สกว. จับมือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรมทั้งเรื่องต้นทุนการผลิต คุณภาพสินค้า และกระบวนการผลิต โดยปี 2549 ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 179 รายและคาดว่าในปี 2550 จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 850 ราย
ศ. ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวในงานแถลงข่าว สกว.จับมือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสร้างกำลังคนรุ่นใหม่ แก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรม ว่า สกว. มองว่า จะทำอย่างไรที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ให้กับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการประหยัดต้นทุนคุณภาพสินค้า เพราะหากทำได้สำเร็จ จะทำให้สินค้าอุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ แต่การที่ภาคอุตสาหกรรมจะสร้างคุณภาพสินค้าที่ดี จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรระดับกลาง (ปริญญาตรี-โท) ตรงนี้จึงมองไปที่การสร้างสะพานเชื่อมระหว่างภาคอุตสาหกรรม กับสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนากำลังคนสำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างงานวิจัย หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ
สกว. มีโครงการให้ทุนวิจัยในระดับปริญญาตรี หรือ IRPUS ( Industrial and Research Projects for Undergraduate Students) เป็นโครงการที่สนับสนุนนักศึกษาระดับปริญญาตรีให้มีความพร้อมเป็นนักวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการผนวกการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาเข้ากับการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในอุตสาหกรรม โดยให้กระบวนการวิจัยมีความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด โครงการนี้มีความร่วมมือแบบไตรภาคี ได้แก่ สกว. ผู้ประกอบการ และมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ สกว. ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยบัณฑิตระดับปริญญาตรี ปีละ 500-600 คน หรือประมาณ 250 ทุน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงงานวิจัย 179 ราย คาดว่าปี 2550 จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงงานวิจัย850 ราย เพราะสกว. ได้ขยายทุนเป็น 850 ทุน โดยคาดว่า จะมีนักศึกษาเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 2,200 คน
รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า สกว. จะนำโครงการIRPUS เข้าไปในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่ ใช้วัตถุดิบที่สามารถสรรหา หรือผลิตขึ้นเองในประเทศไทย เพียงแต่ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนี้ อาจจะขาดแคลนกำลังคน ทั้งนี้หากผู้ประกอบการ และมหาวิทยาลัยใดที่สนใจรายละเอียดและประสงค์สมัครเข้าโครงการIRPUS สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.irpus.org
สำหรับโครงงานวิจัยที่นำมาเสนอในงานแถลงข่าวครั้งนี้ ได้แก่
โครงงานวิจัย: การศึกษาหาสัดส่วนที่เหมาะสมของเม็ดฉีดใหม่ เป็นกระบวนการขึ้นรูปชิ้นงานโลหะโดยใช้วิธีการฉีดเม็ดฉีด ซึ่งมีส่วนผสมของผงโลหะและพลาสติกเข้าไปในแม่แบบ ข้อได้เปรียบคือ สามารถผลิตชิ้นงานโลหะที่มีขนาดเล็ก และรูปร่างซับซ้อนได้ โครงการวิจัยนี้มีบริษัท พี พี เอ็ม ซี (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมโครงการ มี รศ.ดร.ศุภชัย สุรพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และดร. อัญชลี มโนนุกุล ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เป็นนักวิจัย
โครงงานวิจัย: การพัฒนาแผ่นอะคริลิคใส (High Impact Acrylic ) ซึ่งเป็นการปรับปรุงคุณสมบัติการทนแรงกระแทกของแผ่นสไตรีน-เมทิลเมทาคริเลตโคพอลิเมอร์ด้วยยางธรรมชาติโดยกระบวนการหล่อ ซึ่งอยู่ในกลุ่มพลาสติกอะคริลิคทนแรงกระแทกสูง เกิดจากความต้องการของลูกค้าที่ต้องการหน้าหมวกกันน็อกที่ทนแรงกระแทก, เสื้อเกราะกันกระสุน, โล่ปราบจลาจล, การ์ดป้องกันภัยต่าง ๆ , อ่างอาบน้ำ เป็นต้น โครงการวิจัยนี้มีบริษัท แพนเอเชียอุตสาหกรรม จำกัด เข้าร่วมโครงการ มี ดร. กิติกร จามรดุสิต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นนักวิจัย
โครงงานวิจัย: การใช้ประโยชน์จากกากข้าวโพด และกากแครอทในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเจรมควัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลทูน่าเชียงรสกระเพรา และการยืดอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์บะหมี่สด และการทำแห้ง มี ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหธนพล เข้าร่วมโครงการ และมี อ.ชุติปภา สุวรรณกนิษฐ์ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต เป็นนักวิจัย
ด้านนายประพัฒน์ จงศักดิ์สวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท พี พี เอ็ม ซี (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทุนโครงงานอุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี (IRPUS) กล่าวว่า โครงการIRPUS สามารถตอบโจทย์การทำงานในกระบวนการผลิตชิ้นงานของบริษัทฯได้มาก โดยเฉพาะกระบวนการผลิตขึ้นรูปชิ้นงานโลหะโดยใช้วิธีการฉีดเม็ดฉีด ซึ่งมีส่วนผสมของผงโลหะและพลาสติกเข้าไปในแม่แบบ ทำให้งานที่ออกมามีความเที่ยงตรง และมีความรวดเร็วในการทำงาน ทำให้เกิดข้อได้เปรียบคือ สามารถผลิตชิ้นงานโลหะที่มีขนาดเล็ก และรูปร่างซับซ้อนได้ดี ซึ่งลดต้นทุนการผลิตได้ 30-40% ทำให้บริษัทพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด และมีขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงการตลาดได้มากขึ้น