กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินกิจกรรมตามโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนอยู่ดีกินดีพ้นความยากจน พร้อมเปิดทางให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน หวังลดปัญหาเรื้อรังเงินกู้นอกระบบ เร่งพัฒนาและฝึกอบรมอาชีพแบบเข้มข้นให้กับสมาชิกเพิ่ม เพื่อกระตุ้นเกษตรกรในโครงการฯ เน้นกู้ลงทุนระยะยาว
นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในสังกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนในส่วนของสินทรัพย์ประเภทที่ดิน โดยรับผิดชอบในการจัดสรรที่ดินให้เป็นไปตามรูปแบบของนิคมสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกฯ เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ โดยมีนิคมสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 36 แห่ง โดยการเข้าร่วมโครงการฯนั้นสมาชิกต้องเป็นผู้ที่ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (กสน.3) จึงจะสามารถใช้เป็นหลักฐานค้ำประกันหนี้เงินกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) เพื่อนำไปเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพ โดยการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่มาเป็นทุน ส่งเสริมให้เกิดอาชีพ และการลงทุน อันจะนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น
โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เป็นอีกหนึ่งโครงการเพื่อตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อันจะเป็นการสร้างโอกาส และทางเลือกให้ประชาชน โดยเฉพาะช่วยให้เกษตรกรที่ไม่มีแหล่งเงินทุนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น โดยการนำทรัพย์สินที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ นำมาแปลงเป็นเงินทุน เพื่อสานต่อเป็นหลักประกันในการลงทุนประกอบอาชีพต่อไป
สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ คือ ต้องเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์ และได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ (กสน.3) แล้ว สมาชิกนิคมสหกรณ์สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนได้ที่นิคมสหกรณ์ที่ตนสังกัด พร้อมหลักฐานประกอบด้วย หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ ( กสน. 3 ) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน โครงการ / แผนการผลิตที่จะขอสินเชื่อ และหนังสือรับรองการผ่านการฝึกอบรมโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (กรณีเปลี่ยนอาชีพใหม่) ซึ่งทางนิคมสหกรณ์จะดำเนินการส่งรายชื่อสมาชิกที่ได้รับการตรวจสอบหลักฐานว่าครบถ้วนและได้ขึ้นทะเบียนแล้วให้กับทาง ธ.ก.ส. ได้พิจารณาเพื่ออนุมัติวงเงินสินเชื่อต่อไป
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ตั้งแต่ปี 2547- 31 พฤษภาคม 2550 นั้น มีการออกเอกสารสิทธิ์ (กสน.3) เพื่อให้สมาชิกนิคมสหกรณ์นำไปแปลงเป็นทุนแล้ว 33,271 ราย พื้นที่ 369,115 ไร่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันก่อนมีโครงการมีการออกเอกสารสิทธิ์ จำนวน 8,081 ราย พื้นที่เพิ่มขึ้น 133,847 ไร่ เพิ่มขึ้นกว่า 32% (คิดเป็นราย ) และ 57% (คิดเป็นไร่ ) ตามลำดับ จากช่วงเดียวกันก่อนเริ่มมีโครงการมีการออกเอกสารสิทธิ ( เปรียบเทียบ 4 ปีก่อนหน้าที่จะมีโครงการ สามารถดำเนินการได้จำนวน 25,190 ราย พื้นที่ 235,268 ไร่ )
กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีการจัดส่งบัญชีรายชื่อผู้เข้าร่วมโครงการ และผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติด้านเอกสาร ให้กับ ธ.ก.ส. ไปแล้วจำนวน 38,729 ราย โดยมีสมาชิกได้รับอนุมัติสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. จำนวน 2,440 ราย เป็นเงิน 349,956,314 บาท
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า จากที่ได้ดำเนินโครงการมาเป็นระยะเวลา 4 ปี ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์เริ่มนำร่องโครงการฯ นี้เป็นแห่งแรกที่นิคมสหกรณ์กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยส่งเสริมสนับสนุน และฝึกอบรมให้กับสมาชิกในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ในกิจการที่ตนเองถนัดและมีความเชี่ยวชาญ สอดรับกับความต้องการของตลาดในขณะนั้น ซึ่งที่ผ่านสมาชิกฯ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ล้วนแต่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพเป็นอย่างดีสามารถพึ่งพาตัวเอง มีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถนำไปต่อยอดในการขยายกิจการหรือดำเนินธุรกิจต่อไป
“โครงการนี้ถือเป็นการสร้างโอกาสให้สมาชิกสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบมากขึ้น เป็นการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่มาเป็นทุน โดยเงินกู้ที่ได้จากโครงการควรจะนำไปลงทุนในระยะยาวมากกว่าที่จะทำการผลิตแบบปีต่อปี เพื่อให้เกษตรกรสามารถคิดเป็น ทำเป็น และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ยังมุ่งหวังและต้องการให้สมาชิก เดินตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมามีสมาชิกฯ ที่เข้าร่วมโครงการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ที่ประสบผลสำเร็จในการประกอบอาชีพ สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับครอบครัว อีกทั้งยังได้รับการอบรมและเพิ่มพูนทักษะในการประกอบอาชีพจากการฝึกอบรมของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยมีตัวอย่างสมาชิกนิคมสหกรณ์ที่ประสบผลสำเร็จหลายราย อาทิ นายวันชัน สีสวย สมาชิกนิคมสหกรณ์ชะแวะ จ.ระยอง ซึ่งเข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2547 โดยนำที่ดิน กสน.3 ค้ำประกันเงินกู้ เพื่อนำไปลงทุนเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ และทำการเกษตรเชิงท่องเที่ยว ปรับปรุงสวนผลไม้ จนประสบความสำเร็จ มีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญากู้ เป็นต้น สมดั่ง สโลแกนโครงการของกรมฯ ที่ว่า “ แปลง กสน.3 เป็นทุน เกื้อหนุนเศรษฐกิจ ดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ”