โรงรับจำนำ : ที่พึ่งยามยาก…เปิดเทอมยอดรับจำนำพุ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าการรับจำนำของธุรกิจโรงรับจำนำทั้งระบบในปี 2550 เท่ากับ 106,700 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2549 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 เนื่องจากปัจจัยหนุนหลากหลายประการโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน เมื่อผนวกกับความต้องการใช้เงินในช่วงเปิดเทอม และภาระหนี้สินที่รุมเร้า ทำให้ความต้องการใช้บริการโรงรับจำนำเพิ่มขึ้น

หลังจากเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลสงกรานต์บรรดาโรงรับจำนำทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเริ่มคึกคัก โดยคาดว่ายอดผู้เข้าไปใช้บริการโรงรับจำนำจะสูงตลอดตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ไปจนถึงช่วงเปิดภาคเรียนคือประมาณปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม เช่นเดียวกับในปี 2549 ที่ผ่านมา แต่ก็แตกต่างจากช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาที่จำนวนผู้เข้ามาใช้บริการจะหนาแน่นเฉพาะช่วง 2 สัปดาห์ก่อนเปิดภาคเรียนหรือประมาณต้นเดือนพฤษภาคม ส่วนธุรกิจโรงรับจำนำในต่างจังหวัดมีแนวโน้มคึกคักอย่างมากเช่นเดียวกับในปี 2549 เนื่องจากปัจจัยหนุนหลากหลายประการ ทำให้บรรดาโรงรับจำนำต่างต้องเตรียมเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอรองรับกับปริมาณประชาชนที่เข้ามาใช้บริการมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าโรงรับจำนำเป็นที่พึ่งยามยากของคนจน แม้ว่าธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อนของเอกชนจะเริ่มรุกมาให้สินเชื่อด้านการศึกษามากขึ้น แต่โรงรับจำนำก็ยังคงเป็นธนาคารคนยาก หรือที่พึ่งพิงของผู้ปกครองบางกลุ่ม เนื่องจากการกู้เงินจากสินเชื่อเพื่อการศึกษานั้นยังมีความยุ่งยากในเรื่องเงื่อนไขในการขอกู้ โดยเฉพาะหลักฐานในเรื่องใบรับรองเงินเดือน และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในเกณฑ์ที่สูง รวมทั้งผู้ปกครองกลุ่มนี้เคยใช้บริการโรงรับจำนำมาก่อน และมีสินทรัพย์ที่โรงรับจำนำยอมรับจำนำ ดังนั้นโรงรับจำนำจึงยังเป็นแหล่งพึ่งพิงสำคัญของผู้ปกครองกลุ่มนี้

ปี 2550…ผู้ปกครองหันพึ่งโรงรับจำนำมากขึ้น
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “ค่าใช้จ่ายเปิดเทอมปี 2550” ในช่วงระหว่าง 1-20 เมษายน 2550 โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกบรรดาผู้ปกครองนักเรียนในวันจับสลากและวันมอบตัวนักเรียน ซึ่งจะกระจายโรงเรียน/สถาบันการศึกษาให้ครอบคลุมทุกเขตการศึกษา รวมทั้งกระจายชั้นเรียนและประเภทของสถานศึกษา ผลการสำรวจพบว่าในปี 2550 พบว่ามีผู้ปกครองประมาณร้อยละ 50.0 คาดว่าจะประสบปัญหาค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมนี้เตรียมวิธีการแก้ปัญหา พึ่งพาวิธีการกู้ยืมเงิน การเปียร์แชร์ และการพึ่งพาโรงรับจำนำ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบวิธีการแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมนี้บรรดาผู้ปกครองมีทางเลือกน้อยลง เนื่องจากในปีการศึกษาใหม่นี้จำนวนทุนการศึกษาที่ช่วยเหลือนักเรียนลดลง และโอกาสในการทำงานพิเศษทั้งของบรรดาผู้ปกครองและนักเรียน/นักศึกษาลดลง

ปัจจุบันโรงรับจำนำยังคงเป็นที่พึ่งยามยากของผู้มีรายได้น้อย แม้ว่าธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อนของเอกชนจะเริ่มรุกมาให้สินเชื่อด้านการศึกษามากขึ้น แต่โรงรับจำนำก็ยังคงเป็นธนาคารคนยาก หรือที่พึ่งพิงของผู้ปกครองบางกลุ่ม โดยในปีนี้บรรดาผู้ปกครองที่มีปัญหาในช่วงเปิดเทอมจะเลือกโรงรับจำนำเป็นแหล่งพึ่งพิง 1 ใน 3 อันดับแรก แม้ว่าในปัจจุบันสถาบันการเงินจะหันมาปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมมากยิ่งขึ้น ทั้งการเข้ามารุกตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อนที่ตั้งเคาน์เตอร์ปล่อยสินเชื่อในห้างสรรพสินค้า แต่ผู้ปกครองบางกลุ่มยังคงเลือกที่จะใช้บริการโรงรับจำนำ เนื่องจากการกู้เงินจากสินเชื่อเพื่อการศึกษานั้นยังมีความยุ่งยากในเรื่องเงื่อนไขในการขอกู้ โดยเฉพาะหลักฐานในเรื่องใบรับรองเงินเดือน และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่า รวมทั้งผู้ปกครองกลุ่มนี้เคยใช้บริการโรงรับจำนำมาก่อน และมีสินทรัพย์ที่โรงรับจำนำยอมรับจำนำ ดังนั้นโรงรับจำนำจึงยังเป็นแหล่งพึ่งพิงสำคัญของผู้ปกครองกลุ่มนี้

คาดการณ์ว่าในปี 2550 นี้บรรดาผู้ปกครองที่ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมหันมาพึ่งพาโรงรับจำนำมากขึ้น กล่าวคือ ในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาบรรดาผู้ปกครองที่ปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายเปิดเทอมนั้นเลือกที่จะพึ่งพาโรงรับจำนำเป็นอันดับท้ายๆ แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจซบเซา และทางเลือกในการหาเงินเพื่อมาบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมลดลง โรงรับจำนำจึงกลับมาเป็นทางเลือก 1 ใน 3 อันดับแรก

ธุรกิจโรงรับจำนำปี’50…ยอดรับจำนำเพิ่ม16.2%
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่ามูลค่าการรับจำนำของธุรกิจโรงรับจำนำทั้งระบบในปี 2550 เท่ากับ 106,700 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2549 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 โดยแยกสัดส่วนตลาดออกเป็นโรงรับจำนำเอกชนร้อยละ 54.8 ของมูลค่ารับจำนำทั้งหมด สถานธนานุบาลในภูมิภาคร้อยละ 25.3 สถานธนานุเคราะห์ร้อยละ 13.5 และสถานธนานุบาลกทม.ร้อยละ 6.4 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจโรงรับจำนำในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้นมากอยู่สองช่วงคือ ในช่วงเปิดเทอมภาคเรียนแรก(เดือนเมษายน-พฤษภาคม) และในช่วงเปิดเทอมภาคเรียนที่สอง(เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) อย่างไรก็ตามกระแสเงินสะพัดในช่วงเปิดเทอมภาคเรียนแรกนั้นจะมากกว่าในช่วงเปิดเทอมภาคเรียนที่สอง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมภาคเรียนแรกนั้นจะสูงกว่าภาคเรียนที่สอง ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายทั้งในด้านค่าเล่าเรียน ชุดนักเรียน รองเท้าและอุปกรณ์การเรียน แต่ในภาคเรียนที่สองนั้นส่วนใหญ่มีเพียงค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าเล่าเรียนเท่านั้น คาดการณ์ว่าในปี 2550 นี้เม็ดเงินสะพัดในธุรกิจโรงรับจำนำในช่วงเปิดเทอมทั้งภาคเรียนแรกและภาคเรียนที่สองประมาณ 37,000 ล้านบาทหรือร้อยละ 35.0 ของมูลค่ารับจำนำทั้งหมด แยกเป็นเม็ดเงินสะพัดในช่วงเปิดภาคเรียนแรกประมาณ 21,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 20 ของมูลค่ารับจำนำทั้งหมด ส่วนภาคเรียนที่สองคาดว่ามีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 16,000 ล้านบาทคิดเป็นประมาณร้อยละ 15

ประเด็นที่น่าสนใจคือ เม็ดเงินสะพัดในธุรกิจโรงรับจำนำในช่วงเปิดเทอมนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2550 นี้อัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่ารับจำนำในช่วงเปิดเทอมแรก(เดือนเมษายน-พฤษภาคม)จะเท่ากับร้อยละ 40.0 เทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2549 นั้นมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 35.4 เท่านั้น

เนื่องจากในช่วงเปิดเทอมนั้นเป็นช่วงโอกาสทองของบรรดาโรงรับจำนำทั้งหลาย ดังนั้นในช่วงเปิดเทอมจึงเป็นช่วงที่จะได้เห็นบรรดาโรงรับจำนำทุกประเภทต่างงัดกลยุทธ์การตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ โดยเฉพาะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเฉพาะในช่วงเทศกาลเปิดเทอม ดังนี้

1.ธุรกิจโรงรับจำนำในกรุงเทพฯ
แม้ว่าจำนวนโรงรับจำนำไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการจำกัดใบอนุญาตประกอบกิจการ แต่ความต้องการเงินทุนหมุนเวียนของโรงรับจำนำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากราคาทองรูปพรรณที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และทองรูปพรรณนั้นเป็นทรัพย์สินอันดับหนึ่งที่ลูกค้านิยมนำมาจำนำ คาดว่าในปีนี้จำนวนผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการโรงรับจำนำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2549 โดย

-สถานธนานุบาลกทม.หรือโรงรับจำนำของกรุงเทพมหานคร คาดว่าในปี 2550 สถานธนานุบาลกทม.ก็ยังคงมีผู้มาใช้บริการมากเช่นเดียวกับในปี 2549 โดยในปี 2550 นี้ทางกรุงเทพมหานครยังคงดำเนินกลยุทธ์เช่นเดียวกับในปี 2549 กล่าวคือ เน้นกระจายผู้ใช้บริการไปทุกสาขา รวมทั้งเพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อให้บริการอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเปิดเทอมสำหรับผู้ปกครองและนักเรียน/นักศึกษา โดยผู้ปกครอง นักเรียน/นักศึกษาที่ต้องการสภาพคล่องและต้องการใช้บริการโรงรับจำนำ ได้สิทธิในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าบุคคลทั่วไป แต่ต้องนำใบเสร็จหรือใบแสดงรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการเรียนหรือสำเนาบัตรนักเรียน/นักศึกษามาแสดงควบคู่กับทรัพย์สินที่จำนำ คาดว่าในปี 2550 มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอีก 20-30 ล้านบาทต่อเดือน ปรับเพิ่มวงเงินรับจำนำทองคำ โดยปรับเพิ่มวงเงินจำนำทองจากร้อยละ 85 เป็นร้อยละ 87.5 ของราคาทอง ณ วันที่มาจำนำ ทั้งนี้เพื่อเป็นการดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันอย่างรุนแรงจากโรงรับจำนำเอกชน และเตรียมเงินสำรองไว้ให้สูงกว่าช่วงปกติ เนื่องจากในปี 2549 ทางสถานธนานุบาลกทม.ประสบปัญหาเงินสำรองไม่เพียงพอ ทำให้ในปี 2550 นี้ โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมจึงเตรียมเงินสำรองไว้ประมาณ 600-700 ล้านบาทต่อเดือนจากปกติมีเงินสำรองเพียง 400-450 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้เพื่อรองรับการเข้ามาใช้บริการของประชาชนที่มากกว่าปกติในช่วงเทศกาลสงกรานต์และช่วงเปิดเทอม

-สถานธนานุเคราะห์หรือโรงรับจำนำของรัฐบาล ในปี 2550 ทางสถานธนานุเคราะห์มีนโยบายดังนี้ เพิ่มวงเงินสำรอง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ถึงช่วงเปิดเทอมมีการเพิ่มวงเงินสำรองประมาณร้อยละ 10.0 ของวงเงินปกติ ลดดอกเบี้ยช่วงเปิดภาคเรียน ในช่วงวันที่ 17 เมษายน-16 กรกฎาคม 2550 โดยสถานธนานุเคราะห์ใช้วงเงินหมุนเวียนรองรับประชาชนที่มาใช้บริการโรงรับจำนำในช่วงเปิดเทอม 2550 โดยเฉลี่ยประมาณ 600 ล้านบาทต่อเดือน

-โรงรับจำนำเอกชน แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะแพงกว่ารัฐบาลเล็กน้อย แต่ก็มีข้อได้เปรียบในเรื่องจำนวนโรงรับจำนำที่มีอยู่มากกว่าและมีการกระจายตัวตามแหล่งชุมชนต่างๆ อีกทั้งมีการใช้กลยุทธ์การเพิ่มวงเงินรับจำนำสูงสุดต่อ 1 ใบรับจำนำ จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30,000 บาท โดยโรงรับจำนำบางแห่งอาจจะพิจารณาเพิ่มเป็นไม่เกิน 60,000 บาท การลดอัตราดอกเบี้ยเฉพาะในช่วงเปิดเทอม ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้บรรดาผู้ปกครองหันมาใช้บริการโรงรับจำนำเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มการตีราคาทองรูปพรรณจากเดิมที่เคยให้ราคาประมาณร้อยละ 90.0 ของราคาซื้อขายเป็นการตีราคาตามราคาซื้อขายทอง ณ วันที่นำทองมาจำนำ เนื่องจากในการสำรวจพบว่าทองรูปพรรณนั้นเป็นทรัพย์สินอันดับหนึ่งที่บรรดาผู้ปกครองนิยมนำไปจำนำ ซึ่งการปรับกลยุทธ์เหล่านี้คาดว่าจะสามารถกระตุ้นให้มีการใช้บริการโรงรับจำนำในช่วงเปิดเทอมได้ โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือบรรดาผู้ปกครองที่ไม่สามารถพึ่งพิงสินเชื่อเพื่อการศึกษาของภาคเอกชนได้ส่งเสริมการจำหน่ายเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ

2.ธุรกิจโรงรับจำนำในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการโดยสถานธนานุบาลภูมิภาค สังกัดกระทรวงมหาดไทย หรือที่เรียกกันว่าโรงรับจำนำของเทศบาล ปัจจุบันมีสาขา 194 แห่ง ส่วนที่เหลืออีก 2 แห่งเป็นการดำเนินการของสถานธนานุเคราะห์ สำหรับโรงรับจำนำเอกชนในต่างจังหวัดมีน้อยมาก อย่างไรก็ตามคาดว่าการแข่งขันของธุรกิจโรงรับจำนำในต่างจังหวัดจะมีมากขึ้น อันเป็นผลจากในปี 2548 รัฐบาลมีโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงรับจำนำ โดยออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงรับจำนำเพิ่มสำหรับต่างจังหวัด ซึ่งมีผู้สนใจยื่นขอใบอนุญาตกว่า 166 ราย ในพื้นที่ 51 จังหวัดทั่วประเทศ โดยพื้นที่ที่มีการยื่นขออนุญาตเข้ามามากที่สุดคือจังหวัดในแถบภาคกลาง รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ

ในปี 2550 ธุรกิจโรงรับจำนำในต่างจังหวัดมีแนวโน้มคึกคักอย่างต่อเนื่องจากปี 2549 จากการรวบรวมข้อมูลบทสัมภาษณ์ของบรรดาผู้จัดการสถานธนานุบาลในหลายจังหวัดพบว่าบรรดาผู้ปกครองในต่างจังหวัดเลือกที่จะพึ่งพิงโรงรับจำนำเป็นอันดับหนึ่งในการแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม รวมทั้งยังปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจโรงรับจำนำในต่างจังหวัดคึกคัก มีดังนี้

1.ภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาวะค่าครองชีพแต่ละครัวเรือน ผนวกกับภาระหนี้สินที่มีมากอยู่แล้ว ทั้งหนี้กองทุนหมู่บ้าน หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฯลฯ ทำให้คนในต่างจังหวัดหันไปพึ่งพาโรงรับจำนำมากขึ้นโดยการใช้บริการโรงรับจำนำนั้นยังมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้ยืมจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ รวมทั้งมีความปลอดภัยไม่ต้องเสี่ยงกับการที่ทรัพย์สินอาจสูญหาย

2.ภาวะราคาทองคำที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยปกติคนในต่างจังหวัดจะซื้อทองรูปพรรณเก็บไว้ และนำออกมาขายหรือจำนำเมื่อจำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่หรือเมื่อเงินขาดมือ แต่จากภาวะราคาทองคำที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้คนในต่างจังหวัดนิยมนำทองรูปพรรณมาจำนำกับโรงรับจำนำมากกว่าร้านทอง เนื่องจากปัจจุบันราคาจำนำทองคำกับโรงรับจำนำบาทละ 8,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.0 ต่อเดือน ซึ่งถูกกว่านำไปจำนำกับร้านทองแม้ว่าร้านทองจะตีราคาให้บาทละ 9,000-9,500 บาทแต่ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 2.5-3.0 ต่อเดือน นอกจากนี้ จากการที่ราคาทองคำมีแนวโน้มสูงขึ้นผู้ใช้บริการโรงรับจำนำบางส่วนหันมาขอปรับเพิ่มจำนวนเงินจากเดิมที่ได้จำนำทองรูปพรรณไว้แล้ว

3.ช่วงฤดูแล้ง ในช่วงกลางปีนั้นนับว่าเป็นช่วงฤดูแล้ง เมื่อผนวกกับภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นตามภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรนิยมนำเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร และเครื่องมือช่างมาจำนำด้วย โดยเฉพาะเครื่องสูบน้ำ รถไถนาเดินตาม กบไสไม้ เครื่องปั๊มลม เครื่องเชื่อมเหล็ก เป็นต้น โดยเป็นการฝากให้โรงรับจำนำดูแล ซึ่งปลอดภัยกว่าเก็บไว้ที่บ้านที่เสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม และจะมาไถ่ถอนคืนในช่วงฤดูฝน ในช่วงนี้ก็นำเงินไปหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนไปก่อน

ปรับภาพลักษณ์โรงรับจำนำ…รับการแข่งขันจากการขยายตัวของสินเชื่อบุคคล
ปัจจุบันธุรกิจโรงรับจำนำต้องมีการปรับตัวกันมากขึ้นเนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันจากธุรกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น การรับจำนำทองของร้านจำหน่ายทองรูปพรรณ และการอนุมัติสินเชื่อเงินสดของกลุ่มนอนแบงก์ อย่างไรก็ตามข้อได้เปรียบของโรงรับจำนำคือ ขั้นตอนการอนุมัติเงินกู้ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก และไม่ต้องใช้เอกสาร ไม่มีค่าธรรมเนียมในการให้กู้ รวมทั้งยังมีการปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการ ทำให้ฐานลูกค้าของโรงรับจำนำเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ลูกค้าที่มาใช้บริการโรงรับจำนำเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แต่ปัจจุบันลูกค้าของโรงรับจำนำเริ่มขยับขึ้นเป็นผู้มีรายได้ระดับปานกลางไปจนถึงเจ้าของกิจการขนาดกลางและย่อม นอกจากนี้ราคาทองคำที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และการนำทองมาจำนำที่โรงรับจำนำนั้นได้ราคาสูงกว่าการนำไปจำนำที่ร้านจำหน่ายทองรูปพรรณ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า และหากราคาทองปรับเพิ่มขึ้นก็สามารถไถ่ถอนเพื่อนำไปจำนำใหม่ได้ในราคาที่สูงกว่า

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ผู้ให้บริการการเงินส่วนบุคคลภาคเอกชน เปิดรับลูกค้าด้วยสารพัดโปรโมชั่น เงินด่วน เงินสดทันใจ ดอกเบี้ยไม่แพง ประกอบกับเทคโนโลยี การสื่อสาร ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น มีความคาดหวังต่อสินค้าหรือบริการที่สูงขึ้น ต้องการความสะดวกสบาย การรับประกัน สิทธิพิเศษและการบริการที่ตรงใจ แต่มีเวลาและความอดทนน้อยลง ภาวการณ์ดังกล่าว ธุรกิจโรงรับจำนำจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของลูกค้า ผู้ประกอบการโรงรับจำนำจำเป็นต้องปรับหลักเกณฑ์ให้มีความคล่องตัวและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เพื่อดำรงบทบาทเป็นแหล่งพึ่งพิงของผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย

โรงรับจำนำที่มีนโยบายการปรับภาพลักษณ์ที่เด่นชัดคือ สถานธนานุบาลกทม. โดยหลักการเน้นปรับภาพลักษณ์ของโรงรับจำนำให้เป็นเหมือนสถาบันการเงิน เช่น ปรับทางเข้าออก สถานที่ไม่เป็นปูนทึบแต่จะเน้นเป็นกระจกใส ไม่มีลูกกรงกั้นระหว่างพนักงานกับลูกค้า เป็นต้น ซึ่งจะเน้นให้ลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการเหมือนการไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ส่งผลให้ความพึงพอใจในการใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยทางกรุงเทพมหานครมีแผนจะปรับปรุงสถานธนานุบาลของกทม.ในความรับผิดชอบทั้งหมดให้แล้วเสร็จในปี 2550 นี้ คาดว่าหลังจากที่กทม.ดำเนินการแล้วทางโรงรับจำนำเอกชนและของรัฐบาลก็คงจะดำเนินการตามด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ

บทสรุป
ธุรกิจโรงรับจำนำเป็นหนึ่งในแหล่งพึ่งพิงในช่วงเปิดเทอมสำหรับบรรดาผู้ปกครองที่ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม คาดว่าในปี 2550 ยังคงคึกคักต่อเนื่องจากปี 2549 ทั้งธุรกิจโรงรับจำนำในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งผู้ประกอบการคาดว่าธุรกิจโรงรับจำนำจะมีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25-30 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากในปี 2550 นี้ทางเลือกของแหล่งที่มาของเงินสำหรับผู้ปกครองที่ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมมีลดลง จากจำนวนทุนการศึกษาที่ลดลงและโอกาสในการหางานพิเศษทั้งของผู้ปกครองและนักเรียน/นักศึกษาลดลง อันเป็นผลต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่ามูลค่าการรับจำนำของธุรกิจโรงรับจำนำทั้งระบบในปี 2550 เท่ากับ 106,700 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2549 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 เนื่องจากปัจจัยหนุนหลากหลายประการโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน เมื่อผนวกกับความต้องการใช้เงินในช่วงเปิดเทอม และภาระหนี้สินที่รุมเร้า อันเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความต้องการใช้บริการโรงรับจำนำเพิ่มขึ้น