ธุรกิจกองทุนรวมปี 2550…ได้รับผลกระทบจากหลากปัจจัยที่ยังไม่แน่นอนในปีนี้

ธุรกิจกองทุนรวมในปี 2549 ยังคงสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมทั่วไป (ไม่รวมกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินและกองทุนที่ระดมทุนจากต่างประเทศ) เท่ากับ 1,040,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.93 จาก ณ.สิ้นปี 2548 โดยมีจำนวนกองทุนเพิ่มขึ้น 132 กองทุน เป็น 716 กองทุน ทั้งนี้ กองทุนที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดในปีนี้ ได้แก่ กองทุนรวมหน่วยลงทุน โดยขยายตัวถึงร้อยละ 185.47 อันเป็นผลจากการที่มีการจัดตั้งกองทุนรวมที่มีการลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ขึ้นใหม่หลายกอง สืบเนื่องจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ขยายวงเงินในการลงทุนต่างประเทศให้กองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มเติม รองลงมา ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) โดยขยายตัวร้อยละ 134.39 จากการที่มีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 5 กอง และกองทุนรวมตราสารหนี้ ขยายตัวร้อยละ 63.6 โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องจากในปี 2548 โดยมีจำนวนกองทุนตราสารหนี้เพิ่มขึ้นถึง 136 กองทุนเป็น 404 กองทุน ณ.สิ้นปี 2549 ขณะที่ กองทุนรวมตราสารทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 3.8 จากการขยายตัวของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ส่วน กองทุนผสมเป็นกองทุนเพียงประเภทเดียวที่มีมูลค่าทรัพย์ทรัพย์สินสุทธิลดลงร้อยละ 6.6

สำหรับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั่วไปจากสิ้นปี 2549 จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 2.58 โดยกองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) กองทุนรวมตราสารทุน และกองทุนรวมหน่วยลงทุนยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.82 ร้อยละ 3.37 ร้อยละ 2.3 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมผสมปรับตัวลงร้อยละ 0.49

แนวโน้มของธุรกิจกองทุนรวมในปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า บรรยากาศการ
ลงทุนในตลาดทุนปีนี้ซึ่งยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ประกอบกับความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับปัจจัยทางการเมืองและนโยบายต่างๆของภาครัฐต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมา คงจะส่งผลต่อธุรกิจกองทุนรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่สภาพการแข่งขันของธุรกิจกองทุนรวมในปีนี้น่าจะมีความรุนแรงขึ้นจากในปีก่อนหน้า ทำให้คาดว่าธุรกิจกองทุนรวมอาจจะมีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงสู่ร้อยละ 20-30 จากในปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 34.9 โดยประเด็นสำคัญต่างๆที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจกองทุนรวม ประการแรก ได้แก่

ความเป็นไปได้ที่จะมีการผ่อนคลายมาตรการกันสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นของ ธปท. การที่มาตรการกันสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นร้อยละ 30 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้ยกเว้นให้กับการลงทุนในหน่วยลงทุนนั้น ทำให้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กระทบต่อการขยายตัวของธุรกิจกองทุนรวม ถึงแม้ว่าสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในกองทุนรวมของไทยโดยรวมจะอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักในปัจจุบัน โดยมาตรการดังกล่าวจะส่งผลต่อธุรกิจกองทุนรวมโดยอ้อม จากการที่บรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนของไทย ได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นที่ลดลงของนักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลซึ่งอาจจะกดดันให้มูลค่าหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง และมีผลต่อเนื่องไปยังมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั้งที่มีการจัดตั้งขึ้นก่อนหน้า และกระทบต่อความต้องการลงทุนในกองทุนที่จะออกใหม่ของนักลงทุนในระยะต่อไปได้ อีกทั้ง การออกมาตรการการกันสำรองเงินนำเข้าได้ส่งผลต่อแผนการออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กองใหม่ของ บลจ.หลายแห่ง และกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่จัดตั้งและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว เห็นได้จากมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลงนับจากวันที่ 18 ธันวาคม 2549 จนถึงปัจจุบัน

แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธปท.น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกประมาณร้อยละ 0.75 ในปีนี้จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.75 ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรให้ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ทำให้ความได้เปรียบในการออกกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นลดลงเมื่อเทียบกับในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาซึ่งอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่การที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำตั้งแต่ 3 เดือนถึง 24 เดือน ของธนาคารพาณิชย์คงจะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.75-1.0 ภายในปีนี้เช่นกัน น่าจะส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลงไปในอัตราที่ไม่มากนัก จากการเปรียบเทียบส่วนต่างโดยเฉลี่ยในปี 2549 ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอายุ 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี(หลังภาษี) ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.49 ร้อยละ 1.45 และร้อยละ1.28 กับส่วนต่าง ณ.สิ้นเดือน มกราคม 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.54 ร้อยละ 1.40 และร้อยละ 1.15 จะเห็นได้ว่า ส่วนต่างในช่วงอายุ 6 เดือนและ1 ปีที่แคบลงเป็นผลจากการคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยซึ่งอยู่ในช่วงขาลง ประกอบกับ ความต้องการลงทุนที่เริ่มมากขึ้นในตราสารหนี้ที่อายุยาวขึ้น ซึ่งได้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะกลางและระยะยาวมีการปรับตัวลดลงในอัตราที่มากกว่าพันธบัตรระยะสั้นนับตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วเป็นต้นมา เห็นได้จากการที่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเริ่มมีลักษณะที่ลาดลง (Inverted Yield Curve) แนวโน้มดังกล่าวจึงทำให้การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นในช่วงดังกล่าวยังคงมีความน่าสนใจ นอกจากนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การที่กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นยังคงเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ปลอดภัยและเป็นที่คุ้นเคยสำหรับผู้ลงทุนเมื่อเทียบกับช่องทางอื่น เช่น การลงทุนในตลาดหุ้น ทำให้คาดว่า บลจ.ต่างๆคงออกกองทุนตราสารหนี้ออกมาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าเมื่อเริ่มเข้าใกล้ช่วงกลางปีซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะใกล้เสร็จสิ้นแล้ว คงจะส่งผลให้ บลจ.หันมาออกกองทุนที่มีอายุยาวขึ้นในจำนวนมากขึ้น เพื่อนำเสนออัตราผลตอบแทนในระดับสูงขึ้นให้กับนักลงทุน

การจัดสรรวงเงินเพิ่มเติมในการลงทุนในต่างประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะมีจำนวนกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศจัดตั้งใหม่เพิ่มมากขึ้นในปีนี้ จากการจัดสรรวงเงินที่ยังคงเหลือที่ ก.ล.ต.จากในปีที่แล้วอีกประมาณ 807 ล้านดอลลาร์ฯ อีกทั้ง แนวโน้มของการให้อนุญาตผู้ลงทุนสถาบันไปลงทุนต่างประเทศโดยธปท.ที่เริ่มจะมีลักษณะผ่อนคลายมากขึ้นตามลำดับ ประกอบกับปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆภายในประเทศคงจะช่วยหนุนให้ บลจ.ต่างๆเสนอขายกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นในปีนี้ โดยชูจุดขายในเรื่องของการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับนักลงทุน และเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในประเทศเพียงอย่างเดียว

การครบกำหนดที่จะอนุญาตให้ตั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ขึ้นใหม่โดยที่ผู้ลงทุน
ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
โดยผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการ
ลงทุนในตราสารแห่งทุนในระยะยาวที่มีการจัดตั้งขึ้นและจำหน่ายหน่วยลงทุนครั้งแรกภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่ากับเงินที่ลงทุนในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินและไม่เกินปีละ 300,000 บาทของปีภาษี ส่งผลให้คาดว่าจากนี้ไปจนถึงก่อนช่วงกลางปี บลจ.ต่างๆน่าจะยังคงออกกองทุนรวมหุ้นระยะยาวมาเพิ่มเติมก่อนที่การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะหมดอายุลง

การที่คาดว่าจะมีจำนวนผู้แข่งขันรายใหม่เพิ่มขึ้นหลายรายในปีนี้ แม้ว่าการเเข่งขันของในการระดมเงินฝากจากผู้ลงทุนระหว่าง บลจ.กับธนาคารพาณิชย์อาจจะลดความรุนแรงลงในปีนี้เมื่อเทียบจากในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้า แต่คาดว่าการแข่งขันภายในตัวธุรกิจกองทุนรวมคงจะมีความรุนแรงมากขึ้นจากนี้ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากแผนการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆต้องพยายามปรับตัวโดยกระจายรายได้จากแหล่งอื่นๆเเทนที่จะพึ่งพารายได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลัก เช่น การจัดตั้ง บลจ.ของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น หากการผลักดันโครงสร้างใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์รูปเเบบใหม่ (Single license) มีผลบังคับใช้ จะเป็นการช่วยอำนวยให้การประกอบธุรกิจกองทุนรวมของ บล.เป็นไปโดยง่ายขึ้นเพราะไม่จำเป็นที่จะต้องจัดตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาใหม่เช่นในปัจจุบัน

การออกกองทุนที่มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง(Structured note) เพิ่มมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมานั้น บลจ.ต่างๆได้เริ่มที่จะทำการจัดตั้งกองทุนที่มีการลงทุนบางส่วนในตราสารอนุพันธ์หรือลงทุนใน Structured note มากขึ้นนับจากที่ตลาดอนุพันธ์ได้เปิดทำการซื้อขาย SET50 Index Futures โดยทาง ก.ล.ต.เองก็ได้มีส่วนในการช่วยสนับสนุนโดยการแก้ไขเกณฑ์และปรับสัดส่วนการลงทุนให้กองทุนรวมสามารถลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและ Structured note ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น แม้ว่า การลงทุนในอนุพันธ์จะเป็นเรื่องที่ยังใหม่สำหรับตลาดทุนไทย ซึ่งคงจะต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างความเข้าใจกับผู้ลงทุนทำให้การตอบสนองกับกองทุนที่ลงทุนในอนุพันธ์ที่ออกมายังคงไม่มากนัก แต่ในระยะต่อไปคาดว่าจะมีกองทุนในลักษณะดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นได้ตามลำดับ นอกจากนั้น การขยายตัวของตลาดอนุพันธ์ไทยซึ่งกำลังจะมีการออก SET50 Index Options ได้ในช่วงประมาณไตรมาส 3 ของปีนี้นั้น คงจะเป็นปัจจัยบวกอีกประการที่ช่วยหนุนการออกกองทุนรวมในรูปเเบบใหม่ๆ โดยในปัจจุบันมี บลจ.ที่ได้รับใบอนุญาตผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารวมทั้งสิ้น 9 แห่ง และคาดว่าจำนวน บลจ.ที่ได้รับใบอนุญาตจะเพิ่มมากขึ้นในปีนี้เช่นกัน

สรุปได้ว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนซึ่งยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ประกอบกับความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับปัจจัยทางการเมืองและนโยบายต่างๆของภาครัฐต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมา คงจะส่งผลต่อธุรกิจกองทุนรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่สภาพการแข่งขันของธุรกิจกองทุนรวมในปีนี้น่าจะมีความรุนแรงขึ้นจากในปีก่อน ทำให้คาดว่าธุรกิจกองทุนรวมอาจจะมีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงสู่ร้อยละ 20-30 จากร้อยละ 34.9 ในปีที่แล้ว โดยประเด็นสำคัญต่างๆที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจกองทุนรวม ประการแรก ได้แก่ ความเป็นไปได้ที่จะมีการผ่อนคลายมาตรการกันสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นของ ธปท. ทั้งนี้ การที่มาตรการกันสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นร้อยละ 30 ของธปท. ไม่ได้ยกเว้นให้กับการลงทุนในหน่วยลงทุนนั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กระทบต่อการขยายตัวของธุรกิจกองทุนรวม โดยการที่บรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนของไทย ได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นที่ลดลงของนักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลนั้น อาจจะกดดันให้มูลค่าหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง และมีผลต่อเนื่องไปยังมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั้งที่มีการจัดตั้งขึ้นก่อนหน้า และกระทบต่อความต้องการลงทุนในกองทุนที่จะออกใหม่ในระยะต่อไปได้ อีกทั้ง การออกมาตรการการกันสำรองเงินนำเข้าได้ส่งผลต่อแผนการออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กองใหม่ของ บลจ.หลายแห่ง และกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่จัดตั้งและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว

ประการต่อมา ได้แก่ แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธปท.น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกประมาณร้อยละ 0.75 ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน แต่การที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำตั้งแต่ 3 เดือนถึง 24 เดือน ของธนาคารพาณิชย์คงจะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.75-1.0 ภายในปีนี้เช่นกัน น่าจะส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลงไปในอัตราที่ไม่มากนัก ขณะที่มองว่า กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นยังคงเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ปลอดภัยและเป็นที่คุ้นเคยสำหรับผู้ลงทุนเมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ ทำให้คาดว่า บลจ.ต่างๆคงออกกองทุนตราสารหนี้ออกมาอย่างต่อเนื่องในปีนี้

การจัดสรรวงเงินเพิ่มเติมในการลงทุนในต่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะมีจำนวนกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศจัดตั้งใหม่เพิ่มมากขึ้นในปีนี้ สืบเนื่องจากการจัดสรรวงเงินที่ยังคงเหลือจากในปีที่แล้ว อีกทั้ง แนวโน้มของการให้อนุญาตผู้ลงทุนสถาบันไปลงทุนต่างประเทศโดยธปท.ที่เริ่มจะมีลักษณะผ่อนคลายมากขึ้นตามลำดับ ประกอบกับปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆภายในประเทศคงจะช่วยหนุนให้ บลจ.ต่างๆเสนอขายกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

การครบกำหนดที่จะอนุญาตให้ตั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ขึ้นใหม่โดยที่ผู้ลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 ส่งผลให้คาดว่าจากนี้ไปจนถึงก่อนช่วงกลางปี บลจ.ต่างๆน่าจะยังคงมีการออกกองทุนรวมหุ้นระยะยาวออกมาเพิ่มเติมก่อนที่การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะหมดอายุลง

การที่คาดว่าจะมีจำนวนผู้แข่งขันรายใหม่เพิ่มขึ้นหลายรายในปีนี้ คาดว่าการแข่งขันภายในตัวธุรกิจกองทุนรวมคงจะมีความรุนแรงมากขึ้นจากนี้ไปต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากแผนการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้บล.ต่างๆต้องพยายามปรับตัวโดยกระจายรายได้จากแหล่งอื่นๆเเทนที่จะพึ่งพาการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลัก เช่น การจัดตั้ง บลจ.ของตนเอง

การออกกองทุนที่มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือ Structured note เพิ่มมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมานั้น ทาง ก.ล.ต.ได้มีส่วนในการช่วยสนับสนุนโดยการแก้ไขเกณฑ์และปรับสัดส่วนการลงทุนให้กองทุนรวมสามารถลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและ Structured note ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นภายใต้เงื่อนไขตามที่กำหนด นอกจากนั้น การขยายตัวของตลาดอนุพันธ์ไทยซึ่งกำลังจะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ SET50 Index Options ในช่วงประมาณไตรมาส 3 ของปีนี้ คงจะเป็นปัจจัยบวกอีกประการที่ช่วยหนุนการออกกองทุนรวมในรูปเเบบใหม่ๆ โดยในปัจจุบันมี บลจ.ที่ได้รับใบอนุญาตผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารวมทั้งสิ้น 9 แห่ง และคาดว่าจำนวน บลจ.ที่ได้รับใบอนุญาตจะเพิ่มมากขึ้นในปีนี้เช่นกัน