เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมานั้น คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) เพื่อผ่อนปรนหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี กรณีการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผู้ลงทุนจะได้รับกรณีลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน RMF โดยได้ระบุให้เงินหรือผลประโยชน์ใดๆที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุน RMF จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน และไม่ต้องคืนเงินค่าลดหย่อนทางภาษีจากค่าซื้อหน่วยลงทุนต่อเมื่อผู้ลงทุนถือหน่วยลงทุนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีและมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และกำหนดให้กฎหมายที่จะเสนอแก้ไขครั้งนี้มีผลบังคับไปข้างหน้า โดยให้มีผลทางภาษีสำหรับหน่วยลงทุนที่จะได้มีการซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 เป็นต้นไป
โดยกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากกองทุน
รวมทั่วไป เนื่องจากเป็นการส่งเสริมการออมและการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมไว้สำหรับการเกษียณอายุ โดยผู้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มากกว่าการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป ทั้งนี้ การใช้มาตรจูงใจทางภาษีของกองทุน RMF นั้น ได้มีขึ้นนับตั้งแต่ที่ได้จัดตั้งกองทุนประเภทนี้ โดยในปี 2544 โดยระบุให้เงินได้ที่นำไปลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าวในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้และไม่เกิน 300,000 บาทของปีภาษีนั้น เมื่อรวมกับเงินที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและ กบข. ตลอดจน เงินลงทุนและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการไถ่ถอนหน่วยลงทุนเมื่อเกษียณอายุ, ทุพพลภาพหรือตายจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะต้องเป็นการลงทุนและถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไม่น้อยกว่า 5 ปีและไถ่ถอนหน่วยลงทุนเมื่อผู้ลงทุนมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี อย่างไรก็ตาม ในปี 2547 ได้มีการผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการให้สามารถนำเงินได้ทุกประเภทมาซื้อหน่วยลงทุนได้ (จากเดิมที่กำหนดให้ได้รับสิทธิประโยชน์สำหรับเงินได้บางประเภท) และยังได้ผ่อนปรนให้ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้หรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนที่ถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี (จากเดิมที่ให้ได้รับยกเว้นภาษีเฉพาะกรณีขายคืนหน่วยลงทุนเมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป หรือทุพพลภาพหรือตายเท่านั้น) โดยกระทรวงการคลังขณะนั้นระบุว่าเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการลงทุนในกองทุน RMF มากขึ้น อันจะเป็นการช่วยสร้างความมั่งคงในด้านรายได้ให้แก่ผู้ลงทุนภายหลังจากการเกษียณอายุ รวมทั้งทำให้กองทุนสามารถนำเงินไปลงทุนในตลาดทุนระยะยาวได้มากขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมาได้ทำให้ผู้ลงทุนมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าการขายคืนหน่วยลงทุนหลังจากถือมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปีจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกันกับการถือหน่วยลงทุนจนถึงอายุ 55 ปีทุกประการ ส่งผลให้กระทรวงการคลังต้องทำการแก้ไขกฏกระทรวงดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยได้ระบุให้เงินหรือผลประโยชน์ใดๆที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุน RMF จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน และไม่ต้องคืนเงินค่าลดหย่อนทางภาษีจากค่าซื้อหน่วยลงทุนต่อเมื่อผู้ลงทุนถือหน่วยลงทุนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีและมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์
ทั้งนี้ กองทุน RMF มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและจำนวนกองทุนเพิ่มขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของกองทุน RMF เริ่มเป็นไปในอัตราที่ชะลอลง จากการขยายตัวที่สูงถึงร้อยละ 452 ในปี 2545 สู่ร้อยละ 157 ร้อยละ 68 ร้อยละ 51 ร้อยละ 38 ในปี 2546 จนถึง 2549 ตามลำดับ โดยล่าสุดนั้น มูลค่าทรัพย์สินสุทธิในเดือน สิงหาคม อยู่ที่ 30,349 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 19 จากสิ้นปีก่อน ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน RMF คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.3 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั้งหมด และโดยมีจำนวนกองทุนทั้งสิ้น 72 กอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ (รวมตราสารหนี้ระยะสั้น) 30 กอง รองลงมาได้แก่ กองผสม ตราสารทุน และตลาดเงิน ตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การที่อัตราการขยายตัวของกองทุน RMF เป็นไปในอัตราที่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกองทุนรวมประเภทอื่นๆ สืบเนื่องจากวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนที่มุ่งเน้นไปที่การสะสมเงินเพื่อรองรับการเกษียณอายุอย่างแท้จริง โดยเป็นการออมในระยะยาวซึ่งผู้ลงทุนจะต้องมีวินัยในตนเองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานั้น คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับผู้ลงทุนตามเงื่อนไขที่กำหนด ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ลงทุนสนใจเข้ามาซื้อหน่วยลงทุนกองทุน RMF แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การลงทุนในกองทุน RMF โดยได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีอย่างครบถ้วนยังต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขการลงทุนหลายประการ อาทิเช่น จะต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยซื้อหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน (ยกเว้นปีที่ไม่มีเงินได้) การลงทุนขั้นต่ำจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้ในแต่ละปี หรือ 5 พันบาท โดยจะต้องมีการลงทุนและถือหน่วยลงทุนจนผู้ลงทุนอายุครบ 55 ปี และมีการลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นต้น และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ลงทุนปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุนอย่างเคร่งครัด จึงได้มีการกำหนดให้มีการคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับในกรณีที่ไม่สามารถปฎิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้
โดยในกรณีที่มีระยะเวลาการลงทุนไม่ถึง 5 ปี จะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการลดหย่อนไปแล้วทุกปี (ซึ่งหักจากค่าซื้อหน่วยลงทุน) และเสียภาษีกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน
ขณะที่การผิดเงื่อนไขหลังจากที่ได้ลงทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปแล้ว จะกำหนดให้ต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการลดหย่อนไปในช่วง 5 ปีย้อนหลัง โดยผู้ลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีเฉพาะกำไรที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุน
ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องชำระคืนภายในเดือน มีนาคม ของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไขและหากเกินระยะเวลาดังกล่าวจะต้องเสียเบี้ยปรับเพิ่ม
เมื่อพิจารณาเงื่อนไขการลงทุนที่ค่อนข้างมีความซับซ้อนเหล่านี้ทำให้ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบมากกว่าการลงทุนในกองทุนประเภทอื่นๆ ในเรื่องของความพร้อมทางการเงินของตนเอง ระยะเวลาในการลงทุน และความมีวินัยในการที่จะสามารถลงทุนในกองทุน RMF ได้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจน ตระหนักถึงสภาพคล่องซึ่งน้อยกว่าการลงทุนในช่องทางอื่นๆ เนื่องจากผู้ลงทุนจะต้องลงทุนและถือหน่วยลงทุนจนมีอายุครบ 55 ปี และมีการลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงจะสามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนโดยที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครบถ้วน ประกอบกับ ลักษณะของกองทุน RMF ที่มีความแตกต่างจาก กองทุนรวมอื่นๆที่จะไม่มีการจ่ายเงินปันผล และไม่สามารถที่จะโอน จำนำ หรือนำหน่วยลงทุนไปเป็นหลักประกันได้
สำหรับประเด็นที่ทางกระทรวงการคลังได้มีการแก้ไขร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน RMF ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินหรือผลประโยชน์ใดๆที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนก็ต่อเมื่อผู้ลงทุนถือหน่วยลงทุนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีและมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จะเป็นการช่วยทำให้ได้กลุ่มผู้ที่เข้ามาลงทุนเป็นการเฉพาะเจาะจงผู้ที่ต้องการลงทุนในระยะยาวอย่างแท้จริง ซึ่งจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุน RMF ในการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ โดยไม่ได้ให้เข้าลงทุนเพื่ออาศัยสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีจากการซื้อหน่วยลงทุนและขายทำกำไรหลังจากถือหน่วยลงทุนครบ 5 ปีแล้ว และยังช่วยลดความสับสนของผู้ลงทุนเกี่ยวกับเงื่อนไขการลงทุนในกอง RMF ซึ่งเดิมค่อนข้างมีความซับซ้อนและก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในวงกว้างในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในด้านการสนับสนุนการขยายตัวของกองทุน RMF แล้ว การที่ระบุให้ต้องถือหน่วยลงทุนจนถึงอายุ 55 ปีอาจจะทำให้ความสนใจในการเข้าซื้อกองทุนดังกล่าวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกในการลงทุนโดยวิธีอื่นๆ ซึ่งอาจจะกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและการขยายตัวของกองทุนประเภทนี้ในระยะต่อไปได้เช่นกัน ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ได้มีความพยายามเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ลงทุนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการออมเพื่อการเกษียณอายุเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่เรื่องดังกล่าวคงจะต้องอาศัยระยะเวลาในการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสำหรับผู้ลงทุนในแต่ละช่วงอายุย่อมมีความแตกต่างกัน ซึ่งการที่กองทุน RMF ได้มีการกำหนดเงื่อนไขในการถือหน่วยลงทุนจนถึงอายุ 55 ปีดังกล่าวน่าจะส่งผลให้เป็นที่สนใจของกลุ่มผู้ลงทุนในวัยที่ใกล้เกษียณอายุ (หรือ ประมาณ 50 ปีขึ้นไป) มากกว่ากลุ่มวัยรุ่นหรือวัยที่เริ่มทำงาน โดยผู้ลงทุนคงจะเปรียบเทียบระหว่างสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีและอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากกองทุน RMF ในอนาคตข้างหน้า กับความสามารถในการปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุนของกองทุน RMF รวมถึงอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้จากการลงทุนช่องทางอื่นๆว่าทางเลือกใดจะตอบสนองความต้องการลงทุนได้มากที่สุด
กล่าวโดยสรุปได้ว่า การที่ทางคณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติร่างแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน RMF ตามที่ทางกระทรวงการคลังเสนอ โดยได้ระบุให้เงินหรือผลประโยชน์ใดๆที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุน RMF จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน และไม่ต้องคืนเงินค่าลดหย่อนทางภาษีจากค่าซื้อหน่วยลงทุนต่อเมื่อผู้ลงทุนถือหน่วยลงทุนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีและมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จะช่วยส่งผลให้ผู้ที่เข้ามาลงทุนในกองทุน RMF เป็นกลุ่มที่ต้องการลงทุนในระยะยาวอย่างแท้จริง ซึ่งจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุน RMF ในการออมเพื่อการเกษียณอายุ และยังช่วยลดความสับสนของผู้ลงทุนเกี่ยวกับเงื่อนไขการลงทุนในกอง RMF ซึ่งเดิมค่อนข้างมีความซับซ้อนและก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในวงกว้างในช่วงที่ผ่านมา จากเดิมที่ผู้ลงทุนมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าการขายคืนหน่วยลงทุนหลังจากถือมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปีจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกันกับการถือหน่วยลงทุนจนถึงอายุ 55 ปีทุกประการ ทำให้มีการเข้าลงทุนเพื่อต้องการสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีจากการซื้อหน่วยลงทุนและขายทำกำไรหลังจากถือหน่วยลงทุนครบ 5 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในด้านการสนับสนุนการขยายตัวของกองทุน RMF แล้ว การที่ระบุให้ต้องถือหน่วยลงทุนจนถึงอายุ 55 ปีอาจจะทำให้ความสนใจในการเข้าซื้อกองทุนดังกล่าวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกในการลงทุนโดยวิธีอื่นๆ ซึ่งจะกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและการขยายตัวของกองทุนประเภทนี้ในระยะต่อไปได้เช่นกัน นอกจากนั้น ทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสำหรับผู้ลงทุนในแต่ละช่วงอายุย่อมมีความแตกต่างกัน โดยการที่กองทุน RMF มีการกำหนดเงื่อนไขในการถือหน่วยลงทุนจนถึงอายุ 55 ปีดังกล่าวน่าจะส่งผลให้เป็นที่สนใจของกลุ่มผู้ลงทุนในวัยที่ใกล้เกษียณอายุ (หรือ ประมาณ 50 ปีขึ้นไป) มากกว่ากลุ่มวัยรุ่นหรือวัยที่เริ่มทำงาน โดยผู้ลงทุนคงจะเปรียบเทียบระหว่างสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีและอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากกองทุน RMF ในอนาคตข้างหน้า กับความสามารถในการปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุนของกองทุน RMF รวมถึงอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้จากการลงทุนช่องทางอื่นๆว่าทางเลือกใดจะตอบสนองความต้องการลงทุนได้มากที่สุด