มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา : เอื้อประโยชน์ผู้ป่วยเข้าถึงยา…ในราคาถูก

กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรกับกลุ่มยารักษาโรคเอดส์จำนวน 2 รายการและยารักษาโรคเส้นเลือดอุดตันในหัวใจและสมองอีก 1 รายการ โดยมีวัตถุประสงค์ให้คนไทยสามารถเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็นและมีราคาแพงในราคาที่ผู้ป่วยสามารถแบกรับภาระได้ เพราะโรคหัวใจและโรคเอดส์เป็นโรคที่ต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการรักษา อย่างไรก็ตาม ในส่วนภาครัฐเองก็ต้องเร่งชี้แจงและสร้างความชัดเจนแก่บริษัทผู้ผลิตยาจากต่างประเทศถึงวัตถุประสงค์ของมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นประเด็นนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างไทยกับต่างประเทศซึ่งจะกระทบไปถึงการค้าและการลงทุนในระยะยาว เนื่องจากมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิและรายได้ของผู้ผลิตยาต่างประเทศโดยตรงและนำมาซึ่งการคัดค้านจากบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตร ฉะนั้นการสร้างความเป็นธรรมให้กับทั้งฝ่ายบริษัทผู้ผลิตยา รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยควบคู่กันจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐของไทยและบริษัทผู้ผลิตยาจากต่างประเทศลงได้

จากการพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นจำนวนมากที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงยาเนื่องจากปัญหาความยากจน ในขณะที่ภาครัฐเองก็ขาดแคลนงบประมาณที่จะสนับสนุนเนื่องจากปัญหายามีราคาแพงส่งผลให้ภาครัฐไม่สามารถจัดสรรยาให้กับผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่องอาทิ โรคเอดส์ โรคหัวใจได้อย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวผลักดันให้ภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรเพื่อการผลิตยาจำนวน 3 รายการได้แก่ 1.ยารักษาโรคเอดส์ชื่อเอฟาวิเรนซ์(Efavirenz)ภายใต้เครื่องหมายการค้าStocrin ให้ใช้สิทธิผลิตจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 2.ยารักษาโรคเอดส์สูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์(Lopinavir & Ritonavir)ภายใต้เครื่องหมายการค้า Kaletra ให้ใช้สิทธิผลิตไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2555 และ 3.ยารักษาโรคเส้นเลือดอุดตันในหัวใจและสมองชื่อโคลพิโดเกรล(Clopidogrel) ภายใต้ชื่อเครื่องหมายการค้า พลาวิกซ์(Plavix) ให้ใช้สิทธิผลิตไปจนกว่าหมดระยะเวลาสิทธิบัตรหรือหมดความจำเป็นต้องใช้ยา โดยภาครัฐกำหนดค่าตอบแทนให้กับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรยาในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการจำหน่ายยา ทั้งนี้ภายหลังจากการประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้สามารถลดราคายาลงมาได้ถึงประมาณร้อยละ 50 อาทิ ยาเอฟาวิเรนซ์จากค่าใช้จ่าย 1,300 บาทต่อคนต่อเดือนจะปรับลดลงมาเหลือ 650 บาทต่อคนต่อเดือน และยาโคพิโดเกรลจากราคาเม็ดละ 70 บาทหากผลิตเองจะปรับลดลงมาเหลือเพียงประมาณเม็ดละ 10 บาทเท่านั้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การนำมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยามาใช้ ถือเป็นมาตรการที่สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อปัญหาทางด้านสาธารณสุขของไทยที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงยารักษาโรคที่มีราคาแพงเกินจริง โดยเฉพาะประชาชนที่ยากจนหรือมีรายได้น้อย เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนงบประมาณทางด้านสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่า มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรที่ภาครัฐนำมาใช้กับสินค้าประเภทยาในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังมีรายละเอียดดังนี้

1.ผลกระทบทางด้านการเข้าถึงยาของประชาชน ผลจากมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรของไทย จะเปิดโอกาสให้คนไทยโดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่เจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องทานยาต่อเนื่องมีระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ภายหลังจากนำมาตรการบังคับใช้สิทธิมาใช้จะส่งผลให้คนไทยสามารถเข้าถึงยารักษาโรคเอดส์เอฟาวิเรนซ์จาก 82,000 คนเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 คน ส่วนยารักษาโรคเอดส์สูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์จะทำให้คน 50,000 คนที่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้สามารถเข้าถึงยาทั้งหมด และยารักษาเส้นเลือดอุดตันจะเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วยจากเดิม 6-12 เท่า

2.ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขของไทย ปัจจุบันมีจำนวนประชากรที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพเป็นจำนวนมากทั้งกลุ่มข้าราชการและรัฐวิสาหกิจประมาณ 5.1 ล้านคน(เบิกจ่ายจากแต่ละหน่วยงาน)รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่ภาครัฐรับภาระจากนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรวมประมาณ 46.6 ล้านคน(ภาครัฐเหมาจ่ายรายหัวประมาณ 1,899.69 บาทต่อคนต่อปี) หรือคิดเป็นประชากรที่ภาครัฐต้องรับภาระด้านการรักษาพยาบาลรวมกันไม่ต่ำกว่า 50 ล้านคน ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงบประมาณพบว่า ที่ผ่านมางบประมาณรายจ่ายทางด้านการสาธารณสุขของภาครัฐมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 89,163.7 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2548 เพิ่มขึ้นมาเป็น 101,040.5 ล้านบาทและ 148,739.6 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2549 และปี 2550 ตามลำดับ ดังนั้นมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาจะช่วยลดภาระงบประมาณรายจ่ายด้านสาธารณสุขในส่วนของกลุ่มคนที่ภาครัฐออกค่าใช้จ่ายให้ลดลงได้ โดยจากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพบว่าการนำมาตรการบังคับใช้สิทธิมาใช้กับยาเพียง 3 รายการจะช่วยประหยัดงบประมาณด้านยาได้ถึงประมาณปีละ 600 ล้านบาท

3.ผลกระทบต่อภาคการผลิต ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า อุปสรรคของผู้ประกอบการผลิตยาในประเทศที่สำคัญคือ ปัญหายาต้นแบบที่มีการคิดค้นขึ้นจะได้รับความคุ้มครองทางสิทธิบัตรเป็นระยะเวลา 20 ปี แต่หากจะมีการคิดค้นยารักษาโรคใหม่ๆที่แตกต่างจากยาเดิมก็ต้องประสบปัญหาทางด้านเงินลงทุนเครื่องจักรและเงินทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่สูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการยาของไทยมีอุปสรรคทางด้านการขยายตัว ดังนั้นการที่ภาครัฐของไทยใช้มาตรการบังคับสิทธิเหนือสิทธิบัตรจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการผลิตยาของไทยสามารถผลิตยาที่มีลิขสิทธิ์เพื่อจำหน่ายในตลาดเพิ่มมากขึ้น

4.ผลกระทบทางด้านดุลการค้ายา ไทยมีการนำเข้ายาในปี 2545 คิดเป็นมูลค่า13,176.1 ล้านบาทในขณะที่มูลค่าการส่งออกยาอยู่ที่ประมาณ 2,914.1 ล้านบาท คิดเป็นการขาดดุลการค้าทางด้านยาประมาณ 10,262.0 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2548 ไทยมีการนำเข้าและส่งออกยามูลค่า 22,234.0 ล้านบาทและ 4,569.6 ล้านบาทตามลำดับขาดดุลการค้าประมาณ 17,664.4 ล้านบาท และล่าสุดปี 2549 ที่ผ่านมาไทยมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกยามูลค่า 26,061.1 ล้านบาทและ 4,340.7 ล้านบาท ตามลำดับหรือคิดเป็นการขาดดุลการค้าทางด้านยาประมาณ 21,720.4 ล้านบาท ฉะนั้นมาตรการบังคับใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตรจะทำให้ไทยสามารถลดปัญหาการขาดดุลการค้าทางด้านยากับต่างประเทศลงได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากไทยสามารถผลิตยาซึ่งแต่เดิมต้องพึ่งพาการนำเข้าจากเจ้าของสิทธิบัตร ในขณะเดียวกัน เจ้าของสิทธิบัตรยาจากต่างประเทศเองก็อาจใช้มาตรการลดราคายาที่ส่งเข้ามาจำหน่ายในไทยให้ต่ำลง เพื่อจูงใจไม่ให้ไทยใช้สิทธิผลิตยาเอง ซึ่งวิธีการนี้จะส่งผลกระทบต่อเจ้าของสิทธิบัตรยาในระดับที่ต่ำกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตามข้อตกลงองค์การการค้าโลกและปฏิญญาโดฮา(DOHA DECLARATION) รวมทั้งพระราชบัญญัติสิทธิบัตรของไทยพ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 และปี 2542 จะอนุญาตให้ไทยสามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิในกรณีเร่งด่วนจำเป็นเพื่อผลิตยาที่ได้รับความคุ้มครองทางด้านสิทธิบัตรซึ่งมีราคาจำหน่ายสูง แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิทธิและรายได้ของผู้ผลิตยาเจ้าของสิทธิบัตรยาจากต่างประเทศที่ต้องสูญเสียไป ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการค้าได้ ในขณะเดียวกัน มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยังทำให้ผู้ผลิตยาจากต่างประเทศไม่มั่นใจว่าภาครัฐของไทยจะดำเนินมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรกับยาประเภทอื่นๆอีกหรือไม่ และอาจจะทำให้ไทยเสียโอกาสที่บริษัทยาจากต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตยาขึ้นในไทย

ดังนั้นเพื่อประสานความร่วมมือกันเพื่อหาจุดสมดุลที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ในเบื้องต้นภาครัฐของไทยคงต้องเร่งทำความเข้าใจกับบริษัทผู้ผลิตยาเพื่อให้เห็นความจำเป็นของมาตรการที่ภาครัฐนำมาใช้ซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยรวมทั้งความปลอดภัยในชีวิตของผู้ป่วยซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมาตรการและนโยบายของภาครัฐที่นำมาใช้ในครั้งนี้จะจำกัดเฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อสุขภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ในส่วนของภาครัฐเองก็ควรแสดงให้เห็นว่ายังคงยึดมั่นต่อข้อตกลงเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีเงื่อนไขกำหนดให้ผู้บังคับใช้สิทธิต้องแจ้งเจ้าของสิทธิบัตรโดยเร็วรวมทั้งต้องเจรจาจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของสิทธิบัตรยาที่ได้รับความเสียหายจากมาตรการดังกล่าวในอัตราที่เป็นธรรม

เป็นที่น่าสังเกตว่า การสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงยาอย่างทั่วถึงรวมทั้งการแก้ปัญหายามีราคาแพงเนื่องจากปัญหาทางด้านสิทธิบัตร มิใช่จำกัดอยู่ที่การประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาเพียงประการเดียว เนื่องจากปัจจุบันยังมียาอีกเป็นจำนวนมากที่ไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นยาที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งคิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 26,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นภาครัฐของไทยควรพิจารณาทางเลือกอื่นๆเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงยาของประชาชนในระยะยาวอาทิ การเพิ่มงบประมาณทางด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนายาขึ้นใช้ในประเทศ รวมทั้งรณรงค์ให้คนไทยหันมาใช้ยารักษาโรคที่ผลิตในประเทศในส่วนที่มีคุณภาพเท่าเทียมและราคาถูกกว่าหรือใกล้เคียงกับต่างประเทศ ทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณที่ผลิตจากสมุนไพร ซึ่งนอกจากราคาถูกและวัตถุดิบหาได้ง่ายแล้วบางชนิดยังได้รับการยอมรับว่ามีสรรพคุณรักษาโรคเช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน ซึ่งยาแผนโบราณที่ผ่านการพัฒนาและการวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญจะช่วยลดการพึ่งพายาแผนปัจจุบันที่ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศลงไปได้ ในขณะเดียวกันก็ควรสนับสนุนให้บริษัทยาต่างประเทศสนใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย โดยการสร้างแรงจูงใจทางด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆทางด้านการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมผลิตยารักษาโรค ซึ่งจะทำให้บริษัทยาจากต่างประเทศสนใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเพิ่มขึ้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว การเข้าถึงยาด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงจนเกินควรถือเป็นสิทธิที่ภาครัฐต้องจัดให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาสในการใช้บริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันกับผู้มีรายได้สูง ในขณะเดียวกัน รายได้ของบริษัทผู้ผลิตยาในระดับที่พอเหมาะไม่น้อยจนเกินไปก็ถือเป็นทุนดำเนินการให้บริษัทยาสามารถนำไปใช้วิจัยและพัฒนายารักษาโรคชนิดใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งนี้ การหาข้อยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับได้โดยเร็วจะส่งผลให้ประเด็นดังกล่าวไม่นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุกลามไปเป็นปัญหาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั่นคือการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายาทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณที่ผลิตจากสมุนไพรจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาการพึ่งพายานำเข้าที่ทำให้ไทยต้องขาดดุลการค้าปีละกว่า 20,000 ล้านบาทได้อย่างยั่งยืน