การประชุม กนง. … คาดแบงก์ชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.50%

การประชุม กนง. … คาดแบงก์ชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.50%

ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2550 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง. หรือ Monetary Policy Committee) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีกำหนดจะประชุมรอบที่สี่ของปีเพื่อพิจารณาทิศทางนโยบายการเงิน หรือนโยบายอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ระดับ 4.00% หลังจากที่ธปท.ได้เริ่มต้นดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงมาตั้งแต่ต้นปีรวมกันแล้วประมาณเกือบ 1.00% (อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ณ ปลายปี 2549 ปิดที่ระดับ 4.9375%) ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงมาก โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจยังมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการเติบโตของภาคการส่งออก ในขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุน อยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่อง กอปรกับ แนวโน้มการอ่อนตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธปท.อาจมีความโน้มเอียงที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกได้มากถึง 0.50% จาก 4.00% ในปัจจุบัน สู่ระดับ 3.50% ในการประชุมวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ โดยเหตุผลสนับสนุนการคาดการณ์ดังกล่าว สามารถสรุปได้ดังนี้ :-

อัตราเงินเฟ้อไม่ใช่ความเสี่ยงที่น่าวิตกมากเท่าในอดีต

จากข้อมูลล่าสุดในเดือนเมษายน 2550 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI Inflation) ของไทย ปรับลดลงมาที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ 1.8% (year-on-year) จาก 2.0% ในเดือนมีนาคม อันเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงตามทิศทางราคาน้ำมันในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในทิศทางที่สอดคล้องกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI Inflation) ในเดือนเมษายน ขยับลงมาที่ 1.2% (year-on-year) จาก 1.3% ในเดือนมีนาคม สะท้อนการชะลอตัวลงของภาวะอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยคงจะยังมีแนวโน้มไม่กลับมาเร่งตัวสูงขึ้นจนกลายเป็นความเสี่ยงที่น่าวิตกในระยะใกล้นี้ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ได้แก่

ราคาน้ำมันตลาดโลก ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกก่อนเข้าสู่ฤดูการขับขี่ท่องเที่ยวทางซีกโลกตะวันตก และจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน ตลอดจนปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ (ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ล่าสุดวันที่ 18 พ.ค. ขยับเข้าใกล้ระดับ 70 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล) แต่ภายใต้สมมติฐานที่กำหนดให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรลไปตลอดช่วงที่เหลือของปี 2550 นี้ จะได้ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อาจมีค่าเฉลี่ยในปีนี้ที่ประมาณ 66.5 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล สูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยในปี 2549 ที่ 65 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ประมาณ 2.1% แต่ก็ชะลอลงอย่างมากเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวในปี 2549 ที่สูงถึง 19.2% จากปี 2548

ค่าเงินบาท ซึ่งยังคงมีแนวโน้มเดินหน้าแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นและมาตรการป้องกันความเสี่ยงแบบเต็มจำนวน (Full Hedging) อันเป็นผลจากการคาดการณ์การเกินดุลการค้าของไทยในปี 2550 และแนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ ตลอดจนเงินสกุลภูมิภาคที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะจากความคาดหวังที่ทางการจีนอาจดำเนินการปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ล่าสุดเพิ่งจะประกาศปรับเพิ่มกรอบความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน/ดอลลาร์ฯขึ้นอีกในวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ภาวะการใช้จ่ายในประเทศ ที่ยังอาจมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง อันเป็นผลจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ความผันผวนของราคาน้ำมัน และการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนพฤษภาคม 2550 อาจมีแนวโน้มขยับลงอีกไปที่ระดับ 1.6% (year-on-year) อันเป็นผลจากฐานการเปรียบเทียบที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า และแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นมาที่ระดับ 2.4-2.5% ในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ก็เชื่อว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว จะยังไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายของธปท.ในช่วงที่เหลือของปีนี้

แนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจ เป็นความเสี่ยงที่มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

แม้ว่าข้อมูลอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ล่าสุดจะยังคงเป็นข้อมูลในไตรมาส 4/2549 (สศช.จะประกาศข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/2550 ในวันที่ 4 มิถุนายน 2550) แต่จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของธปท.ซึ่งมีข้อมูลถึงเดือนมีนาคม บ่งชี้ว่า ภาพรวมการปรับตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญยังคงมาจากการเติบโตของการส่งออก ในขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุน อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง (ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จีดีพีในไตรมาส 1/2550 อาจขยายตัวประมาณ 3.0% ชะลอตัวลงจากอัตราการขยายตัวที่ 4.2% ในไตรมาสก่อน และจากอัตราการขยายตัวที่ 5.0% ในปี 2549) อีกทั้ง เครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดในเดือนเมษายน ก็ล้วนยังคงให้ภาพการชะลอลงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดลงเป็นเดือนที่หกติดต่อกัน มาที่ระดับ 77.6 ในเดือนเมษายน จากระดับ 78.5 ในเดือนมีนาคม

การจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐบาล ซึ่งเป็นตัวแปรที่บ่งชี้ถึงฐานะความเป็นอยู่ของประชาชน จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ประมาณไว้ 0.4% ในเดือนเมษายน อันเป็นผลหลักมาจากการจัดเก็บภาษีที่ต่ำกว่าประมาณการในภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต

ราคาสินค้าเกษตร ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นอีกเครื่องชี้วัดรายได้ของเกษตรกร มีทิศทางที่อ่อนตัวลงต่อเนื่อง โดยหดตัวลง 8.5% ในเดือนเมษายน เทียบกับที่หดตัวลง 4.6% ในเดือนมีนาคม

ยอดขายรถยนต์ทั้งระบบ ที่รวบรวมโดยบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แม้จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ก็ยังคงหดตัวลงต่อเนื่องที่ 7.3% ในเดือนเมษายน โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2550 ยอดขายรถยนต์ทั้งระบบหดตัวลงประมาณ 15.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน มีอัตราการเบิกจ่ายในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2550 (ตุลาคม 2549-เมษายน 2550) ที่ 49.5% ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งทำได้ล่าช้ากว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ 53.6%

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงประเด็นการเมืองที่อาจยังมีความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้น (ขึ้นอยู่กับความราบรื่นของการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและการจัดการเลือกตั้งทั่วไป) ตลอดจนแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันและการส่งออกของไทยในระยะถัดไป ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยขนาดที่เหมาะสม เพื่อประคับประคองภาวะเศรษฐกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการคลังผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้

การปรับตัวของตลาดสะท้อนการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกจากธปท.
จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 7 และ 14 วัน ที่ล่าสุดในวันที่ 18 พ.ค. ปิดปรับลงมาที่ 3.875% และ 3.6875% ตามลำดับ ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 4.00% ประกอบกับ การปรับตัวลดลงอย่างมากของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยนับจากการประชุมรอบหลังสุดในวันที่ 11 เม.ย. จนถึงวันที่ 18 พ.ค. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลงมาแล้ว 0.41-0.71% และล่าสุด (18 พ.ค.) อัตราผลตอบแทนพันธบัตร ประเภทอายุ 1 เดือน ถึง 15 ปี มีระดับต่ำกว่า 4.00% แล้ว นั้น สะท้อนว่า ตลาดได้มีการปรับตัวรับการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกจากธปท.ไปแล้วในระดับหนึ่ง

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในการประชุมรอบที่สี่ของปีในวันที่ 23 พฤษภาคม 2550 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจมีความโน้มเอียงที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลงอีกได้มากถึง 0.50% จากระดับ 4.00% ในปัจจุบัน มาเป็น 3.50% เนื่องจากประเมินว่า ความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อซึ่งเป็นน้ำหนักหลักสำหรับการตัดสินใจนโยบายการเงินของธปท. อาจจะยังไม่ใช่ประเด็นที่น่าวิตกในระยะต่อจากนี้ ในขณะที่ ความเสี่ยงทางด้านการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมีน้ำหนักที่ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอาจมีแนวโน้มขยับลงต่ออีกในเดือนพฤษภาคม อันเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อน และแม้ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกอาจเริ่มปรับสูงขึ้น รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่อาจมีแนวโน้มขยับขึ้นมาที่ประมาณ 2.4-2.5% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 แต่ก็เชื่อว่า แนวโน้มราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว จะยังไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ของธปท. โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนปรน ยังคงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับการเรียกฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน ตลอดจนประคับประคองภาวะเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอยลงไปมากกว่านี้ ทั้งนี้ หากธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจริงตามที่คาด ก็น่าจะนำมาสู่การทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามมาของระบบสถาบันการเงินในระยะถัดไป ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว ก็คาดว่าจะส่งผลในเชิงบวกต่อภาวะการดำเนินธุรกิจและการใช้จ่ายโดยรวมของประเทศในระยะข้างหน้า