มาตรการแก้ไขการแข็งค่าของเงินบาท : ตลาดตอบรับ …แต่ความไม่แน่นอนยังรออยู่

การแข็งค่าสูงสุดในรอบ 10 ปีของเงินบาท กำลังส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมส่งออกของไทยที่ต้องแบกรับภาระการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งหากทำการประเมินความสามารถทางการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับคู่ค้าผ่านดัชนีเงินดอลลาร์ฯ (Nominal Broad Dollar Index) จะพบว่า ไทยเสียเปรียบทางด้านการค้าให้กับประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงประมาณ 7.8% นับจากต้นปี 2549 เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินซึ่งประกอบไปด้วยคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ ในขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงถึง 18% เมื่อเทียบกับเงินบาท ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว ทำให้มีการทยอยปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นแรงกดดันต่อเนื่องให้ภาครัฐ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย ต้องเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทอย่างเร่งด่วน พร้อมๆ กับการออกมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อดูแลให้ผลกระทบต่อผู้ประกอบการเกิดขึ้นน้อยที่สุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการวิเคราะห์มาตรการดูแลค่าเงินบาทที่คาดว่าครม.จะให้ความเห็นชอบ โดยมาตรการดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็น 3 แนวทางด้วยกันดังนี้

1. มาตรการที่เน้นการถือครองเงินตราต่างประเทศให้ยาวนานขึ้น
– มาตรการผ่อนปรนการถือครองเงินดอลลาร์ฯ แก่ผู้ส่งออก ตลอดจน มาตรการขยายเวลาการนำเงินเข้าประเทศกรณีคนไทยขายสินค้าในต่างประเทศ เป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอความต้องการเงินบาท และชะลอการนำเงินเข้าประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มจะต้องใช้เงินตราต่างประเทศในอนาคตสามารถสะสมเงินตราต่างประเทศไว้ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและเพื่อรองรับกับความต้องการในอนาคต เช่น ชำระค่านำเข้าเครื่องจักร หรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต โดยมีข้อดีก็คือ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้

แต่มาตรการดังกล่าวจะเห็นผลก็ต่อเมื่อ ผู้ที่จะเพิ่มการถือครองเงินตราต่างประเทศจะต้องเชื่อมั่นว่าเงินบาทจะมีทิศทางอ่อนค่าลง แต่หากผู้ที่มีแนวโน้มที่จะได้รับเงินตราต่างประเทศในอนาคตยังคงมีการคาดการณ์ว่า เงินบาทยังมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นอีกก็จะทำให้ปัญหาการเร่งเทขายเงินดอลลาร์ฯ ออกมา ยังไม่ถูกแก้ไขลง

– มาตรการที่อนุญาตให้ฝากเงินในประเทศเป็นสกุลต่างประเทศได้ เป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความต้องการเงินตราต่างประเทศ แต่จะได้ผลดีก็ต่อเมื่ออัตราดอกเบี้ยของการฝากเงินในรูปเงินตราต่างประเทศ เมื่อหักค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้ว มีความน่าดึงดูดมากกว่าการฝากเงินในรูปเงินบาทที่มีความคล่องตัว และเป็นที่คุ้นเคยของประชาชนมากกว่า

– มาตรการที่ให้ภาคธุรกิจสามารถชำระค่าใช้จ่ายในรูปเงินตราต่างประเทศได้ เช่น อนุญาตให้ภาคธุรกิจสามารถชำระค่าระวางเรือหรือค่าวัตถุดิบที่ใช้ในประเทศเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีความสอดคล้องกับรายได้ของภาคธุรกิจส่งออกที่มีรายได้อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ เป็นมาตรการที่จะสามารถช่วยลดแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อแปลงเป็นเงินบาท

2. มาตรการที่เน้นผ่อนคลาย และสนับสนุนการไหลออกของเงินทุน

– การเร่งรัดการชำระหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนการปรับโครงสร้างและแปลงหนี้ต่างประเทศมาเป็นหนี้สกุลเงินบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การเร่งรัดการชำระหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนการปรับโครงสร้างและแปลงหนี้ต่างประเทศมาเป็นหนี้สกุลเงินบาท จะสามารถเพิ่มความต้องการเงินตราต่างประเทศและลดแรงกดดันต่อช่วงขาขึ้นของเงินบาทได้อย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องดูวงเงินที่สามารถทำได้จริงว่ามีมูลค่ามาก-น้อยเพียงไร และติดเงื่อนไขอื่นๆ หรือไม่ ในขณะที่ในส่วนของการแปลงหนี้ต่างประเทศกลับมาเป็นสกุลเงินบาทนั้น จะต้องมีเงื่อนไขที่ว่า ต้นทุนของการกลับมาก่อหนี้ในรูปเงินบาทจะต้องน้อยกว่าต้นทุนของการก่อหนี้ในรูปเงินตราต่างประเทศ

ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจบางแห่งอาจมีข้อจำกัดในการเร่งคืนหนี้ต่างประเทศ เช่น รัฐวิสาหกิจในสังกัดปตท.และกฟผ.เนื่องจากติดเงื่อนไขบางประการ และได้มีการทยอยคืนหนี้ในช่วงก่อนหน้านี้ไปแล้ว โดยในส่วนของปตท.หนี้ต่างประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของการออกหุ้นกู้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งติดเงื่อนไขการไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด ขณะที่ ในส่วนของกฟผ.จะต้องมีการเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (ไอพีพี) ซึ่งขายไฟฟ้าเข้าระบบปัจจุบันว่าสามารถคืนหนี้ในรูปเงินดอลลาร์ฯ ก่อนกำหนดได้หรือไม่

3. มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท

มาตรการดังกล่าวเน้นไปที่การเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งประกอบด้วย 1. ตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และผู้ส่งออก เพื่อเสริมสภาพคล่องโดยการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ โดยจะมีวงเงินเริ่มต้นที่ 5 พันล้านบาท และ 2. การขอให้ภาครัฐเร่งคืนภาษีให้กับผู้ส่งออกทั้ง 19 ทวิ และภาษีมุมน้ำเงิน เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ

ข้อเสนออื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท

มีนักวิชาการหลายท่านได้ออกมาเสนอวิธีการแก้ปัญหาเงินบาทอีกหลายแนวทาง ได้แก่
– ข้อเสนอให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างแรง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า เป็นความจริงที่ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรุนแรง อาจสามารถลดแรงจูงใจของเงินทุนไหลเข้าได้ รวมทั้งอาจสามารถลดการก่อหนี้ต่างประเทศ และอาจช่วยทำให้จูงใจให้มีการไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งในท้ายที่สุดจะทำให้แรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่ามีน้อยลง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างมากจะเป็นการช็อกตลาด และอาจเป็นชนวนที่ทำให้เงินทุนไหลออกซึ่งอาจจะเป็นไปในระดับที่รุนแรงและยากต่อการควบคุมดูแลของทางการ ทั้งนี้ แม้ว่าผลในระยะสั้นนั้นมีความชัดเจนก็คือ การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท แต่ผลในระยะถัดไปจะต้องแลกกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่อาจต้องใช้ระยะเวลานานกว่าในการเยียวยาแก้ไข นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงนั้น ไม่น่าจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาเงินบาทที่ตรงประเด็น เนื่องจากเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาอย่างมากนับตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นหลัก ทั้งนี้ หากธปท. ยิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก็อาจจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่ได้รับการยกเว้นมาตรการกันสำรอง 30% และกระตุ้นให้มีเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้าประเทศอีก และในท้ายที่สุดก็จะส่งผลกดดันต่อเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

– ข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินทุนระยะสั้น 30%
มาตรการกันสำรองเงินทุนระยะสั้น ถูกมองว่าเป็นตัวการหลักที่ทำให้ตลาดเงินบาทแบ่งออกเป็น 2 ตลาดอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นตัวการที่บิดเบือนกลไกตลาด และก่อให้เกิดการเก็งกำไร และในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศ (Offshore) ที่แข็งค่ากว่าระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ฯ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทางจิตวิทยาให้เกิดการเร่งเทขายเงินดอลลาร์ฯ ในตลาดในประเทศ (Onshore) และทำให้เงินบาทตลาดในประเทศซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศอยู่แล้วแข็งค่ามากขึ้นไปอีก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ตราบใดที่ความแตกต่างของเงินบาทระหว่าง 2 ตลาดยังไม่หมดไป แรงกดดันให้ธปท.ยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินทุนระยะสั้นก็ยังคงจะมีต่อไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจะต้องรอดูความพยายามที่จะลดความแตกต่างระหว่างค่าเงินบาทใน 2 ตลาดของธปท.จากมาตการเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2550 ที่อนุญาตปล่อยสภาพคล่องเงินบาทให้กับ Non Resident โดยธปท.ได้คาดการณ์ว่า สภาพคล่องเงินบาทที่เพิ่มขึ้นในตลาดต่างประเทศจะสามารถทำให้ค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศอ่อนค่าลง พร้อมๆ กับเป็นการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดเงินบาท ซึ่งก็จะทำให้แรงกดดันให้ธปท.ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เบาบางลงด้วยอีกทางหนึ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรองของธปท.ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม อาจไม่สามารถลดความผันผวนและหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรเงินบาทได้ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า ผลที่เกิดจากการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะออกมาในรูปของการไหลออกของเงินทุนอย่างรวดเร็ว หรือในรูปของเงินทุนไหลเข้าที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ทั้ง 2 ทางไม่น่าจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น ดังนั้น หากจะมีการประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินทุนระยะสั้น 30% ธปท.จะต้องมีการประเมินผลกระทบในทุกด้านอย่างถี่ถ้วน และจะต้องเลือกช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งยังไม่น่าจะเป็นช่วงเวลาขณะนี้ และจะต้องมีมาตรการอื่นที่พร้อมประกาศใช้เพื่อดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท ทั้งนี้ ผู้ว่าการธปท. ได้ออกมากล่าวย้ำในทิศทางเดียวกันว่า ประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการกันสำรองเงินทุนระยะสั้นอยู่ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวยังคงมีผลทางจิตวิทยา แม้ว่าในปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทยจะเลือกใช้วิธีการทำประกันความเสี่ยงไว้เต็มมูลค่าก็ตาม

– ข้อเสนอให้กลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การกลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed Exchange Rate Regime) เหมือนในอดีต หรือกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทแบบที่ใช้ในประเทศจีน ไม่ใช่การตอบโจทย์ของการแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทที่ตรงประเด็นนัก เนื่องจากระบบการเงินโลกในปัจจุบัน การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นไปอย่างรวดเร็ว การบิดเบือนกลไกตลาด ที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจสามารถทำได้ระยะหนึ่งเท่านั้น

– ข้อเสนอให้แทรกแซงค่าเงินอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศเป็นภาระของธปท. เนื่องจากการเข้าแทรกแซงด้วยการซื้อเงินตราต่างประเทศและขายเงินบาทนั้น จะทำให้ธปท.ต้องมีภาระดอกเบี้ยในการออกพันธบัตรตามมาเพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินในระบบ และทำให้ธปท.มีแนวโน้มบันทึกผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนต่อเนื่องจากปี 2548 และ2549 นอกจากนี้ การเข้าแทรกแซงตลาดท่ามกลางกระแสการไหลเวียนของเงินทุนต่างชาติมูลค่ามหาศาลนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของค่าเงินได้ สามารถทำได้เพียงแค่เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาทเท่านั้น

ทิศทางค่าเงินบาท

ต้องยอมรับว่า เบื้องหลังที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้อย่างต่อเนื่องนั้น มาจาก 3 ปัจจัยหลักได้แก่ การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ดังนั้นมาตรการสนับสนุนการไหลออกของเงินทุนน่าจะสามารถช่วยเพิ่มความสมดุลให้กับกระแสการไหลเข้า-ออกของเงินทุนได้ดีขึ้น แรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก ซึ่งมีสิ่งที่หนุนหลังอยู่ก็คือ การเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งมาตรการผ่อนคลายการถือครองเงินตราต่างประเทศก็น่าจะช่วยชะลอแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ ออกไป และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลทางอ้อมให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

และในขณะนี้ยังคงมีการคาดการณ์ว่า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงมีแนวโน้มที่จะบันทึกการเกินดุลต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติ และในทางกลับกัน เงินดอลลาร์ฯ เองก็มีแนวโน้มที่ไม่สดใสนัก ความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาในตลาดซับไพร์ม ตลอดจนปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงเป็นปัจจัยลบของเงินดอลลาร์ฯ ที่รออยู่เบื้องหน้า ดังนั้นประเด็นที่จะต้องมีการแก้ไข และเร่งสื่อความต่อภาคเอกชนก็คือ จะต้องมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มค่าเงินบาท และพยายามลดผลกระทบทางจิตวิทยาจากการที่ตลาดเงินบาทแบ่งแยกออกเป็น 2 ตลาด

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทเป็นโอกาสของผู้ประกอบการและผู้นำเข้า ในการนำเข้าเครื่องจักร สินค้าทุน ตลอดจนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และเมื่อการนำเข้าเร่งตัวขึ้น ก็จะส่งผลทำให้ดุลการค้ามีโอกาสเกินดุลลดลง ซึ่งก็จะช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทลงตามไปด้วย ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งผลักดันโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega Projects) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมา ประกอบกับต้องรักษาความต่อเนื่องของมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาททั้งในระยะสั้น และระยะยาว

สรุป
การแข็งค่าสูงสุดในรอบ 10 ปีของเงินบาท กำลังส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมส่งออกของไทยที่ต้องแบกรับภาระการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่การทยอยปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราแลกเปลี่ยน เป็นแรงกดดันให้ภาครัฐ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย ต้องเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทอย่างเร่งด่วน ซึ่งมาตรการและข้อเสนอที่คาดว่าจะได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีนั้น มีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ

1.เป็นมาตการเน้นการถือครองเงินตราต่างประเทศให้ยาวนานขึ้น ได้แก่ มาตรการผ่อนปรนการถือครองเงินดอลลาร์ฯ แก่ผู้ส่งออก ตลอดจนมาตรการขยายเวลาการนำเงินเข้าประเทศกรณีคนไทยขายสินค้าในต่างประเทศ และมาตรการที่อนุญาตให้เปิดบัญชีเงินฝากในรูปเงินตราต่างประเทศได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า กลุ่มมาตรการดังกล่าวมีข้อดีก็คือ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ แต่มาตรการดังกล่าวจะเห็นผลก็ต่อเมื่อ ผู้ที่จะเพิ่มการถือครองเงินตราต่างประเทศมีความมั่นใจว่าเงินบาทจะมีทิศทางอ่อนค่าลง แต่หากผู้ที่มีแนวโน้มที่จะได้รับเงินตราต่างประเทศในอนาคตยังคงมีการคาดการณ์ว่า เงินบาทยังคงมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นอีกก็จะทำให้ปัญหาการเร่งเทขายเงินดอลลาร์ฯ ออกมา ยังไม่ถูกแก้ไขลง

2.เป็นมาตรการเน้นผ่อนคลาย และสนับสนุนการไหลออกของเงินทุน ได้แก่ ให้รัฐบาลเร่งรัดการชำระหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การเร่งรัดการชำระหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนการปรับโครงสร้างและแปลงหนี้ต่างประเทศมาเป็นหนี้สกุลเงินบาท จะสามารถเพิ่มความต้องการเงินตราต่างประเทศและลดแรงกดดันต่อช่วงขาขึ้นของเงินบาทได้อย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องดูวงเงินที่สามารถทำได้จริงว่ามีมูลค่ามาก-น้อยเพียงไร และติดเงื่อนไขอื่นๆ หรือไม่ ในขณะที่ในส่วนของการแปลงหนี้ต่างประเทศกลับมาเป็นสกุลเงินบาทนั้น จะต้องมีเงื่อนไขที่ว่า ต้นทุนของการกลับมาก่อหนี้ในรูปเงินบาทจะต้องน้อยกว่าต้นทุนของการก่อหนี้ในรูปเงินตราต่างประเทศ

3. เป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และผู้ส่งออก เพื่อเสริมสภาพคล่องโดยการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท โดยจะมีวงเงินเริ่มต้นที่ 5 พันล้านบาท และการเร่งคืนภาษีให้กับผู้ส่งออกทั้ง 19 ทวิ และภาษีมุมน้ำเงินตามข้อเสนอของกกร. เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ

เงินบาทปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลงเพื่อรับข่าวเกี่ยวกับมาตรการแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทจากทางการ โดยล่าสุดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2550 เงินบาทในประเทศ (Onshore) ปิดตลาดที่ระดับ 33.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ หรืออ่อนค่าลงแล้วประมาณ 1.5% หลังจากที่ได้ทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ระดับ 33.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2550 โดยเงินบาทมีปัจจัยลบจากแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งตลาดคาดว่าเป็นการเข้าแทรกแซงของธปท. นอกจากนี้ ยังเป็นผลทางด้านจิตวิทยาที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังรอการประกาศมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทจากทางการ ขณะที่ผู้เล่นหลักในตลาดเงินบาทในประเทศ กลายเป็นฝั่งผู้นำเข้าที่เริ่มกลับเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ฯ ขณะที่ ผู้ส่งออกชะลอแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ ออกไปก่อนเพื่อรอความชัดเจน และประเมินผลกระทบจากมาตรการของทางการ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การปรับตัวอ่อนค่าลงของเงินบาทเพื่อตอบรับกับมาตรการแก้ปัญหาค่าเงินบาทของทางการนั้น น่าจะเป็นเพียงผลทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ผลในทางรูปธรรมยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจน เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่จะสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องนั้นยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ เงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะได้รับปัจจัยบวกจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจากปัญหาในตลาดซับไพร์มที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอาจทำให้เฟดต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความไร้เสถียรภาพของตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ อาจเป็นชนวนที่ทำให้เงินทุนจำนวนมากไหลออกจากตลาดการเงินสหรัฐฯ ซึ่งประเทศในแถบเอเชียรวมทั้งไทย อาจตกเป็นเป้าหมายของกองทุนเหล่านั้น และในท้ายที่สุดก็จะส่งผลทำให้แรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า มาตรการล่าสุดในการแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงิน โดยยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจจะสร้างความผันผวนให้กับค่าเงินบาทรออยู่ในช่วงถัดไป ซึ่งทำให้ความต่อเนื่องของมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเพื่อบรรเทาผลกระทบ และลดความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยได้มีเวลาปรับตัว ทั้งนี้ เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแล้วในช่วงประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา และในขณะนี้มาถึงจุดเปลี่ยนของผู้ส่งออกที่จะต้องเร่งปรับตัวเอง เรียนรู้ที่จะประเมินความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินตามรอยเดิมเมื่อความผันผวนของเงินบาทกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกครั้งในอนาคต ขณะที่ ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมมาตรการดูแลการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่มีประสิทธิภาพ พร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจังตามข้อเสนอระยะกลางและระยะยาวของกกร.เมื่อประเทศคู่แข่งทางการค้ามีความได้เปรียบอุตสาหกรรมไทยมากขึ้น เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และสามารถรักษาความสามารถทางการแข่งขันได้