ผ่านไตรมาสแรกไปแล้ว ผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานาน เริ่มสะท้อนให้เห็นเค้ารางของภาคธุรกิจที่ถดถอยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องเพราะผู้ประกอบการชะลอการลงทุน ในขณะที่ผู้บริโภคไม่มีกระจิตกระใจจับจ่ายใช้สอยเพราะไม่มั่นใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต เช่นเดียวกับธุรกิจรับสร้างบ้านเองก็ดูจะซึมต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว โชคดีว่าในช่วงโค้งสุดท้ายของไตรมาสแรก ได้รับแรงสนับสนุนจากสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านช่วยโหมประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นกำลังซื้อให้เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง โดยจัดงานแสดง News Home Builder#2 ขึ้นทำให้ภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้าน มีแรงดีดกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยประเมินว่ายอดขายตลอดไตรมาส 1 ในปีนี้ น่าจะสูงกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,700 ล้านบาท
แนวโน้มความต้องการสร้างบ้านและการแข่งขันครึ่งปีแรก 2550
แม้ผู้บริโภคจะไม่มั่นใจต่อภาวะการเมืองและเศรษฐกิจในปี 2550 นี้ แต่เป็นที่ยอมรับกันดีว่า มีผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านน้อยกว่าผู้ประกอบการบ้านจัดสรร เนื่องเพราะพฤติกรรมของผู้- บริโภคกลุ่มนี้มีวินัยการออมเงินสูง และมักใช้เงินสดแทนการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ที่ผ่านมาการชะลอตัดสินใจของผู้บริโภค เพื่อดูสถานการณ์ ได้ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปี 2549 ซึ่งถือว่านานมากและอาจเป็นไปได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่อดทนรอต่อไป จึงเริ่มหันกลับมาติดต่อกับบริษัทรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาสแรกนี้มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคที่มีความพร้อมจริง และต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ตัดสินใจช้าลงและรอบคอบมากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกผู้ประกอบการมืออาชีพเท่านั้นเป็นผู้สร้าง-บ้าน รวมถึงใส่ใจในรายละเอียดสินค้าและบริการมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันของผู้ประกอบการที่มุ่งนำเสนอจุดขายและจุดแข็งที่ต่างต่างกันไป
ภาวะเช่นนี้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อจะมีความได้เปรียบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ขาดข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนค่าก่อสร้างและค่าบริหารจัดการที่แท้จริง ตลอดจนภาวะความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้น เมื่อวัสดุก่อสร้างและราคาน้ำมันเริ่มจะปรับตัวสูงขึ้นอีกรอบ ทั้งนี้หากแต่มุ่งแข่งขันตัดราคาเพราะต้องการยอดขาย หรือยอดสั่งสร้างจำนวนมากๆ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านโดยรวม ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยมีการรวมตัวกันจัดระเบียบและกำหนดแนวทาง การแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ขึ้น หากการแข่งขันตัดราคาก็จะย้อนกลับมาทำลายภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้าน และทำลายความน่าเชื่อถือที่ผู้บริโภคที่มีต่อกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน ในแง่ของคุณภาพสินค้าและการบริการ สุดท้าย ภาพของธุรกิจรับสร้างบ้านก็คงไม่แตกต่างจากผู้รับเหมาทั่วไปเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบการต้องเป็นรูปธรรม
การสร้างบ้านถือเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงและมีความเสี่ยงไม่น้อย หากผู้บริโภคไม่พึงระมัดระวังเลือกใช้ผู้ประกอบการที่มีเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการตัดสินใจเลือกผู้ประกอบการเพียงเพราะเห็นว่า“ราคาถูกกว่ารายอื่น” ซึ่งไม่ได้ตรวจสอบประวัติความเป็นมาหรือประสบการณ์ และผลงานของ ผู้ประกอบการรายนั้นๆอย่างจริงจัง ในปัจจุบันสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน มีความพยายามจะจัดระเบียบและกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกและเรียกตัวเองว่า คือ“บริษัทรับสร้างบ้าน”ในเบื้องต้น ทั้งนี้เพื่อมุ่งไปสูการพัฒนา และหวังยกระดับมาตรฐานของบริษัทรับสร้างบ้านให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น ทั้งในแง่การประกอบธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีความรับผิดชอบในฐานะเป็นนักวิชาชีพ สอดคล้องกับพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง และพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่มีอยู่อย่างจริงจัง
อย่างไรก็ดีการจะยกระดับมาตรฐานบริษัทรับสร้างบ้านให้เป็นที่ยอมรับนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วย- งานอย่างสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน จะต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมอย่างมีแบบแผนและเป็นระบบ การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการที่พร้อมจะพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถ เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญและเร่งรัดพัฒนา ควรมีความกล้าหาญที่จะคัดแยกผู้ประกอบการที่ขาดคุณสมบัติ ออกไปจากความเป็นสมาชิกและระบบธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยไม่เอาความเป็นพวกพ้องมาปะปนกับหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะมิฉะนั้นจะทำให้ขาดความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง และขาดความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้บริโภคได้ ในอนาคต
แนะขยายพื้นที่ให้บริการ
ลดความร้อนแรงด้านการแข่งขัน
ที่ผ่านมาการขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆของผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่จะเป็นการขยายอยู่ในวังวนที่แข่งขันกันอยู่เดิมๆ เช่น เคยเน้นจับตลาดรับสร้างบ้านในระดับราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท ก็ขยายมาจับตลาด รับสร้างบ้านตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป หรือเคยเน้นจับตลาดรับสร้างบ้าน 10 ล้านบาทขึ้นไป ก็ขยายมาจับตลาดรับสร้างบ้านต่ำกว่า 10 ล้านบาทมากขึ้น แต่ทั้งหมดก็ยังแข่งขันจับตลาดรับสร้างบ้านในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลเหมือนเดิม ทั้งนี้ไม่ได้ขยายไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ที่มีความต้องการใช้บริการรับสร้างบ้าน อย่างเช่น จังหวัดใหญ่ๆที่มีการค้าการลงทุนสูง จังหวัดท่องเที่ยว และจังหวัดที่เป็นเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผู้บริโภคและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ แต่ไม่ต้องการใช้ผู้รับเหมารายย่อย ในท้องถิ่นที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ
นายสิทธิพร สุวรรณสุต เลขาธิการสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า หากผู้ประกอบการยังมุ่งแข่งขันขยายตลาดแบบเดิมๆ มูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านอาจไม่เพิ่มขึ้นเท่าไรนัก การไม่ขยายไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ หรือพื้นที่ใหม่ๆ (Place) ในอนาคต โอกาสและตลาดของผู้ประกอบการก็จะค่อยๆแคบลง การแข่งขันอยู่ในตลาดเดิมก็จะรุนแรงมากขึ้นและมีความเสี่ยงสูง ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการควรจะพัฒนาขีดความสามารถ และพัฒนาศักยภาพองค์กรให้สามารถขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆมากขึ้น ซึ่งการขยายตลาดไปสู่ต่างจังหวัดก็จะเป็นแนวทางหนึ่ง ในการสร้างการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น ช่วยส่งผลให้ธุรกิจ รับสร้างบ้านเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และเป็นการขยายไปสู่ช่องทางตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งผลการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่ในต่างจังหวัด ไม่นิยมซื่อบ้านจัดสรร หรือประมาณ 90 % เลือกสร้างบ้านในที่ดินของตนเอง สำหรับแนวคิดที่จะขยายตลาด อย่างมุ่งหวังผลเพียงแค่ปริมาณเท่านั้น สิ่งที่ควรยึดถือและให้ความสำคัญควบคู่กันไปคือ คุณภาพสินค้าและบริการ เพื่อสร้างความแตกต่างจากบ้านจัดสรร บ้านมือสอง และผู้รับเหมารายย่อย