ชุดว่ายน้ำ เป็นสินค้าที่มียอดขายสูงสุดในช่วงหน้าร้อน หรือมากกว่ายอดขายในช่วงอื่นๆ ถึง 3-4 เท่า การตลาดเพื่อขายสินค้าประจำฤดู (Season Marketing) เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีเพื่อกระตุ้นยอดขายสำหรับในปี 2550 นี้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย หลังจากมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีนี้อาจชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าในปี 2550 นี้อากาศในทั่วทุกภาคของไทยค่อนข้างจะมีอุณหภูมิที่สูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนนิยมเดินทางไปพักผ่อนยังชายทะเล น้ำตก หรือหากไม่มีเวลา อย่างน้อยก็ต้องลงสระว่ายน้ำ ซึ่งนับเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สินค้าชุดว่ายน้ำมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม
ตลาดชุดว่ายน้ำในประเทศ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมาจากปัจจัยสนับสนุนทางด้านการขยายตัวของการท่องเที่ยวทั้งจากนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะใช้สำหรับการว่ายน้ำตามชายทะเลแล้ว บริการของทางโรงแรมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นและมีสระว่ายน้ำไว้บริการก็มีกฎให้ผู้ที่ต้องการว่ายน้ำสวมชุดว่ายน้ำเพื่อลงสระ และการขยายตัวของศูนย์ออกกำลังกาย นอกจากนี้การในกลุ่มโรงเรียนก็มีการเพิ่มหลักสูตรว่ายน้ำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนด้วย ซึ่งส่งผลทำให้ตลาดชุดว่ายน้ำในประเทศเติบโตขึ้น
สำหรับในปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปแนวโน้มของตลาดชุดว่ายน้ำไว้ดังนี้
มูลค่าตลาดของชุดว่ายน้ำจะมีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ขยายตัวขึ้นร้อยละ 8-10 จากปีที่ผ่านมา แม้ว่าในปี 2550 นี้ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ระมัดระวังการใช้จ่ายนั้น แต่การขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งจากนักท่องเที่ยวในประเทศและกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าในปี 2550 จะขยายตัวขึ้นประมาณร้อยละ 6 จากปีที่ผ่านมา คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 14 ล้านคน ประกอบกับการปรับขึ้นราคาจำหน่ายของสินค้าถึงร้อยละ 15-20 ตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นก็น่าจะส่งผลให้มูลค่าตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
วัยรุ่นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สำคัญ ค่านิยมไปในการสวมใส่เสื้อผ้าที่เปลี่ยนแปลงนั้น ทำให้กลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี นิยมใส่เสื้อผ้าที่เน้นรูปร่างมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการรับค่านิยมในการแต่งกายจากตะวันตกทำให้กล้าที่จะใส่ชุดว่ายน้ำที่มีรูปแบบและสีสันหลากหลายขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน และกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของตลาดชุดว่ายน้ำ เนื่องจากกลุ่มวัยรุ่นนี้มีแนวโน้มที่ซื้อชุดว่ายน้ำบ่อยกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ ที่มีความกังวัลเรื่องรูปร่างและโอกาสในการใช้งานที่น้อยลงด้วย
ชุดว่ายน้ำ two-piece ครองยอดขายสูงสุด การพัฒนารูปแบบของชุดว่ายน้ำให้มีสีสันสวยงามนั้นและหลากหลายด้วยดีไซน์และลักษณะของผ้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้หลากหลายรูปแบบ ส่วนแนวโน้มแฟชั่นชุดว่ายน้ำปีนี้ ผู้ผลิตส่วนใหญ่เน้น ทูพีซ หรือชุดว่ายน้ำแบบ 2 ชิ้น โดยคาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 70-80 ของปริมาณการจำหน่ายในปีนี้ รูปแบบที่ได้รับความนิยมจะอยู่ที่ลายและสีสันสดใส ซึ่งแตกต่างจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่แบบสปอร์ตแวร์จะได้รับความนิยมมาก และการซื้อชุดว่ายน้ำในแบบ 2 ชิ้นนั้น จะเป็นลักษณะการซื้อซ้ำหรือเดิมมีชุดว่ายน้ำแบบชิ้นเดียวอยู่ก่อนแล้วและต้องการซื้อรุ่นใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น
การแข่งขันสูงจากทั้งผู้ประกอบการในและต่างประเทศ ตลาดชุดว่ายน้ำมีการแข่งขันค่อนข้างสูง จากผู้ประกอบการในหลายระดับ แม้ว่าผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศจะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ค่อนข้างมาก ผลิตสินค้าที่มีแบรนด์เป็นที่ยอมรับทำให้สามารถตั้งราคาได้สูงและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามมีผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศอีกหลายรายที่เดิมเคยผลิตชุดชั้นในจำหน่ายในราคาต่ำลงมาได้หันมาผลิตชุดว่ายน้ำเพื่อจำหน่ายขยายเป็นสินค้าใหม่ที่อยู่ในไลน์ผลิตใกล้เคียงกัน และมีการปรับปรุงรูปแบบ ดีไซน์และคุณภาพได้เป็นที่ยอมรับของตลาดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีชุดว่ายน้ำจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยมีทั้งตลาดระดับบนหรือสินค้าแบรนด์เนมหรู มีราคาจำหน่ายสูง และมีการนำเข้าชุดว่ายน้ำราคาถูกที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยสินค้าที่นำเข้ามามากได้แก่ชุดว่ายน้ำจากประเทศจีน และ เกาหลี เข้ามาสู่ตลาดชุดว่ายน้ำระดับกลาง-ล่าง ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคที่ไม่เน้นคุณภาพมากนัก มีการใช้งานน้อยและมีกำลังซื้อไม่สูงมากนัก เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นด้วยราคาที่ปรับลดลง อันเป็นผลจากการลดภาษีตามข้อตกลงองค์การการค้าโลก และการแข็งค่าของเงินบาททำให้ราคาสินค้านำเข้าปรับลดลง
กลยุทธ์ราคาและการจัดรายการส่งเสริมการขายยังเป็นปัจจัยกระตุ้นยอดขายที่สำคัญ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงนั้น ผู้ประกอบการมักจะนำกลยุทธ์ทางด้านราคามาใช้เพื่อกระตุ้นยอดขายและจัดแคมเปญของแถมให้กับลูกค้า โดยผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อชุดว่ายน้ำนั้นนอกจากจะพิจารณาจากปัจจัยที่สำคัญ คือ รูปแบบที่สอดคล้องกับรูปร่างของตนเอง ดีไซน์ สีสัน และคุณภาพแล้ว การรอให้ทางร้านจัดรายการลดราคาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งจึงจะช่วยเสริมให้ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น ซึ่งในปัจจุบันผู้ผลิตมักจะจัดรายการส่งเสริมการขายร่วมกับช่องทางจำหน่ายที่สำคัญคือห้างสรรพสินค้าในช่วงสุดสัปดาห์สุดท้ายของเดือน หรือจัดรายการลดราคาสำหรับสินค้าที่ตกรุ่นจากปีที่ผ่านมาเป็นการระบายสินค้าเก่าด้วย ในขณะที่สินค้ารุ่นใหม่จะเน้นที่การจัดให้มีของแถมเมื่อซื้อครบกับยอดที่กำหนดไว้ เช่น กระเป๋าใส่ชุดว่ายน้ำ ร่ม ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ซึ่งการจัดให้มีรายการของแถมนั้นมักจะทำให้ผู้ซื้อเพิ่มงบประมาณในการซื้อแต่ละครั้งมากกว่าที่กำหนดไว้ก่อนการซื้อ
ช่องทางการจำหน่าย ขยายลงสู่พื้นที่ระดับล่างมากขึ้น เดิมนั้นชุดว่ายน้ำเป็นสินค้าที่มีราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่มีการวางจำหน่ายตามศูนย์การค้าและร้านค้าระดับใหญ่ ในปัจจุบันเมื่อตลาดมีการแข่งขันเพิ่มขึ้น มีผู้ผลิตเพิ่มจำนวนขึ้นทั้งจากรายเล็กและรายใหญ่ ทำให้ชุดว่ายน้ำมีหลายระดับราคาและคุณภาพให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้งานมากขึ้น ช่องทางการจำหน่ายสินค้าก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยและแบ่งเกรดของสินค้าตามราคาและคุณภาพหลากหลาย จากเดิมที่เคยจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียว มีการเปลี่ยนแปลงไป คือ สินค้าที่วางจำหน่ายให้ห้างสรรพสินค้าจะเป็นสินค้าที่มีราคาสูงและมีแบรนด์เป็นที่รู้จัก เป็นที่ต้องการของลูกค้าระดับกลาง-บน นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายให้ร้านค้าย่อยตามศูนย์การค้า ร้านดิสเคาท์สโตร์ งานแสดงสินค้า และตลาดนัด ซึ่งจับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-ล่าง ซึ่งมีราคาจำหน่ายไม่แพงมากนัก
ตลาดส่งออก ไทยมีตลาดส่งออกชุดว่ายน้ำที่สำคัญอยู่ในตลาดสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 25.75 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด และกลุ่มประเทศยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศส อังกฤษ และ เยอรมัน มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 18.16 , 17.14 และ 14.85 ตามลำดับ การแข่งขันของตลาดชุดว่ายน้ำในตลาดโลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เมื่อจีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสิ่งทอรายใหญ่ของโลก สามารถผลิตสินค้าราคาถูกส่งออกไปจำหน่ายได้เพิ่มขึ้นภายหลังการเข้าสู่การเป็นสมาชิการองค์การการค้าโลกอย่างเป็นทางการ ปัจจัยเกื้อหนุนในการเป็นแหล่งผลิตต้นทุนต่ำทำให้จีนสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากจีนแล้วยังมีผู้ผลิตสิ่งทออีกหลายประเทศ เช่น กัมพูชา เวียดนาม และประเทศในแถบละตินอเมริกาที่เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกชุดว่ายน้ำของไทยให้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาจากมูลค่าการส่งชุดว่ายน้ำออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศในปี 2544 มีมูลค่าสูงถึง 1,800 ล้านบาท และปรับตัวลงเหลือ 1,154 ล้านบาท ในปี 2549 แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะใช้ความพยามยามในการเปิดตลาดใหม่ๆ ด้วยการเข้าร่วมเป็นสปอนเซอร์ให้กับการประกวดนางงานจักรวาล การสร้างมาตรฐานคุณภาพและดีไซน์ให้เป็นมาตรฐานสากล แต่เนื่องจากการแข่งขันที่สูงมากทำให้การเข้าสู่ตลาดในระดับบนของไทยนั้นทำได้จำกัด ในขณะที่ตลาดล่างเองก็ต้องแข่งขันกับประเทศที่ผลิตได้ต้นทุนต่ำค่อนข้างมาก นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับปัญหาค่าเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการส่งออกโดยตรง และการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ประเทศในแถบเอเชียที่ทำการผลิตและมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า เช่น จีน เวียดนาม ปากีสถาน เป็นต้น อาจเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศอยู่พอสมควร
ปัจจัยที่ที่มีผลต่อการเติบโตของตลาดชุดว่ายน้ำ ในปี 2550 นั้น มีค่อนข้างมากที่ผู้ผลิตไม่สามารถหลีกเลี่ยงสภาพการแข่งขันและสภาวะการณ์อื่นๆ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอาจส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายได้ แม้ว่าในปีนี้ตลาดในประเทศจะยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้น แต่ในระดับการส่งออกแล้วผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ผู้ผลิตจำเป็นต้องมีกลยุทธ์และเทคนิคที่ดีทางการผลิต การใช้วัตถุดิบและสามารถควบคุมคุณภาพของสินค้า ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตลาดล่างที่มีการแข่งขันทางด้านราคาสูงในขณะที่ผู้ผลิตไทยยังเสียเปรียบในด้านต้นทุนการผลิตอยู่ค่อนข้างมาก