IRPC โชว์กำไรกว่า 6.8 พันล้านบาท เตรียมจ่ายเงินปันผล 0.12 บาทต่อหุ้น

ไออาร์พีซี แสดงกำไรปี 49 กว่า 6.8 พันล้านบาท เตรียมเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นจ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้น 0.12 บาท คิดเป็น 36.4% ของกำไรสุทธิ พร้อมเดินหน้าปรับปรุงการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการร่วมกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. วางแผนโครงการระยะยาว 5 ปี เป็นเงินลงทุนกว่า 1,300 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ

ดร.ปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) ผู้นำในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการกลั่นครบวงจรของประเทศ เปิดเผยถึงผลประกอบการในปี 2549 ว่า บริษัทฯ มีรายได้ 209,451 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.74% มีต้นทุนขาย 182,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.75% มีกำไรสุทธิ 6,823 ล้านบาท ลดลง 88.98%

สาเหตุของผลกำไรสุทธิที่ลดลง เนื่องจาก ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขาย และการบริหารเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อไตรมาส 4/2549 บริษัทฯ ได้ปิดโรงงานเพื่อซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ประมาณ 35 วัน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,020 ล้านบาท นอกจากนั้น ในปี 2548 บริษัทฯ ได้บันทึกกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 35,558.89 ล้านบาท กำไรจากการขายเงินลงทุนระยะยาวจำนวน 18,206.67 ล้านบาท เป็นผลให้ปี 2548 มีกำไรจากรายการพิเศษ 53,765.56 ล้านบาท ขณะที่ปี 2549 ไม่มีรายการดังกล่าว

“ไออาร์พีซีไม่มีการจ่ายปันผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นมานานแล้ว ดังนั้น แม้ว่าผลประกอบการปีที่ผ่านมาลดลง แต่บริษัทฯ ยังคงพิจารณาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยบริษัทฯ จะเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2550 จ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.12 บาทต่อหุ้น คิดเป็นร้อยละ 36.4 ของกำไรสุทธิหลังหักสำรองตามกฎหมาย”ดร.ปิติกล่าว

ดร.ปิติ กล่าวถึง โครงการลงทุนของบริษัทฯ ในปีนี้ว่า บริษัทฯ จะแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การปรับปรุงการดำเนินงาน และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพื่อการผลิต โดยในส่วนของการปรับปรุงการดำเนินงาน บริษัทฯ จะดำเนินการลดระดับน้ำมัน และผลิตภัณฑ์สำรอง เพื่อลด Working Capital เพื่อสามารถนำถังน้ำมันออกมาให้เช่าได้ โดยจะลดระดับน้ำมันดิบสำรองลง ให้เท่ากับที่ระดับกฎหมายกำหนด ที่ 11 วัน หรือ 2 ล้านบาร์เรล จากเดิม 15 วัน หรือ 2.7 ล้านบาร์เรล ณ ไตรมาส 3/2549 ซึ่งขณะนี้ลดปริมาณลงเหลือ 13 วัน เตรียมรวมศูนย์ซ่อมบำรุงวิศวกรรม และการขายสินทรัพย์และเงินลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของบริษัท รวมถึงการ ปรับโครงสร้างการถือหุ้น ในบริษัทย่อย เพื่อให้โครงสร้างองค์กรมีความชัดเจนมากขึ้น

การร่วมมือกับบริษัทในเครือ ปตท. เพื่อขยายการผลิต โดยจะเพิ่มทางเลือกในการขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ผ่าน PTTPM เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง ลดต้นทุนทางการตลาด และค่าขนส่ง ทำการขายผลิตภัณฑ์ผ่านทางกลุ่ม ปตท. ดำเนินการ Swap ผลิตภัณฑ์ กับกลุ่ม ปตท. เพื่อประหยัดค่าบริหารจัดการขนส่ง (Logistic) รวมถึงการให้สัญญาซื้อขายวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ระยะยาวกับกลุ่ม ปตท. อยู่ระหว่างขั้นตอนการร่างสัญญา

ในส่วนของการลงุทนระยะยาว ในช่วงปี 2550 ถึงปี 2554 แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรก แบ่งเป็น 4 โครงการ

1. โครงการ CD-1 เป็นการขยายการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ ( CD-1 Unit) เพื่อผลิต HDPE ชนิดพิเศษสำหรับงานผลิตท่อที่ทนแรงดันสูงและสารเคมีจาก 16,000 ตัน/ปี เป็น 56,000 ตัน/ปี คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ในปี 2552

2. โครงการ ABS เป็นการขยายกำกลังการผลิต ( De – Bottleneck) โรงผลิตเม็ดพลาสติก ABS เพื่อให้มีความประหยัดต่อขนาด และเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ABS ของบริษัทฯ โดยการผลิตเม็ดพลาสติกสี ( CCM grade ) ที่มีมาร์จิ้นสูงกว่า ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทแตกต่างจากคู่แข่ง โดยเพิ่มกำลังการผลิตจาก 9,600 ตัน/ปี เป็น 117,000 ตัน/ปี ซึ่งประกอบด้วยเม็ดพลาสติกสี 30,000 ตัน/ปี

3. โรงงานผลิตไฟฟ้าขนาด 200 MW โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทดแทนการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และลดค่าใช้จ่ายจากการผลิตไอน้ำที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น

4. ปรับปรุงภูมิทัศน์และความปลอดภัย โดยใช้เงินลงทุนรวม 261 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ คาดว่าโครงการ CD-1 และ ABS จะเสร็จสิ้นภายในปี 2551 ส่วน Power Plant เสร็จสิ้นภายในปี 2553 และดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ และความปลอดภัยบริเวณโรงงาน ในระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปลายปี 2550 ถึงปลายปี 2553 เพื่อปรับปรุงระบบความปลอดภัย รวมทั้งสภาพแวดล้อมของโรงงาน (Safety & Security) ให้ดียิ่งขึ้น

การลงทุนระยะที่ 2 เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ใช้ในการผลิต เพื่อให้สามารถผลิตเม็ดพลาสติกที่มีคุณภาพราคาสูงขึ้น ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1,076 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2011 ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่

1. Petroleum Upgrade (Euro 4) มูลค่า 360 ล้านเหรียญฯ
2. Residue Upgrade มูลค่า 620 ล้านเหรียญฯ
3. Propylene Booster มูลค่า 50 ล้านเหรียญฯ
4. ท่าเรือน้ำลึก มูลค่า 40 ล้านเหรียญฯ

“บริษัทฯ ยังมีโครงการอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการวางแผน ได้แก่ Common Stack 24 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และอาคารสำนักงานใหม่ 12 ล้านเหรียญฯ รวมเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,373 ล้านเหรียญฯ และในระยะยาว บริษัทฯ มีโครงการร่วมกับไทยออยล์ หรือผู้ร่วมทุนอื่น สร้างโรงกลั่น Petrochemical Complex เพิ่มเติม รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศ เช่น ประเทศพม่า หรือ เวียดนาม หากมีโอกาส” ดร.ปิติ กล่าว