เย็นวันนี้ (29 กรกฎาคม 2550) ณ ห้อง โลตัส ชั้น 22 เซนทารา แกรนด์ นางพรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้แถลงข่าว สรุปการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ กรุงเทพฯ ปี 2550 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-29 กรกฎาคม 2550 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ชั้น 7 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมด้วย นางสุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จำกัด นายชัยวัฒน์ ทวีวงศ์แสงทอง นายกสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทย พันธมิตรในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ โดยค่ำวันนี้จะมีการฉายรอบปฐมทัศน์ของ ภาพยนตร์ไทยเรื่อง ไชยา จากไฟว์สตาร์โปรดัคชั่น ซึ่งเป็นภาพยนตร์ปิดของเทศกาลฯ ในปีนี้
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2550 ได้รวบรวมภาพยนตร์ดีๆ จากทั่วโลกทั้งหมด 122 เรื่อง จาก 41 ประเทศ มาฉายในเทศกาลตลอด 9 วัน โดยมีผู้สนใจเข้าชมภาพยนตร์ในเทศกาลปีนี้กว่า 20, 000 คน ซึ่งเทศกาลฯ ครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียมากเป็นพิเศษ โดยจัดฉายในหมวดของภาพยนตร์อาเซียนโดยเฉพาะ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ที่ชมเป็นอย่างดี วัดจากในรอบฉายภาพยนตร์ The Rebel จากประเทศเวียดนาม, Love for share จากประเทศอินโดนีเซีย, Lost in Beijing จากประเทศจีน ฯลฯ มีผู้เข้าชมเต็มทุกที่นั่ง ส่วนภาพยนตร์ไทยเอง ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีเช่นกัน อาทิ พลอย และ Bangkok Time เป็นต้น และนอกจากการฉายภาพยนตร์จากนานาชาติแล้ว ในงานเทศกาลยังมีกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการและสัมมนาในหัวข้อต่างๆ อีกด้วย เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการอบรมและเสวนาเป็นจำนวนมาก
ทางด้านตลาดซื้อขายภาพยนตร์กรุงเทพฯ ปี 2550 หรือ Bangkok Film Market 2007 บริษัท โดยจัดงานตั้งแต่วันที่ 23-25 กรกฎาคม ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ 3 ศูนย์การค้าสยามพารากอน การจัดงานตลาดซื้อขายภาพยนตร์กรุงเทพฯ ครั้งนี้ยังเป็นการปูทางให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยได้สร้าง
เครือข่ายและพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับผู้ซื้อและผู้ขายในธุรกิจภาพยนตร์จากทั่วโลก ซึ่งภายในงานมีตัวแทนจากบริษัทผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ของไทยและต่างประเทศ รวมทั้งผู้ให้บริการ
เกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์ของไทย เข้าร่วมงานกว่า 100 บริษัท ซึ่งในปีนี้ภาพยนตร์แอ็คชั่นและภาพยนตร์อะนิเมชั่นของไทยได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมค่อนข้างมาก อาทิ ไชยา ผลงานเรื่องล่าสุดของ ก้องเกียรติ โขมศิริ จากไฟว์สตาร์โปรดัคชั่น, ปืนใหญ่จอมสลัด ผลงานของ นนทรีย์ นิมิบุตร จากสหมงคลฟิล์ม, บางกอก อะดรีนาลีน ภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ของบ็อกซ์ ออฟฟิศ ผลงานกำกับของ เรย์มอนด์ ฮูเบอร์, กล้า ผลงานร่วมทุนสร้างไทย – มาเลเซีย ของฟิล์ม เฟรม โปรดัคชั่น โดยผู้กำกับ ธนพล มะลิวัลย์, ประวัติพระพุทธเจ้า อะนิเมชั่น 2 มิติ ของ ดร.วัลลภา พิมพ์ทอง จัดจำหน่ายโดยโมโนฟิล์ม โดยรายได้จากหนังจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ, นาค ผลงานของ บีบอย ซีจี ที่ทำให้กับบาแรมยูและสหมงคลฟิล์ม เป็นเรื่องราวของผีแม่นาคพระโขนงในโลกยุคใหม่ ฯลฯ
สำหรับการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับการตอบรับจากผู้ชมภาพยนตร์เป็นอย่างดีแล้ว งานเทศกาลยังมีส่วนช่วยส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยทั้งในด้านการผลิตภาพยนตร์ และธุรกิจโรงภาพยนตร์ เพราะในปัจจุบันโรงภาพยนตร์ของประเทศไทยมีคุณภาพดีไม่แพ้ในต่างประเทศ และยังมีราคาไม่แพง ซึ่งธุรกิจโรงภาพยนตร์ของไทยในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และจากความสำเร็จของการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ทุกครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งในปีนี้ ได้มีส่วนกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมีความต้องการจะจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเช่นที่ประเทศไทยจัดขึ้นอีกด้วย