นิทรรศการ โดย "กลุ่มเธอ ครั้งที่ ๓"

ถ้าจะกล่าวถึงศิลปินกลุ่ม ที่ทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาร่วมสิบปีกว่า น้อยคนนักจะคาดถึงว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเป็น ผู้หญิง เพราะแม้ว่าในปัจจุบัน เราจะกล่าวว่าสิทธิต่างๆนั้นเท่าเทียมกันแล้ว แต่แท้จริงเราก็ยังรู้สึกอยู่ลึกๆอยู่นั้นเองว่าบางสิ่งบางอย่าง หรืองานบางอาชีพถูกจำเพาะเจาะจงอยู่กับบางเพศเท่านั้น แต่ผลงานศิลปะของทั้ง 6 ท่านที่เราจะแนะนำให้รู้จักนี้ จะนำท่านก้าวเข้าสู่โลกศิลปะที่กำแพงแห่งทิฐิแห่งเพศถูกพังทลายลง

“กลุ่มเธอ” เป็นกลุ่มศิลปินหญิงที่รวมตัวกันเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ แสดงผลงานครั้งที่ ๑ ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ครั้งที่ ๒ ที่หอศิลป์ตาดู ในปี พ.ศ.2542 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ ที่ฮอฟอาร์ท แกลลอรี่ นับเนื่องมาถึงวันนี้ รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา ๑๑ ปี การแสดงของกลุ่มมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้กันและกันพัฒนางานศิลปะอย่างต่อเนื่อง และการวมตัวครั้งนี้เป็นการรวมตัวเพื่อแสดงผลงานของศิลปินโดยอิสระ ปราศจากหัวข้อ และปราศจากแนวความคิดที่มักจะพบว่าเกิดขึ้นอยู่เสมอ เมื่อเห็นการรวมตัวของผู้หญิงในการริเริ่มทำสิ่งที่มักจะถูกกรอบจำกัดให้อยู่แค่โลกของผู้ชาย โดยเฉพาะงานศิลปะ แต่กลุ่มเธอนั้น ไม่ใช่กลุ่มศิลปินหญิงที่ออกมาทำงานศิลปะเพื่อต่อต้านหรือต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี เธออยากจะบอกเพียง ว่า

เรา (ผู้หญิง) สามารถทำงานศิลปะเพื่อศิลปะ หรือเพื่อแสดงออกถึงความคิดความสามารถ และมุมมองของเธอได้ในวิธีการ หรือรูปแบบเฉกเช่นเดียวกับที่มนุษย์ผู้ชายทำงานศิลปะ

และในบางครั้งบางคราว เราก็สามารถทำงานที่แรงและลึก ด้วยสิ่งที่ซ่อนอยู่ในศักยภาพของเพศได้อย่างน่าอัศจรรย์

กลุ่มเธอมีสมาชิกดังต่อไปนี้
ปิยนุช โภชนพันธ์ สนใจความสัมพันธ์ระหว่างโลกดิจิตอลและโลกธรรมชาติ เธอเลือกใช้รูปร่าง ของดอกไม้และใบไม้ที่แสดงให้เห็นถึงการมีชีวิต หลังจากนั้นเธอใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เปลี่ยน สีของดอกไม้และใบไม้ให้เป็นสีดำ หากดูเผินๆ รูปร่างที่เกิดขึ้นใหม่มีลักษณะคล้ายงานกราฟฟิกดีไซน์ หากดูอีกที เธอกำลังมอบความตายแบบดิจิตอลให้กับสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ดิจิตอลมอบความตายแบบ ฉับพลัน เพียงแค่กดปุ่ม เป็นความตายในรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากการเน่าเปื่อยเสื่อมสลายไปตาม ธรรมชาติ

ดวงหทัย พงศ์ประสิทธิ์ สนใจภาพที่ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพของแสงและเงาที่มีอยู่ใน ธรรมชาติ ภาพเหล่านี้มีจังหวะและการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับจังหวะของการหายใจ เธอบันทึก ภาพเหล่านี้ด้วยกล้องขนาดจิ๋วที่อยู่ในมือถือ คุณภาพของภาพอาจจะไม่ชัดเจน แต่แสดงให้เห็นถึงจุด เล็กๆจุดหนึ่งที่คล้ายกับสี่งมีชีวิต เธอคอยเฝ้าดู สังเกต ภาพที่มีความเคลื่อนไหวเหล่านี้ และในขณะ เดียวกันเธอก็ไม่สามารถควบคุมและสัมผัสมันได้

อรอนงค์ กลิ่นศิริ สนใจวัฒนธรรมข้างถนนและความเป็น “ชายขอบ” ของมัน เธอสนใจกราฟิตี้ที่ ปรากฏอยู่ใต้สะพานลอย และในอุโมงค์ทั่วกรุงเทพฯ ศิลปินกราฟิตี้เหล่านี้ต้องการแสดงออก แต่ก็ไม่ต้องการเปิดเผยตัว เรียกว่าทั้งตัวศิลปินและผลงานมีความเป็นกบฏ ผลงานของเธอมีองค์ ประกอบสองส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นความร่วมมือกับกลุ่มกราฟิตี้ LSD และส่วนที่สอง เธอใช้แนวปฏิบัติ ที่คล้ายคลึงกับศิลปินนิรนามเหล่านี้ในการสร้างผลงานสื่อผสม โปรดติดตามว่าทั้งเธอและกลุ่ม LSD จะร่วมมือกันสร้างความเป็นกบฏในแกลลอรี่ได้อย่างไร

วัชราพร ศรีสุข สนใจการให้คำนิยามใหม่กับ “ที่ว่าง” ในงานจิตรกรรมสื่อผสมของเธอ ที่ว่างที่ปรากฏ ในภาพมีความไม่ตายตัว และสามารถแปรเปลี่ยนได้อยู่ตลอดเวลา บางครั้งดูเป็นสองมิติ บางครั้งก็ ดูให้เป็นสามมิติได้ นอกจากนี้ที่ว่างที่เคยทึบตันก็ดูโปร่งโล่ง ในทางตรงข้าม ที่ว่างที่เคยโปร่งก็กลับ มีคุณสมบัติที่ทึบตัน เธอสร้างที่ว่างให้มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้เพื่อหยอกล้อกับวิธีการรับรู้เรื่อง “ที่ว่าง” ในแบบเดิมๆของคนดู

พรทิพย์ ไชยพิมานศรี สนใจใช้ผีเสื้อเพื่อเป็นตัวแทนบอกเล่าถึงความรู้สึกที่ไม่จีรัง ความรู้สึกดังกล่าว เธออธิบายว่ามันพองได้ มีขนาดใหญ่ ไม่อยู่กับที่ เบา ล่องลอย และ หมดไปอย่างรวดเร็ว เธอเห็นว่า การให้คุณค่ากับความรู้สึกที่ดูเหมือนจะเล็กน้อย ผ่านเข้ามาและลอยจากไปคล้ายผีเสื้อ เป็นสิ่งที่ มีคุณค่าสำหรับเจ้าของ ที่สำคัญความรู้สึกแบบนี้ยืนยันการมีอยู่จริงของตัวเธอเอง

เตยงาม คุปตะบุตร ได้สำรวจและติดตามการพัฒนาการของเพื่อนศิลปินหญิงตั้งแต่เริ่มต้น เธอค้นพบว่าการพบปะเป็นประจำสม่ำเสมอช่วยให้เกิดการพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์เป็น
ไปอย่างต่อเนื่อง และ ส่งเสริมความสัมพันธ์ของศิลปินภายในกลุ่ม เธอได้ผลิตผลงานเขียนในแนว สร้างสรรค์ รายได้จากผลงานเขียนนี้จะมอบให้แก่องค์กรการกุศลเพื่อช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงต่อไป

*** นิทรรศการจะจัดแสดงตั้งแต่ วันที่ 5 เมษายน ถึง 2 พฤษภาคม 2550 ***

ฮอฟ อาร์ท เปิดทำการทุกวันอังคาร – เสาร์
ตั้งแต่10.30 – 18.00 น.