“เทศกาลเจ” ปีนี้ เงียบเหงาจากพิษ COVID-19 ทำเศรษฐกิจชะลอตัว ค่าครองชีพสูง คนตกงาน รายได้ลดลง ระวังการใช้จ่าย คาดเงินสะพัด 46,967 ล้านบาท ขยายตัว 0.9% นับว่าต่ำสุดในรอบ 13 ปี
ตามปกติเเล้ว “เทศกาลเจ” เป็นช่วงที่กระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ดีในช่วงปลายปี โดยในปี 2563 จะตรงกับวันที่ 17-25 ตุลาคม รวมเป็นระยะเวลา 9 วัน เเต่จากการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้ปีนี้ “ไม่คึกคัก” เหมือนเคย
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลวิจัยพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจ จากการสำรวจระหว่างวันที่ 28 กันยายน – 2 ตุลาคม 2563 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,393 ราย ทั่วประเทศ พบว่า ปีนี้มูลค่าการใช้จ่ายโดยรวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 46,967 ล้านบาท เติบโตจากปี 2019 เพียง 0.9% เท่านั้น
สาเหตุหลักๆ มาจากผลกระทบของ COVID-19 ที่ 39.8% รองลงมาคือภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี 28.6% ค่าครองชีพสูงขึ้น มีหนี้สินเพิ่มขึ้น 19.1% และคนตกงาน รายได้ลดลง 11.6%
ผลสำรวจระบุว่า ประชาชนกว่า 60.2% จะไม่กินเจ ส่วนอีก 39.8% กินเจ โดยประเมินว่า ประชาชนหนึ่งคนจะใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจอยู่ที่ราว 11,469.34 บาท แบ่งเป็นค่าอาหาร 1,016.19 บาท, ค่าทำบุญ 2,863.52 บาท, ค่าเดินทางไปทำบุญต่างจังหวัด 3,762.21 บาท และค่าที่พัก (หากไปต่างจังหวัด) 4,722.62 บาท
ส่วนความคิดเห็นที่ว่า ราคาอาหารเเละวัตถุดิบในการปรุงอาหารเจ ปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562 จะเป็นอย่างไรนั้น ประชาชนกว่า 58% มองว่าจะสูงขึ้น สาเหตุมาจากค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้พ่อค้าเเละแม่ค้าปรับขึ้นราคา รวมถึงปัญหา COVID-19 เเละค่าแรงสูงขึ้น ขณะที่อีก 41.1% มองว่าราคาจะเท่าเดิมกับปีก่อน
สำหรับช่องทางในการเลือกซื้ออาหารเจ พบว่ากว่า 76.45% เลือกซื้อเองในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าทั่วไป ส่วนอีก 23.6% ไมได้ไปซื้อด้วยตนเอง เเต่จะสั่งซื้อผ่านตัวกลางขนส่ง อย่างบริการเดลิเวอรี่ วินมอเตอร์ไซค์ หรือซื้อผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์
โดยประชาชนกว่า 47.8% มองว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในจุดต่ำสุด ขณะที่อีก 27.3% มองว่าประเทศอยู่ในภาวะถดถอย ไม่สอดคล้องกับสถาบันด้านเศรษฐกิจหลายแห่งที่ออกมาประกาศว่าเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังพ้นไตรมาสที่ 2/2563 ส่วนอีก 20.7% มองว่ากำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยส่วนใหญ่ 48.8% เชื่อกันว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2564
ส่วนภาวะสภาพคล่องของครอบครัวในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประชาชนกว่า 60.9% มองว่า “เเย่ลง” ขณะที่อีก 34.0% มองว่าไม่เปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ ผลสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่น่าห่วง พบว่าประชาชน 24.7% ห่วงด้านเศรษฐกิจ รองลงมา 24.1% คือห่วงการเมือง และ 17.8% ห่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19
ในช่วง 2-3 ปีผ่านมา มูลค่าการใช้จ่ายในช่วงกินเจ ก็มีอัตราการหดตัวอย่างต่อเนื่องอยู่เเล้ว ยิ่งซ้ำเติมไปอีกเมื่อเจอวิกฤตโรคระบาด โดยเทศกาลการถือศีลกินเจในปีนี้ นับว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายโดยรวม ‘เติบโตต่ำที่สุด’ ในรอบ 13 ปี (นับตั้งเเต่ที่ทาง ม.หอการค้าเก็บข้อมูลครั้งเเรกในปี 2551)