บทสัมภาษณ์ในรายการ “Executive Hard Talk” ของคุณวิกร วิวิธคุณาภรณ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัท ดี คอมพิวเตอร์ จำกัด หนึ่งในยักษ์ใหญ่ ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้าคอมพิวเตอร์ ได้เปิดเผยถึง กลยุทธ์ในการบริหารงาน ที่สร้างความภาคภูมิใจในการแก้ไขปัญหาสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาด้วยหลักธรรม ซึ่งคุณวิกรเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงคนเดียว และเป็นคนไทย ในสภาวะที่เกิดปัญหา “เศรษฐกิจฟองสบู่” ไม่มีความคิดแม้แต่จะขายหุ้นให้ต่างชาติ แต่พยายามที่จะใช้สำนึก และคุณธรรมต่อกัน ในการแก้วิกฤต จนถึงวันนี้มีจัดจำหน่ายสินค้ารวมมูลค่ากว่า 6,000 บาท และยังคงมุ่งมั่นต่อไปอย่างมั่นคง
ผู้บริหารองค์กรในช่วงนี้คงอยู่สภาวะการณ์ยากลำบากที่คล้ายคลึงกัน ภาพรวมของประเทศที่ดูไม่สดใสและเต็มไปด้วยปัญหา หลาย ๆ องค์กรต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อเอาตัวรอดและเพื่อสร้างกำไรให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผมได้ยินผู้บริหารระดับสูงหลายท่านพูดเรื่องการบริหารจัดการในสภาวะวิกฤต (Crisis Management) ซึ่งเริ่มมีการนำมาใช้แล้ว เช่น การลดต้นทุน การลดพนักงาน การปรับลดสาขา หรือแม้แต่การควบรวมกิจการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลยุทธ์การลดต้นทุนที่ดูจะกระทบกับพนักงานและคู่ค้า รวมไปถึงหากทุก ๆ องค์กรทำเหมือนกัน ก็อาจจะกระทบเศรษฐกิจโดยรวมซ้ำไปอีก วันนี้ผมอยากเสนอมุมมองการแก้ปัญหาอีกมุมหนึ่ง ซึ่งดีคอมพิวเตอร์เคยใช้ผ่านวิกฤตปี 2540 อย่างได้ผลมาแล้ว วิธีการนี้เรียกว่า “การบริหารแบบมีสำนึกที่ดีและมีคุณธรรม”
การบริหารแบบมีคุณธรรมในความหมายของผมคือสิ่งที่ผู้ให้และผู้รับมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเห็นชอบด้วยความสมัครใจ พูดง่าย ๆ คือการตัดสินใจใด ๆ ขององค์กรนั้นต้องคิดถึงผลประโยชน์ร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จากประสบการณ์กว่า 20 ปีของผม ผมพบว่าองค์กรที่อยู่ได้อย่างมั่นคงนั้น ไม่เพียงแค่ผู้บริหารหรือพนักงานเท่านั้นที่มีส่วนสำคัญ ลูกค้า คู่ค้า ผู้ผลิตสินค้า ที่มีความเกี่ยวข้องในขบวนการทางธุรกิจมีบทบาทในการประคับประคององค์กรไม่น้อยไปกว่ากันเลย ยามองค์กรเผชิญสภาวะวิกฤต ทุกฝ่ายหรือพันธมิตรต่าง ๆ ที่คอยสนับสนุนธุรกิจของเราก็จะเผชิญสภาวะวิกฤตเช่นเดียวกัน ทุกคนมีความเสี่ยงเดียวกัน ซึ่งหากองค์กรมองเห็นจุดร่วมนี้แล้วมีการพูดคุยประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับตัวร่วมกันในทุก ๆ ด้าน ผมมั่นใจว่าองค์กรจะผ่านสภาวะที่ยากลำบากได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าในช่วงปี 2540 ดีคอมพิวเตอร์ก็เผชิญสภาวะวิกฤตด้านค่าเงิน เช่นเดียวกับผู้ค้าส่งไอทีทั้งหลายในประเทศ สิ่งที่ผมทำในวันนั้นคือการเดินเข้าไปหาธนาคารที่เป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน และบอกว่า “ผมจะเป็นลูกหนี้ที่ดี ” พร้อมทั้งแผนการต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ หรือ Supplier รวมไปถึงการคิดถึงคู่ค้า โดยการให้ราคาสินค้าและเครดิตเทอมที่เป็นธรรมเหมาะกับสถานการณ์ พูดได้ว่าวิกฤตคราวนั้นกลับเป็นโอกาสของดีคอมพิวเตอร์ จนสร้างความเติบโตมาถึงทุกวันนั้น
อีกข้อคือ “การมีสำนึกที่ดี” ในความหมายของผมคือ การทำธุรกิจปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันอย่างสูง บางครั้งทำให้พวกเรากลายเป็นคนไร้น้ำใจโดยไม่รู้สึกตัว สิ่งที่ผมอยากฝากไว้คือ เราควรมองทุกฝ่ายด้วยความเป็นมนุษย์ มีความรู้สึกเช่นเดียวกับเรา สำนึกที่ดีคือการที่มองและแปลเจตนาต่าง ๆ ต่อกันด้วยความรู้สึกที่ดี อาจพูดแบบฝรั่งว่าควรมี Positive Thinking ต่อกันและกัน คนเก่งแค่ไหนก็ตามหากขาดสิ่งนี้จะไม่มีวันประสบความสำเร็จเพราะจะขาดเพื่อนและผู้สนับสนุน ผมเชื่อเหลือเกินว่าไม่มีความสำเร็จใดๆ ที่จะยั่งยืน หากความสำเร็จนั้นปราศจากเพื่อนที่มีความสุขที่ยืนอยู่ข้างเรา ธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนหากขาดคุณธรรมต่อพนักงาน ต่อคู่ค้า ต่อผู้ลงทุนและต่อ Supplier การมีสำนึกที่ดี คิดเชิงบวกต่อกัน จะทำให้ทุกฝ่ายจับมือกันเพื่อเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ นี่ละ คาถาฝ่าวิกฤตของผม