สถานวิทยามะเร็งศิริราชร่วมกับ แพทย์ศิริราช จัดบรรยายพิเศษเรื่อง “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมะเร็งต่อมลูกหมาก” และ จัดงานเสวนา การดูแลจิตใจผู้ป่วยมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยก่อนตาย พร้อมนิมนต์ พระอาจารย์ทองปาน จารุวรรณโณ มาเล่าประสบการณ์เฉียดตาย ในวันพุธที่ 26 กันยายน 2550 เวลา 08.30 – 15.00 น. ณ ห้องประชุมอทิตยาทรกิตติคุณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 โรงพยาบาลศิริราช โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
รศ. นพ. อนุพันธ์ ตันติวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า สถานวิทยามะเร็งศิริราช ร่วมกับสาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้จัดกิจกรรมการบรรยายพิเศษพร้อมกันใน 2 หัวข้อ คือ “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมะเร็งต่อมลูกหมาก” และเรื่องการดูแลจิตใจผู้ป่วยมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยก่อนตาย เพื่อเป็นการฟื้นฟูและให้กำลังใจผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก, ผู้ป่วยโรคอื่น ๆ , ญาติผู้ป่วยและผู้สนใจทั่วไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ในวันพุธที่ 26 กันยายน 2550 เวลา 08.30 – 15.00 น. ณ ห้องประชุมอทิตยาทรกิตติคุณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 โรงพยาบาลศิริราช
รศ. นพ. อนุพันธ์ กล่าวว่า ภายในงานจะมีการบรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์ของมะเร็งต่อมลูกหมากในประเทศไทย การตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้น รวมไปถึงวิธีการบำบัดรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงระยะสุดท้าย โดยวิธีต่าง ๆ อาทิ การรักษาโดยใช้วิธีการผ่าตัด, การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องหรือใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด, การฉายแสง, การใช้ฮอร์โมนและเคมีบำบัด ตลอดจนการดูแลรักษาในกรณีที่มะเร็งลุกลามหรือแพร่กระจายไปสู่กระดูก
ในส่วนของการจัดเสวนาเรื่องการดูแลจิตใจผู้ป่วยมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยก่อนตายนั้น ทางสถานวิทยามะเร็งศิริราช ได้รับเกียรติจากวิทยากรหลายท่าน อาทิ คุณอโณทัย เจียรสถาวงศ์ พระอาจารย์ทองปาน จารุวรรณโณ จากวัดป่าสันตินิมิต อ.บึงบูรณ์ จังหวัดศรีสะเกษ มาบรรยาย เกี่ยวกับเรื่องเล่าประสบการณ์เฉียดตาย เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ป่วยและผู้สนใจทั่วๆ ไป ในการยอมรับความจริงของวาระสุดท้ายของชีวิต
ทั้งนี้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ใกล้ถึงแก่กรรมนั้น ส่วนใหญ่มักจะมีความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวที่ต้องเฝ้ามองด้วยความทุกขเวทนา ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ญาติผู้ป่วยและผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงควรจะมีความรู้และศิลปะที่ได้รับการฝึกฝนจนชำนาญ ตลอดจนควรจะมีความเห็นใจ เข้าใจและมีความอดทนในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ ซึ่งการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีจุดมุ่งหมายหลัก เพื่อการระงับหรือลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย จึงจำเป็นต้องมีการประเมินผู้ป่วยรอบด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ โดยประกอบด้วย การประเมินประวัติของโรค อาการไม่สบายทางกาย จิตใจ ความสามารถในการตัดสินใจ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สภาพทางสังคม ความต้องการทางจิตวิญญาณและการเตรียมตัวก่อนตาย การดูแลรักษาจิตใจผู้ป่วยมะเร็งและผู้ป่วยในวาระสุดท้ายให้มีความสงบสุข หรืออยู่ในสภาพที่ดีนั้น ถือเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่เพราะได้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน