ข้าวไทยปี’51 : การแข่งขันกลับมารุนแรง…จับตาเวียดนาม

เวียดนามเป็นคู่แข่งขันสำคัญของข้าวไทยในตลาดโลก โดยปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับสองรองจากไทย การแข่งขันระหว่างข้าวไทยและเวียดนามในตลาดโลกนั้นเป็นอย่างรุนแรง โดยกลยุทธ์สำคัญของเวียดนามในการเจาะขยายตลาดข้าวคือราคาส่งออกข้าวที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับไทย สถานการณ์การแข่งขันรุนแรงขึ้นในช่วงปี 2548-2549 โดยจะเห็นได้จากการที่ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามต่ำกว่าไทยมากเป็นประวัติการณ์ กล่าวคือ ก่อนปี 2547ราคาข้าวส่งออกของเวียดนามต่ำกว่าไทยถึง 5-10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันสำหรับข้าว25% และ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันสำหรับข้าว5% แต่ในช่วงปี 2548-2549 ราคาข้าวเวียดนามในตลาดโลกต่ำกว่าไทยถึง 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันสำหรับข้าว25% และ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันสำหรับข้าว5% ดังนั้นการส่งออกข้าวของไทยโดยเฉพาะข้าวขาวในปี 2548-2549 มีแนวโน้มลดลง

สำหรับในปี 2550 สถานการณ์การส่งออกข้าวของไทยเริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้เนื่องจากผลผลิตข้าวเวียดนามลดลงจากการเผชิญปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด ทำให้รัฐบาลเวียดนามส่งออกข้าวลดลง และประกาศงดส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้เพื่อเวียดนามจะมีปริมาณข้าวเพียงพอบริโภคในประเทศและราคาข้าวในประเทศไม่พุ่งสูงขึ้นมากนัก ดังนั้นในปี 2550 การแข่งขันข้าวในตลาดโลกลดความรุนแรงลง และเป็นโอกาสของผู้ส่งออกข้าวไทยในการแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวกลับคืนมาได้บางส่วน โดยเฉพาะข้าวขาว โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 ส่วนต่างระหว่างราคาข้าว 25% ของไทยและเวียดนามเท่ากับ 6.33 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และข้าว5%เท่ากับ 18.67 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2551 ข้าวเวียดนามจะกลับมาเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดอนาคตการส่งออกข้าวของไทย ทั้งในด้านปริมาณการส่งออกและราคา ทำให้ผู้ส่งออกข้าวของไทยยังคงต้องจับตามองเวียดนามอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านปริมาณการผลิตข้าวในปี 2550/51 ที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปี 2550 และนโยบายการส่งออกข้าวของรัฐบาลเวียดนาม สำหรับในระยะยาวแล้วสิ่งที่ต้องติดตามคือ การวิจัยและพัฒนาข้าวของเวียดนาม โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมและข้าวพันธุ์ดี รวมทั้งการปรับปรุงระบบไซโล การคัดแยกและจัดมาตรฐานข้าว ตลอดจนการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ในอนาคตเวียดนามจะก้าวขึ้นมาแข่งขันกับไทยในการส่งออกข้าวคุณภาพดี โดยเฉพาะข้าว100% และข้าวหอม จากที่ในปัจจุบันเวียดนามเป็นคู่แข่งของไทยในการส่งออกข้าวคุณภาพปานกลางถึงต่ำ กล่าวคือ การส่งออกข้าวของเวียดนามในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว5%ร้อยละ 36.2 ข้าวขาว25%ร้อยละ 36.0 และข้าวขาว15%ร้อยละ 22.5 ในขณะที่มีการส่งออกข้าวขาว100%เพียงร้อยละ 1.9 และข้าวหอมร้อยละ 0.5 เท่านั้น

ราคาข้าวเวียดนามปี’50 สูงขึ้น…โอกาสของข้าวไทย
ในปีปกติแล้วราคาส่งออกข้าวของเวียดนามจะต่ำกว่าไทย และเวียดนามอาศัยราคาส่งออกข้าวที่ต่ำกว่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการเบียดแย่งตลาดข้าวจากไทย โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาราคาข้าวไทยและเวียดนามในตลาดโลกต่ำกว่าไทยถึง 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันสำหรับข้าว25% และ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันสำหรับข้าว5% แต่เมื่อเวียดนามเผชิญปัญหาผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากโรคและแมลงศัตรูพืช ทำให้ราคาข้าวของเวียดนามในปี 2550 นั้นมีแนวโน้มสูงขึ้น กล่าวคือ กระทรวงการค้าของเวียดนามคาดว่าราคาเฉลี่ยข้าวในปี 2550 ของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,900 ดองต่อกิโลกรัม(0.18 เซ็นต์สหรัฐฯ/กิโลกรัม) เมื่อเทียบกับในปี 2549 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11.0 ส่งผลให้ราคาข้าวของเวียดนามขยับเข้าใกล้ราคาข้าวไทยมากขึ้น หรือส่วนต่างระหว่างราคาข้าวไทยและเวียดนามในตลาดโลกในปี 2550 ลดลงอย่างมาก กล่าวคือ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 ส่วนต่างระหว่างราคาข้าว 25% ของไทยและเวียดนามเท่ากับ 6.33 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และข้าว5%เท่ากับ 18.67 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันเท่านั้น เมื่อเทียบกับในช่วงปี 2548-2549 ราคาข้าวเวียดนามในตลาดโลกต่ำกว่าไทยถึง 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันสำหรับข้าว25% และ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันสำหรับข้าว5%

ในปี 2550 ราคาข้าวภายในประเทศเวียดนามที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ทางใต้ของประเทศ ทำให้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2550 เป็นต้นมา บริษัทเทรดดิ้งที่ขายข้าวไทยชนะการประมูลข้าวในประเทศผู้นำเข้าสำคัญ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย รวมทั้งผู้ส่งออกข้าวไทยยังสามารถแย่งตลาดข้าวบางส่วนกลับคืนมาจากเวียดนาม โดยเฉพาะตลาดในแอฟริกา หลังจากที่ในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยมักจะพ่ายแพ้การประมูล และเริ่มสูญเสียตลาดส่งออกข้าวให้กับเวียดนาม กล่าวคือ ในเดือนกันยายน 2550 สำนักงานพลาธิการของอินโดนีเซีย (Bulog) ซึ่งเป็นหน่วยงานการจัดซื้อของรัฐบาลอินโดนีเซียซื้อข้าว 5% จากไทยจำนวน 50,000 ตัน ในราคา 351.88 และ 358.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ตามราคา C&F จากบริษัท เทรดดิ้ง 2 แห่งที่จำหน่ายข้าวไทยสำหรับการส่งมอบในเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม 2550 ในขณะที่ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามเสนอราคาประมูลที่ประมาณ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เนื่องจากต้องพิจารณาถึงราคาภายในประเทศที่อยู่ในระดับสูงรวมกับต้นทุนขนส่งทางเรือและค่ามาร์จิน ปัจจุบันผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามไม่ต้องการที่จะเข้าร่วมการประมูลข้าว เนื่องจากถ้าชนะการประมูล ราคาภายในประเทศจะปรับตัวขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ที่ประมูลข้าวของเวียดนามต้องประสบกับภาวะการขาดทุน แม้ว่ารัฐบาลไม่ได้ยกเลิกคำสั่งห้ามต่อสัญญาส่งออกใหม่ที่บังคับใช้นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 แต่เกษตรกรก็กำลังรอการทำข้อตกลงที่เป็นไปได้ในการขึ้นราคาในช่วงปลายของฤดูการเก็บเกี่ยวบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้กลุ่มผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามจำเป็นต้องได้รับอนุญาตเป็นพิเศษในการเข้าร่วมการประมูลในต่างประเทศ รวมทั้งเวียดนามยังมีสัญญาการส่งข้าวปริมาณมากไปยังอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ รวมทั้งแอฟริกา ดังนั้น ผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามจึงไม่ได้มองหาแหล่งอื่นๆ จนกว่าจะถึงฤดูเก็บเกี่ยวใหม่ในช่วงปลายปี 2550

ส่งออกปี’50…ไทยแย่งส่วนแบ่งตลาดกลับจากเวียดนาม
ในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาเวียดนามสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของข้าวไทยในตลาดโลก กล่าวคือ สัดส่วนตลาดข้าวทั้งหมดของไทยในตลาดโลกในปี 2549 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 26.3 จากที่เคยอยู่ในระดับเกือบร้อยละ 30 ในขณะที่สัดส่วนตลาดของเวียดนามเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 14.0 จากที่เคยมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 7.0 เท่านั้น เมื่อพิจารณาแยกรายประเภทของข้าวแล้วพบว่าทั้งไทยและเวียดนามแข่งขันกันรุนแรงในการส่งออกข้าวขาว กล่าวคือ สัดส่วนการส่งออกข้าวขาวของไทยในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 37.6 ในปี 2547 เหลือเพียงร้อยละ 31.8 ในปี 2549 ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของเวียดนามเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.0 เป็นร้อยละ 18.0 โดยประเภทข้าวที่มีการแข่งขันส่งออกอย่างรุนแรงคือ ข้าวขาว25% และข้าวขาว5% ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เวียดนามมีการส่งออกข้าวเปลือกและข้าวกล้องมากกว่าไทย และยังมีแนวโน้มการขยายการส่งออกปลายข้าวเพิ่มขึ้น คาดว่าเวียดนามจะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกปลายข้าวในอนาคต แม้ว่าในปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดปลายข้าวของเวียดนามในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 4.3 เท่านั้น

สำหรับในปี 2550 สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศของไทยคาดว่าจะส่งออกข้าวได้เพียง 8 ล้านตัน จากเดิมที่เคยมีการตั้งเป้าไว้ 8.5 ล้านตัน เนื่องจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ การขาดแคลนเรือขนส่งสินค้า และภาวะการแข็งค่าของเงินบาท โดยเรือที่บรรทุกสินค้านั้นจีนนำไปใช้งานหมด เนื่องจากการส่งออกของจีนอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งการเร่งขนส่งวัสดุก่อสร้างสำหรับเตรียมจัดงานโอลิมปิคปี 2551 ส่วนภาวะการแข็งค่าของเงินบาททำให้ราคาส่งออกข้าวในต่างประเทศสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก แต่การส่งออกข้าวของไทยยังได้รับผลดีจากที่ประเทศผู้ผลิตข้าวรายอื่นของโลกไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอกับความต้องการ จึงทำให้ต่างประเทศต้องนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้นำเข้าข้าวต่างชะลอการรับซื้อข้าวในช่วงปลายปีเพื่อรอข้าวฤดูใหม่ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีนี้ รวมทั้งรอดูนโยบายของรัฐบาลในการกำหนดราคาจำนำข้าวนาปีและนโยบายการระบายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวฤดูการใหม่ปี 2550/51
ส่วนเวียดนามในปี 2550 กระทรวงการค้าของเวียดนามลดเป้าส่งออกข้าวมาอยู่ที่ 4.5-4.7 ล้านตัน จากเดิมที่เคยตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวไว้ที่ 5.0 ล้านตัน เนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูงและนโยบายส่งเสริมการส่งออกข้าวของเวียดนาม การลดประมาณการส่งออกข้าว เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโรคใบหงิก (Leaf Stunt Disease) และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (Brown Plant Hopper) ตลาดส่งออกข้าวสำคัญของเวียดนามคือ ภูมิภาคเอเชีย โดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 76.6 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด ตลาดส่งออกที่มีความสำคัญ

ปี’51 เตรียมรับมือแข่งขันรุนแรง…เวียดนามกลับเข้าตลาด
คาดการณ์ว่าในปี 2551 เวียดนามจะกลับเข้ามาเป็นคู่แข่งขันสำคัญของข้าวไทยในตลาดโลกอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเวียดนามตั้งเป้าส่งออกข้าวปีหน้าเพิ่ม ถึงแม้ปีนี้รัฐบาลได้สั่งหยุดการทำสัญญาส่งออกข้าวไปจนถึงปีหน้าเพื่อความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ แต่รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าส่งออกข้าวปี 2551 ไว้ที่ 4.8-4.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 4.7 ล้านตันของปี 2550 เนื่องจากคาดว่าผลผลิตข้าวในฤดูการผลิต 2550/51 จะได้สูงถึง 36.5 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.3 ในขณะที่ไทยมีการขยายการผลิตข้าวเช่นกัน โดยคาดว่าในปี 2550/51 ผลผลิตข้าวของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 30.1 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา และสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศของไทยตั้งเป้าส่งออกข้าวในปี 2551 ไว้สูงถึง 9.0 ล้านตัน ดังนั้นจึงคาดหมายได้ว่าในปี 2551 การแข่งขันในการส่งออกข้าวระหว่างไทยและเวียดนามจะกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะการแข่งขันกันทางด้านราคาเช่นเดียวกับในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ส่งออกข้าวของไทยคงต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือ โดยเฉพาะมาตรการเจาะขยายตลาดและรักษาตลาดข้าวเดิมไว้

สำหรับในระยะ 3 ปีต่อไปคือในช่วงปี 2551-2554 นั้นแม้ว่าไทยจะยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกต่อไป โดยปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามยังคงต่ำกว่าไทยมาก และไทยและเวียดนามจะลงนามในความร่วมมือการค้าข้าว โดยเน้นที่จะไม่แข่งขันกันในด้านราคาข้าว ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ร่วมกันทั้งสองประเทศ แต่เวียดนามก็ยังเป็นคู่แข่งที่ไทยต้องจับตามอง เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนามกำหนดยุทธศาสตร์ข้าว โดยเวียดนามจะเพิ่มผลผลิตข้าวให้ได้ 36 ล้านตันภายในปี 2553 ทั้งนี้เพื่อรักษาปริมาณการส่งออกข้าวให้อยู่ในระดับ 4 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้รัฐบาลเวียดนามยังเน้นการส่งเสริมและพัฒนาข้าวคุณภาพดีเพื่อการส่งออก โดยเขตที่จะส่งเสริมการปลูกข้าวคุณภาพดีคือ พื้นที่ปลูกข้าว 1 ล้านเฮกตาร์ในลุ่มแม่น้ำโขงและ 0.3 ล้านเฮกตาร์ในลุ่มแม่น้ำแดง ซึ่งการพัฒนาข้าวคุณภาพดีของเวียดนามจะเป็นการเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันการส่งออกข้าวของเวียดนาม เนื่องจากในระยะที่ผ่านมาการส่งออกข้าวของเวียดนามประสบปัญหาในเรื่องคุณภาพ ซึ่งทำให้ราคาข้าวของเวียดนามจะอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าในข้าวเกรดเดียวกันเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะไทยและสหรัฐฯ สำหรับมาตรการของไทยนั้นที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) เห็นชอบให้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการส่งออกและพัฒนาระบบการผลิตข้าวในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยตั้งเป้าว่าในปี 2554 ไทยจะส่งออกข้าวให้ได้ 9.5 ล้านตัน ทั้งนี้จะปรับปรุงการส่งออกข้าวให้เป็นระบบมากขึ้น มีการสร้างพันธมิตรทางการค้าในระดับภูมิภาค รวมถึงปรับปรุงมาตรฐานข้าวเพื่อส่งเสริมการส่งออกให้มากขึ้นโดยจะเน้นการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและปรับปรุงเทคนิคการผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวให้ได้มากขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการด้านการขนส่งเพื่อลดต้นทุนในการขนส่งข้าวที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 19.0 ของต้นทุนทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำด้านคุณภาพข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก รวมทั้งจะมีการจะจัดตั้งศูนย์กระจายข้าวในประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของไทย เช่น จีน แอฟริกา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากการพัฒนาพันธุ์ ปรับปรุงมาตรฐานข้าว และการปรับปรุงระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในการขนส่งข้าวแล้ว ประเด็นที่ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจข้าวเร่งดำเนินการคือ การเจาะขยายตลาดข้าวที่เป็นตลาดเฉพาะ จากที่ปัจจุบันมีความพยายามของภาคเอกชนบางรายในการสร้างตลาดเฉพาะให้กับข้าว จากเดิมที่มีเพียงข้าวหอมมะลิและข้าวอินทรีย์เป็นจุดขายหลัก โดยการสร้างตลาดข้าวพันธุ์พื้นเมือง เช่น ข้าวสังข์หยดของจังหวัดพัทลุง เป็นต้น ข้าวเคลือบสมุนไพรต่างๆ รวมถึงการแปรรูปข้าว โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวที่ทำจากข้าว ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถขยายตลาดข้าวให้กว้างขวางมากขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบในความพร้อมของทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ

บทสรุป
ในปี 2550 ผู้ส่งออกข้าวของไทยได้รับอานิสงส์จากการที่เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งสำคัญในการส่งออกข้าวในตลาดโลก โดยผลผลิตข้าวของเวียดนามลดลงจากที่ต้องเผชิญกับความเสียหายจากโรคและแมลงศัตรู ดังนั้นภาวะการส่งออกข้าวของไทยในปี 2550 จึงอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น เมื่อเทียบกับในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ต้องเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงจากเวียดนาม และเวียดนามสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยไปได้บางส่วน

อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 2551 เวียดนามจะกลับเข้ามาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยอีกครั้ง เนื่องจากคาดการณ์ผลผลิตข้าวทั้งของไทยและเวียดนามในปี 2550/51 นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ส่งออกข้าวของไทยต้องเตรียมรับมือการแข่งขันที่จะกลับไปรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะการแข่งขันในด้านราคา

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในช่วงระยะ 2-3 ปีข้างหน้าทั้งไทยและเวียดนามต่างมีนโยบายที่จะเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์ข้าว การปรับปรุงการขนส่งเพื่อรักษาคุณภาพข้าวและลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวส่งออกนั้นสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนของไทยนั้นต้องเร่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาทั้งนี้เพื่อหาตลาดข้าวเฉพาะ จากเดิมที่ไทยมีเพียงข้าวหอมมะลิและข้าวอินทรีย์เป็นจุดขายสำคัญ ทั้งนี้การวิจัยและพัฒนายึดแนวตอบสนองความต้องการของตลาดที่ต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ข้าวเคลือบสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ข้าวโดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวจากข้าว เป็นต้น