ผลิตภัณฑ์ข้าว : ตลาดส่งออก…ที่ยังเติบโตต่อไปได้

ผลิตภัณฑ์จากข้าวนับว่าเป็นสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่น่าจับตามอง แม้ว่าตลาดในประเทศจะขยายตัวไม่มากนัก แต่การส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวนั้นมีแนวโน้มที่น่าสนใจ แม้ว่าในปัจจุบันมูลค่าการส่งออกยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรหลัก แต่ผลิตภัณฑ์ข้าวก็เป็นสินค้าเกษตรแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มในรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งยังเป็นสินค้าที่มีโอกาสในการขยายการส่งออกได้อีกมาก ถ้าผู้ผลิตมีการปรับตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งการปรับมาตรฐานการผลิตให้เข้าสู่ระบบสากล

สภาพการผลิต…ผลิตภัณฑ์ข้าว 10%ของการผลิตข้าวทั้งหมด
ผลิตภัณฑ์ข้าวแยกออกได้เป็น แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว เส้นหมี่เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปังกรอบ ขนมปังขิง บิสกิตหวาน แวฟเฟิลและเวเฟอร์ รัสค์ขนมปังปิ้งและผลิตภัณฑ์ปิ้งที่คล้ายกัน แคปซูลเปล่าที่ทำจากแป้งข้าว ใบเมี่ยง และอื่นๆ โดยข้าวที่ผลิตได้ทั้งหมดส่วนใหญ่ใช้บริโภคโดยตรงประมาณร้อยละ 43.0 ของข้าวที่ผลิตได้ทั้งหมด เก็บไว้ทำพันธุ์ประมาณร้อยละ 4.0 และเก็บสต็อกไว้ประมาณร้อยละ 3.0 ส่วนข้าวที่เหลืออีกร้อยละ 50.0 นั้นแยกเป็นการส่งออกข้าวสารร้อยละ 40.0 ที่เหลือส่งเข้าโรงงานแปรรูปร้อยละ 10 โดยแยกเป็นการแปรรูปเพื่อบริโภคในประเทศประมาณร้อยละ 9.0 และแปรรูปแล้วส่งออกในลักษณะของผลิตภัณฑ์ข้าวเพียงร้อยละ 1.0

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวนั้นในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2549 มีปริมาณ 183,011 ตัน มูลค่า 7,004 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 และร้อยละ 6.6 ตลาดส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์ข้าวที่น่าสนใจและมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องคือ แป้งข้าวเหนียว เส้นหมี่และเส้นก๋วยเตี๋ยว รวมทั้งขนมขบเคี้ยวที่ทำจากแป้งข้าว เนื่องจากไทยยังมีความได้เปรียบในแง่ของการเป็นแหล่งวัตถุดิบ แต่ยังต้องมีการพิจารณาในการปรับปรุงให้มีปริมาณวัตถุดิบเพียงพอ มีคุณภาพสม่ำเสมอตามความต้องการของตลาด รวมทั้งมีราคาไม่สูงเกินไปนัก เพื่อที่ผลิตภัณฑ์ข้าวที่ผลิตได้จะสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ ส่วนตลาดในประเทศนั้นผู้ผลิตยังสามารถปรับตัวโดยการปรับปรุงในเรื่องบรรจุภัณฑ์ ให้มีความสวยงาม แข็งแรง และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค รวมทั้งการรักษาสุขอนามัยในขั้นตอนการผลิต ทำให้สินค้าเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้น ลู่ทางการพัฒนา เจาะขยายตลาดผลิตภัณฑ์ข้าวยังแจ่มใสและมีอนาคตอีกไกล

สภาพตลาดผลิตภัณฑ์ข้าว…หลากผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ

โดยตลาดในประเทศและส่งออกของผลิตภัณฑ์ข้าวที่น่าสนใจแยกออกเป็นดังนี้
-แป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียว การใช้แป้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวในประเทศ ส่วนใหญ่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารคือใช้เป็นส่วนผสมในอาหารและขนมประเภทขบเคี้ยวเช่น เส้นก๋วยเตี๋ยวประเภทต่างๆ ขนมจีนและขนมอบกรอบ เป็นต้น ขณะที่บางส่วนนำไปใช้อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและกระดาษเพื่อเพิ่มความมันวาวและความเหนียวร่วมกันกับแป้งมันสำปะหลัง จากการสำรวจของบริษัทผู้ผลิตแป้งข้าวเพื่อการส่งออก ปรากฏว่าประมาณร้อยละ 70-80 ของปริมาณการผลิตแป้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวจะส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ และส่วนที่เหลือจะจำหน่ายเพื่อการบริโภคในประเทศ ซึ่งคาดว่ามีความต้องการในประเทศเฉลี่ยปีละ 70,000-80,000 ตัน และเมื่อรวมกับการส่งออกแล้วคาดว่าในแต่ละปีปริมาณการผลิตแป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียวประมาณ 140,000-150,000 ตัน โดยส่วนมากตลาดในประเทศนิยมใช้แป้งข้าวเจ้าในการทอด ส่วนแป้งข้าวเหนียวจะใช้ในการต้มหรือนึ่ง

การส่งออกแป้งข้าวเหนียวยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2549 มีปริมาณการส่งออก 71,946 ตัน มูลค่า 1,510 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 และ 18.8 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งคือ ญี่ปุ่นร้อยละ 38.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รองลงมาได้แก่ มาเลเซียร้อยละ 16.5 ฮ่องกงร้อยละ 15.3 จีนร้อยละ 6.2 ไต้หวันร้อยละ 5.5 และฟิลิปปินส์ร้อยละ 3.3

ส่วนการส่งออกแป้งข้าวเจ้าในปี 2549 ชะลอตัวลงเป็นปีแรก เนื่องจากราคาข้าวของไทยอยู่ในเกณฑ์สูงทำให้ประเทศผู้นำเข้าหันไปนำเข้าจากประเทศอื่น กล่าวคือ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2549 ไทยส่งออกแป้งข้าวเจ้าเท่ากับ 26,922 ตัน มูลค่า 525 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 25.2 และร้อยละ 24.9 ตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งคือ ฮ่องกงร้อยละ 26.2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือ สิงคโปร์ร้อยละ 13.8 มาเลเซียร้อยละ 10.7 ญี่ปุ่นร้อยละ 8.9 จีนร้อยละ 6.1 ฝรั่งเศสร้อยละ 3.5 และออสเตรเลียร้อยละ 3.4

-เส้นก๋วยเตี๋ยวและเส้นหมี่ นับเป็นผลิตภัณฑ์จากข้าวชนิดหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีและเป็นที่นิยมบริโภคอย่างแพร่หลายภายในประเทศ ดังจะเห็นได้ว่ามีร้านจำหน่ายอาหารประเภทนี้กระจายอยู่ทั่วไป การผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวและเส้นหมี่ใช้ปลายข้าวหรือข้าวหักเป็นวัตถุดิบในการผลิตที่สำคัญ ดังนั้นการพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทนี้นับว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวคุณภาพต่ำเป็นอย่างดี ประมาณว่าในแต่ละปีมีการผลิตก๋วยเตี๋ยวและเส้นหมี่ 250,000 ตัน โดยใช้ในการบริโภคในประเทศ 200,000 ตัน และส่งออกปีละ 50,000-60,000 ตัน โดยการส่งออกมี 2ประเภท คือ ประเภทธรรมดา และชนิดกึ่งสำเร็จรูป โดยมีสัดส่วนการส่งออกเส้นก๋วยเตี๋ยวธรรมดาร้อยละ 85 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงของตลาดในประเทศที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ แม้ว่าจะมีการแข่งขันทางด้านราคากันอย่างมาก เนื่องจากราคามีผลต่อความสามารถในการแข่งขัน และการเพิ่มส่วนแบ่งด้านการตลาด แต่ลักษณะของตลาดและผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจกับตัวของสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพของสินค้า ความสะอาด ลักษณะเส้นสวย มีเส้นหักน้อย ใส และเหนียว และการบรรจุหีบห่อที่ดี สวยงาม กะทัดรัดเหมาะต่อการบริโภค

การส่งออกเส้นหมี่เส้นก๋วยเตี๋ยวของไทยยังมีขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2549 ไทยส่งออกเส้นหมี่เส้นก๋วยเตี๋ยวเท่ากับ 42,154 ตัน มูลค่า 1,600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 และ 16.0 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งคือ สหรัฐฯร้อยละ 35.0 รองลงมาคือมาเลเซียร้อยละ 13.7 แคนาดาร้อยละ 9.6 ออสเตรเลียร้อยละ 6.1 ญี่ปุ่นร้อยละ 4.5 ฮ่องกงร้อยละ 4.2 และเนเธอร์แลนด์ร้อยละ 3.7

การส่งออกเส้นก๋วยเตี๋ยวและเส้นหมี่ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในรูปของเส้นแห้ง และเส้นกึ่งสำเร็จรูป ในการส่งออกจะมีบริษัทผู้ส่งออกไปติดต่อกับโรงงานผู้ผลิตโดยตรงโดยตราหรือยี่ห้อที่ใช้ในการส่งออก อาจเป็นของผู้ส่งออกหรือใช้ตราของโรงงานผู้ผลิตเองก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะใช้ตราของผู้ส่งออก กรณีที่ใช้ตราของโรงงานมักเป็นโรงงานที่ผู้ผลิตเป็นผู้ส่งออกเองซึ่งในกรณีนี้มีไม่มากนัก เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกจะมีการบรรจุในซองพลาสติกเรียบร้อยเช่นเดียวกับการจำหน่ายในประเทศ แต่รูปร่าง ลวดลาย สีสรร และเครื่องหมายการค้าแตกต่างกันตามประเทศนำเข้าต้องการ

การส่งออกไปยังสหรัฐฯและประเทศตะวันตกต่างๆที่มีชาวเอเชียไปตั้งรกรากอยู่นั้นนับว่าเป็นลู่ทางการตลาดที่น่าสนใจ โดยตลาดสหรัฐฯมีชาวเอเชียไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนับว่าเป็นจุดแรกของการแพร่ขยายผลิตภัณฑ์เข้าไปในตลาด ส่วนประเทศในเอเชีย ทั้งมาเลเซีย ญี่ปุ่นและฮ่องกงนั้นคุ้นเคยกับอาหารที่มีส่วนประกอบของเส้นหมี่และเส้นก๋วยเตี๋ยวอยู่แล้ว ทำให้ยังมีลู่ทางในการขยายตลาด อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในตลาดโลกแล้วสินค้าเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่นั้นแยกออกเป็นสองตลาดอย่างชัดเจน โดยตลาดบนนั้นสินค้าของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ครองตลาดส่วนใหญ่ เนื่องจากผู้บริโภคมองว่าสินค้ามีมาตรฐานสูงกว่า การบรรจุหีบห่อทันสมัยและสวยงาม โดยให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องรายละเอียดของฉลากกล่าวคือ มีการระบุส่วนผสม คุณค่าทางอาหาร วิธีการใช้หรือวิธีการทำอาหารซึ่งใช้สินค้านั้น นอกจากนี้ลักษณะของผลิตภัณฑ์ของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีความหลากหลาย โดยเฉพาะมีเส้นที่ผสมส่วนผสมอื่นๆ เข้าไปด้วย ดังนั้นผลิตภัณฑ์จากทั้งสองประเทศนี้ราคาอยู่ในเกณฑ์สูง ส่วนตลาดระดับล่างนั้นเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่จากจีน ไทย ฮ่องกง และไต้หวัน โดยมีลักษณะการบรรจุเป็นห่อขนาดใหญ่ที่ทำมาจากพลาสติก มีรายละเอียดเฉพาะชื่อสินค้า บริษัทผู้ผลิตและส่วนผสมเท่านั้น อย่างไรก็ตามสินค้าจากจีนมีราคาต่ำกว่าสินค้าจากไทยประมาณร้อยละ 10-20

-ขนมขบเคี้ยวจากข้าว ขนมขบเคี้ยวจากข้าวที่ผลิตในประเทศสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่คือ ประเภทกึ่งอาหาร ได้แก่ ขนมปังกรอบประเภทต่างๆ เช่น คุกกี้ บิสกิต เป็นต้น โดยสินค้าที่เป็นที่นิยมมักเป็นตราสินค้าต่างประเทศที่เข้ามาร่วมลงทุนกับคนไทย มูลค่าตลาดประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยวจากข้าวทั้งหมด ส่วนขนมขบเคี้ยวจากข้าวอีกประเภทหนึ่งคือ ขนมขบเคี้ยวที่รับประทานเป็นอาหารว่าง ซึ่งตลาดเติบโตอย่างมาก โดยเข้าไปแย่งตลาดของลูกอมลูกกวาด มูลค่าตลาดประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยวจากข้าวทั้งหมด

การส่งออกขนมขบเคี้ยวจากข้าวที่น่าสนใจคือ ขนมปังกรอบ บิสกิตหวาน แวฟเฟิลและเวเฟอร์ โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ประเภทนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2549 ไทยส่งออกขนมปังกรอบเท่ากับ 22,567 ตัน มูลค่า 1,946 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 และ 1.4 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งคือ ญี่ปุ่นร้อยละ 19.5 รองลงมาคือ เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 11.9 ออสเตรเลียร้อยละ 11.1 สหรัฐฯร้อยละ 10.9 คูเวต 7.2 และลาว 5.3 ส่วนตลาดที่น่าสนใจที่มีแนวโน้มขยายตัวคือ ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และพม่า และตลาดในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย

ส่วนบิสกิตหวานไทยส่งออกในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 4,628 ตัน มูลค่า 304 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ12.2 และ 35.1 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งคือ กัมพูชาร้อยละ 30.3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือ สิงคโปร์ร้อยละ 22.8 มาเลเซียร้อยละ 15.1 และไต้หวันร้อยละ 9.9 ซึ่งตลาดเหล่านี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตลาดที่น่าสนใจคือ ลาว อินโดนีเซีย พม่า และเวียดนาม
สำหรับแวฟเฟิลและเวเฟอร์ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2549 ปริมาณส่งออกเท่ากับ 3,491 ตัน มูลค่า 274 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.2 และ 49.4 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ กัมพูชาร้อยละ 37.2 พม่าร้อยละ 7.0 เวียดนามร้อยละ 5.8และสหรัฐอาหรับฯร้อยละ 4.3 ซึ่งตลาดเหล่านี้มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดที่น่าสนใจคือ ลาว และจีน

ปัจจุบันตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของขนมขบเคี้ยวจากข้าว โดยมีปริมาณความต้องการบริโภคประมาณปีละ 100,000 ตัน ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณความต้องการทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าจากประเทศไทยประมาณร้อยละ 5 ของปริมาณความต้องการทั้งหมด โดยขนมขบเคี้ยวจากข้าวยอดจำหน่ายสูงมากในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่จะต้องใช้ขนมประเภทนี้ และในช่วงต้นปีถือเป็นช่วงที่ยอดสั่งซื้อจะต่ำ และมีแนวโน้มว่าความต้องการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพราะการผลิตใช้เวลาประมาณ 7 วัน ดังนั้นการผลิตในญี่ปุ่นซึ่งมีค่าจ้างแรงงานสูงมาก จึงไม่คุ้มที่จะผลิตขนมประเภทนี้ ซึ่งนอกจากญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศแล้วยังมีการออกไปลงทุนในต่างประเทศด้วย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนผลิตขนมประเภทนี้หลายราย ทั้งนี้นอกจากประเทศไทยเป็นแหล่งที่ผลิตข้าวเหนียวที่มีคุณภาพแล้ว ค่าแรงยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตขนมขบเคี้ยวจากข้าวประมาณ 10 โรงงาน และมีกำลังการผลิตประมาณปีละ 14,800 ตัน โดยผู้ผลิตรายใหญ่เป็นบริษัทร่วมทุนกับญี่ปุ่น และมีกำลังการผลิตรวมกันคิดเป็นร้อยละ 20 ของตลาดขนมขบเคี้ยวจากข้าว รูปแบบการส่งออกมี 2 ประเภท คือ แบบปรุงรสเรียบร้อยแล้ว และแบบที่ไม่ปรุงรสซึ่งผู้นำเข้าจะนำไปปรุงรสใหม่อีกครั้งเพื่อให้ได้รสชาติตามที่ผู้บริโภคต้องการ สัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 60 เป็นการส่งออกแบบไม่ปรุงรส บรรจุในกล่องกระดาษมีน้ำหนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม แต่ในส่วนของแบบที่ยังไม่ปรุงรสนั้น หลังจากผู้นำเข้าปรุงรสแล้วจะนำไปบรรจุใหม่ที่มีขนาดเล็กลงพร้อมจำหน่าย

นอกจากตลาดญี่ปุ่นแล้ว ตลาดส่งออกที่น่าสนใจ คือ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ความนิยมของขนมประเภทนี้เพิ่มขี้นในแง่ของการเป็นขนมเพื่อสุขภาพ เนื่องจากเป็นการทำให้สุกด้วยการอบไม่ใช่การทอด รวมทั้งยังมีสารปรุงรสอื่นๆ รวมทั้งสาหร่ายทะเลที่มีคุณค่าทางโภชนาการด้วย ส่วนตลาดที่ผู้ส่งออกไทยไม่ควรมองข้ามคือ ตลาดประเทศเพื่อนบ้านซึ่งแนวโน้มการส่งออกขนมขบเคี้ยวจากข้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศคู่แข่งของไทย คือ ไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามการผลิตในไทยได้เปรียบในด้านแรงงาน รสชาติ และคุณภาพเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ
สำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีการส่งออกชะลอตัวอย่างต่อเนื่องคือ ใบเมี่ยงหรือแผ่นแป้ง แม้ว่าผู้ส่งออกของไทยยังคงกระจายการส่งออกครอบคลุมได้ถึง 57 ประเทศทั่วโลก แต่แนวโน้มการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจากเวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่า ทำให้สามารถส่งออกได้ในราคาที่ถูกกว่า นอกจากนี้ปริมาณการบริโภคใบเมี่ยงในประเทศเพิ่มขึ้นตามความนิยมในการบริโภคอาหารเวียดนาม ทำให้ปริมาณการผลิตไม่เพียงพอกับการส่งออก โดยในบางปียังต้องมีการนำเข้าเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ แหล่งนำเข้าของไทยคือ เวียดนาม และมาเลเซีย

ปัจจัยหนุน ปัจจัยพึงระวัง…กำหนดโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว
ปัจจัยหนุนในการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าว คือในปี2550 กระทรวงเกษตรฯ ตั้งเป้าที่จะผลักดันแผนยุทธศาสตร์ข้าวและสนับสนุนงานวิจัยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวทั้งระบบเพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายช่องทางการส่งออก ตลอดจนสร้างอำนาจต่อรองทางการค้าให้เกิดขึ้น โดยกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์จะทำงานร่วมกันเพื่อการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การผลิตและการแปรรูปข้าว เข้ากับแผนการตลาด จัดทำฐานข้อมูลข้าวทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยสร้างอำนาจต่อรองด้านราคาในเวทีการค้าโลกให้กับเกษตรกรไทยในอนาคต ปัจจุบันกรมการข้าว กระทรวงเกษตรฯเป็นหน่วยงานหลักในการระดมนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันจัดทำชุดโครงการวิจัยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าว โดยเบื้องต้นจะเน้นการวิจัยในส่วนของผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีมูลค่าสูง และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น น้ำมันรำข้าว เครื่องสำอาง อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการวิจัยทางสำนักงานวิจัยการเกษตร (สวก.) ได้จัดสรรไว้100 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการชดเชยค่าภาษีสินค้าส่งออกที่ผลิตในประเทศ กระทรวงการคลังได้ชดเชยค่าภาษีสำหรับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าส่งออกที่ผลิตในประเทศ บริษัทผู้ผลิตแป้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวได้สิทธิในการชดเชยภาษีที่แฝงในวัตถุดิบ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกและสารเคมี เป็นต้น ในอัตราร้อยละ 4.6 ของราคาส่งออก

สำหรับปัญหาในการตลาดคือ ปัญหาการส่งออกขนมขบเคี้ยวที่ทำจากข้าวคือ ภาษีนำเข้าของตลาดญี่ปุ่นอยู่ในเกณฑ์สูงถึงร้อยละ 35 อย่างไรก็ตามการเจรจาในเรื่องการขอลดภาษีนั้นเป็นประเด็นที่อ่อนไหว เนื่องจากเป็นการเปิดตลาดข้าวญี่ปุ่น ซึ่งมีผลกระทบทางการเมืองภายในประเทศ เพราะถือว่าเป็นการคุ้มครองเกษตรกรในประเทศ ปัญหาการกีดกันทางการค้าและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของบางประเทศ เช่น การกำหนดปริมาณโควตานำเข้า การอนุญาตนำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภท และมาตรการด้านสุขอนามัย ทำให้การส่งออกแป้งข้าวของไทยไม่ขยายตัวมากนัก แม้ว่าไทยจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกแป้งจากข้าวมากที่สุดก็ตาม การเปิดตลาดแป้งข้าวเจ้าและผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทยยังมีไม่มากนัก ประกอบกับค่านิยมการรับประทานอาหารของชาวต่างประเทศที่ยังไม่นิยมในข้าวและแป้งข้าวของไทยมากนัก ต้องอาศัยร้านอาหารไทยในต่างประเทศเป็นหลัก จึงทำให้ความแพร่หลายยังน้อยหากชาวต่างประเทศไม่เข้าร้านอาหารไทย นอกจากนี้ความหลากหลายในการใช้แป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียวในไทยยังมีไม่มากนัก จึงทำให้การส่งออกมักเป็นในรูปข้าวมากกว่าผลิตภัณฑ์จากข้าวที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า และในอนาคตหากเวียดนามสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแป้งได้จะได้เปรียบไทย เนื่องจากต้นทุนการผลิตข้าวของเวียดนามต่ำกว่าไทย

แนวโน้มการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวของไทยในอนาคตแล้วจะเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่มีโอกาสขยายตัวในอัตราสูง เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้เป็นอาหารในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้นตามอัตราการขยายตัวของผู้บริโภคประกอบกับความนิยมในตลาดต่างประเทศที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นทั้งจากคนเอเชียที่ไปทำงานในต่างทวีปและคนต่างประเทศที่หันมาบริโภคผลิตภัณฑ์จากข้าวมากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงควรจะให้ความสำคัญกับการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าว เนื่องจากมีความได้เปรียบในเชิงวัตถุดิบที่มีศักยภาพการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สามารถรองรับผลผลิตส่วนเกินได้อีกด้วย