ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สานต่อโครงการ “ครูวิทย์ฯ ในดวงใจ ที่ต้องการสร้างสรรค์การสอนให้เด็กรักวิทยาศาสตร์” ผ่านโครงการเครือข่ายนวัตกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ในระดับโรงเรียน รุ่นที่ 1 ครั้งที่ 2 ให้กับครู 28 คน เพื่อใช้เป็นเวทีแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีๆ ในการนำนวัตกรรมการสอนวิทยาศาสตร์ใหม่ๆไปพัฒนาการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและระดมความคิดแนวทางการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ระหว่างคณะครูและโรงเรียนอื่นๆ ในอนาคต เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้มีใจรักวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า การดำเนินโครงการ “ครูวิทย์ฯ ในดวงใจ ที่ต้องการสร้างสรรค์การสอนให้เด็กรักวิทยาศาสตร์” ผ่านโครงการเครือข่ายนวัตกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ในระดับโรงเรียน รุ่นที่ 1 ครั้งที่ 2 อย่างต่อเนื่องนี้ เพื่อให้คุณครูทุกท่านได้ใช้เวทีแห่งนี้ แบ่งปันประสบการณ์ที่ดีๆ ไปพัฒนาการสอนวิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเด็กจะเก่งและดีได้นั้น จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่สถาบันครอบครัวที่จะมอบความรัก ความเอาใจใส่ การอบรมเลี้ยงดู จนถึงสถาบันการศึกษา ซึ่งคุณครูจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และศักยภาพของเยาวชน ดังนั้นทีเอ็มซีจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาครูวิทยาศาสตร์เพื่อให้มีการพัฒนาการเรียนการสอนให้เป็นครูนำทางมากกว่าการเป็นผู้สอน โดยมุ่งเน้นให้เด็กคิดเป็น และคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ การทำงานของ สวทช. จะมุ่งเน้นการสร้างเครือข่าย และพันธมิตร โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อให้การดำเนินงานเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น”
ด้าน ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สายงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ครูวิทย์ฯ ในดวงใจ ที่ต้องการสร้างสรรค์การสอนให้เด็กรักวิทยาศาสตร์” ผ่านโครงการเครือข่ายนวัตกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ในระดับโรงเรียน รุ่นที่ 1 ครั้งที่ 2 จัดโดยมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) และศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยการสนับสนุนของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้กับคุณครู วิทยาศาสตร์ที่สอนในระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนในเขตพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 28 คน
อย่างไรก็ตามผลสำเร็จจากการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาทำให้มีนวัตกรรมการสอนใหม่ๆ หลายอย่างได้ถูกนำเสนอและรวบรวมขึ้น รวมทั้งเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคณะครูที่เข้าร่วม และคาดว่าจะมีกระจายความรู้ที่ได้ไปสู่คุณครูในโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป โดยคุณครูทุกท่านมีเป้าหมายเดียวกัน คือ “ทำอย่างไรให้นักเรียนเรียนวิทยาศาสตร์อย่างมีความสุข”
สำหรับประโยชนที่คาดว่าครูวิทยาศาสตร์จะได้รับครั้งนี้คือ ครูวิทยาศาสตร์มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้ผู้เรียนมีความคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ , ทำให้เกิดเครือข่ายนวัตกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระดับโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น, เกิดความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนกับหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินงานด้านการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. ซึ่งตัวอย่างโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ เช่น โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร หรือ บ้านวิทยาศาสตร์ของเยาวชนไทย (เป็นแหล่งส่งเสริมและพัฒนาเด็กที่มีศักยภาพสูงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน้นบรรยากาศที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ การคิดค้น และการค้นคว้า) ตลอดจนการนำความรู้ที่ได้รับจาการอบรมเรื่องการใช้เกมในการส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการสอนวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนในชั้นเรียน
เกี่ยวกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2548 ภายใต้ สวทช. พันธกิจหลักคือการนำความสำเร็จของผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศสู่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการให้การสนับสนุนและการให้บริการในรูปแบบต่างๆ อย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ของภาคธุรกิจ สังคมและชุมชน อันนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
ภารกิจหลักที่สำคัญของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ประกอบด้วย การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ , การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน , การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์