Carry Trade: ตัวการความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

Carry Trade เป็นการทำธุรกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็งกำไรค่าเงินจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ลงทุน โดยใช้สกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำเป็นสกุลเงินระดมทุน (Funding Currency) เพื่อนำไปลงทุนในสินทรัพย์หรือตราสารการเงินที่อยู่ในรูปของสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และเมื่อครบกำหนดการลงทุนจึงค่อยแลกเงินกลับเป็นสกุลเงินระดมทุนเพื่อจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ย โดยผลประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับคือ ผลตอบแทนจากการลงทุน รวมกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนหากค่าของสกุลเงินระดมทุนปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลง ธุรกรรม Carry Trade เป็นที่นิยมมากในตลาดการเงินโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยนักลงทุนสถาบัน อาทิ กองทุน Hedge Funds บริษัทประกันภัย กองทุนบำนาญ ตลอดจนนักลงทุนรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนญี่ปุ่นได้ฉวยประโยชน์จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย ด้วยการกู้ยืมสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำ เช่น เงินเยน และเงินฟรังก์สวิส และนำเงินทุนดังกล่าวไปลงทุนในตราสารทางการเงิน หรือหลักทรัพย์อื่นๆ ที่อยู่ในรูปสกุลเงินที่มีผลตอบแทนสูงกว่า เช่น เงินดอลลาร์ฯ เงินยูโร เงินปอนด์สเตอลิงก์ เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย เงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ เงินดอลลาร์แคนาดา และสกุลเงินประเทศตลาดเกิดใหม่

ความเสียเปรียบของอัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่น
ในเดือนมีนาคม 2544 ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ เป็นครั้งแรกในฐานะมาตรการฉุกเฉินเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสินเชื่อหดตัวอย่างรุนแรง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแอของญี่ปุ่น โดยในช่วงเวลาดังกล่าว เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืด สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ อัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่นปรับตัวอยู่ใกล้ระดับ 0 % ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ และถึงแม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ประกาศยุตินโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ และกลับไปใช้นโยบายการเงินแบบดั้งเดิมในการชี้นำอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมากขึ้นไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 แต่อัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นได้ถูกปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2 ครั้งเท่านั้นหลังจากนั้น มาอยู่ที่ระดับ 0.50% ในปัจจุบัน

ในภาพที่กลับกัน ธนาคารกลางอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ G-7 ได้ทำการคุมเข้มนโยบายการเงินมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมิถุนายน 2547 จากระดับ 1% มาอยู่ที่ 5.25% ในปัจจุบัน และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคม 2548 จากระดับ 2% มาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีที่ 4% ในปัจจุบัน ทั้งนี้ตลาดอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าสะท้อนการคาดการณ์ว่า ECB มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 1-2 ครั้งในช่วงก่อนสิ้นปีนี้ ขณะที่ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ธนาคารกลางแคนาดา (BOC) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังคงอยู่ในวัฏจักรการคุมเข้มนโยบายการเงินในทำนองเดียวกัน

ภายใต้สภาวะที่สภาพคล่องของตลาดการเงินโลกอยู่ในระดับสูง ขณะที่ความผันผวนอยู่ในระดับต่ำ ตลอดจนพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงมากขึ้นของนักลงทุน ทำให้ธุรกรรม Carry Trade สามารถดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในการทำธุรกรรม Carry Trade ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็คือ นักลงทุนใช้ประโยชน์จากเงินทุนสกุลเงินเยนซึ่งอัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่นอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่ธนาคารกลางอยู่ในวัฏจักรการคุมเข้มนโยบายการเงินที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ไปลงทุนในตลาดการเงินหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้น และเมื่อพฤติกรรมนี้ถูกทำกันอย่างแพร่หลาย ผลที่เกิดขึ้นก็คือการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของเงินเยน ดังจะเห็นได้จากดัชนีค่าเงินเยนที่แท้จริงที่ร่วงลงถึง 23.5% นับจากต้นปี 2547 ในขณะที่ เงินเยนอ่อนค่าลงทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เทียบกับเงินยูโรที่ระดับ 164.59 เยนต่อยูโรเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2550 และต่ำสุดในรอบ 4 ปีครึ่งเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ที่ระดับ 123.13 เยนต่อดอลลาร์ฯ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2550 นอกจากนี้ เงินเยนยังทำสถิติต่ำสุดในรอบ 17 ปีเทียบกับเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ ต่ำสุดในรอบ 15 ปีเทียบกับเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย เงินปอนด์ และเงินดอลลาร์แคนาดา และต่ำสุดในรอบ 9 ปีครึ่งเทียบกับเงินวอนอีกด้วย

ในเอเชีย สกุลเงินเอเชียอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ เช่น เงินดอลลาร์ไต้หวัน และเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ก็ถูกใช้เป็นสกุลเงินระดมทุน (Funding Currency) ในการทำ Carry Trade ของนักลงทุนเช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินของทั้งไต้หวัน และสิงคโปร์ ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำมากเป็นเวลานาน ในขณะที่ สกุลเงินในเอเชียที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น เงินเปโซ เงินรูเปียห์ เงินรูปี และเงินบาท และสกุลเงินของประเทศในกลุ่ม Emerging Markets เป็นสกุลเงินที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการเข้าทำ Carry Trade ของนักลงทุน ในกรณีของประเทศไทย เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นถึง 12% ในปี 2549 โดยมีแรงหนุนหลักมาจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับธุรกรรม Carry Trade แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการควบคุมเงินทุนระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในเดือนธันวาคม 2549 ตลอดจนการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธปท. โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1.5% จากปลายปี 2549 ก็น่าจะทำให้แรงจูงใจในการทำ Carry Trade ในสินทรัพย์สกุลเงินบาทลดลง

การระบายธุรกรรม Carry Trade ในช่วงที่ผ่านมา
ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า การทำ Carry Trade เป็นธุรกรรมที่ได้รับความนิยมมาก แต่เมื่อใดก็ตามที่ตลาดการเงินหันกลับมาระมัดระวังความเสี่ยง โดยการระบายการถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ก็จะทำให้มีการระบายธุรกรรม Carry Trade (Unwinding of Carry Trade) ด้วยการเทขายสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูง แล้วทำการซื้อคืนสกุลเงินระดมทุน (เช่น เงินเยน) เพื่อชำระคืนหนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนได้ ดังเช่น ความผันผวนในช่วงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 และช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา

ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ (27 กุมภาพันธ์ 2550) สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การร่วงลงของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ต่อเนื่องไปยังตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย/แปซิฟิก และทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงอย่างหนัก โดยความปั่นป่วนดังกล่าวเริ่มจากการปรับตัวลง 8.8% ของตลาดหุ้นจีน ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี ในวันเดียวกัน ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลงประมาณ 2-3% ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงอย่างหนักเช่นกัน โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 3.3% (นับเป็นอัตราการปรับตัวลงรายวันที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี) ดัชนี Nasdaq ปรับตัวลง 3.9% และดัชนี S&P 500 ปรับตัวลง 1.1 % นอกจากนี้ ดัชนี MSCI สำหรับหุ้นตลาดเกิดใหม่ และดัชนี MSCI ของตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลง 3.1% และ 2.5% ตามลำดับ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และร่วงลงต่อเนื่องอีก 4 วันถัดมา ส่วนตลาดหุ้นในเอเชียเข้าร่วมกระแสความปั่นป่วนในวันต่อมา (วันที่ 28 กุมภาพันธ์) โดยปรับลดลงประมาณ 2-3% ขณะที่ ดัชนีนิกเกอิปรับตัวลง 2.9% ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายคนลงความเห็นในขณะนั้นว่า สุนทรพจน์ของนายอลัน กรีนสแปน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่กล่าวเตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะเผชิญกับภาวะถดถอยในครึ่งหลังของปี 2550 เป็นตัวกระตุ้นให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลง พร้อมๆ กับการระบายธุรกรรม Carry Trade

ผลกระทบต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนที่เคยเก็งกำไรผ่านธุรกรรม Carry Trade ต้องยอม Cut Loss และทำการระบายการถือครองธุรกรรม Carry Trade ออกไปบางส่วนเมื่อตลาดมีความเชื่อว่า เงินเยนจะกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานที่สนันสนุนอยู่เบื้องหลังคือ การประกาศตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 4/2549 ของญี่ปุ่นในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ออกมาสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์อย่างมาก และผลที่เกิดขึ้นจริงในครั้งนี้ก็คือ การแข็งค่าขึ้นทั่วกระดานของของเงินเยน โดยเงินเยนแข็งค่าถึง 2.2% เทียบกับเงินดอลลาร์ฯ จากระดับปิดตลาดนิวยอร์กวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ 120.57 สู่ระดับ 117.93 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นอกจากนี้ เงินเยนยังแข็งค่า 1.7% เทียบกับเงินยูโร แข็งค่า 2.9% เทียบกับเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย แข็งค่า 3.7% เทียบกับเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ และแข็งค่า 2.7% เทียบกับเงินดอลลาร์แคนาดาอีกด้วย

ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2549 ภาพที่เกิดขึ้นก็คือ ตลาดการเงินทั่วโลกมีการปรับฐานอย่างรุนแรงเช่นกัน แต่จะมีความแตกต่างจากการปรับตัวในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 อยู่ 2-3 ประเด็น กล่าวคือ จุดชนวนของการระบาย Carry Trade ในรอบนี้คือ การที่นักลงทุนมีความวิตกเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในหลายๆ ประเทศ ทั้งในสหรัฐฯ ยูโรโซน ตลอดจนตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ สกุลเงินที่แข็งค่าจากการปรับฐานในครั้งนี้ คือ เงินดอลลาร์ฯ และเงินเยน (เมื่อเทียบกับเงินสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงอื่นๆ ยกเว้นเงินดอลลาร์ฯ) ทั้งนี้ นักลงทุนมีความกังวลว่า แนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของหลายๆ ประเทศดังกล่าว อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งทำให้นักลงทุนพากันเทขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม–ปลายเดือนมิถุนายน 2549 อาทิ หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ และสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ และเข้าถือเงินดอลลาร์ฯ และพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งถือเป็นแหล่งลงทุนที่มีความปลอดภัย ขณะที่ สกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงอื่นๆ เช่น เงินปอนด์ เงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย เงินดอลลาร์แคนาดา และเงินยูโร ถูกเทขายอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ และเงินเยน

ปัจจัยที่ต้องจับตา
แม้การประเมินมูลค่าของการทำธุรกรรม Carry Trade ในระบบการเงินโลกจะมีความยากลำบาก และแม้ว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของญี่ปุ่นจะออกมากล่าวแสดงความคิดเห็นว่า มูลค่าของการทำธุรกรรม Carry Trade เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกรรมรวมทั้งหมดในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดการเงินไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการระบายการถือครองธุรกรรม Carry Trade หรือมีการถอนการลงทุนในตลาดการเงินเพื่อลดพันธะผูกพันในหนี้สกุลเงินเยน หรือทำการชำระคืนเงินกู้จากญี่ปุ่น ก็อาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนได้ ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น และเมื่อความสำเร็จของการทำ Carry Trade เพื่อเก็งกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสกุลเงินที่เป็นเป้าหมายจะต้องไม่อ่อนค่าลงอย่างมาก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสกุลเงินระดมทุนจะต้องไม่กลับไปแข็งค่าขึ้นแล้ว ปัจจัยที่ควรจับตาเป็นพิเศษในระยะถัดไปก็คือ

1) การเข้าแทรกแซงของหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกลางของประเทศที่มีความได้เปรียบด้านอัตราดอกเบี้ย อาจมีความกังวลต่อการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของสกุลเงินในประเทศ โดยที่ไม่ได้เป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ที่เข้าแทรกแซงตลาด (ในวันที่ 11 มิถุนายน 2550) เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการเข้าแทรกแซงค่าเงินนับตั้งแต่มีการปล่อยลอยตัวค่าเงินในปี 2528 โดยการแทรกแซงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากธนาคารกลางนิวซีแลนด์ได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 8% ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2550 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้เงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 22 ปีเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ และสูงสุดในรอบ 17 ปีเทียบกับเงินเยนในวันถัดมา (8 มิถุนายน 2550)

ในขณะที่ ธนาคารกลางของประเทศที่สกุลเงินถูกใช้เป็นสกุลเงินระดมทุนอาจมีความกังวลเช่นกัน หากสกุลเงินของประเทศปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการทำธุรกรรม Carry Trade ดังจะเห็นได้จากธนาคารกลางไต้หวันที่ได้เรียกประชุมธนาคารพาณิชย์เพื่อหารือเกี่ยวกับการปริวรรตเงินตรา หลังจากที่ได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ไต้หวันในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ไต้หวันอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2550 ถึงช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2550 หรือคิดเป็นการอ่อนค่าประมาณ 2.6% จากระดับสิ้นปี 2549 ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน เมื่อธนาคารกลางของประเทศที่สกุลเงินถูกใช้เป็นเป้าหมายของการทำ Carry Trade เข้าแทรกแซงด้วยการซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในขณะที่ ธนาคารกลางของประเทศที่สกุลเงินถูกใช้เป็นสกุลเงินระดมทุนเข้าแทรกแซงด้วยการขายเงินดอลลาร์ฯ ก็จะทำให้เงื่อนไขของการทำ Carry Trade ให้มีกำไรพบกับอุปสรรค เมื่อสกุลเงินที่ถูกใช้ระดมทุนมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่สกุลเงินที่มีผลตอบแทนสูงเสื่อมค่าลงเรื่อยๆ ก็จะส่งผลทำให้กำไรจากความแตกต่างของผลตอบแทนจากการลงทุนถูกหักล้างด้วยการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน และเมื่อนักลงทุนเชื่อว่า แนวโน้มดังกล่าวจะดำเนินต่อไป ก็อาจทำให้เกิดการปรับฐานของธุรกรรม Carry Trade อย่างรุนแรงตามมาได้

2) การปรับฐานอย่างรุนแรงของตลาดการเงินโลก ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งทำให้เกิดการระบายธุรกรรม Carry Trade อย่างรุนแรงนั้น ทำให้นักลงทุนทั่วโลกมีความระมัดระวังการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น และเมื่อประกอบกับถ้อยแถลงของนายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟด เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมาว่า ภาวะเฟื่องฟูของตลาดหุ้นจีนในระยะนี้ไม่มีความยั่งยืน และจะมีการหดตัว (ปรับฐาน) ครั้งใหญ่ในอนาคต ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเริ่มประเมินความเสี่ยงใหม่อีกครั้ง และหากมีแนวโน้มว่า การปรับฐานระลอกใหม่ของตลาดการเงินโลกกำลังจะเกิดขึ้น การระบายธุรกรรม Carry Trade อย่างรุนแรงก็มีโอกาสเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
3) แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศที่สกุลเงินถูกใช้ระดมทุน ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ญี่ปุ่น หากเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน และต่อเนื่องก็อาจทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และเมื่อต้นทุนของสกุลเงินที่ใช้ระดมทุนปรับเพิ่มสูงขึ้นก็อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการระบายธุรกรรม Carry Trade และเมื่อนักลงทุนมีความตื่นตระหนกมากขึ้นก็อาจนำไปสู่การเทขายหุ้นและสินทรัพย์ในประเทศอื่นที่เคยลงทุนไว้ เพื่อกลับไปซื้อคืนเงินเยน (ที่มีการขายไว้ในช่วงก่อนหน้านี้) เพื่อชำระคืนเงินกู้สกุลเงินเยน ซึ่งผลในท้ายที่สุดก็คือ การกลับมาแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินที่เคยถูกใช้ระดมทุน (เงินเยน) นั่นเอง

ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของญี่ปุ่นสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังจะเห็นได้จากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าสหรัฐฯ และยูโรโซนเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน โดย GDP ญี่ปุ่นเติบโตขึ้น 0.8% จากไตรมาสก่อนหน้า หรือขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบเป็นรายปีในไตรมาส 1/2550 ซึ่งการใช้จ่ายด้านทุนขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และในขณะนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงอยู่ในช่วงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยาวนานที่สุดในยุคหลังสงครามโลก พร้อมๆ กับแนวโน้มของการฟื้นตัวทางด้านการบริโภค ภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน และการปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปีของราคาที่ดินในญี่ปุ่นในปี 2548

ผลกระทบต่อไทยหากมีการปรับฐานของธุรกรรม Carry Trade
หากนักลงทุนทำการระบายธุรกรรม Carry Trade ผลที่เกิดขึ้นต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนก็คือ การปรับตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินเยน ซึ่งในเบื้องต้นก็อาจทำให้สกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นตาม แต่อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค และเงินบาทอาจเป็นไปในอัตราที่น้อยกว่าการแข็งค่าของเงินเยน ดังตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นถึง 2.2% แต่เงินในภูมิภาคค่อนข้างทรงตัว ขณะที่ เงินบาทในวันนั้นแข็งค่าขึ้นเพียง 0.3% เท่านั้น ดังนั้นผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทตามทิศทางของเงินเยนที่ถูกซื้อคืนจากการปรับฐานธุรกรรม Carry Trade อาจมีจำกัด ขณะที่ ผลทางด้านบวกนั้นอาจมีมากกว่า หากการระบายธุรกรรม Carry Trade มีเหตุผลเบื้องหลังมาจากการฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทั้งในด้านการบริโภค และการลงทุน ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อในประเทศค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น และหนุนให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับเพิ่มขึ้นมา เนื่องจากการปรับฐานดังกล่าวอาจเป็นจุดเริ่มต้นระลอกใหม่ของกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นสู่ประเทศในแถบเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะทำให้ไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชียได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในครั้งนี้

กล่าวโดยสรุป Carry Trade เป็นการทำธุรกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็งกำไรค่าเงินจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ลงทุน โดยใช้สกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำเป็นสกุลเงินระดมทุน (Funding Currency) เพื่อนำไปลงทุนในสินทรัพย์หรือตราสารการเงินที่อยู่ในรูปของสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และเมื่อครบกำหนดการลงทุนจึงค่อยแลกเงินกลับเป็นสกุลเงินระดมทุนเพื่อจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ดังนั้น Carry Trade จึงเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้กลไกตลาดเงินเสรี เมื่ออัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนของสกุลเงินมีความแตกต่างกัน

จากประสบการณ์ของการปรับฐานธุรกรรม Carry Trade ที่ผ่านมาจะเห็นว่า การระบายธุรกรรม Carry Trade มักจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการระบายการถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะหุ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง และผลที่เกิดขึ้นกับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนก็คือ การปรับตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินที่เคยถูกใช้เป็นสกุลเงินระดมทุน (เงินเยน) จากแรงซื้อคืนของนักลงทุนที่ต้องการปิดความเสี่ยง ซึ่งผู้ประกอบการควรเตรียมการและปรับตัวเพื่อรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว โดยปัจจัยที่ควรจับตาเป็นพิเศษก็คือ สัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ตลอดจนมาตรการทางเศรษฐกิจและความพยายามในชะลอความร้อนแรงของตลาดหุ้นของจีน แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบด้านลบที่จะเกิดจากการระบายธุรกรรม Carry Trade อาจไม่มากนัก เมื่อเทียบกับผลด้านบวก หากการปรับตัวดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่สกุลเงินถูกใช้ในการระดมทุน เนื่องจากการฟื้นตัวดังกล่าวอาจเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านการลงทุนโดยตรงที่เพิ่มขึ้นจากญี่ปุ่น ขณะที่ การแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นไปในอัตราที่น้อยกว่าการแข็งค่าของเงินเยน ซึ่งก็จะทำให้ไทยยังคงสามารถได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ««