เปิดอินไซต์ใช้จ่าย ‘ตรุษจีน’ 2564 เงียบเหงา เศรษฐกิจเเย่ ต้องประหยัด ของไหว้เจ้า ‘แพงขึ้น’

เทศกาลตรุษจีนปีนี้ ไม่คึกคักเหมือนเคย ใช้จ่ายต่ำสุดในรอบ 13 ปี คาดเงินสะพัดเหลือแค่ 4.49 หมื่นล้าน ลดลง 21.85% จากพิษ COVID-19 รอบใหม่ คนประหยัดขึ้น ชะลอใช้จ่าย ลดการเดินทางท่องเที่ยว มองราคาของไหว้เจ้าแพงขึ้น

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ผลการสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 ว่า ภาพรวมเทศกาลตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคัก

ปัจจัยหลักๆ มาจากการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาทั้งรอบใหม่เเละรอบเก่า ทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง มีความไม่เเน่นอนทางรายได้สูง ส่งผลให้ประชาชนไทยเชื้อสายจีนใช้จ่ายลดลงเช่นกัน

ปีนี้มีมูลค่าการใช้จ่ายลดลงเหลือ 44,939 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 21.85% หรือเงินหายไป 1.2 หมื่นล้านบาท นับเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 13 ปี ตั้งแต่มีการสำรวจมา

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากความกังวลต่อการระบาดของ COVID-19 ยังไม่สามารถจะเดินทางท่องเที่ยวได้มากนัก รวมถึงผู้คนต้องประหยัด เเละระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ทำให้การจ่ายเงินซื้อสินค้าเซ่นไหว้ในช่วงตรุษจีนไม่คึกคักเท่าที่ควร

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ไหว้เจ้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ จำนวน 1,200 คน พบว่า ประชาชน 42.2% มีการใช้จ่ายน้อยลง ส่วน 33.2% ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้จ่าย และมีเพียง 24.6% ที่มีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

โดยสาเหตุที่มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น เป็นเพราะมองว่าราคาสินค้าแพงขึ้น 69.9% ส่วนสาเหตุที่มีการใช้จ่ายน้อย เพราะมองว่าภาวะเศรษฐกิจแย่ลง 39.9% มีรายได้ลดลง 24% ต้องการลดค่าใช้จ่าย 15.4% และผล
กระทบโรคระบาด 15.1%

ส่วนบรรยากาศช่วงเทศกาลตรุษจีนในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563 ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า จะคึกคักน้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่ 63.7% มองว่าคึกคักพอพอกัน 21.0% และคึกคักมากกว่า 15.3% ประชาชนส่วนใหญ่ยังไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาดสดและห้างค้าปลีก

สำหรับผู้ที่ได้รับแต๊ะเอียในปีนี้ คิดว่าจะได้รับแต๊ะเอีย 55.5% และคิดว่าจะไม่ได้ รับแต๊ะเอียราว 44.5% เมื่อถามลึกลงไปกว่านั้น คนที่คิดว่าตัวเองจะได้รับแต๊ะเอียส่วนใหญ่ จะเอาเงินที่ได้ไปเก็บออม 58.5% และซื้อเครื่องแต่งกาย 54.6% ไปทานข้าว 36.9%

หากแบ่งการใช้จ่ายตามภูมิภาค พบว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 16,230 ล้านบาท ลดลง 24.50% ภาคกลาง อยู่ที่ 11,452 ล้านบาท ลดลง 21.40% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 7,269 ล้านบาท ลดลง 15.55% ภาคเหนือ อยู่ที่ 4,499 ล้านบาท ลดลง 17.21% และภาคใต้ อยู่ที่ 5,487 ล้านบาท ลดลง 25.80%

ด้านแหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้จ่าย ผู้ตอบราว 66.8% ระบุว่า มาจากเงินเดือน/รายได้ปกติ, 19.8% มาจากเงินออม, 10% โบนัส/รายได้พิเศษ, 1.6% เงินกู้ และอีก 1.8% เป็นเงินช่วยเหลือจากภาครัฐจากมาตรการต่าง ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจในการสำรวจ พบว่า มีการใช้บริการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์เเละสั่งเดลิเวอรี่มากขึ้น ลดการเดินทางท่องเที่ยวน้อยลง ส่วนการเลือกซื้อของเซ่นไหว้ ปีนี้คนจะเลือกซื้อไข่มากขึ้น ลดสัดส่วนการซื้อประเภทอื่นอย่างหมู เป็ด ไก่ ลดลง

โดยมีการใช้จ่ายรูปแบบใช้จ่ายผ่านเงินสด อยู่ที่ 63.3% ลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการใช้จ่ายผ่านเงินสดอยู่ที่ 84.6% ประชาชนหันไปใช้จ่ายผ่านการโอนเงินมากขึ้น อยู่ที่ 13.4% ผ่านบัตรเครดิต 23.3%”

สำหรับสิ่งที่ประชาชนเป็นห่วงในช่วงตรุษจีนมากที่สุด คือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตามมาด้วยราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า มาตการช่วยเหลือของภาครัฐ จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยการอัดฉีดเงินจากมาตรการเราชนะเเละ.33เรารักกันในช่วงปลายเดือนนี้ จะกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนให้เพิ่มขึ้นได้ ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2564 เป็นต้นไป