สสว. จัดสรรงบ 100 ล้านจับมือ สวทช.ขับเคลื่อนโครงการ iTAP เพื่อเพิ่มขีดความสามารถวิสาหกิจไทยผ่านการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี หวังให้เอสเอ็มอีไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ระยะแรกตั้งเป้าเจาะกลุ่มวิสาหกิจใน 7 อุตสาหกรรม คาดจะเป็นการนำร่องในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ได้มีงานแถลงข่าวความร่วมมือโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (Industry Technology Assistance Program : iTAP) ระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับ สสว. ในครั้งนี้ เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานมีวัตถุประสงค์ตรงกันที่จะร่วมมือดำเนินการผ่านโครงการ iTAP ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีของภาคการผลิต โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเครือข่ายวิสาหกิจ (Industrial Cluster) ด้วยการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยสู่ภาคการผลิต และนำโจทย์ความต้องการจากภาคการผลิตมาสู่การวิจัย เพื่อเชื่อมโยงวิเคราะห์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่จะแก้ปัญหาการผลิต และความต้องการของตลาดกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนการยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. เปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่าง สสว.และ สวทช. ภายใต้โครงการ iTAP ครั้งนี้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีของภาคการผลิต รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความต้องการของภาคอุตสาหกรรมกับการพัฒนาทางด้านวิจัยและเทคโนโลยี เพื่อผลักดันให้เกิดความต่อเนื่องในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวว่า บทบาทของโครงการ iTAP เริ่มตั้งแต่การหาผู้ประกอบการที่ต้องการได้รับการสนับสนุน การช่วยวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการ การช่วยจัดทำข้อเสนอโครงการฯ การจัดหาผู้เชี่ยวชาญ การจัดประชุมเครือข่ายและขยายผลโครงการฯ การจัดทำเอกสารเพื่อเผยแพร่ความรู้ในเชิงวิชาการ และการให้การสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างเหมาะสม
“ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ iTAP สามารถดำเนินภารกิจในการช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้าน การวิจัยและพัฒนาของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้ในจำนวนรายมากกว่าเดิมในภาวะที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องการความช่วยเหลือในการพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน สามารถสร้างปัญญาในสังคม สนับสนุนเศรษฐกิจพอพียง ในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้” ศ.ดร.ชัชนาถกล่าว
สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาวิสาหกิจ ได้กำหนด 7 อุตสาหกรรมหลัก จำนวนประมาณ 240 บริษัทที่จะได้รับการพัฒนาเทคโนโลยี ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารและยา อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ (พลาสติก ยาง โลหะและเคมี) อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน ได้มีการขยายเครือข่ายความช่วยเหลือวิสาหกิจเพิ่มขึ้นเป็น 9 เครือข่ายเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการยิ่งขึ้น โดยพัฒนาที่ปรึกษาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Technology Advisor : ITA) และผู้จัดการที่สามารถให้บริการจำนวน 61 คน และผู้เชี่ยวชาญไทยที่พร้อมให้คำปรึกษาจำนวน 300 คน
นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) กล่าวว่า ความร่วมมือกับสวทช.ภายใต้โครงการ iTAP ว่า สสว. ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของประเทศไทย ตระหนักว่า การดำเนินภารกิจนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือเชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ และโครงการ iTAP ก็เป็นโครงการในลักษณะความร่วมมือและเครือข่ายที่เป็นรูปธรรมซึ่งสสว.ได้สนับสนุนงบประมาณในโครงการดังกล่าวเป็นจำนวน 100 ล้านบาท
“โครงการนี้ ได้สร้างกลไกเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการเพื่อนำความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสู่ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งวัตถุประสงค์คือ 1. ยกระดับเอสเอ็มอีให้ก้าวสู่ความเป็น Technology Intensive และ R&D Intensive อย่างเป็นระบบจากสภาพปัญหาและความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง โดยผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพจากในประเทศและต่างประเทศ และ 2. การดำเนินงานในลักษณะที่กลุ่มผู้ประกอบการและที่ปรึกษาในประเทศ ร่วมทำงานกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจนสามารถต่อยอดสร้างแนวคิดใหม่ๆหรือพัฒนาเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว” นางจิตราภรณ์ระบุ
ผอ.สสว.เผยอีกว่า ความร่วมมือกันระหว่างสสว.และสวทช.ในวันนี้ ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จในการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้งสองแห่ง โดยสวทช.ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตและพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรมไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยมีสสว.เป็นส่วนเชื่อมโยงและส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการลงทุนธุรกิจนวัตกรรม ทั้งยังให้ความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ อาทิ การให้คำปรึกษาในการจัดทำแผนธุรกิจ รวมถึงการร่วมลงทุนและให้เงินช่วยเหลือสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการทำงานร่วมกันในลักษณะเช่นนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจฐานความรู้