รังนกนางแอ่น : คาร์เวียแห่งตะวันออก…ทองคำขาวแห่งท้องทะเล

รังนกนางแอ่นนับว่าเป็นหนึ่งในบรรดาอาหารที่ได้รับการยกย่องว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูงและรสชาติดี โดยมีชื่อเรียกว่า “คาร์เวียแห่งตะวันออก” อีกทั้งยังมีความเชื่อว่ารังนกนางแอ่นนั้นมีสรรพคุณทางยาช่วยรักษาโรคทางเดินหายใจ บำรุงปอด เพิ่มโลหิต บำรุงพลังทางเพศ และมีคุณสมบัติยับยั้งการตกตะกอนของเม็ดเลือดซึ่งเท่ากับเป็นการลดโอกาสเกิดการอุดตันในเส้นเลือด แต่ด้วยรังนกนางแอ่นนั้นเป็นผลผลิตทางธรรมชาติที่มีเฉพาะบางแหล่งเท่านั้น รวมทั้งความยากลำบากในการเข้าไปเก็บรังนกและกรรมวิธีการทำความสะอาดรังนกก่อนจะนำมาบริโภค ทำให้ราคารังนกนางแอ่นนั้นอยู่ในเกณฑ์สูง ดังนั้นในบางครั้งจึงนิยมเรียกรังนกนางแอ่นว่า “ทองคำขาวแห่งท้องทะเล” โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรังนกนางแอ่นนั้นในแต่ละปีสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ความต้องการรังนกนางแอ่นทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการรังนกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีธุรกิจการสร้างบ้านให้นกนางแอ่นเพื่อเก็บรังนก นับว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ดีทีเดียว เนื่องจากในปัจจุบันรังนกนางแอ่นจากธรรมชาติเริ่มมีปริมาณน้อยลง

รังนกนางแอ่น…ผลิตภัณฑ์ที่นิยมบริโภคของไทย
นกนางแอ่นเริ่มทำรังครั้งแรกได้ในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งผู้ที่เก็บรังนกหรือแทงรังจะปล่อยให้นกทำรังเป็นเวลาราว 100 วัน จึงจะเริ่มเก็บรังนกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นนกจะเริ่มทำรังครั้งที่ 2 ซึ่งผู้ที่เก็บรังนกจะปล่อยให้นกทำรังเป็นเวลา 20 วันจึงจะเริ่มเก็บรังนกในราวเดือนมิถุนายน เมื่อถูกเก็บรังครั้งที่ 2 นกนางแอ่นจะเริ่มสร้างรังใหม่อีกเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งการสร้างรังจะกินเวลาราว 40 วันกว่าจะเสร็จ ผู้เก็บรังนกจะเริ่มเก็บรังนกในเดือนกรกฎาคม การเก็บรังนกแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน รังนกที่เก็บได้นั้นจะมีการคัดแยกระหว่างรังที่มีขนาดใหญ่และสวย และรังเล็ก รวมทั้งแยกรังสีขาว รังสีแดง(เป็นรังนกที่เก็บได้จากการทำรังครั้งที่สองและครั้งที่สาม) และรังสีดำ(รังของนกนางแอ่นสีดำ) โดยใช้มีดตัดรังนกที่ติดกับผนังถ้ำออก แปรงสิ่งสกปรก แล้วนำไปตากลมให้แห้งสนิทจึงนำบรรจุหีบ ส่วนรังนกสีดำบรรจุกระสอบป่านแยกไว้ต่างหาก เนื่องจากราคาจำหน่ายจะต่ำกว่ารังนกสีขาว

ปัจจุบันมีการประกาศในพระราชกฤษฎีกาตั้งแต่ปี 2484 กำหนดให้เกาะที่มีนกนางแอ่นอาศัยอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตหวงห้ามจำนวน 104 เกาะ นอกจากนี้พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 (มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่14 ตุลาคม 2540 พื้นที่ใช้บังคับในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง กระบี่ ตรัง พังงา สตูล และตราด ส่วนในจังหวัดอื่นจะใช้บังคับ เมื่อใดให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา สาระสำคัญห้ามมิให้ผู้ใดเก็บรังนกที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนเกาะ หรือในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ได้รับสัมปทาน ผู้รับสัมปทานจะเก็บรังนกได้ไม่เกินปีละสามครั้ง ตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัมปทาน เงินอากรรังนก ให้จัดสรรแก่ราชการส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนั้น ในกรณีที่จำนวนเงินอากรมีจำนวนไม่เกินสามล้านบาท ให้จัดสรรเงินอากรดังกล่าวให้ราชการส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดเก็บรังนกนั้นทั้งหมด ในกรณีที่จำนวนเงินอากรมีจำนวนเกินสามล้านบาท ให้จัดสรรเงินอากรจำนวนสามล้านบาทแรกให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดเก็บรังนกนั้น สำหรับจำนวนเงิน อากรที่เกินสามล้านบาท ให้จัดสรรจำนวนร้อยละสี่สิบของเงินดังกล่าว ให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดเก็บรังนกนั้น ส่วนจำนวนอีกร้อยละหกสิบของเงิน ดังกล่าวให้จัดสรรให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในจังหวัดเดียวกัน โดยที่กรมสรรพกรจะเป็นผู้จัดแบ่งให้มีผู้ขออนุญาตตามกำหนดระยะเวลาและกำหนดสถานที่ที่จะจัดเก็บ โดยผู้ที่จะได้รับอนุญาตเก็บนั้นต้องมีการประมูลอากรการเก็บรังนก ผู้ที่ประมูลเงินอากรสูงสุดจะเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการเก็บรังนก

ตลาดรังนกในประเทศ…เติบโตต่อเนื่องจากกระแสรักสุขภาพ
ตลาดรังนกนางแอ่นในประเทศไทย แยกออกได้เป็น ดังนี้
รังนกนางแอ่นที่วางจำหน่ายตามร้านขายยาแผนโบราณและร้านขายยาจีน ซึ่งมีการรับรองว่าเป็นรังนกแท้ ราคาจำหน่ายของรังนกนางแอ่นคุณภาพดีสูงถึง 35,000-60,000 บาทต่อกิโลกรัม และถ้าเป็นเกรดธรรมดาจะมีราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 5,500-20,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของรังนก อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายรังนกตามร้านขายยานั้นจะชั่งน้ำหนักเป็นบาท (1บาทหนัก 15 กรัม)

การจำหน่ายเป็นรังนกสำเร็จรูป แยกออกได้เป็น 2 ตลาด คือ
-รังนกสำเร็จรูปที่จำหน่ายผ่านรถเข็นและแผงลอย รวมทั้งที่จำหน่ายผ่านภัตตาคารและร้านอาหารต่างๆ ส่วนใหญ่รังนกสำเร็จรูปที่วางจำหน่ายตามรถเข็นและแผงลอยนั้นเป็นรังนกปลอม โดยมีการอ้างว่าเป็นรังนกเสริมสุขภาพราคาถูก ทั้งที่รังนกแท้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูง เมื่อคำนวณแล้วตกประมาณถ้วยละ 100 บาทขึ้นไป ส่วนที่ขายตามรถเข็นและแผงลอยนั้นราคาเพียงถ้วยละ 10-15 บาทเท่านั้น จึงน่าจะเป็นการใช้สิ่งอื่นทดแทนรังนก ซึ่งส่วนมากทำมาจากยางไม้คารายากัม(Karaya Gum)ที่มีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ แต่สามารถดูดน้ำทำให้พองตัวเป็นวุ้น หรือนำมาจากผลของ“ต้นพุงทะลาย”(Sterculia Acerifolia)ซึ่งเป็นไม้พุ่มยืนต้น ทั้งสองชนิดเมื่อมาต้มแล้วจะคล้ายรังนกมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีคุณภาพเท่ากับรังนกแท้แต่อย่างใด
-รังนกสำเร็จรูปบรรจุขวดแก้วเพื่อจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าทั่วไป คาดว่ามูลค่าตลาดรวมของเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูปในปี 2550 ประมาณ 1,300 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวของตลาดร้อยละ 10-15 ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา แต่ผู้ประกอบการมีการเพิ่มกลยุทธ์ส่งเสริมการขายโดยเน้นให้เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม โดยการเพิ่มยอดจำหน่ายสินค้าผ่านการแนะนำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงคุณค่าทางโภชนาการของรังนกนางแอ่นเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความถี่ในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค จากเดิมยอดจำหน่ายสินค้าจะสูงเฉพาะในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปีเท่านั้น

การส่งออก นำเข้า…ผันผวนตามสภาพอากาศ
การส่งออกรังนกนางแอ่นของไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากความต้องการรังนกในตลาดโลกยังคงเติบโต ซึ่งไทยนั้นเป็นหนึ่งในบรรดาไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการส่งออกรังนกนางแอ่น คู่แข่งสำคัญของไทยคือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย อย่างไรก็ตามปริมาณและมูลค่าการส่งออกรังนกนางแอ่นของไทยนั้นผันแปรไปตามความแปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณการผลิตและคุณภาพของรังนกนางแอ่น และความต้องการรังนกนางแอ่นในประเทศ กล่าวคือ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 มูลค่าการส่งออกรังนกนางแอ่นเท่ากับ 24.48 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 49.6 ทั้งนี้เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน แต่เมื่อพิจารณาย้อนไปดูการส่งออกในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมานั้น การส่งออกรังนกนางแอ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในปี 2547 มูลค่าการส่งออกรังนกนางแอ่น36.87 ล้านบาท และในปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 126.50 ล้านบาท

ตลาดส่งออกรังนกนางแอ่นที่สำคัญคือ ฮ่องกง ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 78.4 ของมูลค่าการส่งออกในช่วงระยะ 5 เดือนแรกของปี 2550 อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ พม่า ไต้หวัน กัมพูชา และลาว ส่วนตลาดส่งออกที่น่าจับตามอง เนื่องจากทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเติบโตแบบก้าวกระโดดคือ จีน

แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถเก็บรังนกนางแอ่นได้ แต่ปริมาณยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ทำให้ต้องมีการนำเข้ารังนกนางแอ่นเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตด้วย ซึ่งจากรังนกนางแอ่นแห้งเมื่อนำไปล้างทำความสะอาด และนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปนั้นผู้ผลิตสามารถเพิ่มมูลค่าของรังนกได้ถึง 4-5 เท่าตัวทีเดียว โดยปัจจุบันตลาดนำเข้ารังนกนางแอ่นหลักของไทย คือ อินโดนีเซีย กล่าวคือ ในช่วงระยะ 5 เดือนแรกของปี 2550 ปริมาณการนำเข้ารังนกนางแอ่นเท่ากับ 8.72 ตัน มูลค่า 402.32 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงระยะเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2 และ 26.7 ตามลำดับ

การสร้างบ้านรังนกนางแอ่น…ผลตอบแทนดี แต่ความเสี่ยงสูง
เมื่อตลาดรังนกนางแอ่นยังคงขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ แต่การผลิตรังนกประสบปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้นถ้ามีการเพิ่มผลผลิตรังนกนางแอ่นจะมีส่วนช่วยให้ตลาดมีการขยายตัวมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งวิธีเพิ่มปริมาณการผลิตรังนกนางแอ่นต้องพิจารณาตัวอย่างของอินโดนีเซีย ซึ่งในประเทศอินโดนีเซียได้มีการศึกษาวิจัยการทำฟาร์มนกนางแอ่นอย่างจริงจังจนประสบความสำเร็จ โดยในปัจจุบันมีนกนางแอ่นทำรังอยู่ตามบ้านเรือนในบ้านของชาวอินโดนีเซียราว 9,000 หลัง และการส่งออกรังนกนางแอ่นสามารถทำรายได้ให้ประเทศปีละหลายพันล้านบาท

สำหรับประเทศไทยมีนกนางแอ่นเข้าไปทำรังในบ้านแล้วหลายจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี ตรัง นราธิวาส โดยแหล่งที่มีนกนางแอ่นมากที่สุดคือ อำเภอปากพนัง นครศรีธรรมราช ซึ่งมีนกนางแอ่นนับแสนตัวไปทำรังเองโดยธรรมชาติ ปัจจุบันในไทยมีธุรกิจรับสร้างบ้านรังนกนางแอ่น ซึ่งธุรกิจนี้เป็นการนำหลักการทางธรรมชาติที่มีอยู่ในถ้ำรังนกมาประยุกต์เข้ากับตัวอาคารบ้านเรือน โดยต้องควบคุมปัจจัยเกี่ยวข้องให้เหมาะสม คือ แสงสว่าง ความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ เสียงเรียกนก โดยมีบริการตั้งแต่ประเมินความเหมาะสมของที่ตั้ง ทำเล การออกแบบบ้านรังนกนางแอ่น การออกแบบและการติดตั้งระบบทำความชื้นและอุณหภูมิ การออกแบบและติดตั้งระบบเสียงเรียก และการติดตามแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยการลงทุนสร้างบ้านรังนกนางแอ่นกำลังเป็นช่องทางการลงทุนที่น่าสนใจ เนื่องจากมีผลตอบแทนค่อนข้างดี เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในช่องทางอื่นๆ และมีอัตราคุ้มทุนประมาณปีที่ 7 เป็นต้นไป โดยสร้างรายได้ประมาณกว่า 100,000 บาท/เดือน อย่างไรก็ตาม การลงทุนในธุรกิจสร้างบ้านรังนกนั้นปัจจุบันมีอัตราการประสบความสำเร็จเพียงร้อยละ 30.0 เท่านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นบ้านหลังแรกในย่านนั้น จึงยังนับว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง แม้ว่าผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์ดีก็ตาม

บทสรุป
ความต้องการรังนกนางแอ่นในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งความต้องการในประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากความเชื่อในเรื่องสรรพคุณทางยาของรังนกนางแอ่น รวมทั้งรสชาติอันเป็นเลิศ แม้ว่าราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงมากก็ตาม บรรดาผู้บริโภคโดยเฉพาะชาวจีนยังคงเสาะหารังนกแอ่นมาเพื่อบริโภค เมื่อผนวกกับกระแสอาหารเพื่อสุขภาพที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น ทำให้รังนกนางแอ่นถูกจัดเข้าไปในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งเป็นการขยายกลุ่มผู้บริโภครังนกให้มีฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยรุ่นด้วย

ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการส่งออกรังนกนางแอ่น โดยประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดโลกคือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม การส่งออกรังนกนางแอ่นนั้นจะผันแปรไปตามปริมาณรังนกที่เก็บได้ในแต่ละปี ซึ่งปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดปริมาณรังนกคือ สภาพอากาศที่แปรปรวน

ธุรกิจสร้างบ้านรังนกนางแอ่นนับว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากให้ผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์สูงและสามารถแก้ปัญหารังนกนางแอ่นไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดได้บางส่วน อย่างไรก็ตามธุรกิจสร้างบ้านรังนกนับว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ประสบความสำเร็จจากการลงทุนเพียงร้อยละ 30.0 เท่านั้น