โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์

โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ย้ำนโยบาย Be part of you…Be part of the future เปิดโครงการ M&D Best รุ่น 2 พัฒนาโรงงานแม่พิมพ์ต้นแบบ ที่มีความเป็นเลิศ หวังบูรณาการมาตรฐาน และความสามารถในการประกอบการของโรงงานอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยให้ทันต่อสถานการณ์การแข่งขัน

รศ.ณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการ สถาบันไทย-เยอรมัน ในฐานะผู้ดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เปิดเผยว่า จากความสำเร็จในด้านการพัฒนาเครือข่ายบูรณาการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ตั้งแต่การผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถระดับมาตรฐานเข้าสู่อุตสาหกรรม การพัฒนาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านแม่พิมพ์ ( Excellence Center ) ที่มีผลงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านแม่พิมพ์ ไว้คอยให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการจำนวน 7 แห่ง การส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ผู้ประกอบการด้านพิมพ์ และการพัฒนาสารสนเทศอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย ทำให้โครงการฯ มองเห็นถึงโอกาสในการบูรณาการโรงงานแม่พิมพ์ทั้งระบบ ให้มีความเป็นเลิศทั้งทางด้านการผลิต การใช้เทคโนโลยี การบริหารการเงิน การบัญชี การตลาด และการจัดการองค์กร เพื่อให้ได้โรงงานต้นแบบที่สามารถเป็นตัวอย่างในการพัฒนามาตรฐานให้กับโรงงานแม่พิมพ์อื่น ทำให้เกิดโครงการพัฒนาต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ( M&D Best ) ขึ้น โดยปี พ.ศ.2550 เป็นการดำเนินงานในรุ่นที่ 2

“ สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน จะเริ่มจากการตรวจสอบความพร้อมของผู้ประกอบการเป้าหมายแต่ละรายที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ แล้วคัดเลือกเหลือเพียง 20 โรงงาน เพื่อเข้าไปให้คำปรึกษาในเบื้องต้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทราบถึงสถานะ จุดอ่อน จุดแข็ง ปัญหา อุปสรรค ตลอดจนให้คำปรึกษาแนะนำแบบบูรณาการเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกต้องจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านของสถาบันฯ ก่อนจะคัดเหลือเพียง 10 โรงงาน ที่มีความพร้อมมากที่สุด เพื่อให้คำแนะนำในเชิงลึก แล้วคัดเลือกเหลือเพียง โรงงานเดียว ที่มีความเป็นเลิศสูงสุด เพื่อเป็นต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของประเทศไทยต่อไป ” รศ.ณรงค์ กล่าว

“ หัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ( M&D Best ) คือ การวินิจฉัยสถานะของแต่ละโรงงาน โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปวิเคราะห์หาสาเหตุ และแนวทางพัฒนาแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนั้นโรงงานที่ผ่านเข้ารอบ 10 โรงงาน ยังจะได้รับคำปรึกษาแนะนำแบบบูรณาการจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ที่มีความเป็นเลิศ ก่อนที่จะพิจารณาคัดเลือก ให้เป็นต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ต่อไป “

กลุ่มเป้าหมายที่ทางโครงการฯ วางไว้ได้แก่ ผู้ประกอบการโรงงานแม่พิมพ์ต่างๆ เช่น แม่พิมพ์ฉีดพลาสติก แม่พิมพ์เป่าพลาสติก แม่พิมพ์อัดโลหะ แม่พิมพ์ Die Casting และแม่พิมพ์ยาง หรือสถานประกอบการใดๆ ก็ตาม ที่มีหน่วยงานผลิตแม่พิมพ์ประเภทดังกล่าว เป็นของสถานประกอบการเอง โดยมีคุณสมบัติ เป็นโรงงานที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลไม่น้อยกว่า 3 ปี มีคนไทยเป็นเจ้าของเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น โรงงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถสมัครได้ที่สถาบันไทย-เยอรมัน ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 มิถุนายน 2550

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับติดต่อร่วมโครงการฯ : สำนักงานบริหารโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ( ชลบุรี ) อาคารสถาบันไทย-เยอรมัน 700 / 1 หมู่ 1 นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ถ.บางนา-ตราด กม. 57 ต.คลองตำหรุ อ.เมือง จ.ชลบุรี 20000 โทรศัพท์ 0-3821-5033-44 ต่อ 1737 โทรสาร 0-3845-6898 ผู้ประสานงาน คุณธีระพนธ์ ศรนิล