กสิกรไทยและศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัว ม.หอการค้าไทยเดินเครื่องส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืน ด้วยเป็นอีกหน่วยธุรกิจขนาดใหญ่หรือประมาณ 80 – 98 % ของธุรกิจในโลกเสรี ที่สร้างรายได้และว่าจ้างแรงงานจำนวนมาก การจุดพลังให้กับธุรกิจครอบครัวที่มีจุดแข็งทางธุรกิจที่แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ จึงเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างยั่งยืนด้วย โดยมุ่งหวังให้เจ้าของและทายาทธุรกิจลดปัญหาและช่องว่างการบริหารงานของรุ่นสู่รุ่น และร่วมกันสานต่อธุรกิจครอบครัวอย่างมืออาชีพ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจครอบครัวในงานสัมมนา “กลยุทธ์การส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น”
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธุรกิจจำนวนมากในปัจจุบัน ล้วนมีจุดเริ่มต้นและรากฐานจาก “ธุรกิจครอบครัว” ถึงแม้จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีรายได้มากกว่าปีละหนึ่งพันล้านบาท ก็ยังมีลักษณะเฉพาะของการบริหารงานแบบธุรกิจครอบครัวอยู่ อุปสรรคสำคัญของธุรกิจทุกวันนี้ คือ ช่องว่างทางความคิดของการบริหารจากรุ่นสู่รุ่น หลายครั้งเราจึงเห็นทายาทของเจ้าของธุรกิจครอบครัวไปมุ่งทำงานต่างองค์กร ขาดการส่งต่อกลยุทธ์ทางธุรกิจและนำไปสู่ภาวะอ่อนแอของธุรกิจครอบครัวในระยะยาวได้ ทั้งที่ความจริงธุรกิจครอบครัวสร้างผลกำไรได้มากกว่า ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการทำงานให้กับองค์กรอื่น ๆ และมีอัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าธุรกิจทั่วไปค่อนข้างมาก โดยนิตยสาร Forbes (1995) ศึกษาพบว่า 800 บริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ มีถึง 31 บริษัทที่มี CEO มาจากครอบครัวที่ควบคุมธุรกิจ ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญนี้จึงอยากร่วมผลักดันให้ธุรกิจครอบครัวเดินหน้าอย่างมั่นคงและโตอย่างยั่งยืน ด้วยการเชิญเจ้าของและทายาทธุรกิจร่วมฟังสัมมนาโดยผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานโดยตรงด้านการศึกษาธุรกิจครอบครัว ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน ในงานสัมมนาในครั้งนี้
รองศาสตราจารย์ ดร. จีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการศึกษา พบว่า ธุรกิจครอบครัวมีประมาณ 80 – 98 % ของนักธุรกิจทั้งหมดในโลกเสรี พร้อม ๆ กับสร้างรายได้ถึง 49 % ของ GDP ในสหรัฐฯ พร้อมกันนี้ ยังสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 75 % ของ GDP ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้เกิดการว่าจ้างแรงงานทั่วโลกกว่า 85% ทำให้เราตระหนักได้ว่า ท่ามกลางสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผันแปรในปัจจุบัน ยังมีธุรกิจครอบครัวอีกจำนวนมากซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมและเป็นธุรกิจโครงสร้างหลักของเศรษฐกิจไทย รอการสานต่อและเติบโตอย่างไรให้ยั่งยืน และแม้ว่าธุรกิจครอบครัวจะใช้หลักการจัดการเหมือนกับบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว แต่ความเป็นจริงแล้วมีหลักการในการบริหารงานไม่ว่าด้านกลยุทธ์ การเงิน การตลาด และการจัดการองค์กร ล้วนมีความแตกต่างจากบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวอย่างสิ้นเชิง แต่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา รวมไปถึงองค์กรเอกชนต่างๆ ยังขาดความเข้าใจในเรื่องของการบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างแท้จริง ทำให้ธุรกิจครอบครัวไม่สามารถจะเจริญเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น
การรู้จักและเข้าใจในธุรกิจครอบครัว พร้อมวางกลยุทธ์เพื่อสร้างความได้เปรียบ จึงเป็นสะพานเชื่อมความแข็งแกร่ง เพราะหากธุรกิจครอบครัวแข็งแรงก็จะเสริมสร้างความมั่นคงให้กับภาครวมธุรกิจไทยได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ที่หลาย ๆ หน่วยงานหรือหลาย ๆ ภาคส่วนเร่งสร้าง และร่วมกันให้การสนับสนุนกันอยู่แล้วในปัจจุบัน