การขยายกรอบความเคลื่อนไหวค่าเงินหยวน/ดอลลาร์ฯ ของจีน

ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ธนาคารกลางจีนได้ประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่สำคัญ ดังนี้

– การปรับเพิ่มกรอบความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน จากเดิมที่อนุญาตให้ค่าเงินหยวนสามารถเคลื่อนไหวในแต่ละวันได้ในกรอบ +/- 0.3% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็นอนุญาตให้ค่าเงินหยวนสามารถจะเคลื่อนไหวในแต่ละวันได้ในกรอบ +/- 0.5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2550 เป็นต้นไป

– การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืม โดยเงินฝากระยะ 1 ปี ขยับขึ้น 0.27% จาก 2.79% มาที่ 3.06% และอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระยะ 1 ปี เพิ่มขึ้น 0.18% จาก 6.39% มาที่ 6.57% มีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2550

– การกำหนดอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นอีก 0.5% จาก 11.0% มาเป็น 11.5% โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2550

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกลางจีน ตลอดจนผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว สรุปได้ดังต่อไปนี้ :-

ระบบการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของจีน
ระบบการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของจีน มีวิวัฒนาการมาจากระบบการวางแผนจากส่วนกลาง (Centralized Planning) ที่ภาครัฐควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จในทุกๆ ด้าน โดยที่ทั้งทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยจะไม่ได้เคลื่อนไหวภายใต้กลไกตลาดเสรี ทำให้ภาคเอกชนจำเป็นต้องรอการส่งสัญญาณการกำหนดนโยบายมาจากทางการเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปในอดีต แม้ว่าจีนจะประสบความสำเร็จอย่างมากหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 2522 ดังจะเห็นได้จาก การที่จีนมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ยประมาณปีละเกือบ 10% รวมทั้งจีนสามารถเอาตัวรอดจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 มาได้โดยไม่ประสบปัญหาเหมือนกับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่โครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่มีความเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ทำให้ทางการจีนจำต้องเดินหน้าปฏิรูประบบเศรษฐกิจและระบบการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก หรือ WTO ในปี 2544 ทางการจีนได้ดำเนินการปฏิรูปภาคการเงินผ่านการทยอยผ่อนคลายกฎเกณฑ์การควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Capital Controls) การพัฒนาระบบปริวรรตเงินตรา และการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้เป็นไปตามพันธะในด้านการเปิดเสรีการค้าและบริการทางการเงิน ซึ่งการดำเนินการครั้งสำคัญสุดที่เกิดขึ้น ก็คือ การปรับเพิ่มค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นประมาณ 2.1% จาก 8.277 หยวน/ดอลลาร์ฯ มาเป็น 8.11 หยวน/ดอลลาร์ฯ ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 พร้อมกันนั้น ทางการจีนยังได้ทำการปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน จากระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (fixed exchange rate) ที่ผูกติดค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การบริหารจัดการผ่านการกำหนดค่าเงินหยวนจากตะกร้าเงินและการกำหนดกรอบความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนในแต่ละวัน (managed float against a basket of currencies with exchange controls) โดยการอนุญาตให้ในแต่ละวันค่าเงินหยวนสามารถเคลื่อนไหวได้ในกรอบไม่เกิน +/- 0.3% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ และ +/- 3.0% เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2548 จนถึงขณะนี้ (18 พฤษภาคม 2550) ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นประมาณ 5.7% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งยังนับว่าเป็นอัตราการแข็งค่าที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค และเป็นอัตราการแข็งค่าที่อาจจะน้อยเกินไปในมุมมองของนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ หากพิจารณาถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนที่ล่าสุดขยับขึ้นไปถึงระดับ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2550 ส่งผลให้ทางการจีนยังคงต้องเผชิญกับกระแสการกดดันจากนานาชาติให้เดินหน้าปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องต่อไป

เหตุผลสนับสนุนการปรับเปลี่ยนนโยบายของทางการจีนในครั้งนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การดำเนินการปรับเพิ่มกรอบความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืม ตลอดจนการเพิ่มอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ของธนาคารกลางจีนในวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา ทางการจีนคงจะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ หลังจากที่ล่าสุด เศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวในอัตราที่สูงถึง 11.1% (year-on-year) ในไตรมาส 1/2550 แม้ว่าจีนจะมีการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายในเชิงคุณภาพที่เข้มงวดมากขึ้นในระยะที่ผ่านมาก็ตาม กอปรกับ การดำเนินการดังกล่าว ทางการจีนคงจะต้องการส่งสัญญาณยับยั้งกระแสการเก็งกำไรที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นจีน รวมทั้งมุ่งหวังที่จะลดกระแสการเรียกร้องเกี่ยวกับประเด็นค่าเงินหยวนจากนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งมีทัศนะว่าเงินหยวนยังคงมีค่าที่ต่ำเกินไปเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของจีน และเป็นการดำเนินการก่อนหน้ากำหนดการประชุมหารือระหว่างผู้บริหารของสองประเทศ คือสหรัฐฯและจีน ในสัปดาห์ถัดไป (22-24 พ.ค.) ที่กรุงวอชิงตันอีกด้วย

ผลกระทบ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันที: อาจมีจำกัด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การขยายกรอบความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าอาจจะเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้เงินหยวนสามารถปรับตัวแข็งค่าได้มากขึ้น แต่โอกาสที่จะเห็นเงินหยวนแข็งค่าขึ้นในอัตราที่รวดเร็วนับจากนี้ อาจจะยังมีจำกัด หากเงินหยวนยังคงรักษาทิศทางความเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับในช่วงที่ผ่านมาไว้ได้ เพราะนับจากวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 จนกระทั่งวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 เงินหยวน/ดอลลาร์ฯ ไม่เคยขยับถึง 0.3% จากค่ากลางที่กำหนดโดยธนาคารกลางจีนในแต่ละวันเลย โดยส่วนใหญ่เงินหยวน/ดอลลาร์ฯ จะปรับตัวต่ำกว่า 0.15% จากค่ากลางที่กำหนดขึ้น และเงินหยวน/ดอลลาร์ฯ เคยขยับมากสุดที่ 0.28% จากค่ากลางที่กำหนดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เงินหยวนแข็งค่าขึ้นประมาณ 5.7% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นอัตราการแข็งค่าที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเงินบาท (แข็งค่า 19.3%) และเงินสกุลส่วนใหญ่ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเงินเปโซฟิลิปปินส์ (แข็งค่า 19.7%) เงินวอนเกาหลีใต้ (แข็งค่า 10.8%) เงินรูเปียอินโดนีเซีย (แข็งค่า 10.7%) และเงินดอลลาร์สิงคโปร์ (แข็งค่า 8.4%)

ในขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมา ทางการจีนก็ได้มีการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นทีละน้อย เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ (แตกต่างจากธนาคารกลางชาติอื่นๆ อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐฯที่มักจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเกือบทุกเดือนในช่วงวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อ) ไม่ว่าจะเป็น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตลอดจนการปรับเพิ่มอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังมีอัตราการขยายตัวที่ไม่ได้ชะลอตัวลงตามที่คาดหวังมากนัก

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า การดำเนินการในครั้งนี้ น่าจะเป็นเพียงการแสดงท่าทีให้นานาชาติรับรู้ว่าทางการจีนยังคงเดินหน้าปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ เงินหยวนก็จะยังคงอยู่ภายใต้การดูแลจากทางการจีนอยู่ เพราะจีนคงจะไม่ปล่อยให้เงินหยวนเคลื่อนไหวผันผวนหรือแข็งค่าขึ้นรวดเร็วเกินกว่าที่เศรษฐกิจภายในประเทศจะรับได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางการจีนให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเสมอมา ฉะนั้นแล้ว ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายในครั้งนี้ ก็คาดว่าน่าจะมีจำกัดต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเกินดุลการค้าของจีน โดยหากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศไม่เปลี่ยนแปลงมาก จีนก็น่าที่จะยังสามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ เงินหยวนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใต้การดูแลของทางการจีน ก็คงจะไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออก ตลอดจนฐานะการเกินดุลการค้าของจีนในระยะข้างหน้าเช่นเดียวกัน

ผลกระทบทางจิตวิทยา: เงินหยวนและเงินสกุลภูมิภาคมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น
แม้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของทางการจีนในครั้งนี้ต่อค่าเงินหยวนและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน อาจมีจำกัด แต่ความคาดหวังในระยะถัดไปที่ว่าทางการจีนอาจจะมีการปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมมากขึ้นอีก (โดยเฉพาะหากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนยังคงมียอดสะสมที่สูงขึ้น) อาจจะเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาที่กระตุ้นให้เงินสกุลภูมิภาค รวมทั้งเงินบาท มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้น เนื่องจากตลาดคาดว่าเงินหยวนมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จากแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว คงจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง (โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่เงินดอลลาร์ฯยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากของสหรัฐฯ) ซึ่งก็น่าที่จะเป็นปัจจัยหนุนสำหรับการปรับตัวของดัชนีตลาดหุ้นเอเชีย รวมทั้งตลาดหุ้นไทยที่การนำเงินเข้ามาลงทุนได้รับการยกเว้นไม่ต้องกันสำรอง 30% ตามมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ผลกระทบต่อไทย: เงินบาทมี upside gain และอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงได้อีก
ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีมาตรการกันสำรอง 30% ของเงินนำเข้าระยะสั้น และมาตรการป้องกันความเสี่ยงแบบเต็มจำนวน (Full Hedging) แต่เงินบาทก็ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อเทียบกับเงินสกุลภูมิภาคแล้ว ในรอบปี 2550 นี้ อัตราการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เป็นรองเพียงเงินรูปีอินเดียและเงินเปโซฟิลิปปินส์เท่านั้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนของทางการจีน แนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ และปัจจัยหนุนในประเทศจากแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ของไทย อาจทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มจะเดินหน้าแข็งค่าขึ้น จากระดับ 34.59 บาท/ดอลลาร์ฯ ในปัจจุบัน เข้าหาระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์ฯ ณ ปลายปี นั่นอาจหมายความว่า การที่ธปท.จะยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ของเงินนำเข้าระยะสั้น รวมทั้งมาตรการป้องกันความเสี่ยงแบบเต็มจำนวน คงจะทำได้ลำบากมากขึ้น หรือไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะใกล้นี้

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้ประเด็นเรื่องค่าเงินบาทอาจจะไม่ใช่น้ำหนักหลักสำหรับการตัดสินใจนโยบายการเงินของธปท. แต่เงินบาทที่คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้น ก็อาจมีผลช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศ และทำให้ธปท.กล้าที่จะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงมากขึ้น ท่ามกลางแนวโน้มการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอลงและอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ได้เป็นความเสี่ยงที่น่าวิตกมากเท่าในอดีต

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การประกาศปรับเพิ่มกรอบความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืม ตลอดจนการเพิ่มอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ของธนาคารกลางจีนในวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา อาจจะมีผลกระทบที่ค่อนข้างจำกัดต่อแนวโน้มค่าเงินหยวน ตลอดจนแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเกินดุลการค้าของจีน โดยในประเด็นค่าเงินหยวนนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดำเนินการในครั้งนี้น่าจะเป็นเพียงการแสดงท่าทีของทางการจีนในการปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดความกดดันจากกระแสการเรียกร้องจากนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ เพราะเป็นจังหวะเวลาการดำเนินการที่เกิดขึ้นก่อนหน้าสัปดาห์ของการประชุมหารือระหว่างผู้บริหารของสองประเทศ ในขณะที่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการเพิ่มอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ทางการจีนคงมีความมุ่งหวังที่จะชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และเป็นการสกัดกั้นกระแสการเก็งกำไรในตลาดหุ้นจีน หลังจากที่เศรษฐกิจจีนยังสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง แม้ว่าทางการจีนจะได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับเพิ่มอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์มาแล้วหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

กระนั้นก็ดี ถึงแม้ว่าผลกระทบในทันทีจากการดำเนินการในครั้งนี้ของทางการจีนอาจมีจำกัด แต่ความคาดหวังในระยะถัดไปที่ว่าทางการจีนอาจจะมีการปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมมากขึ้นอีก อาจจะเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาที่กระตุ้นให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามายังภูมิภาคเอเชีย และผลักดันให้เงินสกุลภูมิภาค รวมทั้งเงินบาท มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้น เพราะตลาดคาดว่าเงินหยวนมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นในอนาคต

โดยศูนยวิจัยกสิกรไทยมองว่า นอกจากประเด็นเรื่องค่าเงินหยวนแล้ว แนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ และแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ของไทย อาจทำให้เงินบาทยังคงเดินหน้าแข็งค่าขึ้น จากระดับ 34.59 บาท/ดอลลาร์ฯ ในปัจจุบัน เข้าหาระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์ฯ ณ ปลายปี นั่นอาจหมายความว่า การที่ธปท.จะยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ของเงินนำเข้าระยะสั้น รวมทั้งมาตรการป้องกันความเสี่ยงแบบเต็มจำนวน คงจะทำได้ลำบากมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เงินบาทที่คาดว่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นดังกล่าว ก็อาจมีผลช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศ และทำให้ธปท.กล้าที่จะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงมากขึ้น ท่ามกลางแนวโน้มการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอลงและอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ได้เป็นความเสี่ยงที่น่าวิตกมากเท่าในอดีต