ม.รังสิต จับมือรัฐบาลภูฏาน มอบทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 10 ปี

มหาวิทยาลัยรังสิต มอบทุนการศึกษาแก่รัฐบาลภูฏาน ในวโรกาสที่พระราชาธิบดี จิกมี เคซาร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ขึ้นครองราชย์ ให้กับสำนักงาน ก.พ. ภูฏาน ในความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นเวลา 10 ปี

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวภายหลังพิธีลงนามในเอกสารแสดงความเจตจำนง ในการสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระหว่างมหาวิทยาลัยรังสิต กับสำนักงาน คณะกรรมการข้าราชการ แห่งราชอาณาจักรภูฏาน โดยมี ดาโช แบพ เกซาง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ ราชอาณาจักรภูฏาน ร่วมลงนาม ว่า ความร่วมมือทางด้านการศึกษากับมิตรประเทศอย่างภูฏาน มีเหตุผลมาจากการที่พระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน องค์ปัจจุบัน ที่คนไทยเรารู้จักกันในนาม “จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก” ได้เสด็จมารับทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งพระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาของชาติ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านต่างๆ สำคัญที่สุด

“นับเป็นโอกาสดีที่มหาวิทยาลัยรังสิต จะร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระราชาธิบดีฯ ทรงขึ้นครองราชย์ เราจึงได้เสนอโครงการความร่วมมือระหว่างกันเรียกว่า “โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป ไม่ว่าจะเป็นทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หลักสูตรระยะสั้นต่างๆ ทุกด้านที่เราสามารถให้ได้ อาทิ ด้านการศึกษา ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ด้านการท่องเที่ยวฯลฯ จึงได้มีโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งทุนแรกที่ให้คือการศึกษาปริญญาโท ในหลักสูตรที่ทางมหาวิทยาลัยฯ มีอยู่ โดยให้ทุนเรียนทางด้านการศึกษาก่อนเป็นอันดับแรก” อธิการบดีฯ กล่าว

สำหรับทุนการศึกษาแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
1. ทุนทางด้านการศึกษา(หลักสูตรนานาชาติ)ระดับปริญญาโท ปีละ 5 ทุน ทุนหลักสูตรระยะสั้น 5 ทุน
2. ทุนสาขาพื้นฐานต่างๆ ที่ภูฏานต้องการ ปีละ 5 ทุน และทุนหลักสูตรระยะสั้น 15 ทุน

ส่วนด้านที่ 3 และ 4 จะเป็นการเข้าไปพัฒนาดูแลปรับปรุงโรงเรียนระดับประถม มัธยม และมหาวิทยาลัยร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีทุนการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นอีก 30 ทุน ซึ่งแล้วแต่ทางภูฏานว่าจะเลือกอะไร

ดร.อาทิตย์ ยังกล่าวอีกว่า “ทางภูฏานจะดูแลเรื่องคนที่จะมาเรียนเอง และต้องการให้เราไปเซ็น MOU ที่ภูฏานอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเรื่องนี้จะต้องรายงานท่านพระราชาธิบดีของเขาก่อน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับภูฏานด้วย“

ด้าน ดาโช แบพ เกซาง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ แห่งราชอาณาจักรภูฏาน กล่าวว่า การคัดเลือกบุคคลที่จะมารับทุนจากมหาวิทยาลัยรังสิตนั้น จะผ่านกระบวนการคัดเลือกจากระบบที่ทำกันอยู่ในภูฏาน เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมที่สุดมารับทุนการศึกษา ซึ่งปัจจุบันภูฏานยังขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และกำลังต้องการผู้มีความรู้ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านวิศวกร ด้านเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ เพื่อให้ประเทศภูฏานมีความเจริญและก้าวหน้าต่อไป

“เรามองว่าประเทศไทย ไม่ได้เติบโตเฉพาะทางด้านการค้า และเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นด้านการศึกษาด้วย สถาบันการศึกษาของไทยให้ความสำคัญทางด้านการศึกษา โดยเน้นที่คุณภาพทางการศึกษาเป็นหลัก เป็นเหตุผลให้ในหลายปีที่ผ่านมามีคนจากประเทศเราเดินทางเข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก และในอนาคตประเทศไทยจะเป็นที่หมายของคนในภูฏานเข้ามาศึกษามากขึ้น” ดาโช แบพ เกซาง กล่าว