ความต้องการปุ๋ยอินทรีย์พุ่ง : จากกระแสนิยมสินค้าเกษตรอินทรีย์

แนวโน้มความต้องการปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เติบโตอย่างรวดเร็วตามการเติบโตของความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ ท่ามกลางกระแสการหันมาบริโภคสินค้าเกษตรที่มีการผลิตอิงธรรมชาติ หรือสินค้าอาหารที่ปลอดจากสารเคมีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน สำหรับในประเทศไทยความต้องการปุ๋ยอินทรีย์ยังมีมากกว่าปริมาณที่ผลิตได้ ส่งผลให้ในปัจจุบันไทยต้องมีการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งน่าจะมีปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพียงพอ ดังนั้นแนวนโยบายที่ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในระดับไร่นา และส่งเสริมภาคเอกชนในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าแล้ว ยังสามารถช่วยลดปริมาณนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตสินค้าเกษตร และเป็นการส่งเสริมนโยบายการขยายการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยอีกด้วย ในอนาคตไทยน่าจะสามารถก้าวขึ้นไปเป็นประเทศผู้นำในการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์และสินค้าเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคนี้ได้อีกด้วย

ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปุ๋ยที่ได้จากอินทรีย์สารซึ่งผลิตขึ้นโดยแยกประเภทวัตถุดิบที่นำมาผลิตดังนี้

-ปุ๋ยคอก แหล่งวัตถุดิบสำคัญคือ มูลสัตว์ ปุ๋ยคอก ที่สำคัญได้แก่ มูลหมู มูลเป็ด มูลไก่ ฯลฯ ปุ๋ยคอกนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ในสวนผักและสวนผลไม้ ปุ๋ยคอกโดยทั่วไปแล้วถ้าคิดราคาต่อหน่วยธาตุอาหารพืชจะมีราคาแพงกว่าปุ๋ยเคมี แต่ปุ๋ยคอกช่วยปรับปรุงดินให้โปร่งและร่วนซุย ทำให้การเตรียมดินง่าย การตั้งตัวของต้นกล้าเร็วทำให้มีโอกาสรอดได้มากขึ้น

-ปุ๋ยหมัก แบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ ปุ๋ยหมักในไร่นาที่ได้จากการหมักเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในไร่นา เช่น ฟางข้าว ใบไม้ เป็นต้น ปุ๋ยหมักเทศบาลได้จากการนำขยะประเภทเศษพืช เศษอาหารเข้าโรงหมักจนกลายเป็นปุ๋ย และปุ๋ยหมักอุตสาหกรรมซึ่งได้จากการหมักวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร และโรงงานผลิตสุรา

-ปุ๋ยพืชสด เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการปลูกพืชบำรุงดิน ได้แก่ พืชตระกูลถั่วต่างๆ แล้วทำการไถกลบในช่วงพืชเจริญเติบโตมากที่สุด ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังออกดอก พืชเหล่านี้ก็ได้แก่ ถั่วพุ่ม ถั่วเขียว ถั่วลาย ถั่วขอ ถั่วแปบ โสน เป็นต้น

-ปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยน้ำชีวภาพ เป็นปุ๋ยหรือวัสดุที่มีเชื้อจุลินทรีย์ รวมถึงหัวเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้พืชได้รับธาตุอาหารที่ต้องการ ช่วยปรับปรุงดินทางชีวภาพ ทางกายภาพ และทางชีวเคมี ชนิดของเชื้อจุลินทรีย์ หมายถึง กลุ่มหรือสกุลของจุลินทรีย์เป็นภาษาทางวิทยาศาสตร์ของจุลินทรีย์ เช่น ไรโซเบียม เป็นต้น ส่วนหัวเชื้อจุลินทรีย์หมายถึงจุลินทรีย์ที่มีจำนวนเซลล์ต่อหน่วยสูงที่ถูกเพาะเลี้ยงโดยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ สำหรับผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปัจจุบันปุ๋ยชีวภาพมีหลายชนิดสามารถแบ่งแยกได้ตามชนิดของเชื้อจุลินทรีย์หรือตามประเภทของธาตุอาหารที่พืชสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้ โดยเฉพาะธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปตัสเซียม

ปัจจุบันประเทศไทยมีวัตถุดิบเพียงพอที่จะทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แต่การผลิตเพื่อทำการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์นั้นยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นใช้เองในระดับไร่นา สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ที่มีการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ที่สำคัญได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งในปัจจุบันมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการเพาะปลูกและการส่งออกมากยิ่งขึ้น จำนวนโรงงานที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่จดทะเบียนไว้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมมีจำนวน 152 โรงงาน เงินลงทุนทั้งหมด 2,018 ล้านบาท คาดว่ามีปริมาณการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศประมาณปีละ 100,000 ตัน ซึ่งภาคกลางมีโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์มากที่สุดจำนวน 70 แห่ง รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 36 แห่ง และภาคเหนือ 22 แห่ง โดยส่วนมากโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์นั้นจะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้และเป็นพื้นที่ที่มีวัตถุดิบในการผลิต โดยเฉพาะซากพืชและมูลสัตว์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ

การประเมินปริมาณการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศนั้นทำได้ยาก เนื่องจากเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองได้ จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรพบว่าเกษตรกรใช้จ่ายเงินสดในการซื้อปุ๋ยอินทรีย์โดยเฉลี่ยประมาณ 250 บาท/ครัวเรือน/ปี โดยซื้อปุ๋ยคอกมากที่สุด และคาดว่าปริมาณความต้องการปุ๋ยอินทรีย์ของครัวเรือนเกษตรไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากการที่กระทรวงเกษตรฯมีโครงการรณรงค์การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร โดยการสำรวจในเบื้องต้นพบว่าเกษตรกรมีความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 543,807 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 13.6 ของความต้องการใช้ปุ๋ยทั้งหมดของเกษตรกร ส่วนราคาจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์นั้นจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของปุ๋ยและระยะทางในการขนส่ง โดยปัจจุบันยังไม่มีการเก็บข้อมูลราคาปุ๋ยอินทรีย์อย่างเป็นระบบเหมือนกับปุ๋ยเคมีที่มีการเก็บข้อมูลไว้อย่างครบถ้วนในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิตทางด้านการเกษตร

ปัจจุบันประเทศไทยมีทั้งการส่งออกและนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ ดังนี้

-การส่งออก ในปี 2549 ไทยส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ 4,842.26 ตัน มูลค่า 37.93 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2548 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.2 และ 32.0 โดยแยกเป็นการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ผสมสัดส่วนร้อยละ 79.4 ของปริมาณการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหมด รองลงมาคือปุ๋ยอินทรีย์จากสัตว์ร้อยละ 19.2 และปุ๋ยอินทรีย์จากพืชร้อยละ 1.4

ประเด็นที่น่าสนใจ คือเมื่อพิจารณาการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ในปี 2548 ทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงอย่างมาก หลังจากในช่วงปี 2544-2547 การส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาภัยแล้งทำให้ความต้องการปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศต่างๆลดลง กล่าวคือ ในปี 2548 ปริมาณการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์เท่ากับ 3,479.11 ตัน มูลค่า 28.74 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2547 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 57.1 และ 82.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาแยกประเภทปุ๋ยอินทรีย์แล้วจะพบว่า การส่งออกที่ลดลงนั้นเป็นปุ๋ยอินทรีย์จากสัตว์(เช่นมูลสัตว์) ในขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ผสมนั้นการส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2544-2549 กล่าวคือ การส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ผสมในปี 2549 เท่ากับ 3,844.04 ตัน มูลค่า 29.87 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2548 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2 และ 15.7 โดยตลาดหลักคือ ปากีสถานสัดส่วนตลาดร้อยละ 31.4 รองลงมาคือ ญี่ปุ่นร้อยละ 10.6 อิตาลีร้อยละ 10.2 และพม่าร้อยละ 8.0 สำหรับตลาดส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ผสมที่น่าสนใจคือ มาเลเซีย มัลดีฟ อินเดียและสเปน

ปัจจุบันการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์นั้นยังมีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะชนิดของวัตถุดิบที่นำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์อาจมีปัญหาในด้านสุขอนามัย ทำให้ประเทศผู้นำเข้าบางประเทศเข้มงวดในการตรวจสอบ รวมทั้งน้ำหนักของปุ๋ยอินทรีย์ที่จัดว่าเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งทำให้ไม่สะดวกในการขนส่ง

-การนำเข้า ในปี 2549 ไทยนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ 2,039.84 ตัน มูลค่า 15.37 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2548 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 70.7 และ 15.8 โดยแยกเป็นการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์จากพืชร้อยละ 51.2 ของปริมาณการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหมด ซึ่งเกือบทั้งหมดนำเข้าจากจีน ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ที่มีการนำเข้ารองลงมาคือ ปุ๋ยอินทรีย์จากสัตว์ร้อยละ 29.9 แหล่งนำเข้าสำคัญคือ อิตาลีมีสัดส่วนร้อยละ 64.0 และจีนมีสัดส่วนร้อยละ 23.2 ส่วนแหล่งนำเข้าอื่นๆได้แก่ เดนมาร์ก สหรัฐฯ แอฟริกาใต้และพม่า และปุ๋ยอินทรีย์ผสมร้อยละ 19.9 แหล่งนำเข้าสำคัญคือ ลาวมีสัดส่วนร้อยละ 62.4 รองลงมาคือ ไต้หวันร้อยละ 20.6 สิงคโปร์ร้อยละ 9.0 และญี่ปุ่นร้อยละ 8.0

การนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ลดลงในช่วงปี 2546-2547 เนื่องจากความต้องการปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศลดลง รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดในปศุสัตว์ไม่ว่าจะเป็นปัญหาไข้หวัดนกและโรควัวบ้า ทำให้ปริมาณการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์จากสัตว์ลดลงอย่างมากในช่วงปี 2546-2547 กล่าวคือ ในปี 2546 ปริมาณการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์จากสัตว์เท่ากับ 1,589.44 ตัน มูลค่า 10.55 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2545 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 42.5 และ 43.6 ตามลำดับ ส่วนในปี 2547 ปริมาณการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์จากสัตว์เท่ากับ 72.78 ตัน มูลค่า 2.57 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2546 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 95.4 และ 45.6 ตามลำดับ

โอกาสของปุ๋ยอินทรีย์…กระแสเกษตรอินทรีย์เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ
ในปัจจุบันกระแสการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์และสินค้าเกษตรที่มีการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมส่งผลให้ความต้องการปุ๋ยอินทรีย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามความต้องการปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมากถ้าทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของความต้องการปุ๋ยอินทรีย์ ดังนี้
1.ปริมาณการใช้ปุ๋ยอินทรีย์อยู่ในปริมาณต่ำ เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์มีธาตุอาหารค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบกับปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เท่ากัน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้ธาตุอาหารเพียงพอและสมดุลสำหรับพืชหรือเพื่อทดแทนปุ๋ยเคมีจึงต้องใช้ในปริมาณมาก ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวรัฐบาลได้ดำเนินการอบรมและเผยแพร่ความรู้เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นใช้เองจากวัสดุในไร่นา รวมทั้งเลือกชนิดของปุ๋ยอินทรีย์ที่จะใช้ให้เหมาะสมกับพืชและดินในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้รัฐบาลควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เป็นการค้าและจำหน่ายในประเทศในราคาที่เป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปรับปรุงบำรุงดินได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยในด้านสิ่งแวดล้อมในการนำเอาวัสดุที่เหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งมีการติดตามรายงานราคาจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์แต่ละประเภททั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นราคาอ้างอิงและยังเป็นการควบคุมราคาจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์อีกด้วย

2.การควบคุมมาตรฐานของปุ๋ยอินทรีย์ ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์วางจำหน่ายในท้องตลาดมากมายในปัจจุบัน มีทั้งแบบเม็ด ผงและน้ำ ซึ่งพบว่าส่วนหนึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งมีคุณภาพต่ำ ทั้งปริมาณอินทรียวัตถุ ปริมาณธาตุอาหารหลัก เหตุผลที่ทำให้มีการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ในท้องตลาดมาก เพราะการขายปุ๋ยอินทรีย์จะมีกำไรต่อหน่วยสูงกว่าการขายปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่น้ำมันมีราคาแพง เกษตรกรที่ซื้อปุ๋ยอินทรีย์เหล่านี้หรือปุ๋ยที่โฆษณาว่าเป็นปุ๋ยธรรมชาติต่างๆ จะไม่ทราบถึงความคุ้มค่าของราคากับหน่วยธาตุอาหารพืชในปุ๋ยอินทรีย์ หรือแม้กระทั่งประโยชน์ที่จะได้จากปุ๋ยอินทรีย์ที่ซื้อมาใช้ ปุ๋ยอินทรีย์เหล่านี้จะมีราคาใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปุ๋ยเคมีเล็กน้อย แต่จะมีคุณสมบัติในเรื่องปริมาณธาตุอาหารต่ำกว่าหรือน้อยกว่าปุ๋ยเคมีมาก แม้ว่าจำนวนชนิดของธาตุอาหารจะมีมากกว่าในปุ๋ยเคมี ดังนี้ เพื่อเป็นการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของปุ๋ยอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตรจึงออกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง “ ประกาศมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์กรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2548” ประกาศฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ 2 เรื่องคือ เพื่อควบคุมมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์และเพื่อไม่ให้พ่อค้าปุ๋ยอินทรีย์เอารัดเอาเปรียบเกษตรกร

บทสรุป
ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำในการผลิตและการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์ในภูมิภาคนี้ได้ ถ้าหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการขยายตัวของปุ๋ยอินทรีย์ เนื่องจากไทยมีปัจจัยหนุนจากปริมาณและความหลากหลายของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แม้ว่าในปัจจุบันการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของไทยยังไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์บางส่วน แต่ไทยก็มีการส่งออกปุ๋ยอินทรีย์โดยตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม การสำรวจปริมาณการผลิตทั้งในลักษณะที่เป็นโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เชิงพาณิชย์ที่จดทะเบียนไว้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์รายย่อย โดยเฉพาะการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในครัวเรือนหรือในท้องถิ่น ความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ของเกษตรกร การควบคุมมาตรฐานการผลิต และติดตามจัดเก็บราคาปุ๋ยอินทรีย์แยกรายประเภท ตลอดจนปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ข้อมูลเหล่านี้นับว่ามีความจำเป็นอย่างมาก สำหรับเป็นข้อมูลพื้นฐานในการสนับสนุนธุรกิจการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวอย่างมากในอนาคต