ภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อในปัจจุบัน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
ที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ของสหรัฐฯ ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดการเงินจับตาดูอย่างใกล้ชิด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงทำการสรุปภาวะตลาดการเงิน ตลอดจนมาตรการล่าสุดของทางการสหรัฐฯ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงินดังนี้
การดำเนินการของเฟด และทางการสหรัฐฯ
จุดเริ่มต้นของภาวะปั่นป่วนวุ่นวายในตลาดการเงินทั่วโลก เกิดขึ้นหลังจากธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ได้ประกาศระงับการไถ่ถอนกองทุน 3 แห่งเป็นการชั่วคราวเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2550 หลังจากนั้น สถานการณ์ได้เลวร้ายลงไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีความตื่นตระหนกของนักลงทุนทั่วโลกที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดสินเชื่อทั่วโลกเข้าสู่ภาวะตึงตัว
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้เข้าจัดการกับวิกฤตภาวะสินเชื่อหดตัว ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินชั่วคราวเข้าสู่ระบบธนาคารของสหรัฐฯ ในวันที่ 9 สิงหาคม 2550 และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับการดำเนินการในทำนองเดียวกันของธนาคารกลางของประเทศที่ประสบปัญหาทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวดูเหมือนจะไม่เพียงพอที่จะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาได้ในทันที เนื่องจากยังคงมีหลักฐานบ่งชี้อย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า มีบริษัทปล่อยกู้จำนองและกองทุนเฮดจ์ฟันด์ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป แคนาดา และออสเตรเลีย กำลังตกอยู่ในภาวะย่ำแย่ ต้องเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องและขาดทุน ต่อมาในวันที่ 17 สิงหาคม 2550 เฟดได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการเพิ่มมาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ซึ่งใช้ในการปล่อยกู้โดยตรงแก่สถาบันการเงิน ก่อนกำหนดการประชุมนโยบายการเงินตามปกติของเฟดลง 0.50% สู่ระดับ 5.75%
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายน 2550 ที่ผ่านมา มีหลักฐานที่บ่งชี้ได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยที่ตกต่ำอย่างยาวนานของสหรัฐฯ ตลอดจนความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายในวงกว้างต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ของสหรัฐฯ ดังนั้นคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จึงได้ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ถึง 0.50% ซึ่งมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาด สู่ระดับ 4.75% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากเกินคาดของเฟดในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของเฟดในการป้องกันผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นมาจากการขาดความเชื่อมั่นและความตื่นตระหนกของนักลงทุนในตลาด
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นรับกับข่าวดีของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มากเกินคาดของเฟดในครั้งนี้ โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 3.8% จากระดับก่อนการประชุมเฟด 1 วัน และเมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของปัญหาวิกฤตสินเชื่อซับไพร์ม และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะถัดไป ทำให้เกิดกระแสการคาดการณ์ในวงกว้างว่า เฟดยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า ณ วันที่ 27 กันยายน 2550 สะท้อนว่า มีความเป็นไปได้ถึง 88% ที่เฟดจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% สู่ระดับ 4.50% ในการประชุมช่วงสิ้นเดือนตุลาคม 2550 และยังบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ประมาณ 65% ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 11 ธันวาคม 2550
ผลกระทบที่ขยายวงกว้างลุกลามออกไปของวิกฤตสินเชื่อซับไพร์ม ทำให้ทางการสหรัฐฯ เร่งศึกษาและเสนอมาตรการด้านอื่นๆ ออกมาเพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน และเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกำกับวิสาหกิจที่อยู่อาศัยของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (OFHEO) ซึ่งเป็นผู้ควบคุมกฎระเบียบของ Fannie Mae และ Freddie Mac ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน ตกลงที่จะผ่อนคลายข้อจำกัดเรื่องพอร์ทการลงทุนของทั้งสององค์กรลง โดย OFHEO อนุญาตให้ Fannie Mae และ Freddie Mac ซื้อหรือแปลงสัญญาจำนองที่มีปัญหาซึ่งนักลงทุนอื่นๆ หลีกเลี่ยงเพราะมีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ OFHEO ประเมินว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะช่วยให้ Fannie Mae และ Freddie Mac สามารถซื้อหรือแปลงสัญญาจำนองที่มีปัญหาให้เป็นหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นรายละ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยการดำเนินการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดของมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในส่วนของลูกหนี้ซับไพร์มและลูกหนี้อื่นๆ ที่อาจประสบปัญหาในการรีไฟแนนซ์สัญญาจำนอง
นอกจากนี้ OFHEO ยังขยายพอร์ทการลงทุนสำหรับไตรมาส 3/2550 ของ Fannie Mae และ Freddie Mac ขึ้นเป็นรายละ 735 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ผู้ที่สนับสนุนบทบาทที่เพิ่มขึ้นของ Fannie Mae และ Freddie Mac ยังได้เสนอแผนการเรียกร้องให้มีการอนุญาตให้ Fannie Mae และ Freddie Mac สามารถขยายการลงทุนเข้าสู่สินเชื่อที่มีวงเงินสูงกว่าระดับเพดานที่ 417,000 เหรียญสหรัฐฯ โดย Fannie Mae และ Freddie Mac ได้คาดการณ์ว่า ทางองค์กรจะสามารถสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้นหากได้รับอนุญาตให้ทำการลงทุนในแบบดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า มาตรการดังกล่าวจะเป็นเพียงปัจจัยเบื้องต้นที่ช่วยเสริมให้ตลาดสินเชื่อสามารถกลับมาดำเนินการได้อย่างปกติมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอของตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้
สถานการณ์ตลาดสินเชื่อตึงตัว
ภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ เป็นสถานการณ์ที่สามารถสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สถานการณ์ไร้เสถียรภาพในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงเลวร้ายลงไปอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยที่กดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งยังคงตื่นตระหนก และพร้อมใจกันหลีกเลี่ยงการแบกรับความเสี่ยง โดยสถานการณ์ดังกล่าวสามารถสะท้อนได้จาก อัตราดอกเบี้ยสกุลเงินดอลลาร์ฯ ระหว่างธนาคาร ณ ตลาดลอนดอน (LIBOR) ที่พร้อมใจกันพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2544 และแม้ว่าอัตราดอกเบี้ย LIBOR สกุลเงินดอลลาร์ฯ จะปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญแล้วในปัจจุบัน แต่ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากเกินคาดของเฟดในการประชุมวันที่ 18 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา และเมื่อพิจารณาความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย LIBOR และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดก็จะพบว่า ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับปกติ ดังนั้นจึงสะท้อนให้เห็นว่า ภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อและตลาดเงินยังไม่หมดไปในขณะนี้
ภาวะตึงตัวของสินเชื่อ ยังสามารถสะท้อนได้จากผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (3 เดือน) ของ Eurodollar หรือ อัตราดอกเบี้ย LIBOR กับอัตราผลตอบแทนของตั๋วเงินคลังสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า TED spread จากภาพข้างล่างจะเห็นว่า TED spread เริ่มทะยานขึ้นตั้งแต่ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2550 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดการเงินทั่วโลกประสบกับภาวะตึงตัวอย่างหนัก โดย TED spread ปรับตัวขึ้นสูงถึงประมาณ 2.5% ในช่วงดังกล่าวเทียบกับค่าความแตกต่างโดยเฉลี่ยซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่า 0.5% ในสถานการณ์ปกติ และแม้ว่า TED spread จะเริ่มปรับตัวลงแล้วตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายน 2550 แต่ TED spread ก็ยังคงปรับตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับปกติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนยังคงหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและยังต้องการค่าชดเชยในการแบกรับความเสี่ยงที่สูงอยู่
ตลาดตราสารเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแหล่งระดมทุนระยะสั้นที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจ (Commercial Paper Market) ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยยอดคงค้างของมูลค่าตราสารเชิงพาณิชย์หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง 7 สัปดาห์ติดต่อกันตั้งแต่ในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 สิงหาคม 2550 ถึงช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 กันยายน 2550 โดยในช่วงดังกล่าวยอดคงค้างของมูลค่าตราสารเชิงพาณิชย์ได้ปรับตัวลงทั้งสิ้น 368.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (16.6%) มาอยู่ที่ 1.855 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าของตราสารเชิงพาณิชย์ที่ได้รับการหนุนหลังจากสินทรัพย์ (Asset-backed commercial paper) ซึ่งหมายความรวมถึงตราสารหนี้ที่ได้รับการค้ำประกันจากสินเชื่อของผู้บริโภค ประกอบด้วย สินเชื่อรถ หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อบ้าน ตลอดจนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ซับไพร์ม ซึ่งมีสัดส่วนถึงเกือบ 50% ของมูลค่าตลาดตราสารเชิงพาณิชย์ทั้งหมดนั้น ได้หดตัวลงถึง 22.9% มาอยู่ที่ 912.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และแม้ว่าข้อมูลในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดตราสารเชิงพาณิชย์ได้หดตัวลงในอัตราที่น้อยลงกว่าในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2550 แต่ยังคงไม่สามารถเชื่อมั่นได้ว่า ตลาดตราสารเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เนื่องจากนักลงทุนยังคงหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอยู่
สถานการณ์ล่าสุดในตลาดที่อยู่อาศัยสหรัฐฯ
ในช่วงก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์กันว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate ของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะสามารถช่วยบรรเทาภาระรายจ่ายดอกเบี้ยของลูกหนี้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ลงบางส่วน และจะเป็นปัจจัยบวกเพิ่มเติมที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงหนึ่งซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ในขณะนี้ ก็คือ ราคาอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในช่วงของกระบวนการปรับฐาน ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไปในปี 2551 นั้น อาจเป็นปัจจัยลบปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนไม่สามารถคาดหวังได้มากนักว่า สถานการณ์ของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะฟื้นตัวขึ้นและกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดในครั้งนี้
ข้อมูลจากสมาคมผู้ก่อสร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นของผู้ก่อสร้างบ้านยังคงอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน โดยดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย NAHB/Wells Fargo Housing Market ในเดือนกันยายน 2550 ปรับตัวลงสู่ระดับ 20 ซึ่งเป็นการทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2534 ในขณะเดียวกันข้อมูลล่าสุดที่สะท้อนการปรับตัวของราคาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจัดทำโดย Standard and Poor’s / Case-Shiller ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านซึ่งรวบรวมจากราคาบ้านใน 10 เมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ปรับตัวลง 4.5% (จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า) ในเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลงที่มากที่สุดในรอบ 16 ปี (นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2534)
นอกจากนี้ ข้อมูลยอดขายบ้านของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 2550 ยังคงบ่งชี้ถึงสถานการณ์ที่อ่อนแอของภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ข้อมูลของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า ยอดขายบ้านมือสองในเดือนสิงหาคม 2550 ปรับตัวลงอีก 12.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ ดัชนียอดการทำสัญญาขายบ้านดังกล่าวหดตัวลง 16.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า สู่ระดับ 89.9 ในเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2544 ขณะที่ ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า ยอดขายบ้านใหม่ในเดือนสิงหาคม 2550 ยังคงมีอัตราการหดตัวลงเป็นเลข 2 หลักเพิ่มขึ้นอีก 21.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการหดตัวลงอย่างต่อเนื่องของยอดขายบ้านของสหรัฐฯ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548
โอกาสการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ
ขณะนี้ มีความกังวลกันมากขึ้นว่า ภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากปัญหาในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) อาจเป็นปัจจัยที่ถ่วงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ถดถอยลง โดยนายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า มีโอกาสมากกว่า 1 ใน 3 ที่จะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ แต่ความเป็นไปได้ยังคงอยู่ต่ำว่า 50% ขณะที่ Freddie Mac ได้ประเมินว่า มีโอกาสถึง 40-45% ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยโดยมีปัจจัยกดดันจากตลาดอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้ จากข้อมูลสถิตินับตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 เป็นต้นมาพบว่า สหรัฐฯ ได้เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาแล้วจำนวน 7 ครั้ง และประสบการณ์ 6 ครั้งจากจำนวน 7 ครั้ง สามารถสะท้อนได้จากภาวะที่อัตราผลตอบแทนของตั๋วเงินคลังสหรัฐฯ อายุ 3 เดือนปรับตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงปีค.ศ. 1989 ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยเนื่องมาจากวิกฤตการณ์สถาบันเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย (Savings and Loan Associations) หรือที่รู้จักกันในนาม S&L Crisis และช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับปัญหาฟองสบู่แตกในหุ้นกลุ่มไฮเทค (Dot.Com Bubble) ในช่วงปี ค.ศ. 2000 และจากรูปด้านบนแสดงให้เห็นว่า ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม 2549 ถึง เดือนพฤษภาคม 2550 อัตราผลตอบแทนของตั๋วเงินคลังสหรัฐฯ อายุ 3 เดือน ปรับตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตอกย้ำความกังวลต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
บทสรุป และแนวโน้มในระยะถัดไป
ภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อในปัจจุบัน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากวิกฤตในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ของสหรัฐฯ ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดการเงินจับตาดูอย่างใกล้ชิด โดยจุดเริ่มต้นของภาวะปั่นป่วนวุ่นวายในตลาดการเงินทั่วโลกเกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2550 ที่ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ได้ประกาศระงับการไถ่ถอนกองทุน 3 แห่งเป็นการชั่วคราว และตามมาด้วยปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัทปล่อยกู้จำนอง เฮดจ์ฟันด์ ตลอดจนนักลงทุนสถาบันประเภทอื่นๆ ซึ่งทำให้ธนาคารกลางของประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาต้องเข้าอัดฉีดเงินทุนเข้าสู่ระบบธนาคารเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดเงิน และเข้าแก้ไขกับภาวะสินเชื่อตึงตัวอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การปรับตัวเข้าสู่ภาวะตกต่ำของภาคที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2549 ทำให้สต็อคบ้านที่ยังขายไม่ออก (ทั้งบ้านเก่าและบ้านใหม่) อยู่ในระดับสูง จะเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ราคาบ้านในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อประกอบกับกฎเกณฑ์การขอสินเชื่อจำนองของบริษัทปล่อยกู้จำนองที่มีความเข้มงวดมากขึ้น (ทั้งในส่วนที่เป็นการก่อหนี้ใหม่ และการรีไฟแนนซ์หนี้ก้อนเดิม) น่าจะทำให้สถานการณ์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในภาวะอ่อนแออย่างต่อเนื่องในปี 2551 จากปัญหาอุปสงค์ที่อ่อนแอ ทั้งนี้ Fannie Mae คาดการณ์ว่า ราคาบ้านในปีนี้จะปรับตัวลง 2-4% และจะปรับตัวลงมากกว่านี้อีกในปี 2551
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์กันว่า อัตราการยึดทรัพย์จำนองจะเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องในอนาคต ขณะที่ ภาระผ่อนชำระคืนเงินกู้ของสินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยสามารถปรับได้อีกประมาณ 5 ล้านสัญญามีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ Moody’s ได้ทำการวิเคราะห์บริษัทที่ให้บริการด้านการจำนอง และพบว่า บริษัทผู้ปล่อยกู้จำนองไม่ได้มีแผนการช่วยเหลือต่อลูกหนี้ซับไพร์มที่กำลังประสบปัญหาและมีโอกาสถูกยึดทรัพย์จำนองในอนาคตมากนัก โดยบริษัทผู้ปล่อยกู้จำนองส่วนใหญ่ในผลสำรวจได้ผ่อนคลายเงื่อนไขการกู้ยืมเงินลงเพียง 1% ของสัญญาสินเชื่อที่ผูกอยู่กับอัตราดอกเบี้ยแบบปรับได้ (Adjustable-rate mortgages: ARMs) ซึ่งอัตราดอกเบี้ยกำลังจะถูกปรับเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม เมษายน และกรกฎาคม ซึ่งโดยปกติสินเชื่อซับไพร์มจะถูกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3% หลังจากที่จ่ายอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญาสินเชื่อ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า เสถียรภาพของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยน่าจะยังคงรอที่จะถูกทดสอบอีกในช่วงข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อสัญญาสินเชื่อที่อยู่อาศัยอีกมูลค่ามากกว่า 3.83 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ข้อมูลจาก Moody’s) จะเข้าสู่ช่วงของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใหม่ในปี 2551 ขณะที่ ความเสียหายทางการเงินที่เกิดจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ ยังน่าจะทยอยออกมาบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในช่วงต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปของการปิดกิจการ ตลอดจนการปลดพนักงานของบริษัทปล่อยกู้จำนองและบริษัทวาณิชธนกิจในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดอสังหาริมทรัพย์เช่นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ยังคงรอที่จะผ่านจุดต่ำสุด ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2551 ในขณะที่ สัญญาณของการฟื้นตัวน่าจะเกิดขึ้น ถ้าหากยอดการทำสัญญาขายบ้านซึ่งจัดทำจากสัญญาที่มีการลงนาม ซึ่งรวบรวมโดยสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติสหรัฐฯ เริ่มพลิกกลับมาเป็นบวก หลังจากที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 รวมทั้งหากตลาดแรงงานเริ่มฟื้นตัวกลับมา ก็จะเป็นสถานการณ์ที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวขึ้นของกำลังซื้อของครัวเรือนสหรัฐฯ ที่น่าจะนำไปสู่การฟื้นตัวขึ้นของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินจากข่าวการปลดคนงานของบริษัทปล่อยกู้จำนองและบริษัทวาณิชธนกิจหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมาจึงทำให้คาดว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มอ่อนแอต่อไปอีกระยะหนึ่ง
และเมื่อประกอบปัจจัยพื้นฐานหลายตัวเข้าด้วยกันแล้วจะพบว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ตลอดจนตลาดสินเชื่อประเภทอื่นๆ ยังมีโอกาสที่จะตกอยู่ในภาวะอ่อนแออย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนยังคงหลีกเลี่ยงตราสารทางการเงินที่มีความเสี่ยง หรือที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของผู้กำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ตลอดจนประเทศอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาเดียวกันในการเข้าดูแลและจำกัดผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในวงกว้างให้น้อยที่สุด พร้อมๆ กับการเข้าดูแลเสถียรภาพทางด้านราคา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากการใช้วิธีปรับลดอัตราดอกเบี้ย (ซึ่งมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด) ของเฟด เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อซับไพร์มที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น เป็นชนวนที่ก่อให้เกิดการเทขายเงินดอลลาร์ฯ อย่างหนักหลายระลอกต่อเนื่อง โดยเงินดอลลาร์ฯ ร่วงลงทำสถิติต่ำสุดในประวัติการณ์ครั้งใหม่เมื่อเทียบกับเงินยูโร และตะกร้าเงินสกุลหลัก 6 สกุล ซึ่งเมื่อประกอบกับภาพของการทะยานขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกจากความกังวลทางด้านอุปทานแล้ว จะทำให้เกิดคำถามว่า เฟดได้ละทิ้งความตั้งใจที่จะดูแลเสถียรภาพของราคาในระยะยาวหรือไม่ และเฟดจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร หากวิกฤตซับไพร์มยังคงเป็นปัจจัยลบที่กดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยาวนานกว่าที่เคยได้ทำการประเมินไว้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ภาคส่งออกของไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าทายอีกครั้งจากแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะที่ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้น อาจส่งผลทำให้เงินบาท และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคปรับตัวอย่างผันผวนในระยะถัดไป นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ ยังเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้กองทุนเฮดจ์ฟันด์ และนักลงทุนสถาบันอื่นๆ หันไปเก็งกำไรผ่านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งในส่วนของน้ำมัน และทองคำ โดยราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นอาจส่งผลกระทบกลับมาสร้างแรงกดดันครั้งใหม่ต่อระดับราคาสินค้าในระยะถัดไป ซึ่งก็จะกลายมาเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (ดอกเบี้ยต่ำ) ของธนาคารกลางทั่วโลกรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยในที่สุด