สหรัฐฯ-ไทย : ระวังผลกระทบการค้า หลังไทยขึ้นบัญชี PWL

สหรัฐฯ ประกาศผลการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ของประเทศคู่ค้าตามกฎหมาย Special 301 ในรายงาน “Special 301” ที่ออกเผยแพร่ในวันที่ 30 เมษายน 2550 ซึ่งสหรัฐฯ ดำเนินการทบทวนเป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้ ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ 42 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ถูกสหรัฐฯ จัดให้อยู่ในบัญชีประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างกว้างขวาง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับบริษัทสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตร โดยสหรัฐฯ แบ่งระดับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็น 2 ระดับ คือ บัญชีจับตา (Watch List : WL) และบัญชีจับตาเป็นพิเศษ (Priority Watch List : PWL) ซึ่งเป็นระดับที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชี PWL จะต้องเข้าสู่การหารือสองฝ่ายกับสหรัฐฯ เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการละเมิด ทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป

สำหรับประเทศไทยในปี 2550 ไทยถูกสหรัฐฯ ลดระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจากระดับเดิมที่อยู่ในบัญชีจับตา (WL) ตั้งแต่ปี 2538 เป็นบัญชีจับตาเป็นพิเศษ (PWL) ซึ่งมีประเทศทั้งหมดรวม 12 ประเทศที่อยู่ในบัญชี PWL นี้ ได้แก่ จีน รัสเซีย อาร์เจนตินา ชิลี อิยิปต์ อินเดีย อิสราเอล เลบานอน ไทย ตุรกี ยูเครน และเวเนซูเวลา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในบรรดา 12 ประเทศดังกล่าว ที่ถูกลดระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจากเดิมที่อยู่ในบัญชีจับตา (WL) และนับเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีจับตาเป็นพิเศษ (PWL) ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา ไทยเคยถูกสหรัฐฯ จัดให้อยู่ในบัญชีจับตาเป็นพิเศษ (PWL) มาแล้ว ในระหว่างปี 2532-2533 และปี 2537 หลังจากปี 2537 จนถึงปี 2549 ไทยถูกเลื่อนระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาดีขึ้นจากบัญชีถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เป็นบัญชีถูกจับตา (WL) ก่อนถูกลดระดับเป็นบัญชีจับตาเป็นพิเศษ (PWL) อีกครั้งในปี 2550

สหรัฐฯ ระบุในรายงาน Special 301 ปี 2550 ว่า ไทยละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในหลายๆ ด้าน และระดับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามีความรุนแรงมากขึ้นทั้งด้านสิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ แต่ประเด็นสำคัญในปีนี้ ได้แก่ การที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing : CL) หมายถึง การใช้สิทธิผลิตและนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตรยาอยู่แล้ว จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ยารักษาโรคเอดส์ 2 รายการ และยารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน 1 รายการ ซึ่งทางสหรัฐฯ เห็นว่ากระบวนการบังคับใช้สิทธิของไทยขาดความโปร่งใสในการหารือกับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรยา ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขไทยชี้แจงว่า ไทยได้แจ้งการดำเนินการของไทยต่อบริษัทยาของสหรัฐฯ แล้ว และไทยมีสิทธิ์ที่จะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL) ได้ ตามข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อประโยชน์สาธารณะ การบังคับใช้สิทธิของไทยในการผลิตและนำเข้ายารักษาโรค 3 รายการดังกล่าว น่าจะเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักที่สหรัฐฯ ใช้ประกอบการพิจารณาปรับลดระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาในครั้งนี้

สำหรับประเทศที่สหรัฐฯ จัดให้อยู่ในบัญชีจับตามอง (WL) ในปีนี้ ซึ่งมีระดับความรุนแรงของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่น้อยกว่า 12 ประเทศข้างต้น มีทั้งสิ้น 30 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส เบลีซ โบลีเวีย บราซิล แคนาดา โคลัมเบีย คอสตาริกา โดมินิกัน รีพับลิค เอกวาดอร์ กัวเตมาลา ฮังการี อิตาลี จาไมกา เกาหลีใต้ ไต้หวัน คูเวต ลิทัวเนีย เม็กซิโก ปากีสถาน เปรู โปแลนด์ โรมาเนีย ซาอุดิอาระเบีย ทาจิกิสถาน เติร์กมีนิสถาน อุสเบกิสถาน รวมทั้งประเทศอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ผลกระทบจากการถูกปรับลดระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่รุนแรงขึ้น (PWL)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การที่ไทยถูกสหรัฐฯ ปรับลดระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ในปีนี้ จากเดิมที่อยู่บัญชีจับตา (WL) มานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2538 เป็นบัญชีจับตาเป็นพิเศษ (PWL) อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้านการค้าและการลงทุน ดังนี้

 ผลต่อภาพลักษณ์ด้านการลงทุนของไทย
การถูกสหรัฐฯ ปรับลดระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย นอกจากจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านการลงทุนของไทยในสายตาของนักลงทุนสหรัฐฯ แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนของไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอยู่ในระดับบัญชีที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญารุนแรงน้อยกว่าไทย อาจทำให้ นักลงทุนต่างชาติที่ผลิตสินค้าลิขสิทธิ์ต่างๆ พิจารณาหันไปลงทุนในประเทศอื่นๆ แทน รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายภายในของไทยยังมีความไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ค้าปลีก ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนในไทยในปีนี้

ผลต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ
การที่สหรัฐฯ ลดระดับบัญชีการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเป็นระดับที่มีความรุนแรงมากขึ้นในปีนี้ อาจส่งผลต่อการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences : GSP) ของสหรัฐฯ กับสินค้าส่งออกของไทย เนื่องจากสหรัฐฯ กำหนดให้การคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่สหรัฐฯ ใช้ประกอบการพิจารณาการให้สิทธิพิเศษ GSP กับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย โดยสหรัฐฯ มีกำหนดประกาศผลการทบทวนรายการสินค้าที่ให้สิทธิ GSP กับประเทศต่างๆ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550

ปัจจุบันไทยใช้สิทธิพิเศษ GSP ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ โดยได้รับการยกเว้นภาษี (ภาษีเป็น 0%) รวมราว 1,200 รายการ มูลค่าประมาณ 4,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 19,454 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สินค้าส่งออกไทยดังกล่าวที่ได้รับสิทธิ GSP มีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคามากขึ้น สินค้าส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิพิเศษ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่าสูงในปัจจุบันเรียงตามลำดับ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่า เครื่องรูปพรรณอื่นๆ ทำด้วยโลหะเงินมีมูลค่าเกิน 18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อโหลชิ้น ยางเรเดียล เครื่องรับโทรทัศน์สี และเม็ดพลาสติก (โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต)

อัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มจะถูกตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่เข้าหลักเกณฑ์การถูกตัดสิทธิ GSP ในปีนี้ คือ (1) เป็นสินค้าที่ได้รับการผ่อนผันเพดานการนำเข้าสูงสุด (Competitive Need Limit Waiver : CNL Waiver) ของสหรัฐฯ มาแล้วมากกว่า 5 ปี โดยอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าของไทยได้รับการผ่อนผันเพดานการนำเข้าดังกล่าวจากสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2538 (2) การนำเข้าของสหรัฐฯ ในสินค้ารายการนี้จากไทยมีมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 ซึ่งเกินระดับเพดานการนำเข้าไปสหรัฐฯ สูงสุดที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ที่มูลค่า 187.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 หากอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าส่งออกของไทยถูกพิจารณาตัดสิทธิพิเศษ GSP จากสหรัฐฯ จะส่งผลให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทำจากโลหะมีค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จะต้องถูกเรียกเก็บภาษี ขาเข้าในอัตรา 5.5% (Most-Favored Nation Rate : MFN Rate) จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษีขาเข้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเสียเปรียบด้านราคากับประเทศคู่แข่งของไทยในตลาดสหรัฐฯ อย่างอินเดีย และจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงงานและต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย และขณะนี้ครองส่วนแบ่งตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในสหรัฐฯ มากกว่าไทยอีกด้วย

สิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐฯ เป็นสิทธิพิเศษสำหรับการส่งออกของไทยเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งสหรัฐฯ สามารถยกเลิกหรือระงับการให้สิทธิพิเศษ GSP แก่ไทยในระยะต่อไป เนื่องจากการให้สิทธิพิเศษจีเอสพีเป็นการให้ฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ในอนาคตไทยอาจถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ทุกรายการสินค้า หากเศรษฐกิจไทยมีระดับการพัฒนาสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยควรกระจายความเสี่ยง โดยการกระจายการส่งออกไปตลาดอื่นๆ เช่น ตลาดใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสดใส เช่น ยุโรปตะวันออก เอเชียใต้ และประเทศในตะวันออกกลางที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากส่งออกน้ำมัน รวมทั้งใช้ประโยชน์จากการส่งออกไปประเทศที่ไทยจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี FTA ด้วย ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น เนื่องจากสินค้าส่งออกไทยจะได้รับผลดีจากการลด/ยกเว้นภาษีศุลกากรไปตลาดดังกล่าว