ราคาผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลายพุ่งสูงที่สุดในรอบสิบปี โดยพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2549 กล่าวคือในเดือนมิถุนายน 2550 ราคาผลปาล์มน้ำมันพุ่งขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 4.46 บาท จากที่เคยอยู่ในระดับกิโลกรัมละ 2.74 บาท ปัจจุบันราคารับซื้อผลปาล์มน้ำมันหน้าโรงงานขยับขึ้นไปอยู่ที่ 4.40-4.70 บาท ส่งผลกระทบต่อเนื่องทั้งตลาดน้ำมันบริโภคและโครงการผลิตไบโอดีเซล เนื่องจากต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เริ่มมีการตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อให้มีปาล์มน้ำมันเพียงพอทั้งสำหรับตลาดน้ำมันบริโภคและการผลิตไบโอดีเซล อย่างไรก็ตามในระยะต่อไปทางภาคเอกชนเรียกร้องให้ภาครัฐบาลเข้ามาจัดสรรโควตาระหว่างอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากน้ำมันปาล์มและอุตสาหกรรมไบโอดีเซล รวมทั้งการจัดสรรโควตาการนำเข้าในกรณีที่ผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแย่งผลผลิตในอนาคต
ปัจจัยในประเทศและปัจจัยภายนอก…ดันราคาปาล์มน้ำมันพุ่ง
ปัจจัยที่ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันขยับสูงขึ้นมาจากปัจจัยหลักทั้งภายในและภายนอกประเทศ ประกอบด้วย
1.ปัจจัยภายในประเทศ ประกอบด้วย
1.1ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เข้าสู่ตลาดลดลงประมาณร้อยละ 30.0 อันเป็นผลมาจากฤดูกาลผลิตของปาล์มที่ช่วงตั้งแต่เดือนเม.ย.-ก.ค.ของทุกปีปริมาณผลปาล์มที่ตัดเก็บได้จะน้อยกว่าช่วงอื่น
1.2ในช่วงระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมาโรงงานแปรรูปปาล์มน้ำมันกว่าร้อยละ 60 ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับพื้นที่การปลูกปาล์มน้ำมัน และรองรับปริมาณการบริโภคภายในประเทศจาก 40 ตัน/ชม. เป็น 60 ตัน/ ชม.ทำให้แต่ละโรงงานมีความต้องการวัตถุดิบเพิ่มขึ้น
1.3นโยบายการส่งเสริมไบโอดีเซลของภาครัฐทำให้ในหลายพื้นที่เริ่มมีโรงงานผลิตไบโอดีเซลทั้งขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ซึ่งแต่ละโรงงานขณะนี้ต้องการวัตถุดิบคือผลปาล์มเข้าป้อนโรงงานเป็นจำนวนมาก
1.4ปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ ทำให้การนำเข้าน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียทั้งเข้ามาอย่างถูกต้องและไม่ถูกต้องลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 ปริมาณการนำเข้าน้ำมันปาล์มเพียง 1,490 ตัน มูลค่า 44.15 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 91.7 และ 91.6 ตามลำดับ กลุ่มพ่อค้าที่เคยนำเข้าสินค้าดังกล่าวได้หันมาสั่งซื้อน้ำมันปาล์มจากโรงงานภายในประเทศมากขึ้นเพื่อป้อนให้กับลูกค้าของตนเอง จึงยิ่งส่งผลให้สัดส่วนปริมาณความต้องการปาล์มน้ำมันไม่สมดุลกับพื้นที่การผลิต จึงเป็นตัวดึงให้ราคาปาล์มน้ำมันขยับราคาพุ่งขึ้น
1.5การส่งออกน้ำมันปาล์มของไทยเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงครึ่งแรกปี 2550 ปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มเท่ากับ 146,792 ตัน มูลค่า 3,319 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 2.1 เท่าตัวและ 2.9 เท่าตัว โดยแหล่งส่งออกสำคัญคือ มาเลเซียร้อยละ 43.3 รองลงมาคือ พม่าร้อยละ 13.3 เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 9.3 จีน ร้อยละ 7.4 และเวียดนามร้อยละ 7.0 ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการน้ำมันปาล์มในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และในปีที่ผ่านมาปริมาณการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทยนั้นมากกว่าความต้องการในประเทศ จนกระทั่งเกิดปัญหาล้นตลาด รวมทั้งในปีนี้ผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยก็ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วย
2.ปัจจัยภายนอกประเทศ ตั้งแต่ต้นปี 2550 ราคาน้ำมันปาล์มปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราความต้องการใช้น้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้นจากจีน ปากีสถาน และอินเดีย รัฐบาลมาเลเซียคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการคาดการณ์ว่าน้ำมันพืชทั่วโลกจะประสบภาวะขาดแคลน อันเป็นผลจากการคาดการณ์ผลผลิตพืชน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงทั้งในปี 2550 และปี 2551 อันเป็นผลจากภูมิอากาศที่แปรปรวน และปัญหาภัยธรรมชาติโดยเฉพาะคลื่นความร้อนและปัญหาน้ำท่วมในประเทศผู้ผลิตพืชน้ำมันสำคัญของโลก ในขณะที่ความต้องการพืชน้ำมันเพิ่มขึ้นทั้งเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันพืชบริโภคและป้อนโรงงานผลิตไบโอดีเซล รวมทั้งเป็นการทดแทนผลผลิตน้ำมันถั่วเหลืองที่มีแนวโน้มลดลง จากการที่เกษตรกรในสหรัฐฯซึ่งเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองสำคัญของโลกหันไปปลูกข้าวโพดเพื่อป้อนโรงงานไบโอดีเซล
กระทรวงอุตสาหกรรมการเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ของมาเลเซียคาดการณ์ว่าการส่งออกน้ำมันปาล์มของมาเลเซียในปี 2550 นี้เท่ากับ 3.5 หมื่นล้านริงกิต หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 เนื่องจากปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยในช่วงครึ่งแรกปี 2550 มูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มเท่ากับ 1.743 หมื่นล้านริงกิต นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องไปในช่วง 2 ปีข้างหน้า
ตลาดน้ำมันบริโภคและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง…ปรับราคาขึ้นตาม
ราคาผลปาล์มน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันปาล์มดิบ และกระทบไปถึงตลาดน้ำมันพืชบรรจุขวดรวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งราคาน้ำมันปาล์มดิบในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 ปรับขึ้นไปสูงสุดที่กิโลกรัมละ 29 บาท จากที่ในช่วงปลายปี 2549 ราคาอยู่ในระดับกิโลกรัมละ 20-23 บาทเท่านั้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงน้ำมันปาล์มบรรจุขวดและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งน้ำมันปาล์มบรรจุขวดและอุตสาหกรรมต่อเนื่องต้องเผชิญกับราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามน้ำมันปาล์มบรรจุขวดนั้นเป็นสินค้าควบคุมราคา ดังนั้นการปรับราคาของน้ำมันปาล์มบรรจุขวดนั้นมีการปรับราคาได้ไม่เกินเพดานขวดละ 38 บาท(ขนาด 1 ลิตร) และผู้ประกอบการก็ไม่ได้ปรับราคาขึ้นมากกว่านี้ เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดน้ำมันพืช กล่าวคือ ปัจจุบันตลาดน้ำมันพืชมีมูลค่าตลาดรวม 9,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนตลาดเป็นน้ำมันปาล์มประมาณร้อยละ 65 น้ำมันถั่วเหลืองร้อยละ 25 น้ำมันรำข้าวร้อยละ 6 และน้ำมันพืชอื่นๆร้อยละ 4 อย่างไรก็ตามผู้บริโภคก็เผชิญกับราคาน้ำมันพืชที่เป็นราคาเต็มตามราคาข้างขวด เมื่อเทียบกับในช่วงที่ราคาพืชน้ำมันในปีที่ผ่านๆมาไม่ได้อยู่ในเกณฑ์สูง ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อน้ำมันพืชได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาข้างขวด
ส่วนอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบซึ่งเผชิญปัญหาราคาวัตถุดิบสูงขึ้น แต่การปรับราคาขึ้นนั้นค่อนข้างลำบาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในปัจจุบัน ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ผู้ประกอบการจึงต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบางส่วน และต้องปรับตัวในการปรับประสิทธิภาพการผลิต และพยายามขยายฐานตลาดเพื่อเพิ่มปริมาณยอดการจำหน่าย
ไบโอดีเซล…ต้นทุนพุ่ง
ในช่วงที่มีการศึกษาถึงแนวทางในการนำน้ำมันปาล์มมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลนั้นราคาผลปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมควรจะอยู่ในระดับกิโลกรัมละ 2.50 บาท และรัฐบาลจะต้องเข้าไปชดเชยบางส่วนเพื่อที่จะทำให้ราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันไบโอดีเซลต่ำกว่าน้ำมันดีเซล ผลกระทบของราคาผลปาล์มน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตไบโอดีเซล โดยความผันผวนของราคาปาล์มน้ำมันนับว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญประการหนึ่งของผู้ที่จะลงทุนตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซล โดยแยกผลกระทบ ดังนี้
-ผู้ผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันมีบริษัทจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 2 รายที่จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลที่สถานีจำหน่ายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง(ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7) คือ ปตท.และบางจาก ผู้ค้าน้ำมันไบโอดีเซลกลุ่มนี้จะได้รับเงินชดเชยตามประกาศกำหนดอัตราเงินชดเชยของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน โดยอัตราเงินชดเชยจะเปลี่ยนแปลงไปตามส่วนต่างของราคาน้ำมันดีเซลกับน้ำมันไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการใช้ผู้ใช้น้ำมันดีเซลหันมาน้ำมันไบโอดีเซล ปัจจุบันอัตราเงินชดเชยสำหรับไบโอดีเซลบี5 ลิตรละ 0.769 บาท
-ผู้ผลิตไบโอดีเซลชุมชน ผู้ผลิตไบโอดีเซลกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ กรณีตัวอย่างของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ ผลปาล์มน้ำมันที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 4.60 บาท หากคำนวณแล้ว ณ ปัจจุบันการผลิตไบโอดีเซลมีต้นทุนลิตรละ 26 บาท(ราคาอ้างอิงของราคาน้ำมันปาล์มดิบ) เมื่อรวมค่าบริหารจัดการ และค่าแรงงานแล้วราคาไบโอดีเซลสูงถึงลิตรละ 31 บาท เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดีเซลที่ปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ 25.74 บาทแล้วสูงกว่าถึงลิตรละ 5.26 บาท ในขณะชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลให้ผู้ใช้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรในราคาลิตรละ 24 บาท เท่ากับชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ขาดทุนลิตรละ 7 บาท เนื่องจากไม่ต้องการผลักภาระให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ผู้ผลิตไบโอดีเซลบางรายยังมีปัญหาขาดเงินหมุนเวียน ทั้งในส่วนของโรงกลั่นไบโอดีเซล และโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ อย่างไรก็ตามผู้ผลิตไบโอดีเซลชุมชนแต่ละรายจะได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน ทั้งนี้เงื่อนไขสำคัญคือประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนด้านค่าบริหารจัดการและค่าแรงงาน รวมทั้งการตั้งราคาจำหน่ายที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนการผลิต
ปรับแผนขยายพื้นที่ปลูก…รับโครงการผลิตไบโอดีเซล
กระทรวงเกษตรฯร่วมกับกระทรวงพลังงาน สำรวจและวิเคราะห์แนวโน้มเรื่องพลังงานทดแทน โดยผลักดันวัตถุดิบในประเทศเพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้งมาตรการบังคับให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วปกติต้องผสมไบโอดีเซล B100 ในอัตราร้อยละ 2% หรือ B2 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 เป็นต้นไป เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ไบโอดีเซล B100 จากปัจจุบันที่ระดับ 42,000 ลิตร/วัน เพิ่มเป็น 1,000,000 ลิตร/วัน อีกทั้งส่งเสริมด้านราคาให้ B5 มีราคาต่ำกว่าดีเซล 70 สตางค์/ลิตร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้มากยิ่งขึ้น
สำหรับเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันเป็น 2.5 ไร่ ในระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2550 จำนวน 300,000 ไร่ และจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 550,000 ไร่/ปี ในปีต่อๆ ไป ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯเตรียมเดินหน้าแผนการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อรองรับความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเตรียมยุทธศาสตร์เพื่อหาแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันโดยจะเน้นในพื้นที่ภาคใต้เป็นหลัก เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย โดยกลุ่มเป้าหมายทั้งพื้นที่นาร้างและสวนผลไม้ รวมถึงสวนยางพาราเดิม นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯสนับสนุนให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เร่งดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพปาล์มน้ำมันในเขตปฏิรูปที่ดิน(ปี 2551-2555) โดยในเบื้องต้นมีแผนที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ในเขตพื้นที่เหมาะสม 300,000 ไร่ พร้อมกับพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตในแหล่งปลูกเดิม 350,000 ไร่ โดยเนื้อที่ปลูกปาล์มน้ำมันอยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออก
อย่างไรก็ตามประเด็นที่ทางภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและอุตสาหกรรมต่อเนื่องคาดการณ์ว่าจะเกิดปัญหาการแย่งวัตถุดิบทั้งผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มดิบระหว่างอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากน้ำมันปาล์มและโรงงานไบโอดีเซล ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นทางภาครัฐต้องเร่งเข้ามาดำเนินการบริหารจัดการ โดยการจัดสรรหรือแบ่งแยกโควตาให้แต่ละภาคอุตสาหกรรมให้ชัดเจน ทั้งนี้พิจารณาจากปริมาณความต้องการของตลาด รวมทั้งการจัดสรรโควตาการนำเข้าให้กับภาคอุตสาหกรรมทั้งสองส่วนหากปริมาณผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ
บทสรุป
หลากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศผลักดันให้ราคาผลปาล์มน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งน้ำมันปาล์มบรรจุขวดและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากน้ำมันปาล์ม โดยผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นไว้ เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง และภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค แนวทางออกของผู้ประกอบการคือการปรับตัวโดยการปรับประสิทธิภาพการผลิตและพยายามขยายฐานการตลาดเพื่อเพิ่มปริมาณยอดการจำหน่าย
จากการศึกษาวิจัยโครงการน้ำมันไบโอดีเซลนั้นราคาผลปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมควรจะไม่เกินกิโลกรัมละ 2.50 บาท ดังนั้นอุตสาหกรรมผลิตไบโอดีเซลก็เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่ราคาผลปาล์มน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ซึ่งผลกระทบจะแตกต่างกันระหว่างผู้ผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์และผู้ผลิตไบโอดีเซลชุมชน
ความต้องการน้ำมันปาล์มที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในส่วนของน้ำมันบริโภคและน้ำมันไบโอดีเซลทำให้กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพลังงานต้องปรับแผนการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ อย่างไรก็ตามภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องการให้ภาครัฐบาลเข้ามาจัดสรรโควตาน้ำมันปาล์มระหว่างอุตสาหกรรมน้ำมันบริโภคและน้ำมันไบโอดีเซล และจัดสรรโควตาการนำเข้าในกรณีที่ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งผลผลิตปาล์มน้ำมันในอนาคต