โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (Industrial Technology Assistance Program : iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ผลักดันอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราไทยให้มีคุณภาพ พร้อมแข่งขันได้ในตลาดโลก ด้านอีสโคสต์ กรุ๊ป ปลื้มหลังเข้าร่วมโครงการอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 5-10% ทุกปี พร้อมขยาย 2โรงงานใหม่รองรับการแข่งขัน
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สายงานการถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจุบันอุตสาหกรรมไม้ยางพาราไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตของประเทศไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา แต่ผู้ประกอบไทยเองยังประสบปัญหาสำคัญ คือ ปัญหาการพัฒนากระบวนการผลิตให้ถูกต้อง รวมถึงเทคโนโลยีการแปรรูป ซึ่งส่งผลอัตราการสูญเสียไม้และต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น iTAP ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการพัฒนาศักยภาพของ SMEs ให้มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้น มีนวัตกรรมและส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงเข้ามามีส่วนช่วยปรับปรุงกระบวนต่างๆ ในการผลิตให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและแข่งขันได้ในตลาดโลก
ด้านนายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสโคสต์ กรุ๊ป จำกัด หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา เพื่อการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ ภายใต้แบรนด์ “ELEGA” และเจ้าของรางวัลออกแบบผลิตภัณฑ์ดีเด่นประจำปี 2547 หรือรางวัล Prime Minister’s Export Award 2004 จากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า บริษัทได้เข้าร่วมโครงการ iTAP ตั้งแต่ปีพ.ศ.2544 โดยได้รับความช่วยเหลือ 2 โครงการ คือ โครงการ “การพัฒนาการตรวจสอบคุณภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา” ที่ได้ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาแนะนำให้บริษัทฯ สามารถนำวิธีการต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับการ อบไม้ ขณะที่โครงการ “การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเฟอร์นิเจอร์” นั้น iTA (Industrial Technology Advisor) ได้เสาะหาผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมัน จากองค์กร Senior Expert Service (SES) มาช่วยศึกษาโครงสร้างองค์กรด้านการผลิต และให้คำแนะนำอบรมงานด้านการวางแผนการผลิต ทำให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาวิธีการต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในโรงงานได้เป็นอย่างดี
“iTAP ได้เข้ามาช่วยให้ความรู้และคำปรึกษาเพื่อพัฒนากระบวนการผลิต ตั้งแต่การนำไม้มาเลื่อยในโรงงาน การปรับตั้งการอัดน้ำยาในไม้ให้มีแรงอัดที่พอดี เทคนิคการอบไม้ และกระบวนการคัดเลือกไม้เพื่อนำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์ จนถึงการตรวจสอบไม้ว่ามีความเหมาะสมมาเป็นวัตถุดิบที่ดีหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ เป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเมื่อมีการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์มากขึ้นแล้ว ทำให้อัตราการสูญเสียไม้ลดน้อยลง นอกจากนี้ภายหลังจากจบโครงการ บุคลากรของเรามีองค์ความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการผลิตที่ถูกต้องมากขึ้นอีกด้วย เป็นทั้งการสร้างงานและสร้างคนให้กับเราด้วย” นายอารักษ์ กล่าว
กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสโคสต์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง 5-10 % ทุกปี โดยภายในปี 2550นี้ ตั้งเป้าให้มีอัตราเติบโตโดยรวมทั้งการส่งออกยังต่างประเทศและในประเทศ 20% เนื่องจากในปีนี้มีการพัฒนาบุคลากร และเทคโนโลยีมีความพร้อมมากขึ้น อีกทั้งกระบวนการผลิตยังมีการจัดการที่ดี นอกจากนั้นบริษัทฯ ยังได้ขยายโรงงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 2 แห่ง คือ โรงงาน V-Chats Industry เพื่อประกอบธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา โดยเฉพาะตู้และเตียง และโรงงาน V-Chats D?cor เพื่อประกอบธุรกิจการผลิตกระดาษ (Printing Paper) ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในเฟอร์นิเจอร์ ในเขตพื้นที่ อ.วงจันทร์ จ. ระยอง อีกด้วย
เกี่ยวกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2548 ภายใต้ สวทช. พันธกิจหลักคือการนำความสำเร็จของผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศสู่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการให้การสนับสนุนและการให้บริการในรูปแบบต่างๆ อย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ของภาคธุรกิจ สังคมและชุมชน อันนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
ภารกิจหลักที่สำคัญของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ประกอบด้วย การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน , การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์