การประชุม 10 ต.ค. … กนง.อาจตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 3.25

แม้ว่าสถานการณ์ความเสี่ยงเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาสินเชื่อของลูกหนี้จำนองที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ที่ยังคงมีอยู่ อาจทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมีความยืดหยุ่นหากจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลงอีกประมาณร้อยละ 0.25 ในช่วงที่เหลือของปี 2550 แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กนง.อาจมีความโน้มเอียงที่จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ร้อยละ 3.25 ในการประชุมรอบที่ 7 ของปีในวันที่ 10 ตุลาคม 2550 นี้ หลังจากที่กนง.ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาแล้วตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกรกฎาคม รวมร้อยละ 1.75 ก่อนที่จะให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในการประชุมครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการคาดการณ์ข้างต้น สามารถสรุปได้ดังนี้ :-

? เครื่องชี้เศรษฐกิจมีสัญญาณการปรับตัวในเชิงบวกมากขึ้นเมื่อเทียบกับในการประชุมรอบก่อนหน้า

เมื่อพิจารณาการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยยังสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ได้ในระดับที่น่าพอใจ ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับปัจจัยลบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง ราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้น ตลอดจนความผันผวนของทิศทางตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ยังคงมาจากภาคการส่งออก ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2550 สามารถกลับมาขยายตัวได้ในอัตราสูงถึงร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน จากที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ในเดือนกรกฎาคม ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ก็มีสัญญาณที่ฟื้นตัวดีขึ้นในเดือนสิงหาคม ดังจะเห็นได้จาก ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากเครื่องชี้ส่วนใหญ่ที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะยังคงลดลงเล็กน้อยในเดือนสิงหาคม อีกทั้งดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวลงในอัตราที่น้อยลง โดยเครื่องชี้สำคัญที่กลับมาขยายตัวได้ คือ การนำเข้าสินค้าทุน

ทั้งนี้ การปรับตัวในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้นของเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญๆ กอปรกับความคาดหวังว่าการใช้จ่ายภายในประเทศอาจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในระยะถัดๆ ไปเมื่อปัญหาการเมืองคลี่คลายลงและประชาชนมีความเชื่อมั่นที่จะใช้จ่ายและลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง.อาจมีความจำเป็นน้อยลงที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมวันที่ 10 ตุลาคม เพื่อดูแลเสถียรภาพทางด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ

? ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีน้ำหนักมากขึ้นกว่าในการประชุมรอบที่แล้ว

จากทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนที่ขยับเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 2.1 จากร้อยละ 1.1 ในเดือนสิงหาคม ประกอบกับ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 2550 ที่คาดว่าอาจจะมีระดับใกล้เคียงกับระดับในเดือนกันยายน อันเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานการคำนวณระดับต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังผันผวนอยู่ในระดับสูง และราคาผักผลไม้ที่อาจมีแนวโน้มปรับขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ รวมทั้งการที่สินค้าอีกหลายรายการอยู่ระหว่างการรออนุมัติการปรับขึ้นราคาในระยะถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้กนง.เลือกที่จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมวันที่ 10 ตุลาคม ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา ตลอดจนการที่กนง.อาจจะไม่ต้องการให้ระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงปรับตัวลดลงไปจนส่งผลกระทบต่อการออมในระบบด้วย

? ผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อซับไพร์มของสหรัฐฯที่มีต่อเศรษฐกิจไทยยังไม่ปรากฏชัดเจน

แม้ว่าปัญหาสินเชื่อซับไพร์มของสหรัฐฯ อาจเป็นปัจจัยที่นำมาสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่าคาดของธนาคารกลางสหรัฐฯในการประชุมวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา แต่ผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ยังมีจำกัด สะท้อนได้จาก การที่ค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางที่ค่อนข้างทรงตัวในกรอบ 34.2-34.3 บาท/ดอลลาร์ฯ นับตั้งแต่การประชุมกนง.รอบที่แล้วจนถึงขณะนี้ ถึงแม้ว่าเงินดอลลาร์ฯจะร่วงลงไปแตะระดับอ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับเงินยูโร นอกจากนี้ การส่งออกของไทยก็คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ในอัตราที่ทางการได้ตั้งเป้าหมายไว้ในปีนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงก็ตาม ทั้งนี้ ผลกระทบที่ยังมีจำกัดดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง.ยังมีความยืดหยุ่นที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมวันที่ 10 ตุลาคม และรอประเมินความคืบหน้าของประเด็นปัญหาสินเชื่อซับไพร์มของสหรัฐฯที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในระยะถัดๆ ไป ซึ่งคาดว่าจะปรากฏชัดเจนมากขึ้นในปี 2551

โดยสรุปแล้ว จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญโดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นในเดือนสิงหาคม และอาจจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะถัดๆ ไปเมื่อปัญหาการเมืองคลี่คลายลง กอปรกับการส่งออกที่กลับมาขยายตัวในอัตราสูงในเดือนสิงหาคม สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยยังสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวไว้ได้ในระดับที่น่าพอใจ ในขณะที่ ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบก่อนหน้าในวันที่ 29 สิงหาคม อันเป็นผลส่วนหนึ่งจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังผันผวนอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อจำนองของลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำหรือซับไพร์มของสหรัฐฯ ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า กนง.อาจมีความโน้มเอียงที่จะให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ระดับเดิมที่ร้อยละ 3.25 ในการประชุมรอบที่ 7 ของปีในวันที่ 10 ตุลาคม 2550 นี้ และรอประเมินทิศทางการปรับตัวของความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายภายในประเทศ ตลอดจนราคาน้ำมันตลาดโลกและความคืบหน้าของปัญหาสินเชื่อซับไพร์มของสหรัฐฯที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในระยะถัดๆ ไป โดยหากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยสามารถยืนระยะการขยายตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่องตามที่คาดหวังไว้ กนง.ก็อาจมีความจำเป็นน้อยลงสำหรับการผ่อนคลายนโยบายอัตราดอกเบี้ยลงอีกในระยะที่เหลือของปี 2550 แต่หากไม่เป็นไปตามคาด กนง.ก็น่าจะยังมีความยืดหยุ่นที่จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีกในการประชุมรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 4 ธันวาคม เพื่อดูแลความเสี่ยงทางด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ ฉะนั้น อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันของไทย จึงน่าจะปิด ณ ปลายปี 2550 ที่ร้อยละ 3.00-3.25