หลังจากที่พรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ ครองเสียงข้างมากของทั้งสองสภาสหรัฐฯ ส่งผลให้นโยบายเปิดเสรีทางการค้าของสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไป พรรคเดโมแครตประกาศทบทวนนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเน้นเรื่องการสร้างงาน รวมถึงประเด็นด้านมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ อำนาจ Fast Track ของการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าของฝ่ายบริหารสหรัฐฯ ที่หมดอายุลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 และมีแนวโน้มที่จะไม่รับการต่ออายุในทันที อาจส่งผลให้การเจรจาเปิดเสรีการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการเจรจา รวมทั้งประเทศไทย ต้องล่าช้าออกไป ถือเป็นปัจจัยลบอีกประการหนึ่งต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ที่เดิมคาดว่า การจัดทำความตกลง FTA ไทย-สหรัฐฯ จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยที่ช่วยให้ขยายตลาดสินค้าในสหรัฐฯ ได้มากขึ้น จากการลดภาษีศุลกากรภายใต้ FTA นอกเหนือจากปัจจัยลบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปีนี้ ได้แก่ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้นเป็นประวัติการณ์ และการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าส่งออกของไทย 3 รายการ ในวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้แก่ เครื่องประดับอัญมณีทำจากทอง เม็ดพลาสติกโพลิ เอทิลีนเทเรฟทาเลต และเครื่องรับโทรทัศน์สีจอแบน ทำให้สินค้าส่งออกของไทย 3 รายการนี้ สูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ เพราะต้องกลับไปเสียภาษีศุลกากรในอัตราเดิมก่อนได้รับสิทธิพิเศษ GSP
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การที่พรรคเดโมแครตเข้ามามีเสียงข้างมากในสภาของสหรัฐฯ ได้ส่งผลต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่
มาตรฐานแรงงาน & สิ่งแวดล้อม : เงื่อนไขสำคัญของ FTA ของสหรัฐฯ
ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศไทย มีแนวโน้มประสบความลำบากมากขึ้นในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เนื่องจากพรรคเดโมแครต ซึ่งครองเสียงข้างมากของทั้งสองสภาของสหรัฐฯ เน้นประเด็นเรื่องมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมในการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวด ซึ่งปรากฏให้เห็นจากข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้า (FTA) ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ ที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความ ตกลง FTA ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2550 ซึ่งก่อนหน้าการลงนามความตกลง FTA ดังกล่าว สหรัฐฯ เสนอแก้ไขความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ เพื่อสะท้อนกฎระเบียบใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งเข้มงวดด้านมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประเด็นเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเข้าไปเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น และอาจนำไปสู่อุปสรรคทางการค้า เนื่องจากมาตรฐานการปกป้องสิ่งแวดล้อมและแรงงานแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ประเทศพัฒนาแล้วมักกำหนดมาตรฐานการปกป้องสิ่งแวดล้อมและแรงงานที่สูง จนประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถปฏิบัติตามได้ หรือมีต้นทุนการดำเนินการที่สูงจนไม่สามารถแข่งขันได้
อำนาจ Fast Track ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ หมดอายุ
พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากของรัฐสภาสหรัฐฯ ทำให้มีแนวโน้มว่าอำนาจ Fast Track ของฝ่ายบริหารสหรัฐฯ ที่หมดอายุลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 อาจไม่ได้รับการต่ออายุในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากพรรคเดโมแครตมีนโยบายปกป้องทางการค้ามากกว่าพรรครีพลับลิกัน โดยพรรคเดโมแครตเน้นเรื่องการสร้างงาน การปกป้องแรงงาน และสิ่งแวดล้อม ในขณะที่พรรครีพลับลิกันเน้นการจัดทำความตกลง FTA กับประเทศต่างๆ เพื่อขยายตลาดส่งออกสินค้า ซึ่งช่วยลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงการลดต้นทุนภาคธุรกิจของสหรัฐฯ และช่วยให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าในราคาถูกลง จากการลดภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลง FTA เพื่อให้ราคาสินค้านำเข้าสหรัฐฯ ถูกลง ที่สำคัญ ความตกลง FTA ยังช่วยเปิดตลาดภาคบริการของประเทศคู่เจรจาให้กับสหรัฐฯ ด้วย ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2545 ที่อำนาจ Fast Track ได้รับการต่ออายุ หลังจากอำนาจ Fast Track หมดอายุในปี 2537 ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ในขณะนั้นภายใต้การนำของพรรครีพลับลิกัน ได้ใช้อำนาจ Fast Track เจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) กับสิงคโปร์ ชิลี ออสเตรเลีย โมรอคโค บาเรนห์ โอมาน โดมินิกันรีพลับบลิค และหลายประเทศในอเมริกากลาง
การที่อำนาจ Fast Track ของการเจรจาจัดทำความตกลง FTA ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่หมดอายุลง คาดว่าจะส่งผลให้กระบวนการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าของสหรัฐฯ กับคู่เจรจาหลายประเทศที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และคาดว่าจะเจรจาจัดทำความตกลง FTA ในอนาคต ต้องล่าช้าออกไป ที่สำคัญ ได้แก่ FTA ทวิภาคีกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย
FTA ไทย-สหรัฐฯ ชะงัก : อีกปัจจัยลบต่อการส่งออกไทย
การเจรจาจัดทำความตกลง FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หยุดชะงักลงหลังจากการเจรจารอบที่ 6 ในเดือนมกราคม 2549 เนื่องจากการยุบสภาของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 และการที่ทหารเข้ามายึดอำนาจการปกครองในเดือนกันยายน 2549 ทำให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว ส่งผลให้การเจรจาจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ หยุดชะงักลง สหรัฐฯ ประกาศจะกลับมาเจรจาจัดทำ FTA กับไทย หลังจากที่ไทยได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งคาดว่าการเลือกตั้งของไทยจะกำหนดจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2550 แต่จากเงื่อนไขที่พรรคเดโมแครตเข้ามาครองเสียงข้างมากของรัฐสภาสหรัฐฯ ทำให้อำนาจ Fast Track ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจจะไม่ได้รับการต่ออายุ จนกระทั่งการเลือกตั้งใหม่ของสหรัฐฯ ในปี 2551 ซึ่งอาจส่งผลให้การเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะกลับมาเจรจาอีกครั้งในปีหน้าหลังจากการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของไทย อาจต้องล่าช้าออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้
การค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว (ราว 93%) จากมูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ 10,061 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2539 เป็น 19,454 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของไทย รองจากอาเซียน (10 ประเทศ) ส่วนตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทย ได้แก่ สหภาพยุโรป (25 ประเทศ) แต่หากพิจารณาเป็นรายประเทศ สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2549 มีมูลค่าส่งออกราว 19,454 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 14.9% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2549 ขยายตัวราว 14.4% จากมูลค่า 16,996.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ความสำคัญของตลาดสหรัฐฯ ต่อการส่งออกของไทยปรับตัวลดลง สัดส่วนการส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐฯ ลดลงจาก 18% ในปี 2539 เป็น 15% ในปี 2549 สาเหตุสำคัญเนื่องจากสินค้าส่งออกของไทยต้องแข่งขันกับสินค้าราคาถูกกว่าจากจีน ซึ่งเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 2544 ทำให้สหรัฐฯ เปิดตลาดสินค้าให้กับจีนมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าจากจีนซึ่งมีราคาถูกเข้าไปตีตลาดในสหรัฐฯ และมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ มากขึ้นในหลายสินค้า ที่สำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 3 รองจากอาเซียน และสหภาพยุโรป โดยมูลค่าส่งออกสินค้าของไทยไปสหภาพยุโรปแซงหน้าสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก โดยไทยส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรปมีมูลค่าราว 7,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 13.5% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ขณะที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มีมูลค่า 7,634 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 12.9% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 (มกราคม-พฤษภาคม) ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัว 1.6% จากมูลค่า 7,509 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2549 เป็น 7,634 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าของไทยจากสหรัฐฯ ขยายตัว ราว 5% จากมูลค่า 3,476 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2548 เป็น 3,649 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 3,984 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 4,033 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัวค่อนข้างน้อย (+1.6%) เมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดของไทยในช่วงเดียวกันนี้ที่เพิ่มขึ้น 18.8% สำหรับตลาดส่งออกสำคัญอื่นๆ ของไทยที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาเซียน (+16.6%) ญี่ปุ่น (+14%) จีน (27.3%) สหภาพยุโรป (+23%) ออสเตรเลีย (43.8%) และอินเดีย (60.5%) คาดว่า การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ทั้งปี 2550 จะมีมูลค่ารวมราว 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวราว 3% จากมูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ 19,454 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 ซึ่งการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2550 คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการไทยตั้งไว้ในช่วงต้นปีนี้ที่ต้องการให้การส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐฯ ในปี 2550 ขยายตัวราว 6%
สาเหตุสำคัญที่ไทยส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ชะลอตัวลง เนื่องจากไทยสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันกับสินค้าราคาต่ำกว่าจากประเทศจีนและเวียดนาม รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยสูงขึ้นในสายตาของประเทศผู้นำเข้า นอกจากนี้ ปัจจัยลบอีกประการหนึ่งที่ผู้ส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ต้องเผชิญ คือ การที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) กับสินค้า 3 รายการของไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ได้แก่ 1. เครื่องประดับอัญมณีทำจากทอง 2. เม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต และ 3. เครื่องรับโทรทัศน์สีจอแบน ทำให้สินค้าส่งออกของไทย 3 รายการนี้ไปสหรัฐฯ สูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ เพราะ ต้องกลับไปเสียภาษีศุลกากรเข้าสหรัฐฯ ในอัตรา 5.5% 6.5% และ 3.9% ตามลำดับ
ผู้ประกอบการไทยควรลดการพึ่งพิงการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และหันมาเน้นการส่งออกไปยังตลาดใหม่อื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ไทยจัดทำความตกลง FTA ด้วยและเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน และอินเดีย รวมทั้งญี่ปุ่น ซึ่งความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) จะเริ่มต้นมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2550 นี้ โดยสินค้าส่งออกของไทยไปประเทศเหล่านี้จะได้ประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากร รวมถึงการแสวงหาลู่ทางการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เช่น ประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งได้รับผลดีจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ควรพัฒนาการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานตามกฎระเบียบด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าจากการกำหนดมาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมในระดับสูงของสหรัฐฯ รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย