ข้าวอินทรีย์ : ศักยภาพการตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

จากปัจจุบันผู้บริโภคตื่นตัวและห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การผลิตสินค้าเกษตรโดยพึ่งพาสารเคมีเริ่มถูกปฏิเสธและถูกกีดกันมากขึ้น ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้รับความสนใจและจะทวีความสำคัญยิ่งๆขึ้นในอนาคต ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกก็ได้มีการริเริ่มและทำการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งพืชสำคัญแรกๆที่มีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก ก็คือข้าวอินทรีย์

ข้าวอินทรีย์เป็นการผลิตข้าวที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกชนิด หรือสารสังเคราะห์ต่างๆ รวมไปถึงปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืช ในทุกขั้นตอนการผลิตเน้นการใช้สารอินทรีย์จากธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งข้อจำกัดในการขยายตัวของการผลิตคือ ความเข้มงวดในการตรวจสอบรับรองว่าเป็นข้าวอินทรีย์อย่างแท้จริง ซึ่งไทยได้กำหนดมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ในปี 2543 และจัดตั้งสำนักงานมาตรฐานอินทรีย์เพื่อเป็นองค์กรในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานพืชอินทรีย์

สำหรับตลาดข้าวอินทรีย์เกือบทั้งหมดอยู่ในต่างประเทศโดยเฉพาะสหภาพยุโรป ทั้งนี้เนื่องจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับข้าวทั่วไป ทำให้ยอดจำหน่ายข้าวอินทรีย์ในประเทศขยายตัวไม่สูงนัก อย่างไรก็ตามตลาดข้าวอินทรีย์ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันมีการส่งเสริมทั้งจากภาครัฐและเอกชนในการขยายการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์

พื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์…ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากลแล้วมีจำนวน 52,181.25 ไร่ ในแต่ละปีไทยมีปริมาณการผลิตข้าวอินทรีย์ประมาณ 15,000 ตัน ถ้าเทียบกับเมื่อเริ่มมีการปลูกข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยในปี 2535 ซึ่งมีผลผลิตเพียง 2,000 ตัน เท่ากับว่าผลผลิตข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 50.0 ต่อปี อย่างไรก็ตามเนื้อที่ปลูกข้าวอินทรีย์คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.09 ของเนื้อที่ปลูกข้าวทั้งหมดของไทยและผลผลิตข้าวอินทรีย์เท่ากับ 0.06 ของผลผลิตข้าวหมดเท่านั้น ดังนั้นไทยจึงยังมีโอกาสในการพัฒนาส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่ปลูกและผลผลิตข้าวอินทรีย์อีกมาก

แหล่งปลูกข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยร้อยละ 80.0 เป็นพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดสุรินทร์ ยโสธร อุบลราชธานี อุดรธานี มหาสารคาม ศรีสะเกษ และขอนแก่น ส่วนอีกร้อยละ 20.0 อยู่ในภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ เพชรบูรณ์และอุทัยธานี

การปลูกข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2535 โดยกรมวิชาการเกษตรให้การสนับสนุนภาคเอกชนการผลิตข้าวอินทรีย์ในจังหวัดพะเยาและเชียงราย มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณปีละ 100 ราย ในพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ นอกจากนี้มีองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอให้การสนับสนุนรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อปลูกข้าวอินทรีย์ รวมทั้งมีบริษัทเอกชนลงทุนปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อจำหน่ายโดยตรง

ราคาข้าวอินทรีย์บรรจุถุง…สูงกว่าข้าวสารบรรจุถุงร้อยละ 20.0
ราคาข้าวเปลือกอินทรีย์ที่เกษตรกรขายได้จะสูงกว่าราคาข้าวเปลือกโดยทั่วไปประมาณร้อยละ 10 ซึ่งข้าวอินทรีย์ที่ผลิตจำหน่ายในปัจจุบันมีทั้งข้าวเปลือกเจ้าอินทรีย์และข้าวเปลือกเหนียวอินทรีย์ ในส่วนที่เป็นข้าวสารบรรจุถุงจำหน่ายในประเทศมีราคาสูงกว่าข้าวสารบรรจุถุงทั่วไปประมาณร้อยละ 20 สำหรับราคาข้าวอินทรีย์ในตลาดต่างประเทศสูงกว่าราคาข้าวสารทั่วไปร้อยละ 25-30 และข้าวขาวดอกมะลิ105 อินทรีย์จะมีราคาใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์บาสมาติของอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยยังมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าว พื้นที่เพาะปลูก และเทคนิคของการปลูก ดังนั้นการขยายพื้นที่การปลูกข้าวอินทรีย์นั้นต้องเน้นการให้โอกาสเกษตรกรปรับเปลี่ยนและเรียนรู้เป็นลำดับ โดยเริ่มจากการปลูกข้าวปลอดสารพิษเพื่อไปสู่การผลิตข้าวมาตรฐานอินทรีย์หรือข้าวอินทรีย์เต็มรูปแบบ โดยสามารถจำแนกลำดับขั้นผลิตผลในระดับต่างๆ กัน ดังนี้

1.ข้าวปลอดสารพิษ หมายถึงข้าวที่ไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และวัชพืช ซึ่งถือว่าเป็นข้าวฤดูแรกที่มีเริ่มไม่ใช้สารเคมีในขั้นตอนการผลิต โดยเมื่อนำไปตรวจสอบยังพบปริมาณสารเคมีในผลผลิตข้าว เนื่องจากยังคงมีปริมาณสารเคมีสะสมในสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะในดินและน้ำที่ใช้ปลูกข้าว

2.ข้าวปฐมอินทรีย์ หมายถึงข้าวที่ได้จากแปลงข้าวที่เริ่มผลิตข้าวอินทรีย์ โดยมีการทำการเกษตรอินทรีย์เป็นบางส่วน นับเป็นข้าวในฤดูการผลิตต่อๆมา โดยปริมาณสารเคมีสะสมในดินและน้ำจะเริ่มลดลง

3.ข้าวอินทรีย์ปรับเปลี่ยน หมายถึง ข้าวจากแปลงข้าวเริ่มปลูกข้าวอินทรีย์ทั้งแปลงเป็นปีแรก และยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการจากลุ่มผู้บริโภค ซึ่งแต่งตั้งโดยสำนักงานมาตรฐานอินทรีย์

4.ข้าวมาตรฐานอินทรีย์หรือข้าวอินทรีย์เต็มรูปแบบ หมายถึงข้าวอินทรีย์ที่ได้รับการตรวจสอบรับรอง จากคณะกรรมการจากลุ่มผู้บริโภคซึ่งแต่งตั้งโดยสำนักงานมาตรฐานอินทรีย์แล้วว่าผลผลิตไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี

ราคาข้าวในแต่ละระดับมีการกำหนดฐานราคาที่ต่างกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้บรรดาเกษตรกรขยายการผลิตข้าวอินทรีย์คือ ข้าวปลอดสารพิษกำหนดราคาสูงกว่าข้าวในตลาดทั่วไป 20 ส.ต./ก.ก. ส่วนข้าวปฐมอินทรีย์ราคาสูงขึ้นจากข้าวปลอดสารพิษ 1 บาท/ก.ก. ระดับต่อๆ มาราคาจะสูงขึ้นระดับละ 1 บาท/ก.ก.เช่นกัน ซึ่งเมื่อเกษตรกรสามารถผลิตข้าวมาตรฐานอินทรีย์แล้วราคาจำหน่ายจะสูงกว่าข้าวในตลาดทั่วไปประมาณ 3.20 บาท/ก.ก.

ตลาดข้าวอินทรีย์…ตลาดส่งออกเป็นตลาดหลัก
ข้าวอินทรีย์ที่ไทยผลิตได้ร้อยละ 96 ส่งไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ คาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวอินทรีย์ในปี 2550 เท่ากับ 14,400 ตัน มูลค่า 1,500 ล้านบาท หรือทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา ตลาดหลักสำคัญคือประเทศต่างๆในยุโรป ซึ่งความต้องการข้าวอินทรีย์ของตลาดยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 15-20 ต่อปี นอกจากนี้ตลาดมีแนวโน้มที่ผู้ส่งออกข้าวอินทรีย์ของไทยจะสามารถเจาะขยายตลาดได้มากขึ้น คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

จากการสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ทั่วโลกแล้วไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์มากเป็นอันดับ 5 รองจากจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ กล่าวคือ พื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ทั่วโลกเท่ากับ 839,463 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ในจีนร้อยละ 44.7 อินโดนีเซียร้อยละ 19.4 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 10.5 เกาหลีใต้ร้อยละ 8.0 และไทยร้อยละ 6.2 อย่างไรก็ตามไทยก็ยังเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอินทรีย์อันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากทั้งจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้นั้นมีการส่งออกข้าวอินทรีย์น้อยมาก โดยผลผลิตข้าวอินทรีย์เกือบทั้งหมดบริโภคในประเทศ เพราะความต้องการบริโภคข้าวอินทรีย์ในประเทศมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในจีนโดยเฉพาะทางพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศ ความต้องการบริโภคข้าวอินทรีย์เพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจความปลอดภัยในการบริโภคอาหารมากขึ้น และผู้บริโภคมีรายได้สูงขึ้นทำให้มีความสามารถซื้อข้าวอินทรีย์บริโภคได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม จีนก็ยังเป็นประเทศที่อาจจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในอนาคต เนื่องจากรัฐบาลจีนมีการส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ และมีหน่วยงานรับรองมาตรฐานอินทรีย์เกิดขึ้นอย่างมาก

สำหรับตลาดข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 4.0 ของปริมาณข้าวอินทรีย์ที่ผลิตได้ทั้งหมด โดยข้าวอินทรีย์ที่จำหน่ายในประเทศแบ่งออกเป็น 2 ตลาดอย่างชัดเจนคือ ข้าวอินทรีย์ที่จำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรดและช่องทางขายตรง ซึ่งราคาจะค่อนข้างสูง แต่ก็เป็นข้าวมาตรฐานเดียวกับส่งออก ส่วนอีกตลาดหนึ่งจะเป็นตลาดข้าวอินทรีย์ที่จำหน่ายโดยชุมชนเกษตรกร ซึ่งวางจำหน่ายในชุมชนที่เป็นแหล่งผลิตและร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ ราคาจะต่ำกว่าข้าวอินทรีย์ประเภทแรก แต่ก็ยังสูงกว่าราคาข้าวสารปกติ

แนวโน้มในอนาคต…เพิ่มปริมาณการผลิต ส่งออกสดใส
แม้ว่าในปัจจุบันพื้นที่ปลูกและผลผลิตข้าวอินทรีย์ยังไม่ถึงร้อยละ 1.0 ของการผลิตข้าวอินทรีย์ทั้งหมด แต่หากมีนโยบายปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวปกติมาเป็นนาข้าวอินทรีย์ก็ยังคงมีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะเกษตรกรไทยในพื้นที่นาน้ำฝนทั้งในเขตภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำนาเพียงปีละครั้ง ทำให้รักษาสภาพแวดล้อมได้ด้วยตัวเองดีระดับหนึ่ง ถือเป็นพื้นที่สำหรับเปลี่ยนมาสู่กระบวนการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ได้ง่าย แต่ทั้งเกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเล็งเห็นความสำคัญของการปลูกข้าวอินทรีย์

เนื่องจากความต้องการบริโภคข้าวอินทรีย์เพิ่มขึ้นทั้งจากความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ปัจจุบันโครงการส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ แยกออกเป็นดังนี้

1.การส่งเสริมในพื้นที่ภาคเหนือ การปลูกข้าวอินทรีย์ทางภาคเหนือจะกระจายอยู่ในจังหวัดเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ เพชรบูรณ์และอุทัยธานี ปัจจุบันทางโครงการพัฒนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์สู่ตลาดโลกประสานงานหน่วยงานท้องถิ่นและกำลังจัดหาพื้นที่สำหรับการจัดทำแปลงสาธิตการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ขนาด 300 ไร่ต่อจังหวัด โดยมีเป้าหมายคือ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน กิ่งอำเภอภูเวียง จังหวัดน่าน อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ และอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งโครงการนี้จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะขยายปริมาณการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ทั้งเพื่อป้อนตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

2.การส่งเสริมในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเนื้อที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นจึงมีการส่งเสริมเพื่อการขยายการผลิตข้าวอินทรีย์ทั้งของภาครัฐและเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยภาครัฐดำเนินยุทธศาสตร์ข้าวอินทรีย์ ปี 2547-2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการขยายพื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้บริเวณลุ่มน้ำลำพลับเพลา จังหวัดสุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม 20 ตำบล ประมาณ 500,000 ไร่ และส่งเสริมพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในพื้นที่เดิม ให้สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิจาก 4,478 ตันข้าวสารในปี 2545/46 เป็น 119,707 ตันข้าวสารในปี 2550/51 ส่วนกลุ่มเอ็นจีโอ ให้การสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่เพื่อผลิตข้าวอินทรีย์ เช่น กลุ่มกรีนเน็ท สนับสนุนการปลูกข้าวอินทรีย์ในจังหวัดสุรินทร์และยโสธร

บทสรุป
ปัจจุบันไทยมีแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์คุณภาพดีกระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยทั้งเนื้อที่เพาะปลูกและปริมาณผลผลิตข้าวอินทรีย์นั้นไม่ถึงร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเนื้อที่ปลูกและปริมาณผลผลิตข้าวทั้งหมด นอกจากนี้เมื่อเทียบกับเนื้อที่ปลูกข้าวอินทรีย์ในตลาดโลกแล้วไทยยังอยู่ในอันดับ 5 รองจากจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ แม้ว่าการส่งออกข้าวอินทรีย์ของไทยยังเป็นอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากประเทศที่เป็นแหล่งปลูกข้าวอินทรีย์นั้นยังมีการบริโภคข้าวอินทรีย์ในประเทศ ดังนั้นในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงที่ไทยอาจถูกแย่งตลาดข้าวอินทรีย์หรือต้องเผชิญภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น ถ้าประเทศเหล่านี้หันมาขยายพื้นที่การผลิตข้าวอินทรีย์ โดยคู่แข่งที่น่ากลัวคือ จีน

ดังนั้นรัฐบาลและภาคเอกชนต้องเร่งส่งเสริมผลักดันให้มีการขยายการผลิตข้าวอินทรีย์อย่างจริงจังทั่วประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมความเข้าใจในหลักการผลิตข้าวอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานสากล และการจัดหาตลาดที่แน่นอน ซึ่งระบบการส่งเสริมที่ได้ผลคือ ระบบคอนแทรกฟาร์มมิ่งและระบบสหกรณ์ เนื่องจากเกษตรกรที่อยู่ในโครงการมั่นใจว่ามีตลาดรองรับผลผลิต นอกจากผลิตเพื่อส่งออกแล้ว ยังสามารถขยายการผลิตเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ เพื่อสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย

ข้าวอินทรีย์นับว่าเป็นข้าวที่มีความต้องการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพในการขยายการผลิตข้าวอินทรีย์แล้วไทยยังมีโอกาสขยายปริมาณการผลิตได้อีกมาก นับว่าเป็นโอกาสอันดีของเกษตรกรบางส่วนที่จะหันมาผลิตข้าวอินทรีย์ป้อนความต้องการของตลาดในส่วนนี้ ซึ่งในตลาดข้าวอินทรีย์นี้การแข่งขันยังไม่สูงมากเท่ากับการส่งออกข้าวทั่วไป อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญของการผลักดันให้เกษตรกรไทยเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวอินทรีย์ก็คือการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักวิชาการผลิต ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันในการสาธิตและมีโครงการรับซื้อผลผลิต ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจในการที่จะหันมาผลิตข้าวอินทรีย์