ปลานิลไทย : ตลาดขยายตัวทั้งในประเทศและส่งออก

ข่าวที่กระทรวงเกษตรฯ เตรียมส่งเสริมปลานิลให้เป็นเมนูหลักของอาหาร แทนปลาทะเลราคาแพงที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้า เนื่องจากปัจจุบันไทยมีศักยภาพสูงด้านการผลิตปลานิล ประกอบกับทิศทางการบริโภคปลานิลที่ขยายตัวของตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดในสหรัฐฯและยุโรปก็นิยมมารับประทานเมนูปลามากขึ้น นอกจากนี้รัสเซียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่สนใจปลานิลไทยเช่นกัน

ปัจจุบันไทยผลิตปลานิลได้ประมาณ 200,000 ตันต่อปี กรมประมงมีนโยบายเพิ่มกำลังการผลิตปลานิลให้มากกว่าที่เป็นอยู่ร้อยละ 10 ทั้งนี้เพื่อขยายตลาดส่งออกปลานิล เนื่องจากผลผลิตปลานิลส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 เป็นการบริโภคภายในประเทศ โดยพันธุ์ปลานิลไทยที่ต่างชาติยอมรับได้แก่ พันธุ์จิตรลดา 2 และ 3 แต่ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนการเลี้ยง โดยเฉพาะค่าอาหารปลาที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญคือ จีน แนวทางในการแก้ปัญหาคือ การผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยง ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถขยายการส่งออกปลานิลได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตามการเจาะขยายตลาดส่งออกปลานิลนั้นต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด เนื่องจากตลาดนำเข้าสินค้าปลาสำคัญของโลกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯหรือสหภาพยุโรปนั้นจีนเข้าไปครอบครองตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้ รวมทั้งในอนาคตผู้ส่งออกปลานิลของไทยยังต้องเผชิญกับคู่แข่งที่มาแรงโดยเฉพาะประเทศต่างๆในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ซึ่งมีการลงทุนขยายการเลี้ยงปลานิล โดยมีเป้าหมายที่จะส่งออกไปยังสหรัฐฯและสหภาพยุโรปเช่นเดียวกัน

สถานการณ์ปลานิลในไทย
ปลานิล(Nile Tilapia) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งของไทย ซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี 2508 เป็นต้นมา จากคุณสมบัติของปลานิลซึ่งเลี้ยงง่ายเจริญเติบโตเร็ว และเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทำให้เกษตรกรหันมานิยมเลี้ยงปลานิลอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันปริมาณการเลี้ยงปลานิลประมาณ 200,000 ตัน มูลค่าประมาณ 7,900 ล้านบาท(คิดที่ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 39.32 บาท) ซึ่งปัจจุบันปริมาณการเลี้ยงปลานิลคิดเป็นร้อยละ 30.0 ของปริมาณการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดทั้งหมดของไทย ส่วนมูลค่าของปลานิลนั้นคิดเป็นร้อยละ 20.0 ของมูลค่าการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดทั้งหมดของไทย ซึ่งการเพาะเลี้ยงปลานิลของไทยร้อยละ 81.9 เป็นการเลี้ยงในบ่อ ส่วนที่เหลือนั้นเลี้ยงในนาข้าวและร่องสวน

ผลผลิตปลานิลร้อยละ 70.0 ของปริมาณการผลิตปลานิลทั้งหมดบริโภคภายในประเทศโดยแยกเป็นการบริโภคสดร้อยละ 81.0 ในการแปรรูปทำเค็ม และตากแห้งร้อยละ 8.0 นึ่งหรือย่างร้อยละ 7.0 และที่เหลือร้อยละ 4.0 เป็นการบริโภคในรูปอื่นๆ โดยเฉพาะการทำปลาร้า ปลาเจ่า โดยปลานิลที่บริโภคในประเทศนั้นมีวิถีตลาดโดยเกษตรกรขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง หรือขายผ่านผู้รวบรวม ซึ่งจะส่งต่อให้บรรดาผู้ค้าปลาในตลาดสดหรือผู้ที่แปรรูปปลา แล้วจึงจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายปลานิลทั้งตัวและในรูปแช่แข็งเพื่อจำหน่ายให้ภัตตาคารหรือร้านอาหารโดยตรง

ราคาและลักษณะของปลานิลจะมีความแตกต่างกันในแต่ละตลาด กล่าวคือ ตลาดในต่างจังหวัดมีความต้องการปลาขนาดเล็กเพื่อการบริโภค ซึ่งตรงกันข้ามกับตลาดในเมืองมีความต้องการปลาขนาดใหญ่ ราคาของปลาจึงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับขนาดของปลา อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวของราคาที่เกษตรกรขายได้และราคาขายส่งเป็นไปในลักษณะทิศทางเดียวกันและขึ้นอยู่กับฤดูกาล ในการจำหน่ายปลาโดยปกติราคาจำหน่ายจะสูงในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน สำหรับราคาจำหน่ายที่ฟาร์มอยู่ที่ขนาดของปลาอยู่ระหว่าง 12-15 บาท/กก. สำหรับราคาขายปลีกโดยเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 20-25 บาท/กก. ผลต่างระหว่างราคาฟาร์มและราคาขายปลีกเท่ากับ 8-10 บาท/กก.

ตลาดส่งออกปลานิล…มุ่งขยายตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรป
ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลจำหน่ายปลาให้แก่พ่อค้าขายส่งที่องค์การสะพานปลาประมาณร้อยละ 30.0 ของปริมาณการผลิตปลานิลในแต่ละปี โรงงานห้องเย็นรับซื้อปลานิลขนาด 400 กรัมขึ้นไป เพื่อแช่แข็งส่งออกทั้งตัวและรับซื้อปลาขนาด 100-400 กรัมเพื่อแล่เฉพาะเนื้อแช่แข็ง หรือนำไปแปรรูปเพื่อส่งออกต่อไป โดยตลาดส่งออกสำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐฯ อิตาลี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และเอเชีย ราคาส่งออกนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณและความต้องการปลานิลของตลาดโลก โดยเฉลี่ยราคาปลานิลแล่เฉพาะเนื้อมีราคาอยู่ระหว่าง 75-80 บาท/กก. และสำหรับปลานิลแช่แข็งทั้งตัวราคาอยู่ระหว่าง 30-35 บาท/กก. ปัจจุบันไทยส่งออกปลานิลทั้งในรูปปลานิลแช่แข็งและในรูปแล่เนื้อประมาณ 10,000 ตัน มูลค่า 800 ล้านบาท

การผลิตปลานิลให้มีลักษณะตามต้องการของตลาดต่างประเทศจึงต้องพิจารณาถึงต้นทุนและกรรมวิธีในการผลิต เดิมนั้นประเทศคู่แข่งปลานิลทั้งตัวแช่แข็ง (Frozen Tilapia) และเนื้อปลานิลแช่แข็ง(Frozen Tilapia Fillet)ของไทยที่สำคัญคือ ไต้หวัน และบังกลาเทศ ประเทศเหล่านี้สามารถผลิตปลาที่ได้ขนาด เมื่อนำมาแล่เนื้อจะมีขนาด 40-60 กรัมและ 60-80 กรัมต่อชิ้น ดังนั้นขนาดปลาต้องมีน้ำหนัก 400 กรัม/ตัวขึ้นไป อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมาประเทศที่เข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกปลานิลแช่แข็งและเนื้อปลานิลบด คือ จีน อินโดนีเซีย และเอกวาดอร์ นอกจากนี้ ประเทศต่างๆในแถบอเมริกาใต้ก็กำลังเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามอง แม้ว่าในปัจจุบันการเพาะเลี้ยงปลานิลในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ โดยเฉพาะคอสตาริกา ฮอนดูรัส บราซิล ยังคงอยู่ในระยะแรกเริ่มก็ตาม แต่ประเทศเหล่านี้หันมาขยายการเลี้ยงปลานิลอย่างมาก

ปัจจัยบวก-ปัจจัยลบ…ชี้ชะตาอนาคตปลานิลไทย
เมื่อพิจารณาการผลิตปลานิลในประเทศไทย การส่งออกของไทย และสถานการณ์ของทั้งประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง พอจะสรุปปัจจัยหนุนและปัจจัยเสี่ยงในการที่จะขยายการเพาะเลี้ยงปลานิล โดยพิจารณาทั้งปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยภายนอกของการขยายธุรกิจเพาะเลี้ยงปลานิลเพื่อเจาะขยายตลาดส่งออกได้ดังนี้

ปัจจัยหนุน
• ปัจจัยภายใน

-ผลผลิตของไทยมีคุณภาพดี มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก และไม่มีสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์ ยังมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการขยายการเลี้ยง

-ภาครัฐบาลหันมาส่งเสริมการผลิตปลานิลเพื่อการส่งออก โดยตั้งเป้าหมายว่าจะขยายการส่งออกปลานิลเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ต่อปี

-ตลาดภายในประเทศนิยมบริโภคปลานิล และยังมีโอกาสในการขยายตลาดโดยเฉพาะปลานิลขนาดใหญ่เพื่อป้อนตลาดร้านอาหารและภัตตาคาร รวมทั้งการขยายตลาดเนื้อปลานิลสด และเนื้อปลานิลแช่แข็งเพื่อป้อนร้านอาหารตะวันตกในประเทศไทยโดยสามารถเข้าไปทดแทนปลาทะเลนำเข้าที่มีราคาแพงได้

ปัจจัยภายนอก
-จีนเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดที่มีการนำเข้าปลานิลมากที่สุดในโลก แม้ว่าปัจจุบันจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งของเนื้อปลานิลแช่แข็งและปลานิลทั้งตัวแช่แข็ง แต่จีนอาจจะประสบกับปัญหาการส่งออก เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯมีการตรวจสอบสารปฏิชีวนะในปลาประเภทCatfishที่นำเข้าจากจีน ซึ่งถ้าตรวจพบสารปฏิชีวนะในปลาประเภทCatfishที่นำเข้าจากจีนก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในปลานิลที่นำเข้าจากจีนด้วย และน่าจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออกทั้งเนื้อปลานิลแช่แข็งและปลานิลทั้งตัวแช่แข็งของไทย

ปัจจัยเสี่ยง
• ปัจจัยภายใน

-การเลี้ยงปลานิลในประเทศยังเผชิญปัญหา คือพันธุ์ปลานิลลูกผสมที่มีคุณภาพไม่คงที่ ทำให้ลูกปลาโตช้า เกษตรกรยังขาดความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการในการเลี้ยง และราคาอาหารสำเร็จรูปที่ส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงของเกษตรกรสูงขึ้น

จากปัญหาดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องเร่งพัฒนาและแจกจ่ายพันธุ์ปลานิลให้กับเกษตรกร รวมทั้งจัดการอบรมให้ความรู้ในการเพาะเลี้ยงอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่วนในด้านต้นทุนการผลิตอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงราคาจำหน่ายหน้าฟาร์มไปจนถึงราคาส่งออก ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหานั้นกรมประมงศึกษาวิจัยการทำโครงสร้างโรงงานผลิตอาหารเลี้ยงปลานิลให้แก่เกษตรกร คาดว่าต้นทุนการสร้างโรงงานแห่งละ 300,000 บาท เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลสามารถรวมกลุ่มกันสร้างโรงงานในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนค่าอาหาร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของต้นทุนทั้งหมด การลดต้นทุนการผลิตจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

-ห้องเย็นที่รับซื้อปลานิลเพื่อแปรรูปเพื่อการส่งออกยังมีไม่มากนัก ซึ่งเป็นอุปสรรคในการขยายการส่งออกปลานิล แนวทางในการแก้ปัญหา คือ การส่งเสริมให้มีการเลี้ยงปลานิลขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ และต้องปรับประสิทธิภาพการเลี้ยงทั้งในด้านพันธุ์ปลา วิธีการเลี้ยง และราคาอาหารสำเร็จรูป ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนการผลิตปลานิล ซึ่งจะทำให้ราคาปลานิลส่งออกของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เมื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้แล้วปลานิลของไทยก็พร้อมจะเจาะขยายตลาดโลก ซึ่งห้องเย็นก็จะขยายการรับซื้อปลานิลเพื่อการส่งออกมากขึ้น

ปัจจัยภายนอก
-การขยายการลงทุนเลี้ยงปลานิลอย่างกว้างขวางในประเทศต่างๆที่มีอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด โดยเฉพาะประเทศในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ เม็กซิโก และอินเดีย ซึ่งประเทศเหล่านี้จะเป็นคู่แข่งขันสำคัญในการส่งออกปลานิลของไทย เนื่องจากราคาปลานิลในตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์สูง ความต้องการปลานิลมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐฯและประเทศในแถบยุโรป รวมทั้งรัสเซีย รวมทั้งยังมีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการขยายการเพาะเลี้ยงปลานิล

-ในปี 2550 ราคาเนื้อปลานิลทั้งแช่เย็นและแช่แข็งในตลาดสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากราคาปลานิลจากจีนนั้นมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นถ้าไทยต้องการขยายการส่งออกปลานิล ไทยต้องเร่งปรับประสิทธิภาพการผลิต โดยเน้นการลดต้นทุนการผลิต ทั้งนี้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

-ประเทศคู่แข่งในการส่งออกปลานิลในตลาดโลกมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าปลานิล กล่าวคือ จีนมีการพัฒนาและส่งออกปลานิลแปรรูป ประเทศคอสตาริกาส่งออกหนังปลานิลไปยังสหภาพยุโรปเพื่อนำไปสกัดเยลลี่และคอลลาเจนสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ส่วนฮอนดูรัสมีการขยายการเลี้ยงปลานิลอินทรีย์ การผลิตปลาป่นและน้ำมันไบโอดีเซลที่ใช้ปลานิลเป็นวัตถุดิบอีกด้วย

-การเจาะขยายตลาดปลานิลต้องเผชิญทั้งการการแข่งขันกับปลาประเภทอื่นๆ ที่เป็นที่นิยมบริโภคอยู่แล้วในตลาด และแข่งขันกับปลาน้ำจืดชนิดอื่นๆที่ประเทศนั้นมีการนำเข้าด้วย กล่าวคือ ปลานิลจะเข้าไปแย่งตลาดปลาแซลมอนในสหรัฐฯ ซึ่งประสบความสำเร็จเนื่องจากปริมาณปลาแซลมอนซึ่งเป็นปลาเนื้อแดงมีน้อยลง และคนอเมริกันหันมานิยมปลานิลซึ่งเป็นปลาเนื้อขาวมากกว่า ส่วนในสหภาพยุโรปปลานิลมีลักษณะคล้ายคลึงกับปลาซีบาส (Seabas) และปลาค็อด (Cod) หากราคาย่อมเยากว่ามาก จึงคาดว่าจะสามารถเข้าไปทดแทนตลาดส่วนนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ในตลาดสหภาพยุโรปการขยายตลาดปลานิลยังไม่กว้างขวางมากนัก เนื่องจากขณะนี้เวียดนามยังส่งออกปลาในตระกูลCatfish(ปลาดุก) Pangasius (ปลาสวาย ปลาเทพา ฯลฯ) และ Nile Perch(ปลาในตระกูลปลาหมอ) โดยการส่งออกเป็นในรูปของเนื้อล้วน (fillet) ซึ่งปลาเหล่านี้เป็นที่นิยมบริโภคของชาวยุโรปมากกว่า

ดังนั้นการขยายการผลิตปลานิลทั้งเพื่อป้อนตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศนั้น ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนคงต้องหาทางใช้ปัจจัยหนุนให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและปรับแก้ไขปัจจัยเสี่ยงทั้งนี้เพื่อให้การลงทุนเพาะเลี้ยงปลานิลประสบความสำเร็จ

บทสรุป
การขยายการเพาะเลี้ยงปลานิลยังต้องมีการปรับในด้านการผลิต โดยการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศนั้นยังมีโอกาสในการเจาะขยายร้านอาหารและภัตตาคารอาหารไทยและตะวันตก แต่ต้องผลิตปลานิลขนาดใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยเทคนิควิธีการเลี้ยงที่ทันสมัยมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่รุนแรงกับตลาดปลาน้ำจืดประเภทอื่นๆ สำหรับตลาดส่งออกนั้นนอกจากการปรับการผลิตเพื่อให้ได้ปลานิลขนาดใหญ่และไม่มีสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์แล้ว ผู้เพาะเลี้ยงปลานิลจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทั้งในด้านพันธุ์ วิธีการเลี้ยง และอาหารปลา ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้ราคาส่งออกปลานิลของไทยอยู่ในระดับที่สามารถจะแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นจีนซึ่งในปัจจุบันครองตลาดส่งออกปลานิลอันดับหนึ่งของโลก โดยเฉพาะการส่งออกปลานิลทั้งตัวแช่แข็ง เนื้อปลานิลแช่แข็ง และปลานิลแปรรูปแช่แข็ง ส่วนคู่แข่งที่กำลังมาแรงอย่างประเทศต่างๆในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ โดยเฉพาะเอกวาดอร์ และฮอนดูรัส ที่ปัจจุบันมีการส่งออกปลานิลเป็นอันดับสองรองจากจีน และประเทศเหล่านี้มีการลงทุนขยายการเพาะเลี้ยงปลานิลอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อทดแทนการส่งออกกุ้งที่ประสบปัญหาโรคระบาด จึงหันมาเลี้ยงปลานิลเพื่อการส่งออกทดแทน และประเทศเหล่านี้มีความได้เปรียบในเรื่องระยะทางการขนส่งไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าปลานิลมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทำให้สามารถครองตลาดเนื้อปลานิลสดของสหรัฐฯ ส่วนปลานิลทั้งตัวแช่แข็ง เนื้อปลานิลแช่แข็ง และปลานิลแปรรูปแช่แข็งยังเป็นอันดับสองรองจากจีน นอกจากนี้ยังต้องจับตาประเทศที่จะเป็นคู่แข่งในอนาคตโดยเฉพาะอินเดียและเวียดนามซึ่งกำลังจะขยายการเพาะเลี้ยงปลานิลเพื่อการส่งออกด้วย