ปลากระป๋อง : ปี’50การส่งออกชะลอตัว…ปี’51จับตาจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปลากระป๋องในปี 2550 ต้องเผชิญปัญหาทั้งในด้านวัตถุดิบมีราคาแพงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากผลกระทบจากสภาพอากาศของโลกที่แปรปรวน แม้ว่าตลาดปลากระป๋องภายในประเทศจะยังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ภาวะการแข่งขันรุนแรงขึ้น จากการที่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าตลาด ส่วนการส่งออกปลากระป๋องต้องเผชิญกับหลากหลายปัญหา ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกปลากระป๋องมีแนวโน้มชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับในปี 2549 ดังนั้นบรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปลากระป๋องมีการปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับปี 2551 ที่คาดว่าการส่งออกยังคงจะมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากผู้ส่งออกปลากระป๋องของไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาเดิมในประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

สภาวการณ์ปัจจุบันการผลิต…เผชิญปัญหาวัตถุดิบ
แม้ว่าอุตสาหกรรมปลากระป๋องจะเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ กล่าวคือใช้วัตถุดิบในประเทศเพียงร้อยละ 20.0 เท่านั้น ที่เหลือต้องพึ่งพาการนำเข้า ซึ่งน่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่ได้รับอานิสงส์จากการแข็งค่าของเงินบาท แต่ในปี 2550 ปรากฏการณ์เอลนีโญและสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ปลาซาร์ดีน ทูน่า และแมคคาเรล ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปลากระป๋องหายากขึ้น เพราะปลามีการกระจายตัวไม่อยู่กันเป็นฝูง และไปอยู่น้ำที่ลึกมากขึ้นเพื่อหนีร้อน ราคาปลาเหล่านี้ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2550 ราคาปลาทูน่าสูงขึ้นถึงร้อยละ 40.0 โดยปัจจุบันราคานำเข้าทูน่าเฉลี่ยตันละ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯนับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากในอดีตที่เคยสูงสุดไม่เกิน 1,200 ดอลาร์สหรัฐฯต่อตัน เมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2549 ราคาเพียงตันละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ผลิตปลากระป๋องต้องเผชิญกับต้นทุนอื่นๆ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์กระป๋อง มะเขือเทศที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตซอสมะเขือเทศ รวมทั้งต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปลากระป๋องเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10-20 สวนทางกับสินค้าหมวดปลากระป๋องขึ้นบัญชีเป็นสินค้าควบคุมราคาจากกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

การปรับตัวของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปลากระป๋อง มีดังนี้
1.ผู้ประกอบการเปลี่ยนประเภทปลา เมื่อปริมาณการจับปลาลดลง ผู้ผลิตปลากระป๋องป้อนตลาดในประเทศเริ่มหาปลาทะเลชนิดอื่นๆมาทดแทน โดยเริ่มจากผู้ประกอบการผลิตปลาซาร์ดีนกระป๋องบางรายก็หันมาใช้ปลาแมคคาเรลแทน และแนวโน้มผู้ประกอบการกำลังมองหาปลาทะเลชนิดอื่นมาแทนปลาแมคคาเรลและทูน่าที่ต้นทุนแพงขึ้นและมีปริมาณลดลง

2.ผู้ประกอบการปรับลดกำลังการผลิต ปัญหาวัตถุดิบโดยเฉพาะราคาปลาที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้มากเท่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุมราคาและภาวะการแข่งขันที่รุนแรงทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ดังนั้นแนวทางในการแก้ปัญหาในเวลานี้โรงงานผลิตปลากระป๋อง โดยเฉพาะทูน่ากระป๋องที่ผลิตเพื่อส่งออกส่วนใหญ่ได้ปรับลดกำลังการผลิตลงเฉลี่ยแต่ละรายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30.0 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายก็ได้มีการปรับลดคนงานตามกำลังการผลิตที่ลดลงเพื่อลดต้นทุนด้วย

ตลาดในประเทศ…ตลาดขยายตัว การแข่งขันรุนแรง
คาดการณ์ว่าในปี 2550 ตลาดปลากระป๋องในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 โดยถ้าแยกตามประเภทปลาแล้ว ปลาซาร์ดีนกระป๋องซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนถึงร้อยละ 67.0 ของตลาดรวมปลากระป๋อง ปลาแมคเคอเรลกระป๋องร้อยละ18.0 และปลาทูน่ากระป๋องร้อยละ 12.0 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 3.0 เป็นปลาอื่นๆบรรจุกระป๋อง อย่างไรก็ตาม ตลาดปลากระป๋องนั้นยังแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ ในน้ำมันและน้ำเกลือ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 80.0 ของตลาดปลากระป๋องทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 20.0 เป็นตลาดปลากระป๋องปรุงรส ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะการปรุงรสด้วยเครื่องแกงประเภทต่างๆ เช่น แกงเขียวหวาน แพนง มัสหมั่น เป็นต้น

แม้สถานการณ์โดยรวมของธุรกิจปลากระป๋องในปี 2550 ยังประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ แต่ในปี 2550 การแข่งขันของตลาดปลากระป๋องภายในประเทศยังคงมีความรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งนี้สาเหตุเกิดจาก

-มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าตลาด ในเดือนมีนาคม 2550 มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาดปลากระป๋อง เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่เล็งเห็นช่องว่างทางการตลาด จากปัญหาด้านวัตถุดิบซึ่งปัจจุบันปลาซาร์ดีนขาดตลาด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนินโญ กระแสน้ำจึงมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้คู่แข่งที่อยู่ในตลาดหันมาทำตลาดปลากระป๋องแมคคาเรลแทน ในขณะที่ปลากระป๋องจากปลาซาร์ดีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ผู้ประกอบการรายใหม่อาศัยความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบ เพราะมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งกับประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทำให้ไม่มีปัญหาด้านการขาดแคลนปลาซาร์ดีน หลังจากประสบความสำเร็จในการเข้ามารุกตลาดปลาซาร์ดีนกระป๋องโดยเน้นการจับตลาดบนในช่วงต้นปี ในช่วงปลายปีผู้ประกอบการรายใหม่เริ่มเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดปลาแมคเคอเรลด้วย โดยจะเน้นจับตลาดปลากระป๋องราคาต่ำเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกับผู้ประกอบการรายเดิมโดยตรง นอกจากนี้ทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ต่างเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยการผลิตปลากระป๋องที่ใช้ปลาทะเลชนิดอื่นๆ หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น น้ำพริกปลาทูน่า มัสมั่นปลาซาบะ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และเป็นการขยายฐานตลาดปลากระป๋องด้วย

-ผู้ส่งออกปลากระป๋องหันมาขยายตลาดในประเทศมากขึ้น เนื่องจากผู้ส่งออกปลากระป๋อง โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋องต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก และประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอการนำเข้า เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนวิตกเกี่ยวกับปัญหาโลหะหนักตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ทำให้ลดปริมาณการบริโภคอาหารทะเล ดังนั้นผู้ส่งออกปลากระป๋องจึงหันมาขยายตลาดปลากระป๋องในประเทศมากขึ้น

-ตลาดปลากระป๋องขยายตัวอย่างมาก ปลากระป๋องเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคมีความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย โดยหันมาเลือกรับประทานอาหารที่ราคาประหยัดและมีคุณภาพสอดคล้องกับกำลังซื้อ โดยมูลค่าตลาดปลากระป๋องจะมีการขยายตัวมากกว่าในช่วงภาวะปกติ กล่าวคือ ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคในประเทศหันไปบริโภคอาหารประเภทปลากระป๋องมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20.0 จากในช่วงภาวะปกติตลาดปลากระป๋องเติบโตร้อยละ 10.0-15.0 ซึ่งการที่ตลาดปลากระป๋องขยายตัวอย่างมาก ส่งผลให้บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจปลากระป๋องต่างหันมาเพิ่มกลยุทธ์ต่างๆเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด

ส่งออกปี’50…ขยายตัวต่ำลงเมื่อเทียบกับปี’49
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 มูลค่าการส่งออกปลากระป๋องเท่ากับ 933.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ทั้งนี้เนื่องจากมูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำลง ในขณะที่การส่งออกปลาซาร์ดีนกระป๋องมีแนวโน้มลดลง กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 เท่ากับ 887.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแม้ว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 แต่นับว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับในปี 2549 โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 นั้นอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเท่ากับร้อยละ 18.3 ซึ่งการชะลอตัวดังกล่าวเป็นผลเนื่องมาจากผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดส่งออกหลัก และกระแสความวิตกเกี่ยวกับสารโลหะหนักตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ส่วนมูลค่าการส่งออกปลาซาร์ดีนกระป๋องในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 เท่ากับ 46.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 4.0 เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนปลาซาร์ดีน

ปัญหาที่ผู้ส่งออกปลากระป๋องเผชิญในปี 2550 ได้แก่
1.การแข็งค่าของเงินบาท
ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยลดลง เพราะทำให้สินค้าปลากระป๋องของไทยในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น และผู้ส่งออกได้รับเงินจากการส่งออกในรูปเงินบาทที่ลดลง ปัจจุบันผู้ผลิตปลากระป๋องของไทยพึ่งพิงตลาดส่งออก กล่าวคือ ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 90.0 ของปริมาณการผลิตปลาทูน่ากระป๋องทั้งหมด และสำหรับปลาซาร์ดีนกระป๋องพึ่งพาตลาดส่งออกร้อยละ 50.0 ดังนั้นเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจะเป็นตัวแปรหลักที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออกปลากระป๋อง

2.ความวิตกต่อการปนเปื้อนโลหะหนักในผลิตภัณฑ์ ขณะนี้ในหลายภูมิภาคของโลกกำลังประสบปัญหาจากการปนเปื้อนในเนื้อปลาของโลหะหนักที่เป็นอันตรายบางชนิด เช่น สารปรอท เป็นต้น โดยเฉพาะผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความระมัดระวังต่อสารปรอทตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง ทำให้การนำเข้าทูน่ากระป๋องในรอบ 3 ปีชะลอตัวลงและมีราคาจำหน่ายลดลง ในอนาคตคาดว่าผู้บริโภคและประเทศผู้นำเข้าจะให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น มากกว่าที่จะเน้นด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าปลากระป๋องจากไทยว่าปลอดจากสารตกค้างประเภทสารปรอทจะเป็นการสร้างความได้เปรียบประเทศคู่แข่ง

3.ปัญหาความเสียเปรียบด้านภาษีนำเข้าในตลาดส่งออกสำคัญ ปัจจุบันการส่งออกปลากระป๋องของไทยโดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญนั้นเสียเปรียบประเทศคู่แข่งในแง่ของภาษีนำเข้า กล่าวคือ ในตลาดสหรัฐฯ ประเทศเอกวาดอร์ไม่ต้องเสียภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์ทูน่าบรรจุถุง แต่ไทยเสียร้อยละ 12.5 และในตลาดสหภาพยุโรปผู้ส่งออกปลากระป๋องของไทยโดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋องเสียเปรียบกลุ่มประเทศในแอฟริกา ทะเลแคริบเบียน และมหาสมุทรแปซิฟิก (Africa Caribbean and Pacific Countries : ACP) ที่สหภาพยุโรปได้ยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้สนธิสัญญา Cotonou Agreement ขณะที่ไทยต้องเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 18-20 ดังนั้นถ้าหากมีการเจรจาเพื่อลดภาษีการนำเข้าจะส่งผลให้ไทยสามารถเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้น ถ้าพิจารณาสถานะการแข่งขันของผู้ส่งออกปลากระป๋องของไทยแยกตามตลาดส่งออกที่สำคัญได้ ดังนี้

1.ตลาดสหรัฐฯ ไทยเป็นผู้ส่งออกทูน่ากระป๋อง (canned tuna)และผลิตภัณฑ์ทูน่าบรรจุถุง (tuna in foil pouches) รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ แต่เนื่องจากในขณะนี้ผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความระมัดระวังต่อสารปรอทตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง จึงส่งผลให้การนำเข้าทูน่ากระป๋องในรอบ 3 ปีชะลอตัวลง และมีราคาจำหน่ายลดลงด้วยเช่นกัน รวมทั้งขณะนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวอเมริกันมีแนวโน้มลดลง จากภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาซับไพรม์(หนี้เสียภาคอสังหาริมทรัพย์) แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการบริโภคปลากระป๋องมากนัก แต่ปัญหาเศรษฐกิจก็ส่งผลต่อการเลือกซื้อของอุปโภคบริโภค ในขณะที่ราคาปลากระป๋องโดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋องในสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาปริมาณปลาทูน่ามีน้อยลงและราคาแพงขึ้น ทำให้คนอเมริกันมีแนวโน้มจะซื้อปลาทูน่ากระป๋องเกรด พรีเมี่ยมลดลง และหันไปบริโภคปลาทูน่ากระป๋องเกรดรองลงไปมากขึ้น นอกจากนี้คนอเมริกันบางส่วนก็หันไปบริโภคทูน่าสด เนื่องจากกระแสอาหารเพื่อสุขภาพ ดังนั้นผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยจำเป็นต้องปรับตัวสำหรับตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ เพราะหากส่งออกเกรดพรีเมียมทั้งหมดก็ขายได้ยากขึ้น ทางออกคือต้องหันมาจับตลาดระดับกลางมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มมูลค่าของสินค้า เช่น รุกตลาดสินค้าพร้อมรับประทานที่นอกจากจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคแล้วยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องจากไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากคู่แข่งรายใหม่คือ จีนและเวียดนามที่กำลังส่งสินค้าเข้าไปแข่งขันกับไทยในตลาดสหรัฐฯด้วย แม้ว่าในปัจจุบันมูลค่าการส่งออกของทั้งสองประเทศนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงนัก แต่ก็มีอัตราการขยายตัวที่น่าจับตามองตั้งแต่ปี 2549

อย่างไรก็ตามประเด็นข้อได้เปรียบของผู้ประกอบการธุรกิจปลากระป๋องของไทย คือ การเข้าไปลงทุนในโรงงานปลากระป๋องในสหรัฐฯ ซึ่งนับว่าเป็นกลยุทธ์การรุกขยายตลาดในประเทศคู่ค้าสำคัญโดยตรง นอกจากนี้ยังรับจ้างผลิตและส่งสินค้าไพรเวตแบรนด์หรือเฮาส์แบรนด์ให้กับห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆในสหรัฐฯอีกด้วย

2.ตลาดอียู ปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดทูน่ากระป๋องในอียูมาจากผู้ผลิตในอียูกว่าครึ่งหนึ่ง โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่คือ สเปน อิตาลี โปรตุเกส ฝรั่งเศส และอังกฤษตามลำดับ ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งสัดส่วน 2 ใน 3 ของจำนวนนี้มาจากประเทศ ACP 14 ประเทศ และอีก 1 ใน 3 มาจากกลุ่มอาเซียนซึ่งมีไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ จากการที่กลุ่มประเทศในแอฟริกา ทะเลแคริบเบียน และมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าทูน่ากระป๋องจากอียู ทำให้นับจากปี 2546 เป็นต้นมาอียูชดเชยสิทธิในการส่งออกทูน่ากระป๋องให้ไทยและฟิลิปปินส์ สำหรับไทยนั้นโควตาชดเชยเริ่มต้นที่ปีละ 25,000 ตัน บวกกับอัตราการขยายตัวอีกร้อยละ 3 ต่อปี โดยอียูให้โควตาสินค้าทูน่ากระป๋องจากไทย 27,500 ตัน เสียภาษีนำเข้าภายใต้โควตาร้อยละ 12 ภาษีนอกโควตาร้อยละ 24 ซึ่งโควตาดังกล่าวจะหมดอายุลงในเดือนธันวาคม 2550ซึ่งหากอียูจะต่อสิทธิการลดภาษีให้กับกลุ่ม ACP ก็จะต้องให้การชดเชยกับไทยต่อไปด้วย

3.ตลาดญี่ปุ่น กรณีที่รัฐบาลไทยได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) จะส่งผลดีต่อการส่งออกทูน่าของไทยไปตลาดญี่ปุ่นที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ตัวเลขการส่งออกในภาพรวมดีขึ้น เพราะตามข้อตกลงญี่ปุ่นจะลดภาษีนำเข้าสินค้าทูน่าให้ไทยจากอัตราภาษีนำเข้าปัจจุบันที่ 9.6% และจะลดลงเป็น 0% ในอีก 5 ปีถัดไป ขณะที่เรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าญี่ปุ่นยอมให้ไทยนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่สามแต่ปลานั้นต้องได้จากการจับโดยเรือที่จดทะเบียนภายใต้คณะกรรมาธิการทูน่ามหาสมุทรอินเดีย (IOTC) ที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก 24 ประเทศ จากข้อตกลง JTEPA ดังกล่าวสินค้าทูน่ากระป๋องจะยกเลิกภาษีลงเป็นร้อยละ 0 ภายใน 5 ปี ทยอยลดร้อยละ 1.6 ต่อปี (อัตราภาษีนำเข้าปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 9.6)ทำให้สินค้าทูน่ามีโอกาสขยายในตลาดญี่ปุ่นได้มาก โดยขณะนี้ได้เกิดความเคลื่อนไหวทยอยปิดกิจการของผู้ผลิตทูน่าในญี่ปุ่นแล้ว และเตรียมแผนที่จะมาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตส่งกลับไปจำหน่ายในญี่ปุ่นแทน เนื่องจากต้นทุนการผลิตทูน่าในญี่ปุ่นค่อนข้างสูงโดยเฉพาะต้นทุนด้านแรงงาน การหันมานำเข้าจากไทยในอัตราภาษีที่ทยอยลดลงและยกเลิกในที่สุดน่าจะคุ้มกว่า

ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นบริโภคทูน่ากระป๋อง 12 ล้านหีบ/ปี(1 หีบบรรจุ 48กระป๋อง)ในจำนวนนี้นำเข้าจากไทยประมาณ 3-4 ล้านหีบ/ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25-30 ของการนำเข้า ผลจาก JTEPA คาดไทยจะสามารถส่งออกทูน่าไปญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10-12 ในปีแรกของการลดภาษี โดยในปี 2551 คาดยอดส่งออกไปญี่ปุ่นจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15-20 อย่างไรก็ตามการส่งออกไปญี่ปุ่นยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนามและอินโดนีเซีย

แนวโน้มปี’51…จับตาจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรม
ประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจปลากระป๋องคือ ปริมาณการจับปลาที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยบรรดานักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าความผันแปรของสภาพอากาศโดยเฉพาะในเขตมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเป็นแหล่งประมงทูน่าที่สำคัญจะยังคงส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายนปี 2551 ส่งผลให้ปริมาณปลาจะยังคงมีไม่เพียงพอในการที่จะป้อนโรงงานปลากระป๋อง โดยเฉพาะปลาสคิบแจ็ค และเยลโลฟิน ราคาปลาทูน่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นมีแนวโน้มว่าในอนาคตปลากระป๋องอาจจะไม่ใช่สินค้าที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับอาหารประเภทอื่นๆ

นอกจากปริมาณปลาที่มีแนวโน้มลดลงและราคาที่มีแนวโน้มสูงขึ้นแล้ว จุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมปลากระป๋องของไทยที่ต้องจับตามอง มีดังนี้

1.ธุรกิจกองเรือหาปลา เนื่องจากในปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าปลาเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมปลากระป๋อง ดังนั้นผู้ประกอบการบางรายจึงหันมาลงทุนในธุรกิจกองเรือหาปลาในทะเลลึก นอกจากประโยชน์ในเรื่องของวัตถุดิบที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินกิจการ สำหรับฐานการผลิตปลากระป๋องในประเทศไทยให้มีวัตถุดิบได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ในอนาคตยังช่วยรองรับกับกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) สำหรับการลดภาษีในประเทศสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นอีกด้วย เนื่องจากสินค้าปลาทูน่าที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 24.0 ในปัจจุบัน แต่การที่ไทยมีกองเรือเองจะช่วยลดความเสียเปรียบทางด้านภาษีลงเหลือร้อยละ 20.5 เพราะวัตถุดิบที่มาจากประเทศไทยจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี ขณะเดียวกันสำหรับข้อตกลงเรื่องหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ก็มีข้อกำหนดว่าปลาทูน่ากระป๋องที่นำเข้าญี่ปุ่นจะต้องเป็นวัตถุดิบที่มีแหล่งมาจากกองเรือสัญชาติอาเซียน หรือกองเรือที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการทูน่ามหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Tuna Commission : IOTC) ถึงจะได้รับการลดภาษีภายใต้ข้อตกลงทางการค้า และยังมีส่วนช่วยสนับสนุนให้มีกองเรือจับปลาน้ำลึกสัญชาติไทยสามารถจับปลา ในน่านน้ำมหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบันการจับปลาทูน่าในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก และมหาสมุทรอินเดียส่วนใหญ่จะเป็นเรือของไต้หวัน ญี่ปุ่น และสเปน

2.การผลักดันสินค้าทูน่ากระป๋องเข้าสู่บัญชีลดภาษีภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป จากการที่สหภาพยุโรป (อียู) ให้โควตาภาษีสินค้าทูน่ากระป๋องแก่ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเพื่อชดเชยความเสียหายกรณีที่อียูให้สิทธิพิเศษทางภาษี 0% ในสินค้าทูน่ากระป๋องแก่กลุ่มประเทศในแอฟริกา แคริบเบียน และแปซิฟิก โดยในปี 2546 อียูให้โควตาที่ 25,000 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 12 และเพิ่มเป็น 25,750 ตัน ในปี 2547-2550 ส่วนไทยได้รับโควตาเท่าเดิมคือ 25,750 ตัน และการชดเชยดังกล่าวจะสิ้นสุดในปี 2550 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์กำลังผลักดันสินค้าทูน่ากระป๋องเข้าสู่บัญชีลดภาษีภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป เพราะคาดว่าหลังจากสิ้นปีนี้อียูจะไม่เพิ่มโควตานำเข้าสินค้าปลาทูน่ากระป๋องตามที่ไทยร้องขอ เนื่องจากไทยมีสถิติการส่งออกทูน่ากระป๋องไปอียูเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่สถิติการส่งออกของประเทศในกลุ่มประเทศแอฟริกา แคริเบียน และแปซิฟิก(ACP)ลดลง ซึ่งแสดงว่าไทยไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่อียูลดภาษีปลาทูน่ากระป๋องเหลือร้อยละ 0 ให้กับกลุ่ม ACP ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดอียู จึงเป็นไปได้ว่าอียูอาจไม่ให้โควตานำเข้าแก่ไทยเป็นการชดเชยอีกต่อไป

ถ้าไทยสามารถดึงให้ปลาทูน่ากระป๋องเข้าไปอยู่ในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรปสำเร็จคาดว่าอัตราภาษีทูน่ากระป๋องจากกลุ่มอาเซียน ซึ่งรวมถึงไทยจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.0-9.0 อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกลุ่ม Eurothon (กลุ่มผู้พิทักษ์ผลประโยชน์อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องในยุโรป และในกลุ่มประเทศแอฟริกา แคริบเบียน และแปซิฟิก) ขัดขวางการดำเนินการดังกล่าว โดยอ้างว่าการยกเลิกหรือการลดภาษีให้ไทยรวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียนจะส่งผลเสียหายต่อผู้ผลิตในอียูและ ACP เพราะประเทศผู้ส่งออกหลักอย่างไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียมีความได้เปรียบจากค่าแรงงานต่ำ สามารถเข้าถึงวัตถุดิบและการขนส่งทางเรือในต้นทุนที่ต่ำกว่า และจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดของผู้ผลิตจากอียู และ ACP ลดลง ส่งผลกระทบต่อแรงงานจำนวนนับแสนคน โดยผู้ผลิตในเอเชียจะได้รับประโยชน์เพียงผู้เดียว และจะกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องของโลก ซึ่งเรื่องนี้ยังคงต้องติดตามผลสรุปของการเจรจาต่อไป โดยผลการเจรจานี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรป

นอกจากการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องแล้ว ผู้ส่งออกของไทยร้องขอให้กระทรวงพาณิชย์เจรจากับอียูเพื่อขอขยายโควตาส่งออกเนื้อทูน่าด้วย จากปี 2549 ที่ไทยได้โควตาส่งออกไปอียู 5,000 ตัน ภาษีในโควตาร้อยละ 6.0 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่ได้โควตาเพียง 4,000 ตัน ภาษีในโควตาร้อยละ 6.0 เช่นกัน โดยการส่งออกเนื้อทูน่านั้นกำลังเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มแจ่มใสในตลาดอียู

3.การลงทุนในต่างประเทศ นอกจากการเข้าไปซื้อกิจการโรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋องในสหรัฐฯ โดยการรุกขยายตลาดในประเทศคู่ค้าสำคัญแล้ว คาดว่าผู้ผลิตปลากระป๋องรายใหญ่ของไทยจะยังคงดำเนินการขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศที่น่าสนใจ คือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งการเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียเพื่อลดต้นทุน ขณะที่น่านน้ำของอินโดนีเซียก็ถือเป็นแหล่งทูน่าขนาดใหญ่ เรือทุกลำจึงเริ่มไปจับปลาที่แหล่งนั้น ส่วนเวียดนามเป็นการเข้าไปร่วมทุนในบริษัทผู้ผลิตปลากระป๋องรายใหญ่ในเวียดนามเพื่อทำตลาดทั้งในประเทศเวียดนามและส่งออก

บทสรุป
ตลาดปลากระป๋องในปี 2550 ต้องเผชิญปัญหาในด้านปริมาณปลาซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญมีปริมาณลดลง และราคาแพงขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อต้นทุนการผลิต แม้ว่าตลาดภายในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัว แต่ตลาดส่งออกประสบปัญหาชะลอตัว อันเป็นผลมาจากผู้บริโภคในสหรัฐฯนั้นลดปริมาณการบริโภค เนื่องจากวิตกถึงปัญหาการตกค้างของสารปรอทในผลิตภัณฑ์อาหารทะเลกระป๋อง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มประหยัดค่าใช้จ่าย และพิจารณาราคาสินค้ามากขึ้น นอกจากนี้การที่เงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกปลากระป๋องของไทยด้วย จากเดิมที่ผู้ส่งออกของไทยเสียเปรียบในเรื่องที่ประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปยกเว้นหรือลดภาษีให้กับประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯยกเว้นภาษีการนำเข้าปลาทูน่าบรรจุถุงให้กับเอกวาดอร์ สหภาพยุโรปลดภาษีให้กับกลุ่มประเทศในแอฟริกา ทะเลแคริบเบียน และมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการในธุรกิจปลากระป๋องของไทยต้องเร่งปรับตัว ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่นั้นค่อนข้างได้เปรียบผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลาง เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวมากกว่า รวมทั้งยังสามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างเหมาะสม พร้อมกับการควบคุมสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับในปี 2551 นับว่าเป็นปีที่น่าจับตามอง เนื่องจากจะเป็นปีที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมปลากระป๋องของไทยอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นกรณีการลงทุนในเรื่องกองเรือประมงน้ำลึกทั้งเพื่อความมั่นคงในด้านวัตถุดิบและเอื้อต่อการได้รับสิทธิประโยชน์จากการเจรจาเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่น และการเจรจากับสหภาพยุโรปตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้า กรณีการไปลงทุนในประเทศที่เป็นแหล่งที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ คือ อินโดนีเซียและเวียดนาม หลังจากในระยะที่ผ่านมาไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการลงทุนขยายตลาดในประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ การผลักดันให้สินค้าปลาทูน่ากระป๋องเข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อสินค้าที่จะเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-อียูจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังตลาดอียูในปี 2551 เนื่องการชดเชยโควตาการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องที่อียูให้กับไทยจะหมดอายุลงในปี 2550 นี้

คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกปลากระป๋องของไทยในปี 2551ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากยังต้องเผชิญกับปัญหาเดิมในประเทศคู่ค้าหลักที่เป็นอุปสรรคในการส่งออก โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปนั้นทิศทางการส่งออกนั้นต้องรอดูผลความสำเร็จในการผลักดันให้ปลากระป๋องเข้าไปเป็นหนึ่งในรายการสินค้าการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ซึ่งทำให้สินค้าปลากระป๋องไทยได้อานิสงส์ในการลดภาษีนำเข้า โดยจะมาทดแทนโควตานำเข้าที่ทางสหภาพยุโรปชดเชยให้ ซึ่งจะหมดอายุลงในปลายปีนี้ ส่วนตลาดส่งออกที่มีแนวโน้มดีนั้นมีเพียงตลาดญี่ปุ่น โดยจะได้รับอานิสงส์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น