คงจะมีผลช่วยหนุนความต้องการสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า ประกอบกับสินเชื่อบางประเภท อาทิ บัตรเครดิต คงจะไม่ได้รับผลดีจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลงมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการเพิ่งปรับเพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 18% เป็น 20% เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น จึงยังไม่น่าจะมีแรงจูงใจในการลดอัตราดอกเบี้ยลงตามในอนาคตอันใกล้
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า เงินให้สินเชื่อดี (Performing Loans) ของธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2550 จึงน่าจะขยายตัวประมาณ 5.0-7.0% เทียบกับตัวเลขเบื้องต้นที่ประมาณ 6.4% ในปี 2549 โดยสินเชื่อที่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอการตัดสินใจขอสินเชื่อจากภาคครัวเรือน ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบัตรเครดิต ส่วนสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่นั้น แม้อาจได้รับผลดีทางอ้อมจากการที่มาตรการสำรอง 30% ของธปท.สร้างอุปสรรคต่อการที่บริษัทลูกของบริษัทข้ามชาติจะนำเข้าเงินทุนจากบริษัทแม่ในต่างประเทศเพื่อมาขยายธุรกิจ อีกทั้งส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการระดมทุนของธุรกิจเอกชนไทยในตลาดทุน ซึ่งอาจทำให้บริษัทต่างๆ ดังกล่าว หันกลับมาขอขยายวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้น แต่ผลดีดังกล่าว ก็อาจจำกัดอยู่เฉพาะในธุรกิจที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีและมีอัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับสูง อาทิ ธุรกิจส่งออก มากกว่าจะเป็นธุรกิจที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ หรือมีความสัมพันธ์กับการบริโภค/ลงทุนในประเทศค่อนข้างมาก
ขณะที่ สินเชื่อที่คงจะได้รับปัจจัยบวกจากภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อบุคคล เนื่องจากสินเชื่อทั้งสองประเภทดังกล่าว ให้อัตราผลตอบแทนสูง ซึ่งการปรับพอร์ตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มาที่ตลาดสินเชื่อดังกล่าวมากขึ้นนี้ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาอัตราผลตอบแทนของพอร์ตสินเชื่อโดยรวม ในระหว่างที่แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม อาจส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนของพอร์ตสินเชื่อในอนาคตอันใกล้ แต่ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจน ผนวกกับความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้ากลุ่มดังกล่าวได้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์คงจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการติดตามและดูแลคุณภาพสินเชื่อมากขึ้นตามไปด้วย
เงินฝากยังมีโอกาสที่จะขยายตัวอยู่ในระดับสูง ในภาวะที่การลงทุนในตลาดทุนยังซบเซา
สำหรับในปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะยังคงขยายตัวอยู่ในระดับเหนือ 5% (เทียบกับที่กว่า 6% ในปี 2549) ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะทยอยลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าผู้มีเงินออมจะยังคงให้ความสนใจกับการฝากเงินไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ต่อไป ในระหว่างที่ทางเลือกในการออมประเภทอื่นๆ อาทิ การลงทุนในตลาดหุ้น ยังคงไม่สดใส และอ่อนไหวต่อปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ตลอดจนความชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ของทางการไทย
นอกจากนี้ ในช่วงจังหวะอัตราดอกเบี้ยขาลงที่อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้จะปรับลดลงก่อนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์นั้น อาจทำให้แรงจูงใจในการออกกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากช่วงวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2547 ถึงครึ่งแรกของปี 2549 ที่กองทุนรวมอาศัยจังหวะที่อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ปรับขึ้นไปก่อนอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ในการออกกองทุนใหม่ที่มีอัตราผลตอบแทนที่จูงใจเป็นจำนวนมาก
อัตราดอกเบี้ยขาลง คงจะกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปี 2550
ท่ามกลางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงในปี 2550 ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายในและต่างประเทศนั้น อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย เฉพาะที่ลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นทั้งในและต่างประเทศ (ซึ่งมียอดคงค้างสุทธิเกือบ 6 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2549) นั้น คงจะปรับตัวลดลงจากปี 2549 และส่งผลกระทบต่อรายดอกเบี้ยสุทธิสำหรับทั้งปี 2550
นอกจากนั้น รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ถึงแม้ว่าภาพรวมการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวนั้น คงออกมาในรูปของการปรับลดทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืม (ปรับลดทั้งสองขา) ก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากเงินให้สินเชื่อกว่า 70% เป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรากฎผลกระทบส่วนใหญ่ต่อรายได้ดอกเบี้ยรับทันทีในไตรมาสที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ ธนาคารพาณิชย์จะต้อง ‘ทยอย’ รับรู้ผลดีจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ผ่านการลดต้นทุนอัตราดอกเบี้ยจ่ายสำหรับเงินฝากในไตรมาสถัดๆ ไป นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 ธนาคารพาณิชย์ยังจะต้องรับรู้ต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ อาทิ เงินฝากประจำประเภท 1 ปีประมาณ 1.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 อีกด้วย
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ว่าธนาคารพาณิชย์ไทยอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 3 เดือน ถึง 24 เดือนประมาณ 0.75-1.0% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR อีก 0.75% ในปี 2550 ขณะที่ กำหนดให้มีการเติบโตของสินเชื่อดีและเงินฝากประมาณ 5.0-7.0% และ 5% ตามลำดับ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯ ลดลงจากระดับปัจจุบันในกรอบประมาณ 0.5-0.75% นั้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ในปี 2550 อาจอยู่ที่ประมาณ 3.22% ลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 0.15% ในขณะที่คาดว่าระบบธนาคารพาณิชย์จะมีรายได้สุทธิจำนวนประมาณ 2.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเพียงประมาณ 1.6% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอลงชัดเจนจาก 16.2% ในปี 2549
อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์สามารถเลือกปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากข้างต้นในภาพรวมได้ อาทิ การเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำบางประเภท ก่อนการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะทำให้เมื่อพิจารณาภาพเป็นทั้งปีแล้ว ผลกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยทั้งสองขาต่องบการเงิน คงจะเบาบางลง แต่อาจต้องแลกกับแรงกดดันทางสังคมที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
แนวโน้มกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปี 2550 ขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารพาณิชย์ในการเร่งเพิ่มรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
ปกติแล้ว กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรอง) ซึ่งใช้สะท้อนฐานะจากการดำเนินงานแท้จริงนั้น ประกอบด้วยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (ซึ่งเป็นรายได้หลัก) และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิ (ซึ่งมักติดลบ หรือมีค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยสูงกว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย)
จากที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในปี 2550 จะเผชิญกับข้อจำกัดในการเติบโตจากอัตราดอกเบี้ยขาลง โดยแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเพียงขาเดียว เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธนาคารพาณิชย์คงจะเผชิญแรงกดดันทั้งจากทางการและแรงกดดันทางสังคมให้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมมากขึ้นในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 ชะลอตัวลงและธปท.ยังเดินหน้าลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การจำกัดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จึงต้องอาศัยการบริหารรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ยอย่างมีประสิทธิภาพของธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงการเร่งปล่อยสินเชื่อ
นอกจากนี้ ท่ามกลางภาวะที่การเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเป็นไปอย่างจำกัด ธนาคารพาณิชย์ยังจะต้องบริหารต้นทุนจากการดำเนินงาน และเร่งเพิ่มรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพื่อรักษาไม่ให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการดำเนินงานลดลงเหมือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนมีผลต่อกำไรสุทธิจากการดำเนินงานในที่สุด ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2546-2549) ธนาคารพาณิชย์ไทยมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเฉลี่ยปีละเกือบ 30% จากการที่ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 15.4% ซึ่งสูงกว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6.3% เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เพื่อให้แข่งขันได้ในทางธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์มีความจำเป็นจะต้องเร่งขยายช่องทางการขายและให้บริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสาขา เครื่องเอทีเอ็ม และเครื่องให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ควบคู่ไปกับการเพิ่มจำนวนพนักงาน รวมทั้ง การลงทุนปรับปรุงระบบเทคโนโลยีให้สามารถสนองตอบต่อการทำธุรกรรมที่ซับซ้อนและมีปริมาณมากขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นหมายความว่า ในภาวะที่สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจไม่เอื้ออำนวยดังเช่นในปี 2550 การลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในทางปฏิบัติ อาจทำได้เพียงบางรายการเท่านั้น อาทิ ด้านพนักงาน หรือการชะลอการขยายสาขา/เครื่องเอทีเอ็มออกไป ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์อาจไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีได้ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่จะต้องมีความต่อเนื่อง และมีนัยต่อยุทธศาสตร์ทางธุรกิจในระยะยาว
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้ประมาณการผลกระทบต่อกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรอง) โดยใช้สมมติฐานของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามที่ได้ประมาณการไว้ข้างต้น ซึ่งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะขยายตัวประมาณ 1.6% และสมมติฐานของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิสองกรณี นั่นคือ กรณีแรก ที่กำหนดให้รายได้และค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยขยายตัวเท่ากับอัตราเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งจะได้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิของปี 2550 ที่ลดลง 24.5% จากปีก่อนหน้า และ กรณีที่สอง กำหนดให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิมีระดับที่ทำให้กำไรสุทธิจากการดำเนินงานปี 2550 มีจำนวนไม่น้อยกว่าปี 2549
โดยผลการคำนวณชี้ว่า กรณีแรก กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรอง) ในปี 2550 อาจชะลอลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 13.4% เทียบกับที่ขยายตัว 6.1% ในปี 2549 ในขณะที่ ใน กรณีที่สอง นั้น กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรอง) จะเท่ากับของปี 2549 ได้ เมื่อรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิชะลอลงเพียง 4%
ดังนั้น หากธนาคารพาณิชย์ไทยต้องการให้กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรอง) สูงกว่าของปี 2549 ก็จะต้องเร่งเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และ/หรือทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิติดลบน้อยกว่า 4% ซึ่งคงจะเป็นงานที่ค่อนข้างหนักมาก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรอง) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2550 ยังคงมีโอกาสที่จะลดลงจากปีก่อนได้ หรือถ้าเพิ่มขึ้น ก็คงจะเป็นการเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ไม่มากนัก
ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองในปี 2550 ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง เพราะเกณฑ์ IAS39
คาดว่าค่าใช้จ่ายในการกันสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญสำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2550 จะทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังมีความจำเป็นจะต้องกันสำรองเพิ่มเติมเพื่อให้ครบถ้วนตามเกณฑ์ IAS39 ระยะที่ 2 และ 3 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปีและสิ้นปี 2550 ตามลำดับ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ระบบธนาคารพาณิชย์อาจต้องมีการกันสำรองเป็นจำนวนอีกไม่กว่า 4-5 หมื่นล้านบาทในปี 2550 เทียบกับ 6.2 หมื่นล้านบาทในปี 2549 ทำให้ในภาพรวมแล้ว ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองดังกล่าว ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่คงจะกดดันผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2550 ด้วย
โดยสรุป ในปี 2550 นี้ การดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะเผชิญความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น
– ประการแรก การบริหารรายได้และค่าใช้จ่าย ในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาลงที่นำโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธปท.เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคงจะนำมาสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม จนส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยตามมา
– ประการที่สอง การบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านอาคาร สถานที่ และอุปกรณ์ (อันสืบเนื่องจากแผนการขยายช่องทางการขาย อาทิ สาขา และเครื่องเอทีเอ็ม) ค่าใช้จ่ายด้านพนักงานที่เติบโตตามการขยายช่องทางการขาย รวมทั้ง การปรับปรุงระบบเทคโนโลยี ซึ่งรายจ่ายต่างๆ ดังกล่าวจะยังคงเป็นภาระกับธนาคารพาณิชย์ในปี 2550
– ประการสุดท้าย ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองหนี้เสียเพิ่มเติม ตามเกณฑ์ IAS39 ระยะที่ 2 และ 3 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปีและสิ้นปี 2550
นอกจากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในรักษาความสามารถในการทำกำไรไม่ให้ถดถอยลงไปจากปี 2549 แล้ว ธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่อในบางประเภทธุรกิจ หรือบางกลุ่มลูกค้า ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาการเมืองที่ไม่แน่นอน โดยหากธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถจัดการและปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับตัวแปรเหล่านั้นได้ ก็อาจสามารถรักษากำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรอง) ในปี 2550 ไม่ให้ชะลอลงจากปี 2549 ได้เช่นกัน